“รู้จัก Voice Dialogue”
บรรยายโดย มะเหมี่ยว วรธิดา วิทยฐานกรณ์
และทีมงาน Voice Dialogue Thailand
วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม 2562 ณ วัชรสิทธา
สรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค
กางแผนที่
มะเหมี่ยว วรธิดา นักเรียนและกระบวนกร Voice Dialogue เป็นคนหนึ่งที่เคยมืดแปดด้านกับความย้อนแย้งกันของเสียงภายในจนเธอได้รู้จักกับงาน Voice Dialogue เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว
“ตอนนั้นเหมี่ยวมีความสัมพันธ์ที่ยากมากกับคุณพ่อ...พอเป็นพ่อลูกกันมันก็มีหลายอย่างที่เราคาดหวังกับเขาและเขาก็คาดหวังกับเราในฐานะลูก แล้วตอนนั้นมันยากขึ้นไปอีกระดับเพราะว่าเหมี่ยวต้องไปทำงานเป็นลูกน้องเขาด้วย เป็นพ่อลูกแล้วยังเป็นเจ้านายลูกน้องกันอีก...เวลาเจ้านายว่ามา คนที่เจ็บคือลูก...คือหัวคิดเราก็เข้าใจนะว่ามันเป็นบทบาทของเจ้านาย แต่ว่าใจมันไม่เข้าใจ”
มะเหมี่ยวพยายามรับมือปัญหาต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาระหว่างความสัมพันธ์นี้ แต่ก็ยังไม่สามารถออกจากเรื่องเดิมๆ ได้ จนเธอได้ไปปรึกษากับ ซอย กระบวนกร Voice Dialogue อีกคน ซอยแนะนำให้มะเหมี่ยวไปลองเรียนคอร์สพื้นฐานของ Voice Dialogue ดูเป็นเวลา 5 วัน และเมื่อจบวันที่ 5 ทางไปต่อจากปัญหาซ้ำเดิมที่มะเหมี่ยวไม่เคยมองเห็น ก็ได้เผยตัวออกในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตของเธอ
“ถ้าให้เทียบกับชีวิตเรา ก็เหมือนกับรูปแบบปัญหาที่เราต้องขัดแย้งกับคนแบบหนึ่งเสมอ ถ้าเราเจอคนแบบนี้จะมีปัญหาแบบนี้ตลอด เราเกลียดคนแบบนี้ หรือ ทำไมเรามีแฟนทีไรก็เจอแต่กับปัญหาเดิมๆ ทั้งที่เปลี่ยนแฟน เปลี่ยนแฟน เปลี่ยนแฟน...มาหลายรอบแล้ว”
“มันเหมือนกับได้เปิดแผนที่โลก เหมือนกับปัญหาที่มันเป็นคำถามที่เราแขวนไว้ทั้งหมดในชีวิตเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนอื่นและกับตัวเองมันถูกเปิดออกมาให้ดูทั้งหมด”
ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้มะเหมี่ยวสนใจและเลือกที่จะอยู่กับ Voice Dialogue มาจนถึงปัจจุบัน และเธออยากแบ่งปันประสบการณ์เหล่านั้นให้ผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รู้จักแง่มุมที่หลากหลายของเครื่องมือชิ้นนี้ และได้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ติดตัวกลับไป
“เหมี่ยวรู้สึกว่ามันเป็นเหมืองที่ขุดไม่หมดที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง และก็ได้เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและกับตนเองในรูปแบบที่มันแผ่ขยายออกไปได้เรื่อย ๆ”
Voice Dialogue เป็นเครื่องมือผสมระหว่างศาสตร์ทางจิตวิทยาและจิตวิญญาณ ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคู่สามีภรรยานักจิตวิทยาสาย Carl Jung ที่ชื่อว่าดอกเตอร์ Hal Stone และดอกเตอร์ Sidra Stone ทั้งคู่อาศัยการฟังเสียง (Voice) ของตัวตนย่อย ๆ (Sub Personalities) ในความสัมพันธ์ของทั้งคู่เอง และใช้รูปแบบของการสนทนา (Dialogue) เป็นเครื่องมือหลักของกระบวนการ
“Voice ในงาน Voice Dialogue จะพูดถึง บุคลิกภาพภายในของแต่ละคนที่มันมีหลายด้าน...ด้านที่ฉันอยากจะทำอย่างนั้น ด้านที่ฉันไม่อยากจะทำอย่างนี้ ด้านที่ฉันชอบ ด้านที่ฉันไม่ชอบ ด้านที่ฉันเกลียดเธอ ด้านที่ฉันรักเธอ ด้านที่ฉันโกรธเธอมากเลย แต่ฉันก็รักเธอด้วย... แล้วเรา (มุมมอง Voice Dialogue) ก็จะมองว่าทั้งหมดนี้เป็นความหลากหลายของประชากรภายในตัวเรา”
เสียงคำรามแห่งการตื่นรู้
โดยทั่วไปแล้วคนเราเรียนรู้ที่จะเข้าใจโลกผ่าน ทวิลักษณ์ (Duality) หรือการแบ่งขั้ว เราจึงเติบโตมาโดยผ่านกระบวนการเลือกบางสิ่ง (ไว้เป็นตัวตนของเรา) และทิ้งอีกสิ่งที่มีลักษณะตรงกันข้ามไปโดยปริยาย เราแยกสิ่งหนึ่งออกจากสิ่งหนึ่ง เรียนรู้ที่จะแบ่งแยกตนเองและสิ่งอื่นเพื่อหาตำแหน่งแห่งที่ของตน แยกแยะว่าสิ่งใดกินได้หรือไม่ได้ ตลอดจนทุกชุดความคิดที่เราเลือกที่จะเก็บไว้ หรือทิ้งไปในระหว่างการเติบโต จนเกิดเป็นกรอบที่ทำให้เราพยายามปฏิเสธเสียงที่เราคิดว่าไม่ใช่เรา เสียงที่ไม่จริง หรือไม่ถูกสำหรับเรา เราเคยชินกับการใช้ชีวิตบนการแบ่งขั้วนี้ แต่เสียงที่เราปฏิเสธก็ยังคงดังอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าจริงๆ แล้ว เสียงทุกเสียงนั้นอยู่ภายในตัวเราเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าทุกเสียงนั้นก็คือตัวเรา
“’เนื่องจากงาน Voice Dialogue เป็นงานลูกผสมระหว่างงานด้านจิตวิทยาและด้านจิตวิญญาณ ปลายทางในด้านจิตวิทยา จะช่วยให้เรารู้เท่าทันการทำงานของด้านต่าง ๆ ในตัวเรามากขึ้น และช่วยให้เรามีทางเลือกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น รวมถึงช่วยให้ความสัมพันธ์ของด้านต่างๆ ที่ขัดแย้งกันในตัวเราเองและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นดีขึ้น แต่ว่าในมุมของด้านจิตวิญญาณ งาน Voice Dialogue สามารถพาเราเข้าไปถึง ภาวะที่ไม่มีการแบ่งเป็นสอง หรือ Non-Duality แล้วในขณะเดียวกัน การแบ่งเป็นสองนั้นก็สามารถอยู่ร่วมกันได้” – ซอย
กระบวนการของ Voice Dialogue จะเผยให้เห็นถึงช่องทางใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งทวิลักษณ์นี้ โดยสามารถยอมรับการมีอยู่ของทั้งสองขั้วโดยไม่เกิดความขัดแย้งกัน และเนื่องจากความเป็นศาสตร์ผสมระหว่างจิตวิทยาและจิตวิญญาณ เครื่องมือนี้จึงเป็นประตูบานใหญ่บานหนึ่งที่สามารถเปิดไปสู่ภาวะการตระหนักรู้ได้
นิทานเรื่องหนึ่งที่ดอกเตอร์ Hal Stone ได้ยินมาจากชนเผ่าเผ่าหนึ่ง และประทับใจจนนำมาใช้เป็นบทเปิดของหนังสือเกี่ยวกับ Voice Dialogue ที่เขาเขียน เขาตั้งชื่อนิทานเรื่องนี้ว่า “Roar of Awakening: เสียงคำรามแห่งการตื่นรู้” ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกเสือตัวหนึ่งที่บังเอิญเติบโตมากับฝูงแพะตั้งแต่แรกคลอดจากท้องแม่เสือ ที่สิ้นใจตายในระหว่างที่พยายามล่าแพะเพื่อมาเป็นอาหาร ลูกเสือโตมาแบบแพะ กินแบบแพะ ร้องแบบแพะ แม้มันจะมีรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนแพะตัวอื่นๆ เลย แต่มันก็เชื่อว่ามันเป็นแพะ และแพะตัวอื่นๆ ก็ไม่ได้เห็นว่ามันเป็นเสือ เวลาผ่านไปจนลูกเสือกลายเป็นเสือหนุ่ม ฝูงแพะเดินทางผ่านแนวป่าที่มีเสือเฒ่าอาศัยอยู่ เมื่อเสือเฒ่าได้กลิ่นอาหาร มันจึงออกมาไล่ล่าแพะกินทันที แต่เมื่อฝูงแพะแตกกระเจิงไป เสือเฒ่าก็ต้องตกใจการปรากฏตัวของเสือหนุ่มกลางฝูงแพะ เสือเฒ่าเข้าไปดมเสือหนุ่มและถึงกับจะอ้วกเมื่อกลิ่นที่ควรจะเป็นกลิ่นสาปเสือกลับกลายเป็นกลิ่นสาปแพะ เสือเฒ่าหงุดหงิดมากที่เห็นเสือหนุ่มร้องแบะๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวตนที่แท้จริงของมันคืออะไร เสือเฒ่าลากเสือหนุ่มไปที่ลำธารเพื่อให้เสือหนุ่มเห็นตัวตนที่แท้จริง แต่เสือหนุ่มก็ยังไม่รู้ตัว และร้องแบะๆ ต่อไป เสือเฒ่าจึงออกไปล่าแพะมาตัวหนึ่งและบังคับให้เสือหนุ่มกิน เสือหนุ่มไม่กล้าที่จะกินพี่น้องของตัวเอง เสือเฒ่าจึงต้องฉีกเนื้อแพะสดๆ จับยัดเข้าปาก และปิดปากของเสือหนุ่มไว้ไม่ให้คายออกมา และทันทีที่เลือดอุ่นจากเนื้อสดๆ ของแพะไหลเวียนไปทั่วทั้งร่างของเสือหนุ่ม เสือหนุ่มก็คำรามออกมา แล้วเสือทั้งสองก็แยกย้าย หายกลับเข้าสู่ป่าดังเดิม
“จริงๆ แล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงคนอื่นอย่างมากเลย ยิ่งกว่านิทานเรื่องเสือกับแพะอีก เรามีกลไกที่ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นเพื่ออยู่รอดที่เข้มข้นมาก และการที่เราจะอยู่รอดได้เราต้องปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นอย่างมหาศาล และหลายๆ อย่างที่คนรอบตัวเรา หรือแม้แต่ศาสนาบอกให้เราทำ เราก็ต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็อยู่ร่วมกับเขาไม่ได้ แล้วมันก็ทำให้เราต้องตัดหลายๆ อย่างที่มันเป็นคุณลักษณะที่เป็นเราทิ้งไป แล้วหลายอย่างในนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในชีวิตเราเสียด้วย แต่เนื่องจากมันไม่เข้ากับบริบทสังคมที่เราอยู่ เราเลยต้องทิ้งมันไป”
คัดสรร
ในกระบวนการของ Voice Dialogue กระบวนกรจะคอยทำหน้าที่ในการสร้างสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการปรากฏขึ้นของเสียงต่างๆ ภายในเรา ผ่านการพูดคุยที่เป็นกลาง ปราศจากการตัดสินหรือชี้นำ กระบวนกรจะทำหน้าที่เป็นผู้รักษาความเสถียรของช่องสัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏออกมา และทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนให้เราสามารถตระหนักถึงด้านต่างๆ ที่ปรากฏออกมา เราอาจได้เห็นตัวเองในสภาวะที่เราเคยชิน หรือเรียกว่า ตัวตนหลัก (Primary Selves) และตัวตนที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไข (Sometimes Selves) แต่เป็นการเห็นจากมุมมองใหม่ๆ ที่อาจช่วยเราในการคลี่คลายด้านที่ถูกกดทับไว้ (Disowned Selves) หรือเราอาจจะได้สำรวจด้านที่ยังไม่เผยปรากฏในตัวเรา (Unknown Selves) อีกด้วย
ซอย กระบวนกรอีกท่านหนึ่ง ใช้สำรับไพ่ในการอธิบายกระบวนการเลือกในระหว่างการเติบโตของเรา เราถูกความคาดหวังในขณะที่เรายังเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้เรื่องอะไรในท้องแม่หยิบยื่นคุณลักษณะบางอย่างให้ และถูกพรากบางอย่างไปตั้งแต่พ่อแม่รู้เพศของเราจากการอัลตร้าซาวด์ เมื่อคลอดออกมา เราทิ้งและเลือกวิธีการบางแบบจากการตอบสนองของพ่อแม่ เราอาจโตมาด้วยความคิดว่าเจตจำนงของเราไม่มีความหมายตั้งแต่เรายังไม่มีความเข้าใจทางภาษาเพียงเพราะไม่ว่าเราจะร้องหิวนมแทบตายยังไง แม่ก็ยังจะให้นมเป็นเวลา เราอาจบังเอิญเกิดมาเป็นพี่คนโตที่ถูกสอนให้เสียสละ และเมื่อเราต้องเลือกที่จะเป็นคนเสียสละ เราก็ทิ้งสิ่งที่ถูกมองเป็นความเห็นแก่ตัวเองทิ้งไปโดยปริยาย เราเลือกเก็บและทิ้งขั้วตรงข้ามไปเรื่อยๆ จนเหลือเป็นไพ่จำนวนหนึ่งบนมือที่เรามั่นใจอย่างยิ่งว่าจะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ในบ้าน ในโรงเรียน ในสังคมที่เราอยู่ และจากที่เราไม่รู้อะไรเลยเราก็เริ่มอธิบายตัวเราด้วยไพ่เพียงไม่กี่ใบบนมือ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มีไพ่หลายใบที่เราทิ้งไป และอีกเกินกว่าครึ่งสำรับที่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไร
“ยังมีอีกหลายอย่างที่ถูกคว่ำอยู่ในกองแล้วเรายังไม่ค้นพบ เพราะเหตุการณ์ในชีวิตยังไม่นำพาให้เราเจอ อย่าง Hal กับ Sidra ก็จะพูดตลอดเลยว่าตอนนี้อยู่ในอายุ 90 แล้วเค้ายังค้นพบสิ่งใหม่ๆ ไพ่ของพวกเขายังเปิดอยู่ และมันจะเปิดจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เราจะรู้ได้อย่างไรว่าศักยภาพในลมหายใจสุดท้ายของชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ...แต่เรายังไม่ต้องไปถึงตรงนั้น” – ซอย กล่าว
“ปัญหาคือ ไพ่ทุกใบคือศักยภาพความเป็นมนุษย์ ไม่มีไพ่ไหนถูกไพ่ไหนผิด แต่เราดันเชื่อว่า สิ่งที่เราเชื่อว่าเราเป็นมันเวิร์คที่สุด เพราะมันก็เวิร์คจริงๆ ถ้ามันไม่เวิร์คเราก็คงไม่เป็นมัน มันเวิร์คเพื่ออยู่รอด เพื่อให้เรามีข้าวกิน สิ่งนั้นมันเลยถูกฝึกจนกลายตัวเรา เป็นเรา และสิ่งที่เราเชื่อที่สุดมันดันไม่เหมือนกับสิ่งที่คนอื่นเชื่อ”
ความบริบูรณ์
ในงานของ Carl Jung จะพูดถึงความบริบูรณ์ (Wholeness) ซึ่งหมายถึงความบริบูรณ์ในแต่ละขณะที่ประสบการณ์ชีวิตต้องการจะมอบให้เรา เราอาจผ่านเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต และได้ทิ้งศักยภาพความเป็นมนุษย์บางส่วนไป จนส่งผลให้เกิดความอึดอัดคับแคบภายใน เนื่องจากเกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างสิ่งที่เราเชื่อว่าเราเป็น กับสิ่งที่เราคิดว่าคนอื่นเป็น
แม้เงื่อนไขในชีวิตของเราจะตัดเฉือนความบริบูรณ์ของเราออกไป แต่ความเป็นจริงแล้วความบริบูรณ์ก็ยังคงอยู่กับเราอยู่ตลอดเวลา และถ้าเราไม่สามารถรับรู้ถึงความบริบูรณ์ภายในตัวเราเองได้ ความบริบูรณ์นี้เองที่จะหาหนทางเปิดเผยตัวเองกับเรา ผ่านรูปแบบของขั้วตรงข้ามซึ่งมักจะมาในรูปของบุคคล
“สิ่งที่เราปฏิเสธไปมันจะเข้ามาหาเราในสองรูปแบบ ก็คือแบบที่เข้ามาแล้วเราเกลียด กวนใจ มีปัญหากับชีวิตมากๆ เลย กับแบบที่เข้ามาแล้วเราหลงใหลด้วยความรู้สึกที่ว่าเราเป็นสิ่งนั้นไม่ได้ แล้วมันคือสิ่งเดียวกัน เราสังเกตได้จากการตกหลุมรักนี่แหละ” ซอยเสริม
เราอาจตกหลุมรักใครสักคนที่ดูเป็นคนง่ายๆ สบายๆ เพราะเราเป็นคนขยันที่โหยหาการพักผ่อนอยู่ลึกๆ เราสัมผัสได้ถึงความเต็มเพราะคนๆ นี้เข้ามาเติมแง่มุมที่ขาดหายไปในชีวิตของเรา แต่เมื่ออยู่กันไปสักระยะ สิ่งเดียวกันนี้ที่เคยเป็นการพักผ่อนที่เราโหยหาก็กลับกลายเป็นความขี้เกียจที่ความขยันในตัวเราปฏิเสธ
“แล้วถ้าเรายังไม่ยอมตรวจสอบไพ่ที่อยู่บนมือเรานะ เราก็จะไปเจอปัญหาแบบเดิมๆ กับคนอื่นต่อ” – ซอยกล่าว
แนวคิดเรื่องความบริบูรณ์นี้เองที่ทำให้การตรวจสอบตนเองในงาน Voice Dialogue ไม่ใช่การจัดหมวดหมู่ให้กับมนุษย์แบบที่มีอยู่ในศาสตร์หลายๆ แขนง เนื่องจากวิธีคิดแบบแบ่งประเภทนั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เราติดในกรอบของสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น ซึ่งขวางกั้นเราออกจากความบริบูรณ์ที่จักรวาลต้องการให้เรารับรู้
“มันยากเหลือเกินที่จะบอกไม่ให้เราไปตัดสินคนอื่น ต่อให้เราทำกติกาอย่างไร ไอ้การเขม่นกันอยู่ลึกๆ ก็ยังมี แล้วบางทีก็จะหลุด กลายเป็นข้อเรียนรู้ว่าไอ้ Career Development ที่เราทำในการช่วยพัฒนาคนอื่นรวมทั้งพัฒนาตนเองด้วย มันเป็นการที่เราพัฒนาอยู่บนจุดแข็ง จริงๆ ก็คือพัฒนาสิ่งที่เราเก่งอยู่แล้วในชีวิต ซึ่งก็คือไพ่ไม่กี่ใบในมือนี่แหละ แล้วสุดท้ายมันก็ติดแล้วก็ไม่ข้าม แล้วก็ไปตัดสินคนอื่น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทำให้พี่อิ๋วมาสนใจงาน Voice Dialogue ซึ่งเปิดอิสรภาพที่เราให้กับตัวเองเพื่อที่เราจะเข้าสู่ความเต็ม...การเห็นก่อนว่าเป็นอะไรมันก็ช่วย พี่อิ๋วเคยอยู่ในสายงานพัฒนาตัวเองแบบนั้นจนเลิกทำไปละ เพราะรู้สึกว่ายิ่งทำยิ่งติด เพราะมันทำให้เราไม่สามารถขยับขยาย เปิดพื้นที่ให้สิ่งอื่นที่มันปรากฏขึ้นมา แล้วหลายครั้งความขัดแย้งก็เกิดขึ้นในชีวิตภายในของเราเอง เช่น ความเป็นแม่ กับผู้หญิงบ้างาน...เป็นต้น” – พี่อิ๋ว กระบวนกรอีกท่านหนึ่งกล่าวเสริม
การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในงาน Voice Dialogue คือการเพิ่มพื้นที่ของการเข้าถึงศักยภาพในตัวเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ ตระหนักรู้ว่าคุณลักษณะของศักยภาพที่เรายึดถือไว้นั้นไม่ใช่เรา แต่คือความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
“หลายคนมักจะเชื่อมโยงคำว่าศักยภาพเข้าสิ่งที่มันดู Powerful …ต้องแข็งแกร่ง ต้องมั่นคง หรือชีวิตต้องไม่มีปัญหาเลย แต่จริงๆ แล้วในงาน Voice Dialogue ทุกอย่างที่มนุษย์เป็นได้ คือศักยภาพ ความสามารถในการร้องไห้ก็คือศักยภาพ บางคนรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ แต่จริงๆ นี่คือความเป็นมนุษย์ อ่อนโยนได้...อ่อนแอได้” – ซอยเสริม
Bug You Exercise ประตูสู่งาน Voice Dialogue
เพื่อให้เห็นภาพของกระบวนการ มะเหมี่ยวและทีมงาน Voice Dialogue Thailand ได้เตรียมกิจกรรม Bug You Exercise เพื่อใช้เป็นประตูที่เปิดสู่ Voice Dialogue กิจกรรมนี้จะช่วยตรวจสอบจุดบอดของคุณลักษณะที่เรายึดไว้หรือปฏิเสธ จนกลายมาเป็นเลนส์ของแว่นตาที่เราสวมใส่เพื่อทำความเข้าใจโลกและตัดสินสิ่งต่างๆ นี่เองที่เป็นสาเหตุของปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการปฏิสัมพันธ์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับกระดาษ A4 คนละหนึ่งแผ่น เราถูกบอกให้พับแบ่งมันเป็น 4 คอลัมน์ และให้เขียนสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวของคนอื่นลงไปในคอลัมน์ที่ 2 และสิ่งที่เราอยากให้สิ่งที่เราไม่ชอบในคอลัมน์ที่สองนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็น ลงในคอลัมน์ที่ 3 เช่น เราไม่ชอบคนที่ปล่อยให้ห้องรกไม่เป็นระเบียบ และเราอยากให้คนประเภทนั้นหัดดูแลห้องให้ดูสะอาดตาบ้าง ตามลำดับ
จากนั้นวิทยากรทั้งสามคนให้ผู้ร่วมกิจกรรมจับกลุ่มกัน 3 – 4 คน เพื่อดำเนินกิจกรรมในคอลัมน์ที่ 1 และ 4 ที่ต้องอาศัยจินตนาการในการออกนอกพื้นที่ของตัวเองโดยมีคนในกลุ่มมาช่วยสะท้อน มะเหมี่ยวให้เรานึกถึงคนประเภทที่เราไม่ชอบในคอลัมน์ที่ 2 แล้วลองเปิดพื้นที่เพื่อจินตนาการดูว่า จริงๆ แล้วคนในคอลัมน์ที่สองนั้นมองตัวของพวกเขาหรือการกระทำของเขาเองว่าเป็นเช่นไร แล้วให้เขียนลงไปในคอลัมน์ที่ 1
“อย่างคนที่ชอบเล่าแต่เรื่องตัวเองมากกว่าที่จะฟังเรา คนคนนั้นเขาอาจจะอยากบอกความคิด ความเป็นเขาให้ครบถ้วนเพื่อที่เราจะได้เข้าใจเขาถูก” – อิ๋วขยายความ
“มุมหนึ่งที่ผมเคยเจอคนอินเดียคือ เขาคิดว่าเขาฉลาดนะครับ เขาบอกว่าเขาจะทำวิธีไหนก็ได้เพื่อให้ได้ผลที่เขาต้องการ ภาพจำของคนแขกเลยกลายเป็นคนเจ้าเล่ห์ เขาจะพูดได้เรื่อยๆ จนกว่าเขาจะชนะ” – ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่ง
“พอคนอินเดียมาเจอกับคนไทย คนไทยก็จะแบบ ทำไมมึงไม่เลิกซักทีวะ แต่ว่าคนอินเดียก็จะแบบว่า ไม่ได้ทางนั้นก็จะไปทางนี้ คนไทยก็จะ อ้าว! เราแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วนะว่าเราไม่อยากฟังแล้ว” – มะเหมี่ยว
“เท่าที่ฟังแล้วนึกถึงก็คือว่า ฉันเป็นคนมีความพยายาม ฉันจะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และฉันจะพยายามให้ถึงที่สุด” – อิ๋ว
ในคอลัมน์ที่ 1 นี้ค่อนข้างเป็นสิ่งที่เราเองมองเห็นได้ยากจากเลนส์ของเรา การจับกลุ่มเลยต้องพยายามหาคนที่น่าจะไม่ใช่คนประเภทเดียวกัน เพื่อช่วยมองด้านที่เราไม่สามารถเห็นได้ในขณะที่เราเท้าความถึงบริบทของคนที่พูดถึงในคอลัมน์ที่ 2
เจ้าของเรื่องบางคนก็พอที่จะสามารถออกจากตัวเอง เพื่อมองจากมุมของคนที่พวกเขาเล่าถึงได้บ้าง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของสมาชิกในกลุ่มและการแนะนำของวิทยากรมากพอสมควร เนื่องจากการมองจากมุมของผู้อื่นไม่ใช่การพยายามคิดถึงเหตุผลของการกระทำเหล่านั้น แต่เป็นการพยายามเข้าใจโลกผ่านแว่นของผู้อื่น เหมือนกับที่เราเองก็เข้าใจโลกผ่านแว่นของเรา
ในคอลัมน์ที่ 4 ซึ่งเป็นคอลัมน์สุดท้ายนี้ทำเอาทุกคนโอดโอยไปตามๆ กัน เนื่องจากเป็นคอลัมน์ที่เราต้องนำความต้องการในการเปลี่ยนแปลงผู้อื่นในคอลัมน์ที่ 3 ของเรามาลองมองจากมุมของคนอื่น ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็จะช่วยกันรุมสะท้อนเราอย่างไม่เว้นช่วง บางการสะท้อนไม่ตรงกับเรา แต่บางคำที่สะท้อนก็เข้ามาเชือดเฉือนหัวใจเราซะเหลือเกิน แม้ว่าทีมงานจะแนะนำก่อนหน้านี้แล้วว่าให้มองเป็นการสะท้อนถึงคุณลักษณะ ไม่ใช่ตัวเรา
แบบฝึกหัด Bug You Exercise นี้ทำให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจเป็นอย่างแรกสุด ซึ่งก็คือ ตัวตนหลัก (Primary Selves) ของเราในคอลัมน์ที่ 4 ที่มีคุณลักษณะที่ดีที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่เป็นตัวเราได้จนถึงปัจจุบัน แต่เราก็มักจะลืมมองไปว่ามันยังมีด้านที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันทำให้ตัวเราเป็นเช่นไรในสายตาของผู้อื่น และจากการมองตัวตนหลักให้รอบด้านนี้เองที่จะส่งผลให้เราได้ตรวจสอบ ตัวตนที่เราปฏิเสธ (Disowned Selves) ทั้งในด้านที่สังเกตได้ง่ายจากแว่นของเราเองในคอลัมน์ที่ 2 และด้านที่เราต้องวางแว่นของเราลงชั่วคราวเพื่อที่จะเข้าใจ
ทั้งนี้ความยากในการมองเห็นด้านที่อยู่ใน เงา (Shadow) ในคอลัมน์ที่ 1 และ 4 นั้น ขึ้นอยู่กับความแน่นหนาในการยึดอยู่กับตัวตนหลักและตัวตนที่เราปฏิเสธ หากเรายึดมากเราก็อาจมองทุกสิ่งที่คนอื่นสะท้อนมา เป็นคำโจมตีตัวเรา หรือไม่ก็เป็นแค่คำแก้ตัว
แต่สำหรับบางคนก็จะมีความยากในมุมกลับกัน นั่นก็คือการติดอยู่ในเงา เห็นแต่ข้อเสียของตัวเองและเห็นแต่ข้อดีของคนอื่น ทรมานกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตนเองจากภายใน (Inner Critic) โดยไม่สามารถเห็นข้อดีของตนเองและข้อเสียของผู้อื่นได้
“จุดประสงค์หลักในการทำ Bug You Exercise คือ เพื่อให้เห็นบางอย่างภายในตัวเราและบางอย่างที่เราไม่มีโอกาสได้เห็น แล้วเราได้ทำให้มันเผยออกมาเพื่อที่จะได้รู้จัก...เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเราจะต้องทำงานกับอะไรในตัวเราบ้าง...แต่สำหรับบางคนที่ทำ Bug You Exercise แล้วรู้สึกว่ามันทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น เป็นเพราะว่าเราไปไม่ได้ไปพยายามทำความเข้าใจคนอื่น แต่เป็นเพราะว่าเราเริ่มรับรู้แล้วว่า สิ่งที่เราไม่เคยเห็นและรับรู้ได้ในคอลัมน์ 1 ได้ช่วยคลี่คลายความรู้สึกของเราไปโดยปริยาย และการที่เราทำคอลัมน์ 4 ออกมาได้ มันจะลดความจริงจังของความเชื่อในสิ่งที่เรามีลงมาได้...เพราะฉะนั้นนอกจากความสามารถในการเข้าใจตัวเองแล้ว มันยังทำให้เราสามารถคลายบางอย่างในตัวเราได้” – ซอยกล่าว
“เรามักจะจินตนาการไปสุดขีดว่า ถ้าเราเป็น เราจะเป็นหนักเหมือนคนคนนั้น...หากเราต้องเป็นคนง่ายๆ สบายๆ เราจะกลายเป็นคนลวกๆ ...เราจินตนาการไปไกลเกิน แต่เราจะไม่เคยจินตนาการว่าถ้าเราได้คุณลักษณะที่เขาเป็นแค่ 2% จะเป็นยังไง มันอาจจะ Relax ขึ้นเลยนะ...จริงๆ แค่เพียงนิดเดียวของคุณลักษณะนั้นเปลี่ยน Dynamic System ข้างในตัวเรามหาศาลเลย”
ความเป็นไปได้นับไม่ถ้วนถูกเปิดออก เราอาจตระหนักได้ว่าการที่เราเป็นคนที่พยายามกินอาหารน้อย ๆ พยายามละวางการยึดติดในรสชาตินั้น ส่งผลให้ภรรยาที่นั่งกินข้าวอยู่ตรงข้ามเรานั้นกินอะไรไม่อร่อย เราอาจตระหนักได้ว่าความเป็นระเบียบของเรากำลังทำลายความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในตัวลูกของเราไป เราอาจจะเข้าใจอาการเสพติดของตัวเราเองมากขึ้นและวางมันได้ง่ายลง เราอาจเกลียดใครบางคนน้อยลงและรักตัวเองได้มากกว่าที่เราเคยเป็น
ชีวิตค่อยๆ คลี่เผย เป็นชีวิตที่เติมเต็มความสมบูรณ์ของการมีชีวิต อาจไม่ใช่ในแบบที่เราเคยคิดว่าเราเป็น ไม่ใช่คนดี ไม่ใช่คนเลว ไม่ใช่คนแบบนั้น หรือคนแบบนี้ แต่มีคุณลักษณะต่างๆ ปรากฏอยู่ในตัวเราทุกๆ ด้าน ...แค่เปิดรับความเป็นมนุษย์ในตัวเองเช่นนี้ได้ก็นำมาซึ่งอิสรภาพและความสุขในการมีชีวิตอยู่อย่างมหาศาล...