Skip to main content

ท่องจักรวาลจิตใต้สำนึก (1)

กับ ถิง ชู 

ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง


ก่อนทำความรู้จักกับเครื่องมืออย่าง Automatic Drawing ในกิจกรรม Drawing Unconscious ระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2563 ครูถิงได้พาเราย้อนเวลาไปยังช่วงที่ทฤษฎีหลายๆ อย่างผลิบานเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งต่อมาจะมีอิทธิพลต่อแนวคิดของฟรอยด์ (Sigmund Freud) การกรุยทางสู่โลกภายในได้รับการต่อยอดโดยคาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) เหล่าศิลปินก็ได้หยิบแนวคิดทางจิตวิทยามาใช้จนเกิดเป็นขบวนการศิลปะ (Art Movement) ใหม่ๆ

“สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความปั่นป่วนเยอะมากในระดับโลก มีการสังคายนา มีการปฏิรูป ปฏิวัติรูปแบบของระบอบสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงศิลปะ

นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) เริ่มตั้งคำถามถึงค่านิยมที่เรายึดถืออยู่ว่ามันเป็นจริงไหม มันใช้ได้ไหม พอมาถึงยุคของฟรอยด์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากปลายศตวรรษที่ 19 เยอะ เขาก็รู้สึกว่าเราควรมาสำรวจความหมายใหม่ๆ ในสังคมได้แล้ว เขาเลยเริ่มตีความถึงอำนาจที่ไม่ได้มาจากภายนอก เช่น สถาบันศาสนา สังคม หรือความเชื่อที่เป็นจารีตพื้นฐานของสังคม ว่าแล้วมันมีคุณค่าอะไรที่มาจากตัวเราเอง คือมันมีแรงขับเคลื่อนที่ไม่ได้มาจากข้างนอก แต่เป็นสิ่งขับเคลื่อนที่มาจากภายใน จากจุดนี้ก็ทำให้มันมี Movement ของมันเอง”

“ฟรอยด์ช่วยเปิดประตูว่ามันมี Inner World อยู่ แต่ยุงจะบอกว่า Inner World มันคือพื้นที่ที่มหัศจรรย์”

ฟรอยด์และยุงพูดถึงจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกในมุมมองที่ต่างกัน คำนิยามที่มีต่อ 2 สิ่งนี้ของทั้งของจึงแตกต่างกันด้วย


จิตสำนึกรู้ vs จิตใต้สำนึก

“ในทฤษฎีของฟรอยด์ จิตสำนึกรู้ (Consciousness) คือยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนจิตใต้สำนึกคือภูเขาน้ำแข็ง คือส่วนที่มีความดิบ ความดิบมักจะถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่อารยะ เช่น สัตว์ป่า แล้วเราจะมีความรู้สึกกลัวสัตว์ป่า กลัวสิ่งที่ยังไม่ถูกทำให้ศิวิไลซ์ บวกกับความคิดที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ทำให้คนมีความกลัวต่อสิ่งที่เขาไม่รู้ ต่างจากแถบเอเชียที่จะมีความเป็นมิตรกับธรรมชาติมากกว่า ความเป็นธรรมชาติในสังคมตะวันตกตอนนั้นจะรู้สึกว่าเราต้องทำให้มันเชื่อง

แต่ในความคิดของยุง จิตสำนึกรู้ของเราไม่ใช่แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่เป็นเพียงแค่ใบไม้หนึ่งใบที่ลอยอยู่บนมหาสมุทรของจิตไร้สำนึก ยุงให้คุณค่ากับตัวทะเลเพราะมันไม่ใช่ของดิบ ของเถื่อน หรือของที่ยัง Wild แต่มันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งทรัพยากรทั้งหมดของความเป็นมนุษย์และศักยภาพที่เราจะเป็นไปได้ ศักยภาพทั้งหมดที่เป็นทะเลของจิตไร้สำนึกยังรอวันที่จะผลิบานออกมา นี่คือการตีความของยุง

ทรัพยากรพวกนี้มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีกระบวนการที่จะค่อยๆ ทลายคุณค่าที่เราเชื่อในเชิงจิตสำนึกรู้ และข้ามพ้นบทบาทสมมติ เป็นแม่ เป็นครู ที่มันทำให้เราอยู่รอดในสังคม หรือ Persona (หน้ากากที่ใช้ในการแสดงในโรงละครสมัยก่อน) เพราะฉะนั้นยุงจะได้คุณค่ากับตัวตนที่แท้จริงของเราที่ผ่านกระบวนการความเป็นมนุษย์ของเราเอง หากเรายึดกับบทบาท คุณค่าความเชื่อที่พ่วงมากับการเป็นกลุ่มพวกนี้มาก มันก็จะกึ่งๆ ไปขัดขวางสิ่งที่จิตไร้สำนึกพยายามจะส่งออกมาอยู่เรื่อยๆ

สมัยโฮโมเซเปียนส์เราไม่มีประชาธิปไตยแน่นอน ทุกอย่างเกิดขึ้นตาม Hierarchy ของระบบนิเวศน์ ฉะนั้นสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมนิยม ประชาธิปไตย ความรักโรแมนติก มันเป็นเครื่องมือที่ค่อยๆ ผุดออกมาตามยุคสมัย แสดงว่ามันยังมีชุดความคิด คุณค่าความเชื่ออีกมากมายที่รอที่จะผุดขึ้นมา  แต่สิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคก็คือตัวพวกเราที่ยังยึดกับเครื่องมือเดิมๆ ที่เราได้มาเมื่อ 5 นาทีที่แล้ว เมื่อ 200 ปีที่แล้ว หรือ 1,000 ปีที่แล้ว โดยไม่ Explore เครื่องมือใหม่ๆ เรากำลังตัดศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ของเราออกไป”

แนวคิดใหม่ข้างต้นได้รับการตอบรับในโลกของศิลปะ เป็นกระบวนการ Unconscious Drawing ที่สามารถแยกย่อยไปได้อีก 2 สาย คือ Automatic Drawing กับ Veristic Drawing

“พอศิลปินเห็นว่านอกจากศิลปะแล้ว มันยังมีขบวนการอื่นๆ ที่พยายามตั้งคำถามใหม่กับค่านิยมยุคสงคราม เขาก็เลยไปยืมกระบวนการพวกนี้มาใช้ในกระบวนการวาดรูป เช่น ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ดาลี (Salvador Dali) ที่เป็นกลุ่มการวาดโดยที่ไม่ต้องตีความ วางแผน หรือคิด ก็คือเป็น Unconscious Drawing

แต่ว่าในนี้ก็แบ่งเป็น 2 สายอีก คือ Automatic Drawing กับ Veristic Drawing (มีการใช้สัญญะเยอะ เช่น งานของดาลี) แต่ Automatic Drawing มันข้ามพ้นเหนือรูปทรง (Form) และความหมายนิยามของรูปทรง อาจจะเป็นแค่เส้น สี อารมณ์ หรือท่วงท่าในการสะบัด งานของ Jackson Pollock นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก กระบวนการของการสร้างสรรค์มันจะเกิดขึ้นทั้งตอนที่กำลังทำอยู่ และตอนที่ผลงานออกมา แต่จริงๆ Automatic เขาแทบจะไม่สนใจด้วยซ้ำว่าผลงานออกมาเป็นยังไง กระบวนการสำคัญมากกว่า


จิตไร้สำนึกส่วนบุคคล vs จิตไร้สำนึกสากล

ตัวกระบวนการ Automatic Drawing เลยมุ่งเน้นไปที่การเปิดพื้นที่ให้คน เป็นการที่เราให้พื้นที่กับอะไรก็ได้เกิดขึ้นบนกระดาษ เปิดกว้างสุดๆ ไร้การตัดสินที่สุด”

ครูถิงนำพวกเราเข้าสู่กระบวนการที่ทั้งน่ากลัว และน่าตื่นเต้น เริ่มตั้งแต่โจทย์ง่ายๆ อย่างการวาดวงกลมในสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมในสี่เหลี่ยมเพื่อเป็นการปูพื้นฐาน เล่าซ้ำเรื่องหนูน้อยหมวกแดงด้วยการลากเส้นไปบนกระดาษโดยห้ามยกมือ ไปจนถึงการเล่าเหตุการณ์จริงในชีวิตของตัวเอง ทำให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนมีการสร้างชุดภาษาของตัวเองขึ้นมา

โจทย์ถัดไป ครูถิงให้จรดดินสอบนกระดาษแล้วลากไปเรื่อยๆ ภายใต้โจทย์ ‘สิ่งที่ครุ่นคิด กังวล หรือไม่สบายใจ’ กับ ‘สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณ ทำให้รู้สึกปลอดภัย ใจฟู’ หลังผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงตีความภาพที่เพื่อนวาด และที่เราวาดในฐานะที่เป็นศิลปินเจ้าของผลงานและไม่ได้เป็น ทำให้ภายในกลุ่มผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงความผิดคาดในการตีความ

ความสุขของเราหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง ทำไมหน้าตาความทุกข์ของเราดูสวยกว่า?

ครูถิงถือโอกาสนี้อธิบายเรื่องจิตไร้สำนึกส่วนบุคคล (Personal Unconscious) และ จิตไร้สำนึกสากล (Collective Unconscious) เพิ่มเติม

“จิตไร้สำนึกส่วนบุคคล คือ มีเมื่อเราเกิด เมื่อเราตายไปก็ไม่มีแล้ว เช่น ความทรงจำ นิสัย หรือท่าทีที่เป็นของเรา

ส่วนจิตไร้สำนึกสากลเป็นพลังงานที่มีก่อนเราเกิด เมื่อเราตายไปก็จะยังมีอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะมีพลังงานนี้ เช่น พลังงานความโกรธ พลังงานความสุข พลังงานความเศร้า พลังงานความอิจฉา เป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ (Pure) ไม่มีป้ายติดว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก บวกหรือลบ ยกเว้นเราไปให้ความหมายมันเอง

พอเราเป็นใบไม้ เราเป็นแค่หน่วยเดียวเล็กๆ ที่เหลือทั้งหมดเป็นทะเลจิตไร้สำนึก เราแชร์จิตไร้สำนึกร่วมกัน ซึ่งเป็น Humankind Collective ตั้งแต่ยุคโฮโมเซเปียนส์ กระบวนการทั้งหมดที่เราสั่งสมมาถูกถ่ายทอดเป็น DNA ตกทอดมาในร่างกายเราทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่การวิวัฒนาการทางกายภาพ แต่ในเชิงของภายใน (Mental) เราด้วย ในส่วนที่มันมีร่วมกันมาทั้งหมด คือ ส่วนที่ใช้เป็นจุดเชื่อมในการตีความ หรือตีสารที่เรามีให้กันและกัน คือสิ่งที่ร่วมกันของมนุษยชาติเท่านั้น ไม่นับรวมธรรมชาติ (Nature) ต้นไม้ ใบไม้ นก”

“การทดลองอันนี้ชี้ให้เห็นชัดเลยว่าสิ่งที่เราเชื่อว่ามันคือความหมายนั้น มันไม่ใช่ความหมายสากลเสมอไป และความหมายสากลก็ไม่ใช่ความหมายส่วนตัวได้ด้วย ดังนั้นการตีความที่เราบอกว่าผิดคาด คือ ผิดคาดจากประสบการณ์ที่อัตตาจดและสั่งสมให้เราตลอดเวลา

เครื่องมือนี้คือเราพยายาม Introduce ความหมายที่มันข้ามพ้น ดี ไม่ดี ถูก ไม่ถูก บวกหรือลบ หน้าที่ของเราคือดูว่าเราจะสามารถต้อนรับเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาได้บ้างไหม เช่น การที่เราใช้สีแดงสำหรับเรื่องนี้ แล้วสีแดงเหมาะกับเรื่องอื่นๆ อีกด้วยไหม”

หลังจบแต่ละกิจกรรมครูถิงจะคอยถามทุกคนในห้องเสมอ “มีใครที่รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาไม่มีความชอบธรรมที่จะปรากฏ หรืออุบัติขึ้นเป็นรูปอยู่บนโลกใบนี้บ้าง?”

หลายคนอาจจะเคยมีเหตุการณ์ฝังใจที่ทำให้รู้สึกเช่นนั้น ครูถิงเล่าว่า “ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่กั้นให้ ‘อื่นๆ’ ของเรามันไม่ไหล แทนที่เราจะสามารถรู้สึก own ชิ้นงานของเรา เราไม่ own ไม่พอ ยังรู้สึกละอายใจ ท่าทีนี้เราก็จะใช้กับตัวเองเหมือนกัน เรารู้สึกไม่ชอบธรรมที่จะรู้สึกเช่นนี้ แล้วยังละอายใจที่เรารู้สึกเช่นนี้ด้วย”

ในชั้นเรียนเล็กๆ ที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 10 คน ไม่มีใครเลยที่รู้สึกไม่ดีกับรูปที่วาด แถมยังไม่มีความกลัวด้วย ซึ่งครูถิงบอกว่า นี่เป็นสัญญาณที่ดีมาก

“แก่นจริงๆ ของคาร์ล ยุง คือ การที่คุณสามารถเป็นตัวเองได้อย่างปลอดภัย การเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่การเพิ่มเอานิยามอะไรเข้ามาว่าเราเป็นคนแบบนี้ แต่คือการที่เรายอมรับในทุกภาวะที่เราเป็น เราเป็นได้อย่างปลอดภัย เป็นได้อย่างไม่ถูกตัดสิน ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดหลักๆ ที่เป็นพื้นฐานของ Automatic Drawing การวาดไม่ใช่ศัตรูที่จะมาตัดสินเรา แต่เป็นเพื่อนที่จะมาประคองเราผ่านภาวะบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันไม่เป็นมิตร ทั้งเราไม่เป็นมิตรกับตัวเอง คนอื่นไม่เป็นมิตรกับตัวเรา”


Exquisite Corpse

หลังมื้อเที่ยง และการนอนกลางวันซึ่งเป็นการปูพื้นฐานไปสู่กิจกรรมในวันพรุ่งนี้ ครูถิงแนะนำเครื่องมือใหม่ที่ชื่อว่า ‘Exquisite Corpse’ โดยให้แต่ละคนพับกระดาษเป็น 3 ส่วน ส่วนหัวให้วาดต้นเหตุของปัญหา หรือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ส่งกระดาษให้คนข้างๆ วาดต่อส่วนที่ 2 ในโจทย์ปมปัญหา ส่งกระดาษอีกครั้ง คนถัดไปวาดต่อในส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นบทสรุป หรือทางออกของปัญหา กระดาษ 1 แผ่นมีคน 3 คนช่วยสรรค์สร้างผลงาน 2 คนที่มาวาดต่อนั้นไม่รู้เลยว่าเราวาดเกี่ยวกับอะไร

ครูถิงทิ้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมขบคิด ก่อนจะเริ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในวงใหญ่

“ผลงานของเพื่อนเข้ากับเรื่องราวของเราไหม เราสามารถ Relate กับต้นเหตุของปัญหาและปัญหาที่เพื่อนวาดได้ไหม แล้วส่วนที่เราวาดมันสัมพันธ์กับเรื่องของเพื่อนยังไง มันสมเหตุสมผลไหม?”

Exquisite Corpse อาจเป็นวิธีการที่ Art School ใช้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ในห้องเรียน ณ วัชรสิทธา นอกจากครูถิงจะเชื่อมโยงความสมเหตุสมผลของรูปภาพกับจิตไร้สำนึกสากลของกลุ่มแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าความรู้สึกเชื่อมโยงอันนี้ยังสะท้อนการสื่อสารระหว่างจิตสำนึกรู้กับจิตไร้สำนึกของเรา ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการ Individuation ที่ทำให้เราเข้าถึงตัวตนแท้จริงของตัวเอง

“งานของเรามันมีความเชื่อมโยงเมื่อไปอยู่ในพื้นที่ของคนอื่น ปัญหาที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของเราคนเดียว ทันทีที่เราเห็นว่ามันมีคนๆ หนึ่งตอบโจทย์ปัญหาของเราได้ แถมยังเข้าใจปัญหาของเราด้วย มันมีความรู้สึกที่เราเชื่อมโยงกัน การที่เราเริ่มทำการเชื่อมโยงกับผู้อื่นเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราเริ่มเปิดกับตัวเอง เราเชื่อมโยงกับจิตไร้สำนึกของเราเองแล้วเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่คาร์ล ยุงพยายามเพื่อส่งเสริมกระบวนการของเขาที่เรียกว่า Individuation

ฟังครั้งแรกอาจรู้สึกว่าเป็นการทำให้เป็นปัจเจก แต่มันไม่ใช่ มันคือการที่เราสามารถที่จะเห็นภายในและภายนอกของเรา จนมันหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ทันทีที่การไหลผ่าน สื่อสารระหว่างจิตสำนึกรู้กับจิตไร้สำนึกเป็นไปอย่างคล่องแคล่ว มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนที่เท่ากัน ไม่มีอันไหนที่ overwhelm อันไหน มันจะกลายเป็นกระบวนการที่คนๆ นั้นสามารถเห็นศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง เป็น Best Self ของตัวเอง”

กิจกรรมถัดไป พวกเรายังคงไปต่อกับจิตไร้สำนึกสากล ซึ่งเป็นพลังงานที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีก่อนเราเกิด เมื่อเราตายไปก็ยังมีอยู่ ครูถิงอธิบายว่าพลังงานบริสุทธิ์เหล่านี้คือ Archetype ในหลายวัฒนธรรม หลายสังคมจะเรียกพลังงานเหล่านี้ว่าเทพ (God) หรือ Spirit ถ้าเป็น New Age ก็จะเรียกว่า The Universe หากใครนึกไม่ออกให้นึกถึงไพ่ชุดหลัก (Major Arcana) ของไพ่ทาโรต์ (Tarot Card)

ทุกคนจะได้วาดคนละ Archetype แต่ส่วนหัว ส่วนลำตัว และท่อนล่างล้วนวาดบนกระดาษคนละแผ่น ด้วยเทคนิค Exquisite Corpse รูปที่เราและเพื่อนๆ ช่วยกันวาดอาจไม่เหลือเค้าเดิมของ Archetype ที่เราเริ่มวาดไว้ แล้วตอนนี้ตัวละครที่เห็นตรงหน้าเป็น Archetype ไหนกัน?

หลังแลกเปลี่ยนกันจนครบวง ครูถิงสรุปคำของกลุ่มมาให้เราพิจารณา ‘การทำลายล้าง การเกิดใหม่ ความเยาว์วัย’


Archetype

“เรื่องเล่าของเรา คือเรื่องเล่าของยุคสมัย ถึงจะ Personal แค่ไหนก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องเล่าของยุคสมัย ถ้าเราอยากรู้ว่าคนสมัตศตวรรษที่ 12-13 เป็นยังไงก็ไปอ่านเรื่องเล่าของเขา การตีความอาจจะไม่ใช่เพื่อดูตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อที่เราจะได้รู้ว่า Psyche ของคนอื่นเป็นยังไง ไม่ใช่เพื่อการวิเคราะห์ เพื่อให้เราเท่าทันว่ามันเกิดอะไรขึ้นอยู่ ได้เห็นความเป็นมนุษย์ ทำให้เราผูกโยงกับคนๆ หนึ่งมากขึ้น”

นอกจาก Archetype ก็จะอยู่ในส่วนที่เป็นจิตไร้สำนึกสากลแล้ว ยังอยู่ในจิตไร้สำนึกส่วนบุคคลด้วย เช่น ความเป็นแม่ในฐานะชีวิตประจำวันส่วนตัวของเรา ทุกคนต้องมีพลังงานนี้เพราะเราต้องเกิดมาจากใครสักคนที่เป็นแม่ แล้วพลังงาน หรือ Archetype อื่นๆ เขาควรใช้ชีวิตอยู่ในตัวเราอย่างไร และสามารถส่งผลอะไรต่อเราได้บ้าง?

“Archetype ต่างๆ ไม่ใช่แค่ตัวละคร แต่เป็นเหมือนเจ้าครองนครแล้วก็เล่นบทบาทต่างๆ ในชีวิตประจำวันเรา Archetype สามารถผลิตอะไรร่วมกันได้ แต่จะไม่มีการปนพลังงานกัน คาร์ล ยุงบอกว่าทันทีที่ Archetype ปนกันจะเกิดหายนะ จะเกิดวิบัติ เช่น เราปฏิบัติกับแฟนเราประหนึ่งว่าเขาเป็นลูกของเรา หรือสามีติดเราเหมือนเราเป็นแม่เขา ถ้าเราเอา Archetype มารวมร่างกัน มันจะ toxic ต่อกัน

พลังงานที่เกิดขึ้นพร้อมกันถ้าเรารับไม่ได้ เราก็จะพัง คาร์ล ยุงเลยมีอุปกรณ์ที่จะทำให้ตัวละครเหล่านี้แยกร่างกัน และใช้พื้นที่หรือเวทีร่วมกัน พร้อมกันได้โดยไม่ตีกันตาย ให้เขาได้ทำหน้าที่ของเขาเอง ถ้าเรามีพื้นที่ให้ Archetype ต่างๆ ให้พวกเขามีบ้านเลขที่ของตัวเองในเอกภพเรา เขาก็จะอยู่และช่วยเราเมื่อถึงเวลาจำเป็นโดยที่ไม่ล้ำเส้นทำเกินหน้าที่ของตัวเอง จนทำให้เกิดอารมณ์ที่เราต้องจัดการมากกว่าเดิม เช่น ความโกรธใช้ความรู้สึกผิดมาจัดการกับความเห็นใจ

ทันทีที่เราสามารถแยกแยะพลังงานที่ออกมาได้อย่างชัดเจน และเราให้เกียรติกับทุกๆ พลังงานที่เกิดขึ้น พลังงานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเสนอหน้าเลยจะไม่มา”

แล้วอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถจัดสรรที่ทางให้กับ Archetype ได้?

หนึ่ง อาจจะเพราะเราไม่รู้ว่า Archetype ของเรามันมีอะไรบ้าง

สอง เราไม่รู้เราพอเขามาแล้วเราจะจัดการกับเขายังไง ต้องทำตามที่เขาสั่ง หรือแค่มองเขา ส่วนใหญ่เราจะหนีเขา

“เมื่อเราไม่มีพื้นที่ให้ Archetype อยู่ หรือไม่มีเวทีให้เขาได้แสดงบทบาท ทำหน้าที่ของตัวเอง สุดท้ายเขาก็จะแสดงออกมาหนักขึ้นเป็นอาการทางร่างกายในเชิงพลังงานต่างๆ พลังงานอะไรก็ตามที่มันบังเกิดขึ้นในตัวเราแล้ว ถ้าเราไม่ไปรับรู้เขา มันจะอยู่คงค้างในร่างกายเรา แล้วร่างกายของเรา take action แทนพลังงานคงค้างนั้น”

เราจะทำยังไงให้พลังงานคงค้างในร่างกายเราได้ออกมา?

“ร่างกายของเราไม่มีจิตสำนึกรู้ จิตสำนึกรู้ของเราไม่ได้สื่อสารกับร่างกายของเรา ตัวอย่างง่ายๆ คือจิตสำนึกรู้สั่งให้หัวใจเราหยุดเต้นไม่ได้ สิ่งที่ทำให้ร่างกายของเราดีขึ้นหรือแย่ลงก็เพราะภาวะอารมณ์ของเรามากกว่าความคิด เมื่อความคิดไม่สามารถตอบสนองภาวะของร่างกายได้ฉันใด ร่างกายก็ไม่สามารถตอบสนองต่อความคิดได้ทั้งหมด ถ้าเราทำงานกับร่างกาย เราต้องทำงานกับจิตไร้สำนึกของเรา ให้ร่างกายของเราเป็นเหมือนทางเชื่อมของจิตไร้สำนึก ค่อยๆ สื่อสารไป พลังงานคงค้างจะค่อยๆ ออกมา

อย่างน้ำตาก็คล้ายๆ กับช่องทางสื่อสาร ในมหาสมุทรของคาร์ล ยุง จิตไร้สำนึกก็คือน้ำ ตัวแทนที่จะนำพามันออกมาได้ก็คือน้ำตา การที่มันไหลออกมาคือเขาต้องการ release แต่การ release ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเราต้องการที่จะตัดมันทิ้ง แต่เราต้องการให้เขาเผยตัวตนออกมาแล้วเรารับรู้ผ่านน้ำตาของเรา”

โดยตัวครูถิงได้ใช้ประสบการณ์การภาวนาแบบ Somatic เพื่อกลับมาอยู่ และสัมพันธ์กับร่างกายตนเอง เกิดเป็นการทำงานภายในกับพลังงานคงค้างโดยที่ไม่ต้องใช้ความคิด


(อ่านต่อตอนต่อไป)

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
" ถ้าคุณไม่เห็นแหล่งอำนาจ คุณจะดูพฤติกรรมคน เช่น คนๆ นี้ไปอยู่ที่หนึ่งทำพฤติกรรมแบบหนึ่ง ไปอยู่อีกที่ก็ทำอีกแบบหนึ่ง คุณจะหลุดจากการตีตราพฤติกรรมคนก็ต่อเมื่อคุณวิเคราะห์แหล่งอำนาจของคนนั้นทันที นี่คือวิธีการที่พยาบาลและนักจิตวิทยาทำงานกับคนที่ใช้ความรุนแรง เมื่อเราบอกว่าเด็ก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ท่องจักรวาลจิตใต้สำนึก (1)กับ ถิง ชู ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เปิดเปลือยตัวตน ค้นพบตัวเองกับ ปรีดา เรืองวิชาธร30 ตค - 1 พย 2563ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ / เรียบเรียง“กล่องใบใหญ่ใส่ใจ เล็ก หนัน นกฮูก ป้อย อัน นา เปิ้ล แพร์ งี้ อ้อย ดิว เหม ออย บิ๋ม เอิร์ธ จี๋ ณี วีณ ขนุน สุรินทร์ ต้น ตั้ม”
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ บรรยายเนื้อหาจากเสวนา "เราจะรักกันไปทำไม? : ภราดรภาพในฐานะพลังในการขับเคลื่อนสังคม"
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เนื้อหาจากคอร์สอบรม ตั้งหลัก: พื้นฐานการดูแลจิตและใจ รุ่น 4สรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาคPART 1 เสียหลัก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Drawing Unconscious…เส้น สี ชีวิต และจิตใต้สำนึกที่ถูกหลงลืมบทความ โดย ฝน กนกพร ตรีครุฑพันธ์จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม “วาดจิตใต้สำนึก”22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 หัวใจสุขาวดีเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งสุขาวดีของคนบาปแต่มีหัวใจกับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 WUJI : Unlock Potentialกำลังแห่งสุญญตาธรรมอ.ต้น ร่วมด้วย หมอดิน ถ่ายทอดและนำกระบวนการชัยณภัทร จันทร์นาค เรียบเรียงเนื้อหา 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
มหายาน: "เพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" บนหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ขับเคลื่อนใจไปพร้อมกับสังคม Subtle Activism: การเปลี่ยนแปลงสังคมทางพลังงาน เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา Subtle Activism โดย Mary Englisแปลไทย โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ4 ตุลาคม 2562 ณ วัชรสิทธา