Skip to main content

 

ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ บรรยาย

เนื้อหาจากเสวนา "เราจะรักกันไปทำไม? : ภราดรภาพในฐานะพลังในการขับเคลื่อนสังคม"

สรุปความโดย นายชัยณภัทร จันทร์นาค

 

ก่อนที่อาจารย์สุวรรณาจะเริ่มการบรรยายในครั้งนี้ ทางวัชรสิทธาก็ได้ฉายวิดีโอช่วงตอนหนึ่งจากงานเสวนาที่อาจารย์พูดถึงการใช้กรอบ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพในการมองพุทธศาสนา

อาจารย์สุวรรณามองว่ากรอบคิดเรื่อง เสรีภาพ มีอยู่ในอุดมการณ์ของพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นมหายาน เถรวาท หรือศาสนธรรมทั้งหลาย คือเรื่องเดียวกันกับการมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณ

ในมิติของความเสมอภาค อาจารย์มองว่าทั้งเถรวาทและมหายานล้วนมีการพูดถึงเรื่องความเสมอภาคด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าในมหายานจะขับเน้นเรื่องนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องธรรมชาติของสรรพสัตว์ที่มีพุทธภาวะและศักยภาพในการบรรลุธรรมเสมอกัน ในขณะที่เถรวาทที่เราคุ้นเคยอยู่ในวัฒนธรรมไทยไม่ค่อยเน้นเรื่องเสมอภาค มีที่พอจะเทียบเคียงได้ก็คือคำสอนเรื่องบัวสี่เหล่า ที่เหมือนจะสื่อเป็นนัยว่าเราบรรลุธรรมได้ไม่เท่ากัน แต่อาจารย์มองว่าคำสอนบัวสี่เหล่าไม่ได้บอกถึงความไม่เสมอภาคของศักยภาพในการบรรลุธรรม แต่เน้นไปที่ประเด็นของเวลามากกว่า

ส่วนของเรื่องความภราดรภาพ อาจารย์สุวรรณาพูดถึงประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่มหายานเน้นคือ

  1. การตั้งเป้าไปถึงสรรพสัตว์และการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหมด ซึ่งเป็นเป้าที่ไปไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์จะคิดถึงได้
  2. การที่เราสามารถช่วยกันบรรลุธรรมได้

อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่าการพูดว่าพระโพธิสัตว์จะเป็นคนสุดท้ายที่จะบรรลุธรรมและการเน้นเรื่องความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์มีลักษณะเป็นอารมณ์ของความซาบซึ้ง ซึ่งแตกต่างจากเถรวาทที่อาจารย์มองว่าเป็นอารมณ์แห่งปัญญา ทั้งการตั้งเป้าที่ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์จะนึกถึงและการช่วยเหลือกันบรรลุธรรม สะท้อนถึงศรัทธาอันแรงกล้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนของหัวใจแบบมหายาน ในแง่นี้ภราดรภาพจึงเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะพาเราไปสู่อิสรภาพทางจิตวิญญาณได้

ในบริบทสังคมปัจจุบัน ศาสนธรรมที่ผ่านการคิดด้วยกรอบของ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ได้กลับมาเป็นกรอบใหม่ในการมองเรื่องปัญหาสังคมการเมืองที่เรากำลังร่วมกันเผชิญและต่อสู่กันอยู่ในปัจจุบัน

เนื้อหาที่อาจารย์สุวรรณาเตรียมมานั้นก็ค่อนข้างเซอร์ไพร์ซผู้เข้าร่วมอยู่พอสมควร เพราะดูเหมือนว่ามันจะไม่เกี่ยวข้องกับกรอบคิดที่ว่านี้เลย แต่หากมองดูดีๆ แล้วอาจารย์กำลังพาเรากลับมาสำรวจ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ กันใหม่โดยมีความรักในเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์เป็นแกนกลาง

ความรักกับความผูกพัน

“มนุษย์เป็นสัตว์ที่ใช้เวลาโตนอกครรภ์มารดามากที่สุด ซึ่งทำให้คำถามเรื่องความผูกพันเป็นคำถามที่ว่า เรากลายเป็นมนุษย์เมื่อไหร่?”

ความเป็นมนุษย์ของเราไม่ได้สมบูรณ์ในทันทีที่เราเกิดมา แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้จากการผูกสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว ตั้งแต่แม่ พ่อ ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม อุดมการณ์ และทุกสิ่งที่อย่างที่ประกอบเข้ามาเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่กลายเป็นตัวกำหนดคุณค่าและความหมายในการมีอยู่ และทำในบางสิ่งบางอย่าง

ความผูกพันเป็นปัจจัยสำคัญต่อแรงบัลดาลใจในการทำสิ่งต่างๆ เราอาจจะชอบทำอาหารเพราะโตมากับครอบครัวที่ขายอาหาร เราอาจจะชอบเรื่องการออกแบบภายในเพราะเราชอบเล่นเกม The Sims หรือเราอาจจะกล้าที่จะเผชิญความแตกต่างเพราะสมัยเด็กๆ เราต้องย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียนบ่อย

ความผูกพันเป็นพื้นฐานของศักยภาพหลายอย่างที่เราต้องการ อย่างเช่น ความอดทน ความเสียสละ ความสามัคคี ความห่วงใย ความรัก ฯลฯ แต่ในอีกด้าน ความผูกพันก็สามารถก่อให้เกิดความเป็นเจ้าของ ความหมกมุ่น ความเศร้า ความโกรธเกลียด ฯลฯ ซึ่งในแง่มุมนี้เองที่พุทธปรัชญาสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ ความผูกพัน (bonding) ไม่กลายเป็น เครื่องผูกมัด (bondage) ที่ทำให้เราสูญเสียอิสรภาพในการสัมพันธ์กับชีวิตในมิติอื่นๆ

            “ความรักคือความผูกพัน แต่ความผูกพันนั้นซับซ้อนมากในฐานะที่เป็นมนุษย์”

 

ความรักกับภาระหน้าที่

“รักแล้วไม่ทำงานหนักมีด้วยหรือ?” / ขงจื่อ

ประสบการณ์ของการตกหลุมรักนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายในเชิงเหตุผล หลายครั้งมันถูกเปรียบเทียบด้วยการเล่นกับสามัญสำนึกอย่างคำที่อาจารย์สุวรรณายกตัวอย่างว่า ‘Love take your breath away’ คือ รักทำเราหยุดหายใจและเราเองก็ยินดีที่จะยอมหยุดหายใจอย่างมีความสุขในสภาวะของการตกหลุมรักนั้น ในขณะที่การหยุดหายใจโดยทั่วไปนั้นนำมาซึ่งความอึดอัดซึ่งอาจหมายถึงการตาย

รักมอบอิสรภาพให้แก่เรา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารักในความหมายของการมีความสัมพันธ์นั้นมักจะตามมาด้วย ข้อผูกพัน (commitment) ที่อาจเป็นข้อตกลงระหว่างคู่รักหรือครอบครัว ที่กำหนดขึ้นมาเองเพื่อการอยู่ร่วมกัน หรืออาจเป็นอิทธิพลจากขนบธรรมเนียมที่ส่งผลให้เกิดข้อผูกมัดบางอย่างที่คนในความสัมพันธ์นั้นไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างขึ้น

แต่เมื่อเราได้รักแล้ว หน้าที่ก็ไม่ใช่อะไรนอกจากความผูกพันรูปแบบหนึ่งที่ปลุกเร้าศักยภาพในการเสียสละ เราพร้อมที่จะสละในหลายๆ อย่าง ทั้งทรัพยากรภายนอกและทรัพยากรภายใน เราสละชีวิตโสดสู่การแต่งงาน สละความเป็นส่วนตัวให้ครอบครัว เราอาจสละความฝันเพื่อความรัก เรายอมสละตัวตนและในบางครั้งเราก็ยอมสละกระทั่งชีวิต

 

ความรักกับการแต่งงาน

“ฐานคิดในโลกสมัยใหม่ ด้านความรู้ก็จะเป็นทางวิทยาศาสตร์ การใช้เหตุผล ในยุคเอนไลท์เทนเมนท์ ในแง่การเมืองก็คือประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ มันทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับการเลือกคู่ครองของมนุษย์ผ่านความรัก และการสร้างสถาบันหลังจากความรู้สึกแห่งความรักนั้นมีวิธีคิดที่ต่างกัน”

ในโลกโบราณ สังคมตะวันตกและตะวันออกไม่ได้มีความแตกต่างกันมากในเรื่องของการแต่งงาน คือ เริ่มจากการพิจารณาเรื่องตระกูลเป็นปัจจัยสำคัญ แล้วค่อยมองมาที่ครอบครัว และให้ความสำคัญกับความรักใคร่ระหว่างบุคคลน้อยที่สุดหรืออาจไม่ได้คำนึงถึง

ในโลกสมัยใหม่ ฐานคิดเรื่องการแต่งงานพลิกกลับด้วยอิทธิพลในยุคโรแมนติก โดยเริ่มจากความรักของบุคคลก่อนค่อยนำไปสู่การสร้างครอบครัว ตระกูลมีความสำคัญลดลงหรืออาจเป็นแค่เรื่องของบุคคลที่รักกันล้วนๆ ไม่ได้สำคัญเลยทั้งครอบครัวและตระกูล

นอกเหนือจากรักที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน อาจารย์สุวรรณายังพูดถึงรักที่ “สมรส” ซึ่งอาจารย์เองก็ไม่ทราบที่มาที่ไปที่แท้จริง แต่อาศัยการวิเคราะห์เชิงความหมายว่ามันคือ “รสที่สมกัน” โดยไม่ต้องมีแบบแผนที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องของรสนิยมที่เหมือนกัน แต่เป็นรสที่สมกันที่ทำให้สามารถปรับเปลี่ยน เติบโตกันต่อไปได้ ซึ่งถ้าการแต่งงานอยู่บนพื้นฐานของรสที่สมกันนี้ การสร้างและรักษาสถาบันของความรักนั้นก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น

“เราจะพูดเรื่องภราดรภาพ เราจะพูดเรื่องสิ่งซึ่งผูกพันคนในระดับต่างกัน จากบุคคลต่อบุคคล ครอบครัว ตระกูล สังคม ไปสู่รัฐ การแต่งงานก็ผูกพันระหว่างบุคคล ครอบครัว ตระกูล ฟังดูก็เหมือนไม่มีอะไร”

 

เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมร่วมสมัย ที่มีผลต่อความเข้าใจใน ความรัก ความผูกพัน ภราดรภาพ

อาจารย์สุวรรณาให้ข้อสังเกตว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในยุคปัจจุบันวางอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ไม่ได้คำนึงถึงการพัฒนาความสัมพันธ์

เราพยายามค้นหาวิธีการต่างๆ ในการลดการพึ่งพากันให้น้อยที่สุด อย่างตัวอย่างที่อาจารย์พูดถึงเทคโนโลยีที่ช่วยพยุงโครงสร้างร่างกายของผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ หรือสมาร์ทโฮมเพื่อให้ผู้สูงอายุที่ขาดผู้ดูแลสามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด ส่วนเทคโนโลยีที่มุ่งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นไม่ค่อยจะมีให้เห็นเท่าไหร่นัก

ความเร็วในประสิทธิภาพเชิงเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลง

เพราะนอกจากการที่โลกเชื่อมถึงกันมากขึ้นจะส่งผลดีให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้นและเร็วขึ้นแล้ว มันยังส่งผลให้โอกาสในการสร้างความผูกพันที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะทรงจำจากประสบการที่มีร่วมกันน้อยลง

อาจารย์ยังตั้งข้อสังเกตอีกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของความเร็วกับความรุนแรง เนื่องจากความอดทนของเรานั้นมีความสัมพันธ์กับการคิดถึงเวลาแบบในรูปแบบที่เรายังมีจินตนาการถึงอนาคตที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าเราไม่สามารถก้าวข้ามกรอบความคิดที่เป็นตัวกำหนดความต้องการความเร็วในการหาคำตอบหรือทางออกได้ เราจึงมีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงออกมาได้ง่ายกว่าการที่เราจะอดทน

 

ความปรารถนา ความหวังดี และการอยู่ร่วมกัน

“เพราะปรารถนาเราจึงแสวงหา”

ความปรารถนาคือพื้นฐานของความสร้างสรรค์ มนุษย์สร้างอารยธรรมขึ้นมาได้ก็เพราะความปรารถนา และหนึ่งในความปรารถนาของเราก็คือความรัก เราต่างก็รู้สึกได้รับการเติมเต็มเมื่อได้รักและเมื่อถูกรัก

อาจารย์สุวรรณาอธิบายเรื่องความรักในมิติของความหวังดีด้วยแนวคิดของ Immanuel Kant ว่า

“เวลาเรารักใครเราจะหวังดีกับเขา แต่ความหวังดีนั้นต้องไม่ละเมิดความเข้าใจว่าเราต้องเคารพเขาด้วย เพราะว่าความหวังดีมีข้อที่เราคิดไว้เบื้องต้นซึ่งอาจจะผิดก็ได้ว่า เรารู้ว่าดีคืออะไร ที่ฉันหวังให้กับเธอ ก็คือ หวังดี แต่ดีที่ฉันหวังขึ้นอยู่กับความดีที่ฉันเข้าใจ ซึ่งความดีที่ฉันเข้าใจน่าจะมีข้อจำกัดเสมอ ดั้งนั้นฉันอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ ความหวังดีของฉันอาจจะเป็นประสงค์ร้ายโดยไม่เจตนา”

โดยทั่วไปแล้วตำราจริยศาสตร์จะแบ่งออกเป็นสามแนวทางหลักๆ คือ จริยศาสตร์แบบอริสโตเติ้ลซึ่งอาจารย์ไม่ได้นำมาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับการเสวนาในครั้งนี้ แต่อาจารย์เกริ่นถึงจริยศาสตร์เชิงหน้าที่และหลักสากลในสายของ Immanuel Kant และหลักประโยชน์นิยมในสาย John Stuart Mill เพื่อพูดถึงความสนใจโดยทั่วไปในพื้นที่ถกเถียงทางจริยศาสตร์เพื่อนำไปสู่ประเด็นเรื่องการอยู่ร่วมกัน

ในฝ่าย Kant มองว่าการกระทำที่ดีคือการกระทำที่เราจงใจให้เป็นหลักสากลได้ อย่างเช่น การไม่แซงคิว เพราะถ้า การแซงคิวเป็นสิ่งที่กลายเป็นหลักสากลที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทุกคนก็จะแซงคิวแล้วสิ่งที่เรียกว่าคิวก็จะหายไป จริยศาสตร์เรื่องหลักสากลของ Kant ที่ถูกต้องก็คือ หลักนั้นๆ จะต้องไม่ทำลายตัวเอง

ในด้านประโยชน์นิยมมีหลักการที่ฟังดูง่ายๆ ว่า การกระทำที่ถูกต้องคือการกระทำที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก อย่างเช่นการตัดทางด่วนผ่านชุมชนที่ถ้าการเสียสละคนส่วนน้อยสามารถสร้างประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ได้ การตัดทางด่วนก็จะถูกต้อง

จริยศาสตร์โดยทั่วไปมักจะสนใจเรื่องเกณฑ์การตัดสินความถูกผิดของการกระทำต่างๆ ซึ่งในหลายครั้ง เกณฑ์เหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นโดยคำนึงถึงมิติต่างๆ ภายใต้ความเป็นมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดท่าทีของการเป็นศัตรูกันระหว่างฐานคิดที่แตกต่างกัน

“ในสามมิตินี้ (ความปรารถนา ความหวังดี และการอยู่ร่วมกัน) เอาเข้าจริงๆ มิติที่เราไม่ค่อยคิดว่าเป็นความรักและสำคัญต่อปัญหาภารดรภาพคือเราอยากอยู่กับใคร ไม่ใช่แค่หวังดี ไม่ใช่แค่ปรารถนาหรืออยาก ซึ่งอันนั้นดิฉันคิดว่ามีวรรณกรรม มีศิลปะ มีวาทกรรม มีคำพูดเยอะมากแล้ว”

อาจารย์ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ Christine Korsgaard ซึ่งเป็นนักจริยศาสตร์สาย Kant ที่อาจารย์แนวคิดนำมาพัฒนาต่อเป็น จริยศาสตร์ของการอยากอยู่ด้วย ซึ่งไม่ได้สนใจคำถามเรื่องเกณฑ์การตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดมากเท่ากับการถามว่า ชีวิตที่ดีของเรามีใครอยู่บ้าง

“เราไม่ได้จ้องจับผิดเพื่อน หรือศัตรูเรา ว่าเขาทำอะไรถูกหรือผิดด้วยเกณฑ์ต่างๆ แต่เราถามว่า เมื่อฉันเข้าใจว่าชีวิตที่ดีของฉันมี 1. 2. 3. 4. 5. ในทิศทางนี้ ฉันอยากอยู่กับใครบ้าง? To be with whom จึงเป็นคำถามทางจริยศาสตร์ เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตที่ดีของเรา”

 

จินตนาการร่วมใหม่

อาจารย์สุวรรณามองว่าการสื่อสารกันด้วยจินตนาการ มีพลังในการสื่อสารมากว่าการใช้วาทกรรมทางการเมืองเดิมๆ ที่มักตกร่องของความเกลียดชัง โดยอาจารย์ได้ยกตัวอย่างถึงซีรีย์เกาหลีเรื่อง แดจังกึม มาเป็นตัวอย่างของการนำเสนอรูปแบบจินตนาการณ์ใหม่ที่รวมเอาฐานคิดที่อยู่คนละขั้วมามีปฏิสัมพันธ์กันในละคร ซึ่งนอกจากที่จะเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถแสดงออกทางความคิดได้แล้ว ยังมีจุดสำคัญที่ทำให้ทั้งตัวผู้ชมและผู้สร้างต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของตัวแทนแนวคิดนั้นๆ เพื่อความสมบรูณ์ของตัวละครด้วย

“คุณนึกภาพคนเขียนบทมันคิดออกมาได้ ให้ขุนนางขงจื๊อเชยๆ โบร่ำโบราณนั่งเถียงกับจักรพรรดิโชซ็อนว่าเราสองคนควรจะรักผู้หญิงยังไงดี เพราะบังเอิญสองคนรักผู้หญิงคนเดียวกัน”

อาจารย์ยังยกตัวอย่างเรื่อง สีดา-ราม ที่สร้างจินตนาการณ์ใหม่ให้วัฒนธรรมอินเดียได้เห็นอารมณ์จากความรู้สึกผิดของพระรามที่ทิ้งนางสีดา และเรื่องสามชาติสามภพที่ทั้งเรื่องเป็นการต่อสู้ระหว่างความรักแบบสมรสและการแต่งงานในฐานะที่เป็นหลานของเง็กเซียนฮ่องเต้

แต่ถึงอย่างนั้นจินตนาการก็เป็นเรื่องที่อันตรายเมื่อจินตนาการนั้นถูกสร้างขึ้นจากความพยายามในการครอบงำพลังทางการเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มักถูกใช้โดยระบอบเผด็จการ
 

เพื่อนร่วมทุกข์ ความรัก ภราดรภาพ

หากมองด้วยกรอบทางพุทธปรัชญา มนุษย์และทุกสรรพสิ่งต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญมากในการทำความเข้าใจเรื่องภราดรภาพ ซึ่งอาจารย์สุวรรณาให้ข้อสังเกตว่า ทำไมการเห็นทุกข์ของทุกสภาพถึงทำให้เราเกิดความเห็นใจ แทนที่จะทำให้เราไม่ยี่หระต่อข้อเท็จจริง? อะไรที่ความเป็นจริงทำให้เรารู้สึกร่วมทุกข์?

อาจารย์ยกแนวคิดของ เม่งจื๊อ ที่มองว่าธรรมเดิมของมนุษย์นั้นมีความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐาน จากตัวอย่างเรื่องทารกตกบ่อน้ำ โดยเม่งจื๊อเชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกอยากช่วยทารกคนนั้นขึ้นมา แต่ในขั้นของการตัดสินใจลงมือทำนั้นก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งอาจารย์ก็ตั้งคำถามให้เราไปหาคำตอบมาตอบตัวเราเองว่า พุทธปรัชญาเห็นธรรมชาติของมนุษย์ในแบบเดียวกันนี้หรือไม่?

ในตลอดการบรรยายอาจารย์ให้น้ำหนักกับเรื่องความรักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรักในแนวทางแบบโรแมนติก ซึ่งผู้เข้าร่วมต่างก็พยายามเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไปเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของวิธีการในการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่อาจารย์นำเสนอ ซึ่งถ้าหากมองจากด้านหนึ่งก็อาจเรียกได้ว่าสิ่งที่อาจารย์นำเสนอมาทั้งหมดคือแนวคิด โลกสวย ที่ยิ่งซ้ำเติมให้การกดทับเชิงโครงสร้างเป็นได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่อาจารย์ก็ได้เน้นว่า การพูดถึงปัญหาทางสังคมการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความเป็นคนของคู่ต่อสู้เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า ซึ่งอาจารย์ไม่ได้สนใจจะทำเช่นนั้น

อาจารย์มองว่า แม้จะมีความคิดที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่ผู้ต่อสู้ทางสังคมการเมืองทุกคนนั้นต่างก็มีความรักอยู่ในหัวใจกันทั้งนั้นเพราะเราก็ต่างต้องการเห็นสังคมที่เราอยู่ร่วมกันนั้นดีขึ้น และแทนที่ความรักในสิ่งเดียวกันนี้จะถูกแสดงออกมาด้วยความเกลียดชัง อาจารย์จึงตั้งใจให้น้ำหนักเรื่องความรักเพื่อปลุกพื้นที่ในหัวใจหรือความใจบุญสุนทานทางญาณวิทยาของเรา

เมื่อผู้เคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองมีหัวใจที่กว้างขึ้น ความอดทนก็มากขึ้น และที่สำคัญมันจะส่งผลให้ศักยภาพในการจินตนาการถึงทางแก้ปัญหาหรือวิธีการในการสื่อสารนั้นสามารถส่งไปถึงเพื่อนร่วมทุกข์ได้ในวงที่กว้างขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดมันก็ส่งผลให้เราไม่ลืมคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของคู่ต่อสู้ทางการเมืองซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างภราดรภาพให้เกิดขึ้นในสังคม

บ่อยครั้งที่เราอุทิศตนให้กับอุดมการณ์ โดยไม่ยี่หระต่อผลอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจกำลังเกิดขึ้นกับคู่ต่อสู้ของเราเช่นกัน ไม่ว่าจะในระดับการเมืองหรือแค่คนแปลกหน้าที่เรามีปากเสียงด้วย และในเมื่อเรายังอยู่ในจุดที่ เรายังสามารถตรวจสอบตนเองว่าเรากำลังตัดสินใจด้วยฐานคิดอะไรบ้าง ในเมื่อเราอยู่ในจุดที่เรารู้ตัวว่าระบบกำลังพยายามยัดอะไรใส่หัวเรา ในเมื่อเรายังอยู่ในจุดที่สามารถใคร่ครวญว่าเสรีภาพในการเลือกเป็นของเราโดยที่ไม่ได้เกิดจากความเพิกเฉย เราจะไม่อยากให้เพื่อนร่วมทุกข์ของเราเป็นเจ้าของความรู้สึก ความคิด ความใฝ่ฝัน จินตนาการ แรงบันดาลใจ ในฐานะตัวเขาเองบ้างเลยหรือ?

เพราะถ้าเรายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยท่าทีของการมองคู่ต่อสู้ของเราในฐานะตัวร้ายแบนๆ ในละครที่สร้างอย่างไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของความเป็นมนุษย์แล้ว เราก็ยังคงตกเป็นทาสไม่ต่างจากผู้ที่กำลังกดขี่เรา ระบบการเมืองที่ออกแบบมาแล้วก็จะชนะเราอยู่ดี   
 

"ถ้าเรามีอ่างเก็บน้ำอารมณ์บวกไว้ คอยเติมน้ำด้วยแฟนตาซี จะช่วยได้เยอะ หาไม่จะสูญเสียgood will ได้ง่าย ในโลกจั้นกั๋วนี้" เป็นข้อความสุดท้ายที่ฝากไว้ จาก อ.สุวรรณา

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
" ถ้าคุณไม่เห็นแหล่งอำนาจ คุณจะดูพฤติกรรมคน เช่น คนๆ นี้ไปอยู่ที่หนึ่งทำพฤติกรรมแบบหนึ่ง ไปอยู่อีกที่ก็ทำอีกแบบหนึ่ง คุณจะหลุดจากการตีตราพฤติกรรมคนก็ต่อเมื่อคุณวิเคราะห์แหล่งอำนาจของคนนั้นทันที นี่คือวิธีการที่พยาบาลและนักจิตวิทยาทำงานกับคนที่ใช้ความรุนแรง เมื่อเราบอกว่าเด็ก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ท่องจักรวาลจิตใต้สำนึก (1)กับ ถิง ชู ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เปิดเปลือยตัวตน ค้นพบตัวเองกับ ปรีดา เรืองวิชาธร30 ตค - 1 พย 2563ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ / เรียบเรียง“กล่องใบใหญ่ใส่ใจ เล็ก หนัน นกฮูก ป้อย อัน นา เปิ้ล แพร์ งี้ อ้อย ดิว เหม ออย บิ๋ม เอิร์ธ จี๋ ณี วีณ ขนุน สุรินทร์ ต้น ตั้ม”
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ บรรยายเนื้อหาจากเสวนา "เราจะรักกันไปทำไม? : ภราดรภาพในฐานะพลังในการขับเคลื่อนสังคม"
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เนื้อหาจากคอร์สอบรม ตั้งหลัก: พื้นฐานการดูแลจิตและใจ รุ่น 4สรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาคPART 1 เสียหลัก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Drawing Unconscious…เส้น สี ชีวิต และจิตใต้สำนึกที่ถูกหลงลืมบทความ โดย ฝน กนกพร ตรีครุฑพันธ์จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม “วาดจิตใต้สำนึก”22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 หัวใจสุขาวดีเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งสุขาวดีของคนบาปแต่มีหัวใจกับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 WUJI : Unlock Potentialกำลังแห่งสุญญตาธรรมอ.ต้น ร่วมด้วย หมอดิน ถ่ายทอดและนำกระบวนการชัยณภัทร จันทร์นาค เรียบเรียงเนื้อหา 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
มหายาน: "เพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" บนหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ขับเคลื่อนใจไปพร้อมกับสังคม Subtle Activism: การเปลี่ยนแปลงสังคมทางพลังงาน เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา Subtle Activism โดย Mary Englisแปลไทย โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ4 ตุลาคม 2562 ณ วัชรสิทธา