หลายต่อหลายครั้ง ที่ฉันจดจำภาพของสถานที่ เรื่องราว ผู้คน แม้ไม่เคยรู้จักกัน และไม่เคยไปพบเจอ แต่กลับฝังลึกลงความทรงจำถึงขนาดเก็บไปฝัน แน่นอนฝันนั้นเป็นฝันดี และพอตื่นจากฝัน ก็พบกับความจริงที่ว่า สิ่งเหล่านั้นไม่ได้อยู่ไกลเกินไปนักหรอก
สิ่งที่พูดถึงความงาม ความพอดี เหมือนหยดน้ำใสบนคลองเล็กๆ ที่เลียบไปกับแม่น้ำใหญ่ หรือบางทีอาจเป็นดอกหญ้าต้นเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ในสวนกุหลาบ แต่แท้จริงเป็นสมุนไพรเยียวยาโลกได้ด้วยซ้ำ สิ่งที่ฉันพูดถึงอยู่นี้ คือชีวิตของเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม จังหวัดระยอง
เด็กน้อยเหล่านี้ มีสิ่งที่พวกเขาได้รับจากการเรียนหนังสือมากกว่าการดูหนังสือ เพราะพวกเขาได้ทำความรู้จักดิน หญ้า น้ำ ซากพืช การดำรงชีวิตด้วยตัวพวกเขาเองจากการปลูกผักบนพื้นที่ของโรงเรียน พวกเขานำไปแบ่งขาย เก็บเงินไว้ซื้อของที่จำเป็น หอบผักกลับบ้านไปให้พ่อแม่ทำกับข้าวกลิ่นหอมฉุย แล้วชวนคนข้างบ้านมากินด้วยกัน ถ้าผักเหลือพวกเขาก็เอาไปทำอาหารให้หมูหลุมที่เลี้ยงไว้ในคอก หมูหลุมพวกนี้กินอาหารธรรมชาติ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อ ร่างกายปลอดจากเคมี เป็นอาหารปลอดภัยที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เอาเงินเป็นใหญ่ ไม่รู้สินะ ฟังดูเหมือนโลกในอุดมคติ แต่ฉันก็เชื่อว่ามีอยู่จริง
พวกเขาเติบโตอยู่ในนี้ เขตพื้นที่โรงเรียน 59 ไร่ มีสวนกล้วย ผักสวนครัว มีเขตทำปุ๋ยอินทรีย์ เขตเลี้ยงหมู เขตเผาถ่าน ทุกอย่างในพื้นที่นี้ราวกับเป็นอัญมณีไปหมด ไม่ใช่เพราะเขาเห็นมันเป็นเงินเป็นทองหรอก แต่เพราะเด็กๆ กำลังเสาะแสวงหาความหมายของคำว่า “พอเพียง” อย่างที่คุณครูสอนเขาอยู่ทุกวัน ว่าทุกอย่างในโลกนี้มีค่าเสมอหากเรารู้จักใช้
เด็กน้อยรู้ว่าเพื่อนข้างบ้านบางคนของเขาเมินหน้าที่จะมาเรียนโรงเรียนนี้ เพราะคิดว่าเป็นโรงเรียนเกรดบี วันๆ อยู่แต่กับป่า หญ้า และผัก ไม่เหมือนโรงเรียนในเมืองที่มีทุกอย่างพร้อม บางวันเด็กๆ ก็ร้องเพลง เดินเล่น กระโดดโลดเต้นไปมา มีผีเสื้อบินเริงร่ากินเกสรดอกไม้ ขณะที่ห่างออกถนนไปไม่กี่กิโลเมตรก็มีโลกอีกใบที่ก้าวเร็วกว่านี้ แต่พวกเขาบอกว่าพวกเขาเต็มใจจะอยู่ที่นี่
แปลงผักสาธิต เศรษฐกิจพอเพียง
หากคิดว่าเพราะที่นี่มีสิ่งที่สมบูรณ์อยู่รอพวกเขาแล้ว ก็กลับไม่ใช่ เพราะจริงๆ แต่เดิมที สถานที่ก่อนจะสร้างโรงเรียนนั้น เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง เสื่อมโทรม ไม่มีต้นไม้เหลือแม้แต่สักต้นเดียวด้วยซ้ำ นั่นเพราะเคยมีการเปิดสัมปทานขุดเปิดหน้าดินของนายทุนเมื่อ 14 ปีก่อน พื้นที่นี้เหมือนทำประโยชน์อะไรไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีต้นไม้ ไม่มีสัตว์เลี้ยง มีแต่ดินสีแดงแห้งผากกับความคิดของพ่อแม่ที่จะต้องพาลูกออกไปเรียนหนังสือไกลๆ
แต่ในที่สุดที่ตรงนี้ก็กลายเป็นโรงเรียน เพราะลุงกำนันสมโภชน์ของตำบลชำฆ้อไปร่วมพิจารณาให้ที่ดินสาธารณะนี้สร้างเป็นโรงเรียนเสียดีกว่า จะได้เกิดแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนในอนาคต
ผู้อำนวยการโรงเรียน สอนเด็กๆ ปลูกต้นไม้
เขาคิดไม่ผิดเลย และยังโชคดีที่มีคุณครูผู้อำนวยการชื่อ อาจารย์วีระวัธน์ สิงหาบุตร เข้ามาทำงาน ผู้อำนวยการท่านนี้มีหลักการสอนนักเรียนอยู่ 3 ข้อ ที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือ 1. ให้ใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล 2. กินอยู่พอประมาณ และ 3. มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี ดูจะเป็นวิสัยโรงเรียนที่ต่างจากที่อื่นอย่างสิ้นเชิง ส่วนเรื่องความรู้ ครูบอกว่าสอนสาระ ทักษะ ทุกอย่างไม่ต่างจากที่อื่น แต่ที่นี่ นักเรียนทุกคนควรได้เรียนรู้ว่าสิ่งรอบตัวสำคัญอย่างไร พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ชุมชน คนข้างบ้าน จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันได้อย่างไร
นั่นเป็นเหตุผลที่ต้นผัก ต้นกล้วย ผักบุ้ง ผักกาด ข้าวโพด หรืออะไรที่พวกเขาปลูก มีคนหยิบไปกินได้โดยไม่หวง และยังกลายเป็น “สาร” ที่เชื่อมโยงให้ชาวบ้านกลับมาสนใจวิถีชีวิตเรียบง่าย ไม่ใช้เงิน ตระหนักถึงสุขภาพ รู้ตื่นถึงความสุข จนกลายเป็นสาระอันกว้างขวางออกไปอีก
น้องนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “ภูมิใจที่เป็นนักเรียนของที่ดี เพราะมีเพื่อนที่ดี มีครูที่ดี เรารักและเคารพครู สิ่งที่ครูสอนเอาไปใช้กับชีวิตได้ทุกเรื่อง”
ใครๆ ก็บอกว่า นักเรียนที่นี่ช่างสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน นั่นไม่ใช่บุคลิกของคนรู้น้อย และหวาดกลัวอย่างที่คนในสังคมเมืองคิด แต่พวกเขาถ่อมตนกับธรรมชาติ และเจียมตัวว่าที่พวกเราเรียนรู้อยู่เป็นแค่ครึ่งเดียวของความพอเพียง ซึ่งคุณครูบอกว่าถ้าโตขึ้นและได้นำไปติดตัว พวกเขาคงจะได้รู้มากกว่านี้
ฉันอ่านเรื่องนี้ ฟังเรื่องนี้ แล้วเขียนเรื่องนี้ ความรู้สึกดีดีที่ซ่อนตัวอยู่กลางพายุฝน บางทีเด็กๆ เหล่านี้ต่างหาก กำลังสอนให้เราลึกซึ้งกับคำว่า “พอเพียง” ผ่านการคิดและเรียบง่ายแบบที่พวกเขากำลังทำ
....
หมายเหตุ
ปัจจุบัน โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม จ.ระยอง เป็น 1 ใน 135 โรงเรียนที่เป็น “สถานศึกษาพอเพียง 2550” และเป็น 1 ใน 68 โรงเรียนที่เข้าร่วมขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการ “เสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาและชุมชน” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัลป์มาจล ธนาคารไทยพาณิชย์
เรื่องราวของพวกเขากำลังได้รับการเผยแพร่ในหนังสือ “สังคมแห่งไมตรีจิต ความสุขในชีวิตเบ่งบาน” ในเวทีเติมน้ำใจให้สังคม ครั้งที่ 6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช)
ภาพถ่ายจากโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม