Copa Mundial
ที่มา: Getty Images
รอบก่อนรองชนะเลิศ (หรือรอบแปดทีมสุดท้าย) ในฟุตบอลโลกที่กำลังดำเนินการแข่งขันอยู่มีความน่าสนใจในแง่มุมที่ว่า เป็นไม่กี่ครั้งที่รอบก่อนรองชนะเลิศประกอบไปด้วยตัวแทนจากทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งประกอบไปด้วยทวีปละสี่ทีม (ตัวแทนจากทวีปอเมริกาคือ บราซิล อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และคอสตาริกา ส่วนตัวแทนจากยุโรปคือ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมัน และฝรั่งเศส) และความน่าสนใจอีกประการที่ดูน่าแปลกใจกว่าคือ การกลับมามีบทบาทอีกครั้งของผู้เล่นเพลย์ เมคเกอร์ หรือเบอร์สิบ ที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์เกมรุกเป็นหลัก ดังเห็นได้จากการระเบิดฟอร์มของดาวรุ่งโคลอมเบีย ฮาเมส โรดิเกซ และเมสซี่ (ซึ่งรายการนี้มาเล่นตรงกลางหลังกองหน้าคู่) หรือเบลเยียมที่ใช้ เดอ บรอยน์ เป็นคนที่คุมจังหวะเกมเวลาเปิดเกมรุก หรือถ้าพูดอย่างเปิดกว้างคือ บอลโลกเที่ยวนี้ ผู้เล่นเกมรุกฉายแววมากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมาในช่วงหลัง
ที่มา: Kick Off Magazine
ในความเห็นส่วนตัวของผม ปรากฏการณ์ทั้งสองเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศในบราซิลที่ร้อนและชื้น อันมีผลทำให้เหล่านักเตะที่มาจากเขตอบอุ่นและเขตหนาวหมดแรงได้เร็วกว่าปกติ จึงไม่แปลกใจที่นักเตะอเมริกาใต้ถึงได้เปรียบในเรื่องของสภาพอากาศ แต่การกล่าวว่าความคุ้นเคยทางสภาพอากาศเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ทีมจากอเมริกาใต้มีผลงานดีออกจะมักง่ายไปหน่อย เพราะความสำเร็จของทีมลาตินอเมริกาในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากอากาศร้อน ซึ่งผลสืบเนื่องนี้ทำให้เบอร์สิบกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
สิ่งที่เป็นของแสลงสำหรับทีมจากลาตินอเมริกาและผู้เล่นตำแหน่งผู้สร้างสรรค์เกมแทบทั้งโลก คือการเล่นเกมบีบพื้นที่ (pressing) ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างฟุตบอลสมัยใหม่และฟุตบอลยุคเก่า เพราะการเล่นเพรสซิ่งคือการเข้าไปจำกัดเวลาและพื้นที่ของผู้สร้างสรรค์เกมฝ่ายตรงข้าม ด้วยการเข้าไปวิ่งกดดันเขตพื้นที่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง พูดง่ายๆ คือเป็นการเล่นที่ต้องการวิ่งตลอดเวลา แต่ด้วยลักษณะเช่นนี้จึงทำให้การเล่นเพรสซิ่งเรียกร้องพละกำลังและความฟิตที่สูงมาก ดังนั้นแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่การเล่นเพรสซิ่งจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพน้อยลงในเขตอากาศร้อน ความแสลงของพวกลาตินอเมริกาที่มีต่อเกมเพรสซิ่งเห็นได้จากการที่สามมหาอำนาจลูกหนังแห่งลาตินอเมริกาอย่าง บราซิล อาร์เจนติน่า และอุรุกวัย ถูกฮอลแลนด์ที่เป็นทีมที่ใช้การเล่นแบบนี้ทีมแรกในฟุตบอลโลก ถล่มซะยับเยิน
ครัฟฟกับจังหวะสังหารประตูอาร์เจนติน่า ในฟุตบอลโลก 1974
ที่มา: Getty Images
การกล่าวอ้างเช่นนี้อาจถูกยืนยันความถูกต้องได้จากฟุตบอลโลกสองครั้งในทศวรรษ 1980 ครั้งแรกคือฟุตบอลโลกที่สเปนในปี ค.ศ. 1982 ที่ทีมชาติบราซิลภายใต้การกุมบังเหียนของเทเล่ ซานตาน่า ได้ใช้รูปแบบการสร้างสรรค์เกมจากมิดฟิลด์อันสวยงาม จนเป็นตำนานราชันย์ไร้มงกุฎ และฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม็กซิโก ประเทศที่ราบสูงที่มีอากาศร้อน ซึ่งทำให้การเล่นเพรสซิ่งเป็นไปอย่างลำบาก (ถ้าไปอ่านบทสัมภาษณ์ของโค้ชฟุตบอลในช่วงก่อนบอลโลกครั้งนั้น ทุกทีมล้วนคิดถึงการเล่นแบบไม่ต้องวิ่งเยอะ และการนำผู้เล่นที่มีความสามารถในการวางบอลยาวไป แม้แต่อังกฤษยังคิดเอาเกร็น ฮอดเดิ้ล ที่เป็นผู้เล่นที่ไม่ขยัน (ในมาตรฐานแบบอังกฤษ) แต่เปิดบอลดีไป) ทำให้ผู้เล่นสร้างสรรค์เกมที่ไม่ใช่เพียงแค่ มาราโดน่า แต่ยังรวมถึงซีโฟ่ พลาตินี่ ซิโก โซคราตีส เลาดรู๊ป หรือแม้แต่มากัธ ได้โชว์ฟอร์มอย่างเต็มที่
ผมไม่แน่ใจว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างหนึ่ง คือการเล่นเพรสซิ่งอันเป็นกระแสในฟุตบอลโลกครั้งก่อน ลดประสิทธิภาพลงไปในครั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศ และข้อยืนยันการลดประสิทธิภาพก็ไม่ใช่อะไรเลย นอกไปจากการผงาดขึ้นอีกครั้งของเบอร์สิบ