Skip to main content

 

Drawing Unconscious…เส้น สี ชีวิต และจิตใต้สำนึกที่ถูกหลงลืม

บทความ โดย ฝน กนกพร ตรีครุฑพันธ์
จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม “วาดจิตใต้สำนึก”
22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา

 

 

จาก Carl Jung สู่ Ting Chu

รอยยิ้มและท่าทีเป็นกันเองของ “ถิง ชู” ที่แนะนำตัวเองอย่างถ่อมตัวว่า การมาทำกิจกรรมกับทุกคนในวันนี้นั้น ตัวเองไม่ได้คิดว่าเป็นศิลปิน หรือผู้รู้ที่จะมาสอนอะไร แต่เพียงจะมาแชร์แบ่งปัน พาเราไปสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นตัวเองมากขึ้น ผ่านกระบวนการที่จะค่อยๆ นำพาไป โดยมีเธอคอยประคองอยู่ข้างๆ ทำให้พวกเรารู้สึกผ่อนคลาย และสลายภาพประสบการณ์เดิมๆ ของการวาดรูปหรือทำงานศิลปะ ที่มักเต็มไปด้วยความคาดหวังทั้งจากตัวเอง และผู้อื่นที่จะคอยตัดสิน ทั้งในแง่ความสวยงาม และในแง่เหตุผลความหมายที่คอยเรียกร้องคำอธิบาย จนทำให้ปิดกั้นศักยภาพหลายอย่างที่ทุกคนมีอยู่ในตัวไปอย่างน่าเสียดาย

ใครที่เคยได้เห็นผลงานของ ถิงชู มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานวาด หรืองานปั้น น่าจะ “รู้สึก” ได้ถึงพลังและเสน่ห์ของแต่ละชิ้นงาน ที่เปี่ยมไปด้วยความนวลละมุน อันคละเคล้าเข้มข้นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย ชวนให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะที่แตกต่างจากปกติ แน่นอนว่าเบื้องหลังของการสร้างสรรค์ผลงานข้ามผ่านกาลเวลาในชีวิตของเธอนั้น มันคงเต็มไปด้วยมิติอันมากมายกว่าเพียงแค่การฝึกปรือทักษะหรือเทคนิคการทำงานศิลปะ แต่มันคือการหลอมรวมช่วงชีวิตต่างๆ เอาไว้อย่างที่เราคงไม่อาจจินตนาการถึง ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่เราจะมาเรียนรู้กันในวันนี้ คงไม่ใช่เทคนิคทางศิลปะ แต่เวิร์คชอป Drawing Unconscious “วาดจิตใต้สำนึก” ของถิงชูในครั้งนี้ ดึงดูดพวกเราให้มาค้นหาอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น

เพราะชีวิตเราต่างไม่ได้ราบเรียบงดงามเสมอ ถิงชูเองก็เคยต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากทางด้านจิตใจมาเช่นเดียวกัน แต่นั่นก็ทำให้เธอได้ไปพบกับสิ่งต่างๆ ที่ช่วยทำให้ได้เรียนรู้ เติบโต ข้ามผ่านสิ่งต่างๆ มาได้ และวันนี้เธอได้นำบางส่วนจากสิ่งเหล่านั้นมาแบ่งปันกับทุกคน

ถิงชูได้เล่าถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เชื่อมโยงกับกระบวนการต่างๆ ที่จะพาทุกคนทำ ว่าเกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฎีเรื่อง “จิตใต้สำนึก” ที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยมาจาก “ซิกมัน ฟรอยด์” (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชื่อดัง ที่บอกว่าความคิดการกระทำต่างๆ ของเรานั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรากำหนดขึ้นเองทั้งหมด แต่ความจริงแล้วมีบางอย่างที่อยู่ลึกกว่าการรับรู้มองเห็นโดยปกติของเราอยู่อีก ซึ่งมันส่งผลควบคุมตัวเราโดยที่ไม่รู้ตัว นั่นคือสิ่งที่อยู่ใน “จิตใต้สำนึก” ซึ่งฟรอยด์มองว่า เป็นสิ่งที่มีความดิบ เหมือนสัญชาติญาณของสัตว์ป่า ไม่ศิวิไลซ์ ต่างจากมุมมองของ “คาร์ล ยุง” (Carl Jung) นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ที่มองเห็นถึงพลังอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึก” นี้เหมือนกัน แต่เขามองว่ามันเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ให้กำเนินสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เปรียบเทียบจิตใต้สำนึกนี้เป็นเหมือนมหาสมุทรกว้างใหญ่ โดยที่จิตสำนึกของตัวเราที่ปรากฏออกมา เป็นเพียงใบไม้ที่ลอยอยู่ด้านบนเท่านั้น

 

 

Shadow…บางสิ่งที่อยู่เบื้องลึก ในนามของจิตใต้สำนึกที่ไม่เคยถูกเอื้อนเอ่ย

เคยคุยกับเงาของตัวเองไหม?...หลายคนอาจจะกำลังคิดว่าบ้ารึเปล่า แต่วันนี้ถิงชูได้พาเราไปสำรวจกับเงา หรือ “Shadow” ของตัวเราเอง ที่อาจถูกทอดทิ้งหลงลืมมานานกัน

            Shadow หรือ เงา นี้ ตามแนวคิดของ คาร์ล ยุง หมายถึงสภาวะ คุณลักษณะ หรือความเป็นบางอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจปิดกั้นกดทับมันไว้อย่างไม่รู้ตัว โดยมันอาจเกิดจากประสบการณ์เดิมบางอย่าง เช่น ตอนเด็กถูกเพื่อนแกล้ง แล้วโดนตำหนิว่าทำไมถึงยอมเพื่อน แล้วฝังใจว่าการ “ยอม” นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี เราจึงอาจเปลี่ยนมาเป็นคนที่สู้คน ไม่ยอมใคร กดทับการยอมเอาไว้ เป็นเหมือน Shadow ของคุณสมบัติที่เราไม่ต้องการในชีวิต

แล้วมันส่งผลยังไงกับเรา?...Shadow นั้นส่งผลออกเป็นพฤติกรรมภายนอกได้ทั้งเชิงบวก และลบ เช่นอาจนำไปสู่พลังที่เราเอามาใช้เกื้อกูลช่วยเหลือปกป้องผู้อื่นก็ได้ หรืออาจทำให้เราเป็นคนขี้โมโหโกรธเกรี้ยว หรือเก็บกดซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตายได้ แน่นอน...เราทุกคนต่างมี Shadow อยู่ในตัวเอง ไม่มากก็น้อย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเราไม่ค่อยได้ใช้เวลากับการสำรวจทบทวนตัวเอง เราก็อาจไม่เคยได้ตระหนักรู้ถึงมัน ซึ่งผลของการที่เราทอดทิ้งหลงลืม หรือกดทับ Shadow เหล่านี้เอาไว้มากๆ เข้า มันจะยิ่งเกิดการหมักหมมบ่มเสีย แล้วมันก็จะเกิดเปินสภาวะที่ไม่สมดุลในตัวเรา จนวันหนึ่งที่มีสถานการณ์บางอย่างมาบีบคั้น สิ่งที่เรากดทับเอาไว้มันก็อาจจะระเบิดสำแดงออกมา ในลักษณะที่ผิดเพี้ยนหรือสร้างความเสียหายได้

แล้วเราจะพบ Shadow หรือเงาของเราได้อย่างไร?...ความจริงแล้วมันมีหลายวิธีการเลย แต่แน่นอนว่าวันนี้ ถิงชูจะชวนเรามาเปิดโลกของจิตใต้สำนึกไปด้วยกัน ผ่านการวาดภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการสะท้อน ถ่ายทอด และเรียนรู้ตัวเองต่อไปได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

 

เส้น สี เงา เรา ทั้งมวล

            กระดาษเปล่า ถูกวางลงตรงหน้าของทุกคน เราต่างหยิบเลือกสีตามใจของตัวเอง ราวกับเป็นไอเท็มคู่ใจที่เราเตรียมพร้อมใช้ในการเผชิญหน้ากับจักรวาลใหม่ โดยมีถิงชูเป็นผู้นำทางสำรวจ

            เริ่มจากโจทย์มากมายที่หลั่งไหลนำเราให้วาดรูปทรงต่างๆ ลงบนกระดาษ รูปแล้วรูปเล่า วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงรี ห้า หก แปด เหลี่ยม เหมือนเป็นการช่วยวอร์มอัพให้เราวาดภาพโดยละทิ้งความคิด การวางแผนล่วงหน้าต่างๆ ออกไป ซึ่งสำหรับบางคนอาจรู้สึกอึดอัดกับกระบวนการขณะทำหรือผลลัพธ์ที่ออกมา แต่บางคนก็รู้สึกสนุกสนานและอิสระไปกับมัน

            จากนั้นก็มีโจทย์อื่นๆ ในแผ่นต่อๆ ไป ทั้งการวาดเส้นโดยไม่ยกมือ ถ่ายทอดการฟังนิทานหนูน้อยหมวกแดง การวาดเล่าเรื่องเหตุการณ์เมื่อวาน การวาดสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่มีตัวตน เช่น ความโกรธ ความโล่งสบาย ความอุ่น ความบริสุทธิ์ ความสันโดษ หรือความแมว!

ทั้งน่าแปลกและตื่นตาตื่นใจ ที่จากคำสั่งเดียวกัน แต่ภาพที่ออกมาขอทุกคนในวงนั้น ไม่เหมือนกันเลยสักนิด ทั้งรูปแบบ สไตล์ และอารมณ์ความรู้สึก...

การที่ได้ทำงานศิลปะโดยที่ไม่ต้องกลัวการตัดสินถูกผิด หรือให้คุณค่ากับความสวยงามที่จำกัดเฉพาะ นับเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่ามากๆ ที่เราได้รับจากการทำกิจกรมในครั้งนี้ ถิงชูเสริมอีกว่า งานที่ดีนั้นมักเกิดจากภาวะที่เป็นการคลาย ไม่ยึดตึง เพียงแค่เราเปิดทาง อนุญาต ปล่อยให้มันไหลออกมา และยอมรับทุกสิ่งอย่างที่มันเป็น เราก็จะได้พบศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเอง

ในโลกปัจจุบัน สังคมกระแสหลักส่วนใหญ่มักหล่อหลอมผู้คนมาด้วยระบบที่ต้องใช้ความคิด เหตุผลเป็นตัวนำ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกได้ออกมาเพ่นพ่านหรือแสดงตัวออกมาเท่าที่ควร โดยเฉพาะความรู้สึกในด้านลบ

“ทำไมเราถึงให้พื้นที่กับความอ่อนแอในที่สาธารณะน้อยมาก
เราลองเป็นมิตรกับสภาวะแบบนั้น ให้พื้นที่กับคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกได้ไหม”

            แน่นอนทุกสิ่งในโลกล้วนมีข้อดีข้อด้อยในแบบของมัน แต่เมื่อเราหนักเทไปในทางใดทางหนึ่ง เมื่อเราไม่เคยได้ปล่อยให้สิ่งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงธรรมชาติอันธรรมดาของเรา ได้เผยปรากฏออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ มันก็อาจเกิดเป็นความติดขัดไม่สมดุลในชีวิต เกิดตัวตนที่แปลกแยกโดดเดี่ยวภายในตัวเองขึ้นมาได้

ดังนั้น...จงโอบรับมันเถิด...

คาร์ล ยุง บอกว่าเมื่อเราทำกระบวนการเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ มันจะสามารถนำไปสู่การยอมรับตัวเองในทุกสภาวะที่เป็นได้ โดยไม่เอากรอบของผู้อื่นหรือสังคมมาปิดกั้น แล้วเราก็จะมีสภาวะที่สมดุลมากขึ้น หรืออาจเข้าถึงตัวตันที่สมบูรณ์แท้จริงของตัวเองได้ (The Whole True Self) ซึ่งความจริงเราต่างก็มีทุกคุณสมบัติครบอยู่แล้วในตัว เพียงแค่เราไม่กีดกั้นปฏิเสธสิ่งใดไป เราก็จะไม่เสียศูนย์ โดยความสมบูรณ์นี้ ไม่ได้หมายถึงความดีพร้อมเพอร์เฟ็ค แต่มันเป็นภาพประกอบของทั้งความเต็ม และความพร่อง ที่มีอยู่ด้วยกันอย่างไม่อาจแยกขาด

“ความว่างเป็นส่วนประกอบหนึ่งของภาพ ถ้าไม่มีความว่าง รูปภาพก็จะไม่เกิด”


เปิดรับเพื่อเรียนรู้ ก้าวสู่พื้นที่แห่งศักยภาพใหม่ในตัวเรา

            เรายังได้ทดลองวาดภาพตามโจทย์ต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วาดความสุข ความทุกข์ การวาดตัวคนที่เป็นคาแรคเตอร์ Archetype หรือ ตัวตนของพลังงาน ที่แทนคุณสมบัติต่างๆ แบบโดดๆ เช่น ผู้สร้าง นักสำรวจ ฮีโร่ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นตัวแทนของคุณลักษณะที่เป็นส่วนประกอบภายในตัวเรา การฟังเพลงแล้ววาดภาพ ไปจนถึงการนอนหลับ การเปิดประตูสู่สภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น แล้วถ่ายทอดออกมา

            การเชื้อเชิญ “บางสิ่ง” ที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเราให้เผยปรากฏออกมา ด้วยใจที่เปิดว่าง ปราศจากการพิพากตัดสิน หรือแม้แต่นิยาม ก็อาจเหมือนกับพื้นที่ว่างของหน้ากระดาษที่อนุญาตให้เส้นสีที่รังสรรค์จากจิตใต้สำนึกและความรู้สึกได้ออกมาโลดแล่นอย่างเสรี เมื่อเราเปิดรับพลังงานใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต จะทำให้เราสามารถขยายขอบเขต ในการทำสิ่งที่ไม่เคยทำในชีวิตได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในตัวเราให้มากขึ้น

            ความจริงแล้ว Shadow ก็เหมือนกับผี ที่หลายคนอาจไม่อยากมองเห็นหรือรับรู้ แต่ถ้าเรากล้าที่จะเผชิญหน้า ก็อาจทำให้พบว่า มันเป็นเพียงตัวเราในอีกสภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง เมื่อเราได้เรียนรู้ตัวเองในมุมใหม่ๆ มากขึ้น เราก็จะสามารถเชื่อมโยงเรียนรู้เข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ความขัดแย้งและการตัดสินก็จะลดลง เราอาจเข้าใจกันได้ด้วยหัวใจมากขึ้น ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว

“ถ้าความงามของเอกภพเรา ยังไม่ขยายขอบออกไปซ้อนทับกับเอกภพอื่น
ความงามในแบบของเราก็จะถูกจำกัด
เมื่อเราฝึกเรียนรู้ความงามในเอกภพอื่นๆ มากขึ้น
ก็จะทำให้เราเข้าใจความงามได้กว้างขึ้น”

            สุดท้ายแล้ว การทำกิจกรรมในครั้งนี้เราจะได้อะไรกลับไป มันคงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัว ถิงชูเองก็เชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์ ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและเหตุผลสำหรับชีวิต และการวาดภาพก็เป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง...แต่ผลงานที่แท้จริงนั้นมันคือชีวิตของเราเอง

 

 

 

 

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
" ถ้าคุณไม่เห็นแหล่งอำนาจ คุณจะดูพฤติกรรมคน เช่น คนๆ นี้ไปอยู่ที่หนึ่งทำพฤติกรรมแบบหนึ่ง ไปอยู่อีกที่ก็ทำอีกแบบหนึ่ง คุณจะหลุดจากการตีตราพฤติกรรมคนก็ต่อเมื่อคุณวิเคราะห์แหล่งอำนาจของคนนั้นทันที นี่คือวิธีการที่พยาบาลและนักจิตวิทยาทำงานกับคนที่ใช้ความรุนแรง เมื่อเราบอกว่าเด็ก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ท่องจักรวาลจิตใต้สำนึก (1)กับ ถิง ชู ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เปิดเปลือยตัวตน ค้นพบตัวเองกับ ปรีดา เรืองวิชาธร30 ตค - 1 พย 2563ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ / เรียบเรียง“กล่องใบใหญ่ใส่ใจ เล็ก หนัน นกฮูก ป้อย อัน นา เปิ้ล แพร์ งี้ อ้อย ดิว เหม ออย บิ๋ม เอิร์ธ จี๋ ณี วีณ ขนุน สุรินทร์ ต้น ตั้ม”
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ บรรยายเนื้อหาจากเสวนา "เราจะรักกันไปทำไม? : ภราดรภาพในฐานะพลังในการขับเคลื่อนสังคม"
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เนื้อหาจากคอร์สอบรม ตั้งหลัก: พื้นฐานการดูแลจิตและใจ รุ่น 4สรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาคPART 1 เสียหลัก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Drawing Unconscious…เส้น สี ชีวิต และจิตใต้สำนึกที่ถูกหลงลืมบทความ โดย ฝน กนกพร ตรีครุฑพันธ์จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม “วาดจิตใต้สำนึก”22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 หัวใจสุขาวดีเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งสุขาวดีของคนบาปแต่มีหัวใจกับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 WUJI : Unlock Potentialกำลังแห่งสุญญตาธรรมอ.ต้น ร่วมด้วย หมอดิน ถ่ายทอดและนำกระบวนการชัยณภัทร จันทร์นาค เรียบเรียงเนื้อหา 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
มหายาน: "เพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" บนหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ขับเคลื่อนใจไปพร้อมกับสังคม Subtle Activism: การเปลี่ยนแปลงสังคมทางพลังงาน เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา Subtle Activism โดย Mary Englisแปลไทย โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ4 ตุลาคม 2562 ณ วัชรสิทธา