Skip to main content

หลายปีก่อน หญิงสาวรูปร่างบางตาคมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นน้อง เอ่ยกับฉันว่า

การหอบสัมภาระเพื่อย้ายจาก “บ้านเช่า” ไป “บ้านใหม่” ที่เธอเป็นเจ้าของนั้น ต้องเก็บไปให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระของคนมาทีหลัง
“อะไรเอาไปได้ก็เอาไป ยกเว้นก็แต่ต้นไม้ มันโตจนเกินกว่าที่จะขุดขึ้นมา”

ฉันไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเธอเลยในหลายปีมานี้ แต่พอจะรับรู้ได้ว่า คนรักต้นไม้แบบเธอนั้นเพียรพยายามปลูกสารพัดต้นไม้เท่าที่ผืนดินจะอำนวย นอกจากต้นโมก ดอกแก้ว หรือพลูด่างแล้วเธอยังมีพืชสวนครัว เช่น ตะไคร้ พริก โหระพา เพื่อเอาไว้ทำกับข้าว แต่ฉันเดาเอาว่าเธอคงปลูกทั้งต้นมะม่วง จำปี กระทั่งฝรั่งหรือขนุน

ด้วยหัวอกคนพเนจรต้องเช่าบ้านอยู่เหมือนกัน เราได้คุยเรื่องนี้กันบ่อยครั้ง
สุดท้ายเธอก็ให้คำตอบว่า
“เขาว่าเราบ้านะ มาปลูกต้นไม้ให้เขา กล้าก็ซื้อมา แล้วเอาไปด้วยไม่ได้”
“ถือว่ายกเป็นสมบัติของผืนดินไปละกัน”

เราสรุปกันแบบนี้ เมื่อนานมาแล้ว จนวันนี้ฉันรับรู้ว่าเธอมีที่ดินของเธอเองแล้ว และกำลังทำสวนอยู่นอกเมืองปทุมธานี เธอขุดร่องน้ำเอาไว้รดน้ำต้นไม้ และยังปลูกสมุนไพรแซมระหว่างต้นไม้ใหญ่พวกนั้น ฟังแล้วฉันก็มีความสุข และหวังว่าสักวันจะได้ทำแบบเธอบ้าง

ขณะเดียวกัน ต้นไม้ที่ใกล้ตายหลายต้นของฉัน กำลังพลิกฟื้นเติบโตเช่นกันเมื่อเราย้ายมาเช่าบ้านที่มีบริเวณที่ดินกว้างขวาง มีแม่น้ำเล็กๆ ไหลผ่านหลังบ้าน ขณะที่ชื่นชมกับชีวิตใหม่เหล่านั้น เช้าวันหนึ่ง เพื่อนบ้านก็เดินข้ามรั้วมาทักทายด้วยความหวังดี
“ใบไม้พวกนี้ ไม่เก็บรวมๆ กันแล้วเผาบ้างล่ะหนู”

หันไปทางหลังบ้าน เขากำลังทำแบบนั้นเช่นกัน ไม่เพียงแต่ใบไม้แห้งและเศษหญ้า ขยะที่เขาเผายังมีทั้งถุงพลาสติก ขยะเปียกและของเหลือใช้อื่นๆ

เขามองมายังถุงดำจำนวนหลาย ใบที่ฉันเก็บขยะเอาไว้ เมื่อรวบรวมได้ 1-2 สัปดาห์ ฉันจะหอบไปทิ้งที่เขตเทศบาลซึ่งมีถังใบใหญ่จัดวางไว้ให้ทิ้ง หรือไม่คนที่ฉันอยู่ด้วย ก็จะเพียรหิ้วใส่รถตอนออกไปทำงานตอนเช้า เพื่อไปทิ้งยังจุดวางขยะหน้าบริษัท
“จริงๆ ติดต่อที่เขตไว้แล้วค่ะ ว่าอยากให้เขาเข้ามาเก็บหน้าบ้าน”
“เขาไม่มาหรอก เพราะแถวนี้ไม่มีใช้บริการ และไม่อยากเสียเงิน”


ราคาของการจ่ายคือ ค่าถัง ค่าถุงดำ และค่าเก็บขยะรายสัปดาห์หรือรายเดือน ฉันคิดว่ามันคงไม่เท่าไหร่ แต่ปัญหาก็คือไม่มีใครในชุมชนอยากจะจ่ายให้กับสิ่งเหล่านี้ พวกเขาทำกันอย่างง่ายๆ สุมขยะไว้ แล้วก็เผา ควันสีขาวคุกรุ่นต่อเนื่องกันวันเว้นวัน จากบ้านหัวซอยไปยังท้ายซอย

อย่าว่าแต่การอธิบายให้เข้าใจถึงปัญหาของคนที่เป็นภูมิแพ้เลย ว่าจะต้องอยู่อย่างลำบากอย่างไร การพูดถึงภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ สารเคมีปนเปื้อน นั้นยิ่งดูห่างไกลเกินไปอีก เพื่อนบ้านมองฉันอย่างนึกห่วง เธอหวังดีมาก ด้วยการบอกว่า
“ถ้าไม่อยากเผาเองก็ยกไปรวมของพี่ก็ได้นะ พี่จะเผาให้”
“ตอนนี้เขาประกาศไม่ให้เผาขยะนะคะพี่ มันทำลายสิ่งแวดล้อม และถือเป็นความผิดด้วย”

ฉันพูดด้วยน้ำเสียงระมัดระวัง
เขาอมยิ้ม แล้วตอบว่า
“อะไรๆ ก็ผิดกฎทั้งนั้นแหละ แน่จริงก็มาเก็บขยะให้ฟรีสิ แล้วเราจะไม่เผา”
ฉันนิ่งเงียบไป ก็ดูจะเป็นข้อเสนอที่ควรมีใครได้ยินอยู่เหมือนกัน

เช้าวันนั้น หลังจากจัดแจงกวาดใบไม้และไปกองไว้ในหลุมเพื่อให้มันย่อยสลายเองแล้ว ฉันก็หิ้วถุงขยะมากองรวมไว้ ก่อนเดินทางไกลนับร้อยกิโลเมตร ฉันคงจะได้แวะที่เขตเทศบาลและหย่อนขยะไว้ในที่ถูกต้องเสียก่อน

ขับรถออกจากหมู่บ้านมา ขณะที่เบื้องหลังมีกลุ่มควันสีขาว ลอยเป็นช่วงๆ พร้อมอาการแสบตาและหายใจติดขัด ใช้เวลาจากนั้นเกือบชั่วโมงถึงจะรู้สึกดีขึ้น เป็นเวลาเดียวกับที่รถเริ่มแล่นเข้าสู่ถนนบนภูเขา

สีน้ำตาลของใบไม้แห้ง รอยต้นไม้ที่ถูกตัด ท่อนไม้ขนาดใหญ่ริมข้างทาง ไฟป่า และภูเขาหัวโล้น ทั้งหมดคือความแห้งแล้งที่อยู่ในสายตา พาให้ฉันจ่อมจมอยู่ในภวังค์

และวูบหนึ่งนั้น
มือเล็กๆ ของหญิงสาวร่างบางที่เธอกำลังปลูกต้นไม้อยู่อีกมุมหนึ่งของประเทศ
ฉันคิดถึงนัก.

20080319 ภาพประกอบ (1)

 20080319 ภาพประกอบ (2)

20080319 ภาพประกอบ (3)

20080319 ภาพประกอบ (4)

20080319 ภาพประกอบ (5)

บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
“พี่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ใครจะฟ้องร้องเอาอะไร ก็ไม่มีให้เขา มันเสียไปหมดแล้ว” รถโดยสารของความอึดอัดกำลังเคลื่อนขบวน โดยมีเราอยู่ในนั้น ฉัน และเขา “ผู้เช่าบ้าน” และ “ผู้ให้เช่า” ตามภาษาในเอกสารสัญญาของเรา กำลังยืนอยู่ตรงหน้ากัน  ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็น และอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน..........จำได้ว่าเมื่อ 1 ปีก่อน ตอนที่ฉันพบเขาครั้งแรก เขาไขกุญแจรั้วบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีป้ายติดประกาศว่า “ให้เช่า” ด้วยท่าทีอ่อนโยน ดวงตาเป็นประกาย พาฉันเดินเยี่ยมชมอย่างต้อนรับขับสู้ ริมฝีปากนั้นไม่เคยขาดรอยยิ้ม เขาเล่าว่า ทาวเฮาส์หลังนี้ซื้อไว้เมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อให้แม่อาศัย…
วาดวลี
----------ภายใต้แสงจันทร์  ที่ริมฝั่งนั้นพี่ยังจำได้ จงกลับคืนมาหารักดังเก่า  ลืมเรื่องร้ายคลายเศร้า เจ้าอย่าทำเมินไฉน พะเยารอเธอ  รอรักด้วยความห่วงใย  จะนานแสนนานเท่าไหร่  ขอให้เธอนั้นกลับมา----------“เพลงแปลกหูดีนะ ร้องเพลงอะไรเหรอ” “เพลงของเมืองที่เรากำลังจะไปนี่ไงล่ะ”คนตอบหักพวงมาลัย ซ้ายที ซ้ายที ขณะรถของเรากำลังไต่อยู่บนเส้นทางคดโค้งโอบล้อมไปด้วยภูเขา ฉันพยายามเอียงตัวเพื่อจะถ่ายรูป ฟ้ายามบ่ายสดใสเหมือนไม่มีเค้าฝน ฟังเพลงนั้นอย่างตั้งใจ “อ๋อ เพลงพะเยารอเธอ ใช่ไหม” ฉันถามอีกครั้งให้แน่ใจ คนร้องพยักหน้าหงึกหงัก ความทรงจำเก่าๆ ของเพลงต้นฉบับล่องลอยมาแต่ไกล…
วาดวลี
ระหว่างทุ่งนาเขียวขจีของฤดูฝน หรือ ถนนดินแดงเต็มไปด้วยผงฝุ่นฤดูแล้ง ยามหนึ่งในอดีตกาล ในความนึกคิดวัยเยาว์จำความได้ว่า ถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ฉันและเพื่อนต่างจ้ำอ้าวออกจากประตูโรงเรียนแทบไม่คิดชีวิต เปล่าหรอก เราไม่ได้เกลียดโรงเรียนขนาดนั้น ไม่ได้เบื่อคุณครู เพียงแต่เราคิดถึงพื้นที่อิสระ ที่เราไม่ต้องใส่ชุดกระโปรงแล้วกลัวเปื้อน มีที่วิ่งเล่น ได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีขนมกิน  มีคนดูแล และมีหนังสืออ่าน และพื้นที่ที่ว่านั้น ก็คือบ้านของเราเองบ้านของฉันห่างจากโรงเรียนไม่ถึงกิโลเมตร แค่ออกจากบ้านมาสัก 10 ก้าว ก็เห็นเสาธงตั้งโด่เด่ติดกับวัดของหมู่บ้าน ดังนั้น…
วาดวลี
“อีกนานเลยสินะ กว่าจะได้เจอกัน”สุ้มเสียงคนพูดเจือปนความอาวรณ์ ขณะโยนถุงใบเล็กใหญ่ใส่หลังรถกระบะสีขาวเก่าๆ ของเพื่อนผู้มีน้ำใจ เจ้าของรถหยอกเอินในฐานะเพื่อนสนิทว่า“ตอนมามีเสื้อผ้าชุดเดียว ขากลับทำไมมีของเยอะนัก”เขากำลังจะกลับบ้านชายหนุ่มรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กๆ ที่รู้จักกันมาได้ปีกว่าแล้ว เขาเล่าว่า สมัยที่มาอยู่เชียงใหม่แรกๆ เพิ่งเรียนจบมัธยมสาม หางานทำในอำเภอไม่ได้ก็ลองเข้าเมืองมาเสี่ยงโชค เวลานั้น กราบลาพ่อแม่ แล้วนั่งรถโดยสารมาด้วยราคา 45 บาท กับระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตรมาอาทิตย์แรก ตระเวนขออาศัยยังหอพักเพื่อนที่พอรู้จัก จะอยู่บ้านใครนานก็เกรงใจคนอื่น ตะลอนหางานทำ ตั้งแต่พนักงานขนของ…