Copa Mundial
หลังจากปฏิทินได้เปลี่ยนจากเดือนธันวาคมของปี ค.ศ. 2013 ไปเป็นเดือนมกราคมของปี ค.ศ. 2014 แน่นอนว่าหลายคนคงคิดว่าก็แค่เป็นการเคลื่อนตัวของ วัน เดือน ปี แต่สำหรับแฟนบอลทั้งโลก มันคือสัญญาณที่บอกว่าเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพ (the greatest show on earth) อย่างฟุตบอลโลก ใกล้เข้ามาถึงแล้ว ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณครึ่งปีที่บอลโลกจะเริ่มหวดกันที่บราซิล
ในการนี้ ผมจึงขอความอนุเคราะห์ (อย่างไม่น่าได้รับนะครัช แหม่) จากประชาไท ในการเขียนบทความเกี่ยวกับฟุตบอลโลก ในแง่มุมที่ต่างไปจากที่คุ้นเคยไปตามข่าวกีฬากระแสหลัก ที่มักออกไปในแนวว่าใครจะเป็นนักเตะดังประจำการแข่งขัน ทีมไหนเป็นทีมเต็งแชมป์หรือทีมม้ามืด หรือในแนวประวัติศาสตร์ความสำเร็จ อาทิ บอลโลกครั้งที่ผ่านๆ มา ทีมไหนเป็นผู้ชูถ้วย ใครเป็นนักเตะสุดเมพประจำการแข่งขัน ใครเป็นดาวซัลโวสูงสุด (วัดจากจำนวนประตู ไม่ใช่ความสูงจากพื้นของลูกบอลนะครัส)
ผมจะเขียนบทความในท่าทีที่ว่า ฟุตบอลโลก (World Cup) มีมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงวัฒนธรรมในแง่มุมไหนบ้าง แต่ในบางครั้งบางครา ผมก็อาจแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนักเตะดาวรุ่ง แทคติคฟุตบอล รวมไปถึงเรื่องสัพเพเหระในฟุตบอลโลกครั้งนี้กับผู้อ่าน อย่างไรก็ตาม ขอแถลงก่อนว่า บทความของผมไม่ใช่อาหารจานหลัก แต่คือน้ำจิ้มที่หวังว่าจะเพิ่มอรรถรสในการรอคอยเทศกาลลูกหนังครั้งยิ่งใหญ่ เพราะผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟุตบอล เป็นแฟนบอลที่ตามอ่านบทความและหนังสือฟุตบอลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่บ้าง
ในความเห็นส่วนตัวของผม แม้แต่ชื่อของการแข่งขัน “ฟุตบอลโลก (World Cup)” ก็มีมิติทางสังคมที่พอควรอยู่แล้ว เพราะมีหลายคนมักกระแนะกระแหนว่า (แม้แต่คนไทย) ว่าการแข่งขันรายการนี้เป็น “ฟุตบอลโลก” หรือ “ฟุตบอลยุโรป-อเมริกาใต้” เพราะเอาเข้าจริง ทีมที่ชนะรายการนี้ก็มาจากสองทวีปนี้เท่านั้น ไม่เคยมีทีมจากเอเชียหรือแอฟริกา (ไม่ต้องพูดถึงอาเซียน) ที่ผ่านเข้าไปในนัดชิงชนะเลิศด้วยซ้ำ
ยิ่งกว่านั้น คำกระแนะกระแหนยังถูกยืนยันอย่างอ้อม ผ่านการประจักษ์ถึงสัดส่วนการคัดเลือกทีมเข้าร่วมการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างทวีปต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือทวีปอเมริกาใต้ (ที่คัดเลือกภายใต้สมาคม Commebol) ได้สิทธิไปเข้าเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายถึง 5-6 ทีม ทั้งที่ทวีปอเมริกาใต้มีจำนวนประเทศสมาชิกเพียงแค่สิบกว่าประเทศเท่านั้น ในขณะที่ทวีปที่มีจำนวนประเทศเยอะกว่าอเมริกาใต้อย่างเห็นได้ชัดอย่างเอเชียและแอฟริกาได้สิทธิในการเข้าร่วมการแข่งขันเพียง 4-5 ทีมต่อทวีปเท่านั้น
ข้อเท็จจริงเช่นนี้นำมาซึ่งข้อโต้แย้งว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นการแข่งขันของโลกหรือมนุษยชาติจริงเหรอ เนื่องจากสัดส่วนของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจากทวีปต่างๆ ไม่ได้สะท้อนจำนวนประเทศที่แต่ละทวีปมีอยู่อย่างเป็นจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนบางกลุ่มเถียงว่า บอลโลกคือการแข่งขันเพื่อหาทีมฟุตบอลระดับชาติที่เก่งที่สุดในโลก การคัดเลือกทีมตามความสามารถฝีเท้าจึงมีความสำคัญกว่าการคัดเลือกจากจำนวนของประเทศในแต่ละทวีป
โดย Jonathan Wilson (2013)[1] ได้กล่าวในบทความของเขาว่า ถ้าคัดเลือกทีมเข้าร่วมแข่งขันในรายการฟุตโลกจากอันดับโลกของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า (FIFA World Ranking) โดยให้ทีมที่อยู่ใน 32 ลำดับแรกมีสิทธิเข้าร่วมในการแข่งขันเท่านั้น สัดส่วนของทีมจากทวีปยุโรปและอเมริกาใต้จะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และในทางกลับกัน สัดส่วนของทีมจากเอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนียจะลดลงหรือแทบไม่เหลือเลย Wilson จึงกล่าวว่า สัดส่วนของทีมจากทวีปต่างๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นการประนีประนอมระหว่างแนวทางการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและการแสวงหาผู้ชนะ
จากเนื้อหาทั้งหมด เห็นได้ว่าหลักการในการแบ่งสรรโควตาให้แก่ทีมในฟุตบอลโลกแก่สมาพันธ์ฟุตบอลของทวีปต่างๆ ยังมีข้อถกเถียงหรือไม่ได้รับความพึงพอใจจากทุกฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายมีหลักการ (principle) และความเข้าใจ (understanding) เกี่ยวกับมโนทัศน์ของฟุตบอลโลกต่างกัน ดังที่ฝ่ายหนึ่งคิดว่ารายการนี้ควรจัดสรรโควตาจากจำนวนประเทศในทวีปต่างๆ เนื่องด้วยเป็นการแข่งขันของชาวโลก ในขณะที่อีกฝ่ายคิดว่าควรแบ่งสรรโควตาตามฝีตีน เนื่องจากเป็นการหาทีมชาติที่เก่งที่สุดในโลก
บทความชิ้นหน้าเป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ของการเพิ่มจำนวนทีมในการแข่งขันฟุตบอลโลก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกจากทวีปที่ไม่ใช่มหาอำนาจทางลูกหนัง (football powerhouse) มีส่วนร่วมในการเข้าแข่งขันในรายการนี้ในระดับที่สูงขึ้น โดยจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในการเปลี่ยนขั้วอำนาจในสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ
[1] รายละเอียดอ่านเพิ่มได้จาก Wilson, J. 2013. Sepp Blatter’s World Cup Plans Show No Respect for Logic – or Football. http://www.theguardian.com/football/blog/2013/may/14/sepp-blatter-world-cup-football เข้าถึงเมื่อ 6/01/2556