เมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อชายวัยกลางคนคนหนึ่งมาปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำ
เขายิ้มให้กับชีวิตพลางบอกลูกเมียว่า อยากกินปลามื้อไหนขอให้บอก จะเอาตัวเล็กตัวใหญ่ แค่คว้าแห คว้าไซ เบ็ดตกปลา หรือเดินดุ่มลงไปยกยอ ไม่เกิน 15 เท่านั้น ก็จะมีปลามาแกงได้ทั้งหม้อ
น้ำแม่โก๋นข้างบ้านพ่อชุม
แต่ผ่านไปถึงวัยชรา อายุ 76 ในปีนี้ พ่อชุมบอกว่า นั่งมองปลาในน้ำว่ายไปมาอย่างอิสระ แล้วไม่มีแรงพอจะลงไปหาได้เหมือนแต่ก่อน แน่นอนว่าเขาชอบกินปลา ยิ่งสูงอายุก็ลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์อื่น ปลามีประโยชน์สม่ำเสมอ และดีต่อระบบย่อยอาหาร วันนั้น เขาบอกกับฉันว่า วิธีที่ดีที่สุดก็คือทำกระชังเลี้ยงปลาเสีย จะได้เก็บมากินได้ง่ายๆ แถมยังแบ่งปันคนข้างบ้าน หรือเผื่อเหลือไว้ขายได้อีกต่างหาก
พ่อชุมเริ่มทำกระชังปลาไป 5 กระชัง ทำด้วยไม้ไผ่ง่ายๆ มีตาข่าย 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งใช้ผนังดินของตลิ่งเป็นที่กั้น เขาซื้อพันธุ์ปลามาปล่อยเอาไว้ เลี้ยงด้วยอาหาร สลับกับไส้เดือนหรือเศษอาหารบางอย่าง ผ่านไปสองสามเดือน ปลาเริ่มโตว่ายกันไปมา ตัวอวบอ้วน สุขภาพดี
กระชังสีฟ้าเรียงรายริมแม่น้ำ
ฉันไปเยี่ยมเขาไม่นานนี้ นับกระชังดูแล้ว กลับพบว่าเหลือแค่ 4 ส่วนกระชังที่หายไปนั้นเขาบอกฉันว่า
“เอาข้าวเหนียวแห้งให้มันกิน ปลากฎว่าท้องอืด ตายลอยเกลื่อนเลย”
ว่าแล้วก็หัวเราะ ขำให้กับตัวเอง แล้วก็มองปลาที่เหลืออย่างมีความสุข
ผ่านไปอีกหลายสัปดาห์ ปลาในกระชังก็ลดเหลือเพียงแค่ 3 มันหายไปอีกหนึ่งกระชัง คราวนี้ชายชราหัวเราะดังกว่าเดิม
“พ่อให้มันกินแมงเม่า นึกว่ามันจะชอบ เห็นกินกันใหญ่ ปรากฏว่าท้องอืดตายเหมือนกัน”
เขาดูจะสนุกกับการเรียนรู้ของเขาเอง ตลอดชีวิตในหมู่บ้านเล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์ ปลาคือสิ่งที่มีอยู่ในน้ำสม่ำเสมอ พ่อชุมบอกว่า อีกไม่นานปลาในกระชังที่เหลือก็จะโตเต็มที่ พร้อมที่จะกินได้อย่างอร่อยหรือนำไปขายที่ตลาดได้แล้ว
หากแต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา น้ำที่เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ มีมากอย่างคาดไม่ถึง ฉันกลับไปเยี่ยมเขาคราวนี้ เห็นมีกระชังเปล่าๆ เหลืออยู่เพียงอันเดียว
“กระชังแตก เพราะน้ำมามากเกิน ปลาทะลักออกจากกระชังหมดเลย”
เขาเล่าไป ทำตาโตอย่างระทึก สลับกับยิ้ม แล้วพาฉันเดินไปยังริมตลิ่ง ก้มมองดู ปลาจำนวนมาก ว่ายไปมาอย่างอิสระในแม่น้ำบริเวณนั้น แม้ว่าจะไม่มีกระชังมาจำกัดอิสรภาพของพวกมันอีก
“มันไม่ไปไหนเลย บ้านแตกแล้วก็ยังกลับมาที่เดิม แถมรู้ด้วยนะ ว่าจะให้อาหารมันเมื่อไหร่ ว่ายมารอ อยู่ริมตลิ่ง ก็เลยให้อาหารมันเช่นเดิม”
“แล้วกระชังที่เหลือล่ะ” ฉันถาม
“ก็เห็นว่าเพื่อนๆ มันอยู่ข้างนอกหมดแล้ว เลยสงสาร ก็เปิดให้มันออกมาอยู่กับเพื่อนเสียเลย”
เขาว่าพลางเทอาหารลงแม่น้ำ ปลาเหล่านั้นแหวกว่ายมากินกันอย่างอร่อย อิ่มแล้วก็ว่ายเล่นไปมาหา หามุมสงบของใครของมัน ซึ่งจะเป็นมุมไหนก็ได้ของแม่น้ำ ฝั่งนี้ ฝั่งนั้น แล้วแต่อยากจะไปตรงไหน
“แล้วจะจับมันมากินยังไงล่ะ” ฉันอดสงสัยไม่ได้
“ก็ไม่ต้องจับมัน เลี้ยงไว้ดูเล่น” เขาหัวเราะจนตาหยี คู่ชีวิตของเขาเดินตามมาสมทบ แล้วบอกว่าหากใครมาจับได้ ก็แล้วแต่เขาจะแบ่งไว้ให้กิน
“ก็ดีนะพ่อ เราได้เพาะพันธุ์ปลาให้แม่น้ำไง” ฉันว่าอย่างเห็นดีเห็นงาม เผื่อมันว่ายไปมา บ้านหลังอื่นจะได้มีปลากินเพิ่มขึ้น
แต่พ่อชุมกลับหัวเราะเบาๆ แล้วบอกว่า
“มันไม่ไปไหนหรอก ไล่มันยังไม่ไปเลย สงสัยจะคิดถึงพ่อ เห็นแบบนี้ก็กินไม่ลง สงสัยต้องเลิกกินปลา เพราะมันเป็นสัตว์เลี้ยงของเราไปแล้ว”
เขาเอ่ยทิ้งท้าย ก่อนจะนั่งลงบนเก้าอี้ริมตลิ่ง มองสัตว์เลี้ยงของเขาที่บางตัวก็ว่ายกลับเข้ามาหลับในกระชังผุพังอันที่เหลือ อย่างมีความสุข .
พ่อชุมนั่งอ่านบันทึกในสมุดทำมือ บนเก้าอี้ไม้ไผ่ที่ทำเอง
ที่ตากฟืนริมน้ำ
มุมน้ำดื่มไว้รองรับเพื่อนบ้าน
มุมโปรดของเพื่อนบ้านพากันนั่งมองไปยังกระชังริมน้ำ ก่อนช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์
อีกมุมพักผ่อนส่วนตัวของพ่อชุมมีไว้ให้นั่งได้คนเดียวเท่านั้น
แมวของเพื่อนบ้าน มาเยี่ยมแล้วก็กำลังจะกลับ