เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย (ตอนที่ ๑)
เรียบเรียงจากคอร์สอบรม The Myth of the Broken Heart
โดย อ.ณัฐฬส วังวิญญู
บทความ โดย ชัยณภัทร จันทร์นาค
ช่วงเวลาที่เราร้องขอโอกาส ต้องการเวลาเพิ่ม หมดลงไวกว่าที่เราอยากให้มันเป็นเสมอ
รถไฟออกจากชานชาลาไปแล้ว...
ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงแล้ว...
ลมหายใจออกสุดท้าย ไม่ไหลกลับมาสู่ร่างคนสำคัญของเราอีกแล้ว...
เรากำลังจะนั่งลง แล้วไอ้เพื่อนตัวดีก็แอบดึงเก้าอี้ของเราออกไป ก้นที่เคยชินกับระยะและพื้นผิวของเก้าอี้กลับพบเข้ากับมวลอากาศที่มอบความรู้สึกวูบโหวงไปทั้งร่างในเสี้ยววินาทีก่อนที่ก้นของเราจะกระแทกพื้น
ในการสูญเสียที่มากกว่าเก้าอี้ที่หายไป เราวูบโหวงอยู่เป็นชั่วโมง วัน เดือน หรืออาจเป็นปี มันเป็นการร่วงหล่นที่ไม่รู้จักจบสิ้น ความพยายามตะเกียกตะกายกลางอากาศของเราให้ความรู้สึกราวกับว่าเรากำลังพยายามต่อยใครสักคนในฝัน ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกไร้พลังสิ้นดี
พี่ณัฐฬส
ปีที่แล้วณัฐฬส วังวิญญู หรือ พี่ณัฐ (Peanut) มาเยือนวัชรสิทธา ในคอร์ส “The Power of Living Myth – ตำนานมีชีวิต” ส่วนในปีนี้พี่ณัฐมาเยือนพื้นที่ของเราพร้อมกับธีมครึ้มๆ อย่าง “The Myth of the Broken Heart – ค้นพบจิตวิญญาณแห่งตำนานบนเส้นทางของหัวใจที่แตกสลาย” ซึ่งอันที่จริงแล้วเนื้อหาหลักๆ ของทั้งสองคอร์สนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องของ Myth แต่จะแตกต่างกันตรงที่ในครั้งนี้ไม่ใช่การตั้งคำถามเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตในฐานะผู้แสวงหา แต่เป็นการดิ้นรนเพื่อไขว่คว้าชีวิตเอาไว้ให้ได้ท่ามกลางความพังทลาย ในฐานะผู้ที่กำลังร่วงหล่น
แต่พี่ณัฐก็ไม่ได้ยื่นไม้วิเศษมาให้เราคว้าไว้ หนำซ้ำยังปล่อยให้เราร่วงไปตายกันทั้งห้อง…
ทว่ามันไม่ใช่การปล่อยให้เราไปตายอย่างไร้หลักการหรือความหมาย ไม่อย่างนั้นเราก็นอนตายอยู่บ้าน โดยไม่ต้องลางาน ลาเรียนเพื่อมาเข้าคอร์สสามวันนี้ก็ได้
พี่ณัฐจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ แต่บางสิ่งก็ทำให้พี่ณัฐเปลี่ยนแนวไปศึกษาด้านผู้นำสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยานาโรปะ (Naropa University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รวมการศึกษาเรื่องภายนอกเข้ากับการตระหนักรู้ภายในเข้าไว้ด้วยกัน จบมาแล้วก็ทำงานเป็นกระบวนกรจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการการเปลี่ยนแปลงภายใน กิจการงานของพี่ณัฐเติบโตตั้งแต่หลักสิบคนในพื้นที่เล็กๆ อย่างวัชรสิทธา ไปจนถึงหลักร้อยในบริษัทใหญ่ๆ มากมาย
ร่วงหล่น
“ผมอยากจะมาชวนพวกเราถอดรหัสความทุกข์ของตัวเอง ทุกข์แต่ละอันที่วิ่งเข้ามาหาเราคงไม่ใช่เพราะมันเป็นวันซวย ดวงไม่สมพงศ์ หรือเป็นปีชง แต่มันอาจมีเป้าหมายบางอย่างเพื่อการเติบโตของตัวเราเอง ที่อัตตาของเราอาจจะไม่ชอบ”
มันคงเป็นเรื่องประหลาดมากสำหรับใครที่ยังจัดประเภทตัวเองอยู่ในจำพวกคนปกติ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยังพยายามทำตัวให้ปกติ ใครกันจะชอบความทุกข์ หากฝนกระหน่ำลงมา เราก็ต้องหาที่หลบ เราจะปล่อยให้น้ำฝนชุ่มไปถึงกางเกงในเพื่ออะไร มันดูเหมือนไม่มีความหมายอะไรนอกจากเป็นเหตุการณ์ที่เข้ามาเล่นงานเชีวิตเราให้เละเทะไปเสียหมด
“เรื่องพวกนี้มันมีความหลากหลาย เป็นความลี้ลับที่ไม่มีสูตรสำเร็จ จักรวาลเห็นอะไรในตัวเราถึงได้ส่งโจทย์นี้มาให้เรา ทำไมคนอื่นได้คนละโจทย์ ทำไมฉันอกหักบ่อยจัง ไม่ใช่เป็นเพราะว่าฉันไม่ดี แต่บางทีเราก็ไปย้ำอยู่แต่กับสิ่งไม่ดีในตัวเอง หรือจริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะว่าฉันมีศักยภาพในการรักและให้อภัยที่ยังไม่ตระหนักในตัวเองหรือเปล่า มันมีร่องของการพิพากษาตัวเอง ซึ่งถ้าเราวนอยู่แต่ในความคิดนั้น เราจะไม่เจออะไรเลย”
บางทีเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนดี ทำดีแล้ว เต็มที่แล้ว แต่กลับถูกแวดล้อมด้วยผู้คนหรือสถานการณ์ป่วงๆ คิดแบบนั้นได้ไม่นานเราก็ตกกลับมาสู่ร่องของความรู้สึกไร้ค่า ไร้พลัง ไร้ทางเลือก และสับสนอีกครั้ง...
ความเศร้าที่เราได้รับจากการสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อบดขยี้เราอย่างไร้ความหมาย แต่ก็เป็นธรรมดาที่เราจะไม่สามารถรับรู้ความหมายนั้นได้ เนื่องจากความสับสนในความทุ่มเทที่เรามีให้กับสิ่งที่เรารัก ความฝัน หรือเป้าหมายบางอย่างที่กลับกลายเป็นความพยายามอันสูญเปล่า
หรือเราอาจมาถึงจุดที่เราต้องยอมรับอะไรบางอย่าง เพื่อค้นลงไปให้ถึงความหมายที่แท้จริงของความแตกสลาย ปล่อยให้ความหมายนั้นนำพาเราไปกระแทกก้นบึ้งของความเศร้าได้อย่างลึกซึ้งและเป็นอิสระไปพร้อมๆ กัน
“เราต้องค้นให้ลึกกว่านั้น เราต้องหาแก่นสาระ (Essence) ของเราให้เจอ เหมือนกับลายนิ้วมือของเราที่ไม่เหมือนของใครเลย ลายเส้นทางจิตวิญญาณ (Psychic Fingerprint) ของเราคืออะไร เราไม่เหมือนใครเลย หนังเรื่องนี้น่าดูนะครับ โดยที่พวกเราจะต้องแสดงเองเท่านั้น”
ไปให้ไกลกว่านั้น
Joseph Campbell เป็นบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่ณัฐเริ่มศึกษาตำนานวิทยา (Mythology) ในฐานะผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณ แนวคิดของ Campbell ได้รับอิทธิพลมาจาก Carl Jung บิดาของจิตวิทยากระแสทางเลือกซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ของ Sigmund Freud บิดาจิตวิทยากระแสหลัก
Campbell พบว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มนุษย์กำลังตามหา คือ Bliss ซึ่งแปลแบบหยาบๆ ได้ว่าความสุข แต่จริงๆ แล้วมันเป็นความสุขที่เหนือไปกว่านั้น มันเป็นจุดสุดยอดของประสบการณ์แห่งการถูกเติมเต็ม
“ทำไมมนุษย์ชอบ Sex เพราะ Sex มันละม้ายคล้ายกับ Bliss แต่ Sex เป็นแค่หนังโฆษณา สิ่งเสพติดที่เราเสพกัน ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ จริงๆ แล้วมันพยายามให้เราไปไกลกว่านั้น ต้องหาให้เจอ ความฟินของเรามันคือสัญญา (Promise) ว่ามันมีอะไรเจ๋งกว่านั้นอีก แต่ว่าบางทีเราถูกสอนให้รู้สึกผิด ศีลธรรมทั้งหลายทำให้เรารู้สึกผิด การมีความสุขเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกผิด”
ความทุกข์ที่เราเจออยู่ตอนนี้มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องพวกนี้กัน และต่อให้มันเกี่ยวกันจริงๆ การไปให้ไกลกว่านั้น ที่ถึงกับต้องแหกกฎศีลธรรมมันจะช่วยเราได้อย่างไร และมันจะทำให้เราพบกับ Bliss ได้อย่างไร ในเมื่อคิดๆ ดูแล้วมันต้องเป็นเส้นทางที่มีแต่ความวุ่นวายแน่ๆ หากเราปล่อยใจไปตามความต้องการของเราเอง ซึ่งเราในตอนนี้ก็มีเรื่องราวให้ปวดหัวมากพออยู่แล้ว
ผึ้ง ญาดา สันติสุขสกุล เป็นกระบวนกรอีกคนหนึ่ง ที่พี่ณัฐเชิญมาร่วมนำทีมดิ่งพสุธาตามหาความหมายของชีวิตในครั้งนี้ ผึ้ง สนใจเรื่องภายในจนกลายมาเป็นกระบวนกรเพราะอยากเพิ่มความทานทนให้แก่ชีวิตบนความเจ้าอารมณ์ของตัวเอง ผึ้งมักจะมีปัญหากับความเป็นระบบระเบียบมาตั้งแต่เด็ก และต้องพยายามอย่างมากในการอดทนจนกลายเป็นความชินชา ความทานทนที่ ผึ้ง ต้องการเพิ่มนั้นไม่ใช่การอดทนอยู่กับความทุกข์โดยไม่เข้าใจ แต่คือการเข้าใจมันและอยู่กับมันได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผึ้ง จะเป็นบุคคลผู้พ้นทุกข์ไปแล้ว
“เรื่องหลักๆ ที่ผึ้งสนใจก็จะเป็นเรื่องการคลี่คลายอารมณ์ที่คงค้าง และปั่นป่วนข้างในเรา รวมถึงการเข้าใจปมภายในอดีต (Trauma) สิ่งที่ตัวเอง Connect ได้คือความทุกข์ของผู้คน”
การเดินทางของ Myth
นิยามของ Myth ที่เราคุ้นเคยกันคงจะเป็น ปกรณัม อย่างเช่น เรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้ากรีก รามเกียรติ์ หรือเรื่องราวในทำนองเดียวกันที่มีในแต่ละวัฒนธรรม ส่วน Myth ที่พี่ณัฐพูดถึงนั้นมีความหมายรวมถึง ความเชื่อที่อยู่มายาวนาน มีความโบราณ อย่างความเชื่อที่ว่า เราต่างเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม เราเกิดมาเพื่อพบกัน ฯลฯ
“ชีวิตมีการเติบโตทางชีววิทยา เราตัวเล็กจนเป็นตัวใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ในทางจิตวิญญาณก็มี Journey ของมันเหมือนกัน และมันก็มี Myth ของมันเหมือนกัน”
แม้ว่า Myth ในแต่ละพื้นที่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่กลับมีแบบแผนบางอย่างที่เหมือนกัน แบบแผนของ “การเดินทาง” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุก Myth มีร่วมกัน
การเดินทางของ Myth 3 ระดับ
ระดับแรกคือ Middle Journey หรือ การเดินทางอยู่ในแดนกลาง เป็นการเดินทางที่อยู่ในเรื่องทางโลก ซึ่งมีเป้าหมายนำไปสู่การอยู่ร่วมกับผู้คนหรือสังคม
ระดับที่สองคือ Upper Journey หรือ การเดินทางขึ้น หมายถึงการมุ่งหน้าสู่สภาวะที่อยู่เหนือกว่าชีวิตทางโลก อย่างเช่นการกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด สู่ความเป็นนิรันดร์ ฯลฯ การเดินทางขึ้นมักกระทำโดยการ ลด ละ เลิก ตัดสิ่งที่ทำให้หม่นหมอง ชำระตัวเองให้บริสุทธิ์มากขึ้น เพื่อเป็นอิสระจากตัวตนที่ผูกโยงอยู่กับชีวิตทางโลก
การเดินทางระดับสุดท้ายคือ Soul Journey หรือ Journey Down เป็นการเดินทางที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับธีมของคลาสเรียนในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเดินทางลงสู่แดนล่าง ดินแดนที่อยู่ภายในอันลึกลับดำมืดของเราเพื่อค้นหาจิตวิญญาณอันแท้จริงของเราเอง การเดินทางลงนี้ไม่ได้สนใจผลในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ไม่ได้สนใจเรื่องการเป็นอิสระ แต่สนใจว่าเราคือใครและเกิดมาพร้อมกับอะไร โดยที่ไม่สนใจบทบาทในชีวิตที่เราเป็นอยู่
การเดินทางลงสู่แดนล่างอาจหมายถึงการได้เข้าไปคลุกคลีกับตัณหา ความทุกข์ มากขึ้น เพราะมันเป็นการเดินทางที่ต้องอาศัยการติดตามสิ่งที่จิตวิญญาณของเราปรารถนาไป เป็นสิ่งที่ไม่ทำไม่ได้...
“Rainer Maria Rilke ตอบคำถามกวีหนุ่มที่อยากเป็นกวีเพราะว่าชื่นชอบ Rilke ว่าเขาควรจะทำตัวอย่างไรให้เป็นกวีที่ประสบความสำเร็จ Rilke บอกว่า จงอย่าเป็นกวีจนกระทั่งเธอค้นพบว่าถ้าเธอไม่เขียนแล้วเธอจะอยู่ไม่ได้”
สิ่งที่จิตวิญญาณของเราปรารถนานี้ คือ Passion ซึ่งการทำตาม Passion นั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความสุข ดูดี เป็นที่ยอมรับ หรือประสบความสำเร็จ แต่มันคือการเป็นตัวเรา
“การ Journey Down หมายถึงการไปค้นหาว่า Soul ของเราคืออะไร อะไรที่เราจะทนอยู่ไม่ได้ มันต้องอาศัยเวลา การปะทะ สังสรรค์กับประสบการณ์ใหม่ๆ เจอความทุกข์ความสุขเพื่อค้นหาว่าจริงๆ เราคือใคร”
การเดินทางทั้งสามระดับต่างก็มีจุดหมายของมันเอง แต่ส่งเสริมกันเหมือนกับรากของต้นไม้ที่หยั่งลงไปยังดินเพื่อหาสารอาหารและสร้างความมั่นคงให้ลำต้นได้เติบโตแตกกิ่ง ผลิใบ และออกดอกผล ความแตกต่างของเส้นทางจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่เราจะต้องเสียเวลามาตัดสิน
Archetype
“เราต่างหากที่ดึงดูด Event เข้ามาจากสิ่งที่เราเป็น เรารู้จักสิ่งที่เราเป็นน้อยมาก ไม่แปลกที่เรางงว่ามันเกิดขึ้นกับเราได้ยังไง ทำไมเราต้องมาเจอโจทย์ที่มันยากกับเราด้วย”
ไม่มีใครต้องสอนเด็กที่เพิ่งเกิดมาให้ดูดนมแม่ มันเป็นสัญชาตญาณที่อยู่กับร่างกายของเรามาแต่แรกหรืออาจก่อนหน้านั้น และจิตของเราก็มีสัญชาตญาณในตัวมันเองอีกด้วย
“Jung เชื่อว่าเรามีสัญชาตญาณทางจิตด้วย ทำไมเราถึงถูกดึงดูดจากบาง Image บางคนชอบเห็นฟ้า บางคนชอบเห็นพระ บางคนชอบเห็นภาพของลุงตู่ ทำไมบางทีเราดึงดูดหรือรังเกียจ เค้าไม่ได้พูดถึงแรงดึงดูดที่เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เค้ากำลังพูดถึงสิ่งที่มันลึกลงไปกว่านั้นในระดับสัญชาตญาณ”
ทฤษฎีเรื่องสัญชาติญาณทางจิตนี้เองที่นำไปสู่การแยกแยะ Archetype
“ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ในสังคมไหนคุณจะพบ Archetype จู่ๆ คุณอาจจะรู้สึกเป็นแม่ใครสักคนขึ้นมา แล้วก็หลุดไม่ออกครับ ทั้งๆ ที่เราหาแฟนนะ แต่มันเสือกให้เราเป็นแม่ หรือลึกๆ เราก็เอ็นจอยที่เราเป็นแม่ แต่เราไปโทษเค้า”
Archetype เป็นเหมือนกับแม่แบบทางจิตวิญญาณที่ปัจเจกบุคคลในแต่ละสังคมที่แตกต่างมีความเข้าใจร่วมกัน อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่เหมือนกันในเชิงรูปแบบ
ความหมายของ Archetype มักไม่มีการตัดสินถูกผิดเคลือบอยู่ แต่เป็นเพียงคุณลักษณะของรูปแบบนั้นๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
“อย่าง นักหักหลัง นี่ฟังดูเลวไหม หน้าที่ของนักหักหลังก็คือหักหลักไง สมมติว่าผมตั้งใจจะวิ่งวันละ 5 กิโล แต่ผมก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นเพราะเจอนักหักหลังในตัวเอง เปลี่ยนแผน อีกอันหนึ่งก็คือโสเภณี โสเภณีคือ Archetype ชนิดหนึ่งที่จะทำให้เราทำอะไรก็ได้ที่เราไม่ชอบเพื่อความสำเร็จ ความสง่างามของโสเภณีคือเขารู้ว่าเขาต้องการอะไรและเขาเคารพตัวเองได้”
ทุก Archetype มีคุณลักษณะที่คล้ายหน้าที่ในตัวมันเอง แต่มันไม่ได้เป็นแค่ในระดับหน้าที่ที่เราสวมไว้เป็นเสื้อผ้าหรือหน้ากาก แต่เป็นรูปแบบที่เป็นตัวตนของเราเอง Archetype บางอย่างจะมีความใกล้ชิดกับเราเป็นพิเศษเพราะมันทำให้เราอยู่รอดมาได้
“Archetype ไม่ใช่เรื่อง Personality แต่เป็นเทพประจำตัว แต่เขาก็จะไม่ได้ให้เราเป็นอย่างนั้นตลอดไป หลายครั้งเราอาจไม่ยอมรับตัวเองใน Archetype นั้นๆ และเราก็อาจจะไม่ชอบที่จะเห็น Archetype นี้ในตัวเองและผู้อื่นด้วยนะ”
การติดอยู่ใน Archetype บางอย่าง อาจทำให้เรามีทางเลือกในการใช้ชีวิตน้อยลง มากไปกว่านั้นมันยังขวางกั้นไม่ให้เราเข้าถึงศักยภาพของตัว Archetype เดียวกันนั้นเองอีกด้วย
หากเราเป็นพ่อแม่ที่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก แต่เราอาจจะยังติดในบางเรื่อง หรือในวิธีการเดิมๆ ที่เราเข้าใจ ว่ามันเป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรทำหรือไม่ควรทำ เราก็จะไม่สามารถขยายพื้นที่ของสิ่งที่ดีที่สุดที่เราต้องการมอบให้กับลูกได้
การขยายขอบเขต จึงไม่ใช่การละทิ้งสิ่งที่เราเป็น แต่เป็นการเปิดรับว่าเรายังสามารถเป็นในสิ่งอื่นๆ ได้อีกมากมายโดยไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเป็นอยู่แล้ว
“มันจะมี Archetype ที่รอให้เราสวมบท ให้เราได้รู้จักตัวละครตัวนี้บ้าง อย่างปกติเราอยู่ใน Archetype ของผู้ตกเป็นเหยื่อ มันมีข้อดีตรงที่เรามีความชอบธรรมที่จะโทษคนอื่น บางคนก็จะบ่นว่าฉันโดนอย่างนั้นอย่างนี้ บ่นเป็นสิบปีโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเขาก็เอ็นจอยแล้วก็ไม่รู้ตัวว่าเขาเอ็นจอย และเขาก็ยังไม่เห็นข้อดีของการตกเป็นเหยื่อ ถ้าเขาได้เริ่มเห็นว่ามันมีข้อดีนะและฉันเสพติดมันอยู่เขาถึงจะเริ่มสละร่างออกจากสิ่งนี้ได้”
การสละตัวออกจาก Archetype ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ หรืออาจเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลยก็เป็นได้ เพราะมันก็คือส่วนหนึ่งของตัวเราที่มักจะวนกลับมาหาเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่การทำความเข้าใจว่า Archetype ตัวไหนมีอิทธิพลต่อชีวิตเราจะช่วยให้เราสามารถรู้ตัวและเห็นรูปแบบของตัวเราได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของตัวเราเอง
“Transformation ไม่ใช่การตัดอะไรทิ้ง แต่เป็นการรู้จักมันมากขึ้นและมีทางเลือกมากขึ้น เปิดรับความเป็นไปได้มากขึ้น”
(อ่านต่อ ตอน 2)