ระหว่างทุ่งนาเขียวขจีของฤดูฝน หรือ ถนนดินแดงเต็มไปด้วยผงฝุ่นฤดูแล้ง
ยามหนึ่งในอดีตกาล ในความนึกคิดวัยเยาว์จำความได้ว่า ถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ฉันและเพื่อนต่างจ้ำอ้าวออกจากประตูโรงเรียนแทบไม่คิดชีวิต เปล่าหรอก เราไม่ได้เกลียดโรงเรียนขนาดนั้น ไม่ได้เบื่อคุณครู เพียงแต่เราคิดถึงพื้นที่อิสระ ที่เราไม่ต้องใส่ชุดกระโปรงแล้วกลัวเปื้อน มีที่วิ่งเล่น ได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีขนมกิน มีคนดูแล และมีหนังสืออ่าน
และพื้นที่ที่ว่านั้น ก็คือบ้านของเราเอง
บ้านของฉันห่างจากโรงเรียนไม่ถึงกิโลเมตร แค่ออกจากบ้านมาสัก 10 ก้าว ก็เห็นเสาธงตั้งโด่เด่ติดกับวัดของหมู่บ้าน ดังนั้น การกลับบ้านในแต่ละเย็นจึงเป็นเพียงระยะทางสั้นๆ และเวลาอันน้อยนิด เมื่อเทียบกับเพื่อนๆ อีกหลายคน
จวบจนเมื่อเราเติบโตขึ้น ฉันเข้าเรียนต่อมัธยมต้นในโรงเรียนประจำอำเภอ ระยะทางในการกลับบ้านแต่ละวันก็ยาวมากขึ้น ระหว่างทางนั้น มีเพียงร้านหนังสือเช่าของคนจีนในตลาด ที่จะต้องแวะทุกวัน นอกนั้นเป็นบางโอกาส ที่จะไปเดินเล่นตลาดบ้าง เล่นกีฬา หรือไปเที่ยวบ้านเพื่อน การกลับบ้านเป็นกิจวัตรที่คงเดิม เวลาเดิม เส้นทางเดิม เพียงแต่เวลาเดินทางที่มากขึ้น ก็ทำให้ได้อยู่กับตัวเองและพิจารณาหลายๆ อย่างมากขึ้นไปด้วย
จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อฉันไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ คำว่าบ้านนั้นห่างไปมากกว่าที่เคยห่าง เพิ่งรับรู้ว่าในวัยที่ต่างขึ้น ในเวลาที่เราโตพอจะกลับบ้านได้เองโดยไม่ต้องมีใครไปรับไปส่ง เรากลับมีระยะทางกลับบ้านที่ไกลมากขึ้น
คำว่า “กลับบ้าน” ในไดอารี่ของฉัน มีความห่างของระยะเวลาด้วยเช่นกัน จาก 6 เดือน เป็น 1 ปี จาก 1 ปี เป็น 3 ปี สิ่งพันธนาการมากมายในวัยที่เริ่มทำงาน ยิ่งทำให้คำว่า “กลับบ้านของฉัน” มีมูลค่าที่ดูจะยิ่งใหญ่ไปมากขึ้นทุกขณะ
คืนหนึ่งในเดือนธันวาคม ของ 7 ปีก่อน ฉันนั่งพิงไหล่กับพี่สาว กอดแขนเขาเอาไว้แน่น อยู่บนรถไฟขบวนหนึ่งซึ่งมุ่งหน้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ ฉันใจเต้นตุบตับ เมื่อเสียงหวูดรถไฟดังขึ้นบริเวณชานชาลา รถไฟจอดเทียบท่า อากาศยามเช้าหนาวเหน็บและสายลมพัดอ้อยอิ่ง หมอกปกคลุมเมืองจนแทบไม่เห็นภูเขา พี่สาวสะกิดให้ฉันเตรียมตัว เธอหันมาถามว่า “ตื่นเต้นไหม”
“ใช่ ตื่นเต้น”
ฉันตอบไปแบบนั้น ตามที่รู้สึก ทั้งที่เรายังไม่ถึงบ้านของเราหรอก เรายังจะต้องเดินทางต่อรถโดยสารอีกมากกว่าชั่วโมง และเรียกรถเข้าไปยังหมู่บ้านอีก
ระหว่างทางที่นั่งอยู่บนรถสีแดง มีกลิ่นอับของเบาะที่ผ่านการใช้งานมานานนับสิบปี ฉันไม่มีความง่วง ไม่มีความเหนื่อยล้า มีเพียงความคาดเดามากมาย ว่าใครที่หมู่บ้านจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว พ่อจะแก่ลงไปมากไหม เขาจะเห็นฉันแปลกไปหรือเปล่า เราจะยังคงหยอกเล่นกันได้ไหม ครอบครัวใหม่ของเขา จะยินดีต้อนรับฉันหรือเปล่า
คำถามมากมาย เกิดก่อเวียนว่ายตายดับอยู่ในรถคันนั้น บางคำถามก็โปรยเล่นออกไปนอกกระจกรถที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ฉันยื่นมือออกไปยังนอกหน้าต่าง มองไปยังภูเขา ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกไม้ป่า และกลุ่มหมอกควันที่ดำรงอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ด้วยใจที่มีความสุข ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ อย่างไรเสีย ฉันก็กำลังจะกลับถึงบ้านไม่กี่ชั่วโมงนี้แล้ว
หลายครั้งในลำดับต่อมา สมุดไดอารี่ของฉันที่มีหัวข้อว่ากลับบ้าน นั้นมีทั้งคราบน้ำตาและรอยยิ้ม รายละเอียดในชีวิตของคนเราคงไม่เท่ากัน น่าแปลกที่บางครั้ง ฉันคิดถึงบ้านจนจับหัวใจ แต่กลับไม่ใช่เวลาที่ควรจะต้องกลับ บางครั้งก็จำเป็นต้องเดินทางเร่งด่วน ทั้งที่มีภาระมากมายรั้งท้ายไว้ บางเรื่องที่คิดว่าต้องใช้การอธิบายมากมายเพื่อให้คนที่บ้านเข้าใจ เราก็จึงนิ่งงันเสีย กาลเวลาทำให้การกลับบ้านเป็นเรื่องแปลกออกไป เราไม่ได้คิดแต่เพียงตัวเองเท่านั้น คนที่อยู่ในชีวิตเราและอยากพาเขาไปด้วย? บางสิ่งในที่เราไม่พร้อมจะให้ใครรับรู้ ? หรือ ความฝันที่ลึกที่สุด สักวันหนึ่งฉันจะกลับมาอยู่ที่บ้าน?
แล้วกาลเวลาก็พัดผ่านไป จนกระทั่งวันนี้ ฉันพาตัวเองกลับมาแล้ว แต่ก็พบว่าฉันยังไม่ได้กลับบ้านอยู่ดี
พ่อของฉันแก่ลงไปมากแล้ว เขายังมีฝัน ตัวตน และความนึกคิดในแบบของเขาเอง เราพบเจอกันบ่อยขึ้น ได้มีเวลาพูดคุย ถามไถ่ทุกข์สุขกันมากขึ้น ภายใต้ร่างกายแก่ชราของเขา ทุกครั้งที่ยืนอยู่ตรงหน้าฉัน ฉันจะมองให้นานที่สุดเท่าที่มีโอกาส มองเข้าไปยังหัวใจที่ไม่เคยทะลุปรุโปร่ง จิตใจของเขาซ่อนสิ่งใดเอาไว้ คำถามเร้นลับถามฉันว่า เราเป็นคนแปลกหน้าต่อกันเพราะระยะทางห่างไกล หรือแท้จริงแล้ว มนุษย์เราล้วนมีชีวิตอิสระต่อกัน ไม่มีสายสัมพันธ์ที่แท้จริงจะทำให้เราเข้าใจกันได้ทั้งหมด
บางทีอาจจะเป็นเช่นนั้น ฉันจึงเลือกที่จะหาบ้านเล็กๆ หลังหนึ่งเอาไว้อาศัย เช่นเดียวกับพี่สาว เราต่างอยู่บ้านคนละหลัง มีระยะเวลากลับบ้านที่ไม่เท่ากัน มีไดอารี่คนละเล่ม เราเขียนอะไรไว้มากมาย ภายใต้การใช้ชีวิตของตัวเอง การกลับบ้านของฉันเป็นอย่างที่ฝันเอาไว้แล้ว ระยะทางสั้นลง ได้กลับบ่อยมากขึ้น แม้จะไม่เทียบเท่ากับตอนเป็นเด็กๆ
แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ว่า บางที การกลับบ้านอาจจะมีระยะทางที่เท่าเดิมอยู่เสมอ
“พ่อส่งข่าวมาว่าปลาในกระชังกำลังโต และหมู่บ้านจะมีงานบุญเดือนถัดไป”
ใครคนหนึ่งมากระซิบบอกข่าว เขาเพิ่งกลับบ้านมา แถมมีน้ำใจหยิบหน่อไม้ อาหารหลายอย่างมาฝากด้วย ฉันอมยิ้ม ไม่ใช่ความหิวหรือดีใจ แต่เป็นความอบอุ่นข้างในลึกๆ เมื่อคิดถึงว่า “ระยะทาง” นั้นใกล้พอที่คนจะฝากอาหารแก่กันได้ พ่อก็คงยังเหมือนเดิม ไม่มีการบอกว่าอยากให้กลับบ้านเมื่อไหร่ บางครั้งเขาเองก็เป็นฝ่ายเริ่มต้นเล่า ว่าบ้านของเขาอยู่ไกลแสนไกล มาปักหลักยังหมู่บ้านปัจจุบันก็ยังไม่มีโอกาสได้กลับบ้านจริงๆ
“บ้านและครอบครัว อาจจะไม่ได้อยู่ที่เดิมไปตลอด แต่อยู่ในความหมายของสิ่งเหล่านั้น”
คำพูดใครบางคนลอยมา ขณะฉันหิ้วถุงหน่อไม้กลับเข้าไปในครัว ทำอาหารง่ายๆ ในบ้านเช่าที่ดูแลอย่างดี เพียงพอจะใช้คำว่า “กลับบ้าน” ได้เสมอเมื่อจากไปไหน ถึงแม้อีกสักวัน ก็อาจจะต้องไปจากที่นี่ แสวงหาคำว่า “บ้าน” หลังใหม่ ระยะทางไกลกว่าเดิม แต่ฉันก็คงไม่เคยลืมบ้านหลังนั้น
บ้านที่มีพ่อ และแม่ในอดีต บ้านไม้สีน้ำตาลที่ถูกรื้อถอนไปแล้ว ต้นไม้ที่เคยวิ่งเล่นในตอนเด็กๆ ที่ถูกโค่นและถมที่ใหม่ สวนกุหลาบของแม่ที่กลายเป็นลานซักผ้า ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว คนในครอบครัวใหม่ของพ่อที่ไม่สนิทสนมกัน จะอย่างไรเสียฉันก็ยังคิดถึง และยังอยากกลับบ้านเสมอ
การกลับบ้านที่อาจไม่ใช่การไปยืนอยู่ ณ ที่นั้นเสมอไป แต่เป็นเคารพและคิดถึงความเป็นบ้านในวัยเยาว์ ที่หล่อหลอมให้เติบโตมาถึงวันนี้ การค้นพบว่าลึกๆ แล้ว ระยะทางก็ยังเท่าเดิมอยู่เสมอ โดยเฉพาะระยะทางในหัวใจ
ณ ที่ซึ่งเรายังเดินทางกลับไปได้เสมอ ทุกครั้ง ทุกเวลา ที่อยากกลับ.