Skip to main content

Copa Mundial

 

 

ดังที่ผมได้บอกไปในตอนท้ายของบทความที่แล้วว่า งานชิ้นถัดไปพูดถึงประวัติศาสตร์ของจำนวนทีมในการแข่งขันฟุตบอลโลก  แต่ก่อนจะเข้าสู่เรื่องหลัก ผมขอออกทะเลเล็กน้อย  ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลในยุโรป ไม่ใช่ข่าวการที่พี่เสือใต้ บาเยิร์น มิวนิค ดูดนักเตะกำลังสำคัญของโบรุสเซีย ดอร์ทมุน ทีมคู่แข่งในบุนเดสลีกาอย่าง โรเบิร์ต เลวานอสกี้ (อีกแล้ว) โดยไม่เสียเงินให้ทีมเสือเหลืองแม้แต่แดงเดียว และไม่ใช่ข่าวการย้ายทีมของเคย์สุเกะ ฮอนดะ เพลย์เมคเกอร์ เลือดอาทิตย์อุทัยที่ไปผจญภัยกินพิซซ่า (ที่ไม่ใช่ 1112) กับมหาอำนาจในกัลโช่ ซีรีย์ อา อย่างปีศาจแดงดำ เอซีมิลาน

ในทางตรงกันข้าม ข่าวที่ใหญ่ไม่ใช่ข่าวเกี่ยวกับนักเตะในปัจจุบัน แต่เป็นข่าวการเสียชีวิตของยอดกองหน้าระดับตำนานอย่าง ยูเซบิโอ ดา ซิลวา เฟอร์เรร่า (Eusebio da Silva Ferreira) หรือเรียกกันอย่างทั่วไปว่า ยูเซบิโอ เจ้าของสมญานาม เสือดำแห่งโมซัมบิค (The Black Panther of Mozambique หรือ La Pantera Negra de Mozambique) ผู้เป็นตำนานจากความสามารถในการเลี้ยงบอล การวิ่งที่รวดเร็ว (ใช้เวลาวิ่ง 100 เมตร ในเวลาสิบเอ็ดวินาที) สัญชาติญาณการล่าประตู และเหนือสิ่งอื่นใด เท้าขวาอันน่ากลัวและแม่นยำ และยังเป็นยอดนักเตะคนแรกที่มาจากทวีปแอฟริกา[1]

ในความเข้าใจของผม สำหรับแฟนบอลในทวีปยุโรป ยูเซบิโอสร้างชื่อจากการเป็นตัวสำรองที่ถูกเปลี่ยนตัวลงสนามในฟุตบอลนัดกระชับมิตรที่ปารีสในปี ค.ศ. 1961 ระหว่าง เบนฟิกา ลิสบอน กับ ซานโตส  ยอดทีมจากบราซิลในยุคนั้น ซึ่งมีเปเล่ยืนเป็นหัวหอก  ในตอนแรก เบนฟิก้าถูกถลุงไปสี่เม็ด แต่ยูเซบิโอใช้โอกาสเพียงแค่ยี่สิบนาทีที่ได้รับในการซัดแฮตทริกไป  ความสามารถของเขาน่าตกตะลึงจนทำให้ เปเล่ต้องถามว่า “คำผิวสีคนนี้คือใคร”[2]   

ก่อนชื่อเสียงของยูเซบิโอติดลมบนในยุโรป จากการซัดราชันย์ฟุตบอลยุโรปจากสเปนอย่าง เรอัล มาดริด ทีมซึ่งไม่เคยปราชัยในนัดชิงชนะเลิศของฟุตบอลถ้วยสโมสรยุโรป (European Cup) ถึงสองประตู โดยนักวิจารณ์ฟุตบอลยุโรปหลายคนบอกว่า เหตุการณ์เป็นการปิดฉากตำนานกาแลคติคอส (Galacticos) หรือทีมรวมดาราโลกยุคแรก[3]  และเขายังได้สืบทอดตำนานนักเตะจ้าวยุโรปต่อจาก อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และ เฟเรนซ์ ปุสกัส[4]     

แต่สำหรับแฟนบอลในประเทศไทย จากความทรงจำของพ่อผม ยูเซบิโอโด่งดังจากการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ. 1966 ในฐานะนักเตะทีมชาติโปรตุเกส (Portugal)[5] และเขายังได้ตำแหน่งดาวยิงสูงสุดในการแข่งขันครั้งนั้น ยังซัลโวไปถึงเก้าประตู โดยนัดที่เป็นตำนานของเขาได้แก่ นัดที่ถีบส่งบราซิล อดีตแชมป์เก่าสองสมัยตกรอบแรกกลับบ้าน และนัดที่พลิกชนะ “โสมแดง” เกาหลีเหนือ จากการตามหลังอยู่ถึงสามประตู ด้วยการซัดไปสี่ลูก จนทำให้โปรตุเกสชนะไป 5-3 อย่างตื่นเต้น

                                                Eusebio Score North Korea.jpg

ยูเซบิโอกับจังหวะยิงประตูเกาหลีเหนือ (ที่มาภาพ: World Soccer)
เครดิตภาพ: AP

ความน่าสนใจของการแข่งขันฟุตบอลนัดดังกล่าว ไม่ได้อยู่เพียงแค่นักเตะจากอาณานิคมเป็นผู้กอบกู้ศักดิ์ศรีทีมจากยุโรป แต่ยังเกิดจากตัวแทนหนึ่งเดียวจากเอเชียอย่าง เกาหลีเหนือที่เป็นคู่ต่อสู้ด้วย เพราะนอกจากเกาหลีเหนือจะทำการถีบอิตาลี ชุดที่ประกอบไปด้วยนักเตะจากสองทีมมหาอำนาจในยุโรปอย่าง อินเตอร์ มิลาน และเอซี มิลาน ตกรอบแรกไป เกาหลีเหนือยังเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากทวีปเอเชียที่ได้เข้ามาแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนั้น ซึ่งเกาหลีเหนือได้มาแข่งขันโดยไม่ต้องผ่านรอบคัดเลือกเลย เนื่องจากสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation – AFC) ตัดสินใจคว่ำบาตรการแข่งขัน เพราะไม่พอใจสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติที่ให้โควตาจากทวีปเอเชียเพียงแค่ทีมเดียว

คำถามสำคัญคือว่า หลังจากการแสดง “อภินิหาร” ของเกาหลีเหนือ จำนวนโควตาของฟุตบอลโลกของทวีปอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากยุโรปและอเมริกาใต้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

นับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1938 ที่ฝรั่งเศส จนถึงฟุตบอลโลกปี 1978 ที่อาร์เจนติน่า โควตาของทีมที่มีสิทธิเข้าร่วมอยู่ในระดับ 16 ทีม ซึ่งโควตาส่วนมากจัดสรรให้แก่ทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ ในขณะที่ทีมจากทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชีย  แต่หลังจากนั้น จำนวนของทีมที่ได้เข้าร่วมก็เพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากการเพิ่มจำนวนทีมเข้าแข่งขันเป็น 24 ทีม ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1982 ที่ประเทศสเปน แล้วจึงเพิ่มจำนวนเป็น 32 ทีม ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส  โดยผลพลอยได้ของการเพิ่มจำนวนทีมในฟุตบอลโลกคือ จำนวนทีมจากทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ และแอฟริกาที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหลายทีมก็สามารถผ่านเข้าไปในเล่นในรอบตัดเชือกได้

ในทางประวัติศาสตร์ การเพิ่มจำนวนทีมในการแข่งขันฟุตบอลโลกได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนขั้วอำนาจและอิทธิพลในสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงออกได้อย่างชัดเจนที่สุดผ่านการสิ้นสุดตำแหน่งของ สแตนลีย์ เราส์ (Stanley Rous) ประธานฟีฟ่าชาวอังกฤษ ผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีค.ศ. 1961-1974 และการก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งประธานฟีฟ่าอย่างยาวนานถึง 24 ปี (ค.ศ. 1974 – 1998) ของโจอัว ฮาเวลานจ์ (Joao Havelange) ชาวบราซิลซึ่งถือได้ว่าเป็นประธานคนแรกที่ไม่ได้มาจากทวีปยุโรป

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการแย่งชิงเก้าอี้ประธานฟีฟ่าจากชาวยุโรป ไม่ได้เป็นผลมาจากความอัจฉริยะหรือความสามารถของฮาเวลานจ์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างสมาชิกของฟีฟ่าด้วย จากข้อมูลที่ปรากฏในบทความของวิกเกอรี่[6] ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศยุโรปที่เป็นสมาชิกฟีฟ่ามีสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด แต่ในปี ค.ศ. 1974 สัดส่วนของสมาชิกประเทศยุโรปเหลือเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น อันเป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของรัฐอิสระแห่งใหม่อย่างแพร่หลาย อันเป็นผลจากการล่มสลายของอดีตจักรวรรดินิยม แต่ด้วยหลักการหนึ่งเสียงต่อหนึ่งสมาคมฟุตบอลระดับชาติของฟีฟ่า จึงผลทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประเทศยุโรปและประเทศนอกยุโรปในฟีฟ่าเปลี่ยนไป เพราะในโครงสร้างการออกเสียงแบบนี้ มันเปิดโอกาสให้กลุ่มประเทศนอกทวีปยุโรปสามารถรวมตัวกันเพื่อกำหนดของฟีฟ่าได้ในระดับที่สูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกนอกทวีปยุโรปก็ไม่พอใจการทำงานของเราส์ เช่นกัน เนื่องจากเราส์มีนโยบายการบริหารองค์กรที่ไปในทิศทางที่ยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) ดังเห็นได้จากความลังเลในการให้โควตาการเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกแบบอัตโนมัติแก่ทีมจากแอฟริกา ด้วยเหตุผลที่ว่ามาตรการเล่นฟุตบอลของทีมจากกาฬทวีปยังไม่สูงพอ และยิ่งกว่านั้น เราส์ยังสนับสนุนนโยบายการแบ่งแยกสีผิว  (Apartheid) ที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้อีกด้วย[7]

หรือการคัดเลือกกรรมการในฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 1966 ที่กรรมการเกือบทั้งหมดที่ได้ตัดสินในรอบตัดเชือกล้วนเป็นกรรมการจากทวีปยุโรป มีเพียงการแข่งขันระหว่างเกาหลีใต้และโปรตุเกสเพียงนัดเดียวที่ตัดสินโดยกรรมการที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ยิ่งกว่านั้น กรณีโต้แย้งยังเห็นได้ชัดเจนจากการคัดเลือกกรรมการแข่งขันรอบแปดทีมสุดท้ายสองนัด นัดแรกคือการแข่งขันระหว่างอังกฤษและอาร์เจนติน่าที่ใช้กรรมการเป็นชาวเยอรมัน ส่วนอีกนัดคือการแข่งขันระหว่างเยอรมมีตะวันตกและอุรุกวัยใช้ผู้ตัดสินเป็นชาวอังกฤษ หรือกรณีของความนิ่งเฉยของกรรมการยุโรปที่ปล่อยให้เปเล่ถูกเก็บอย่างไร้ความศิวิลัย[8]   

การกระทำและดำเนินนโยบายแบบไม่เห็นหัวประเทศสมาชิกนอกทวีปยุโรป โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในทวีปแอฟริกาและเอเชียจำนวนมาก รวมหัวกันโค่นอำนาจของสแตนลีย์ เร้าส์ ด้วยการเทคะแนนเลือก โจอัว ฮาเวลานจ์ ดำรงตำแหน่งฟีฟ่า[9]  และแน่นอนว่า การก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮาเวลานจ์ ไม่ได้เกิดจากเหตุผลที่ว่า เขาเป็นพลเมืองนอกทวีปยุโรปแต่เพียงประการเดียว แต่ยังมาจากนโยบายในการหาเสียงที่มีลักษณะค่อนข้างเปิดโอกาสให้ประเทศนอกทวีปยุโรปมีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกมากขึ้น หรือหากพูดแบบภาษาวิชาการแบบกระแดะในปัจจุบัน ฮาเวล้านจ์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานฟีฟ่าได้ เพราะใช้นโยบาย “ประชานิยม” ซื้อเสียงจากประเทศนอกทวีปยุโรป

ตรรกะขั้นพื้นฐานของนโยบายของฮาเวลานจ์คือ การขยายโอกาสให้ทีมนอกทวีปยุโรปมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกในระดับที่สูงขึ้น โดยนโยบายประการแรกสุดของฮาเวลานจ์คือ การขยายจำนวนทีมในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจาก 16 ทีม ไปเป็น 24 ทีม ซึ่งกระทำไปพร้อมกับเพิ่มจำนวนโควตาให้กับทีมนอกทวีปยุโรปด้วย[10] และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฮาเวลานจ์ได้เริ่มต้นการแข่งขันฟุตบอลโลกระดับเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี ซึ่งจัดครั้งแรกที่ประเทศจีน ในปี ค.ศ. 1985 และระดับอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจัดครั้งแรกที่ประเทศตูนิเซีย ในปี ค.ศ. 1977[11]  โดย   ฮาเวลานจ์แสวงหารายได้และสร้างความมั่นคงทางการเงินสำหรับรองรับความชอบธรรมของโปรเจคการขยายโอกาสให้ทีมนอกทวีปยุโรป ผ่านทางการขับเน้นลักษณะเชิงพาณิชย์ (commercialize) ของการแข่งขันฟุตบอลโลก และการดึงผู้สนับสนุนที่บรรษัทข้ามชาติรายใหญ่[12]  อาจกล่าวได้ว่า การทำให้ฟุตบอลโลกมีคุณภาพของความเป็นการแข่งขันของ “ชาวโลก” มากขึ้น ซึ่งกระทำผ่านการเพิ่มโควตาให้ประเทศนอกทวีปยุโรป เกิดขึ้นพร้อมกับการทำให้ฟุตบอลโลกมีลักษณะความเป็นพาณิชย์มากขึ้น อันเป็นผลจากการเปิดตลาดฟุตบอลโลกไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่นำไปสู่การดึงผู้สนับสนุนรายต่างๆ

ผมขอพยายามจบบทความนี้แบบแถๆ ว่า คุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่ร่วมกันระหว่าง ยูเซบิโอ ทีมชาติเกาหลีเหนือ และโจอัว ฮาเวลานจ์ คือการเริ่มต้นประกาศและยืนยัน (อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ถึงการดำรงอยู่ในโลกฟุตบอลของประเทศนอกทวีปยุโรป (และอเมริกาใต้)     

เซอร์สแตนลีย์ เราส์ (ตรงกลางของภาพ) (ที่มา: BBC (Tim Vickery’s Blog))
เครดิตภาพ: Getty Images

 

โจอัว ฮาเวลานจ์ (ที่มา: BBC (Tim Vickery’s Blog))
เครดิตภาพ: AP



[1] ประวัติยูเซบิโอ อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความของ Gavin McOwan ในเวปไซต์ เดอะ การ์เดี้ยน (The Guardian) ซึ่งเขียนได้อย่างสนุกและแสดงความเคารพไปพร้อมกัน (McOwan, G. 2014. Eusebio Obituary. เข้าถึงได้ที่ http://www.theguardian.com/football/2014/jan/05/eusebio

[2] สำหรับสารคดีที่พูดถึงยูเซบิโอได้อย่างสนุกแนะนำให้ดู Pitch International, 2010. Football’s Greatest: Eusebio. เข้าถึงได้ที่http://www.youtube.com/watch?v=56gfKe50oqQ

[3] แนวคิดหลักของกาแลคติคอสของรีล มาดริด คือการดึงดูดนักเตะฝีเท้าดีจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ในทีม ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็มาจากยุโรปและอเมริกาใต้

[4] หลังจบการแข่งขันนี้ ปุสกัสได้แลกเสื้อกับยูเซบิโอ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ฟุตบอลมองการแลกเสื้อครั้งนี้ว่า เป็นการประกาศการส่งมอบตำแหน่งดาวซัลโวแห่งยุโรปอย่างไม่เป็นทางการ

[5] ในช่วงเวลานั้น โมซัมบิกยังเป็นส่วนหนึ่งของรัฐโปรตุเกส (หรือพูดง่ายๆ เป็นรัฐอาณานิคม) โดยใช้ชื่อว่า แอฟริกาตะวันออกในการปกครองของโปรตุเกส (Portuguese East Africa) ก่อนจะประกาศตัวออกมาเป็นเอกราชในปี ค.ศ. 1975 ยูเซบิโอจึงเล่นให้ทีมชาติโปรตุเกสตลอดช่วงเวลาในการค้าแข้ง

[6] Vickery, T. 2012. For Better or Worse? How Havelange’s Global Vision Changed Football. เข้าถึงได้ที่ http://www.bbc.co.uk/blogs/timvickery/2012/03/for_better_or_worse_how_havela.html

[7] Vickery, T. 2010. History Teaches Us that Fifa Has Changed Little. เข้าถึงได้ที่ http://www.bbc.co.uk/blogs/timvickery/2010/12/fifa.html

[8] Vickery, T. 2012. FIFA’s Controversial Roots Date Back to England Five Decades Ago. เข้าถึงได้ที่ http://sportsillustrated.cnn.com/2011/writers/tim_vickery/05/31/tabarez.fifa/

[9] John Sugden, Alan Tomlinson, and Paul Darby. FIFA Versus UEFA in the Struggle for the Control of the World Football. in Fanatics!: Power, Identity and Fandom in Football. ed. Adam Brown. (London, Routledge, 1998), p. 15.   

[10] Ibid, p. 16.

[11] Vickery, T. 2012. For Better or Worse? How Havelange’s Global Vision Changed Football. เข้าถึงได้ที่ http://www.bbc.co.uk/blogs/timvickery/2012/03/for_better_or_worse_how_havela.html

[12] Ibid. 

 

บล็อกของ Copa Mundial

Copa Mundial
ผมไม่แน่ใจว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างหนึ่ง คือการเล่นเพรสซิ่งอันเป็นกระแสในฟุตบอลโลกครั้งก่อน ลดประสิทธิภาพลงไปในครั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศ และข้อยืนยันการลดประสิทธิภาพก็ไม่ใช่อะไรเลย นอกไปจากการผงาดขึ้นอีกครั้งของเบอร์สิบ
Copa Mundial
คุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่ร่วมกันระหว่าง ยูเซบิโอ ทีมชาติเกาหลีเหนือ และโจอัว ฮาเวลานจ์ คือการเริ่มต้นประกาศและยืนยัน ถึงการดำรงอยู่ในโลกฟุตบอลของประเทศนอกทวีปยุโรป (และอเมริกาใต้)