Skip to main content

20080514 001

ฝนยังโปรยลงมาไม่ขาดสาย แม้จะเพิ่งผ่านเดือนเมษายนมาได้ไม่เท่าไหร่  ท้องทุ่งฉ่ำไปด้วยฝนและดูจะมากไปจนน่าวิตก ลานกว้างหน้าบ้านของยายปลีวันนี้จึงไม่มีเด็กๆ มาวิ่งเล่น แต่หลบฝนกันไปวาดรูปเล่นอยู่ตรงชานเรือน หลานอีกคนทำหน้าตาเบื่อเพราะอยากออกไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน นี่เป็นวันธรรมดาที่อาจมีทั้งความหมายหรือไม่มี สำหรับยายปลี เพราะหลังจากแกเก็บผ้าเข้าไปตากใต้ยุ้งข้าวเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมานั่งอยู่ประจำที่ อยู่กับเครื่องทอด้ายแบบสมัยโบราณ มันทำจากไม้ และไม่รู้ว่ามันมีอายุมาแล้วเท่าไหร่

20080514 002
ยายปลีสาละวนกับการคล้องเส้นด้ายเพื่อผูกให้เป็นมัด

“มันอยู่กับยายมาก็หลายสิบปี แต่เราซื้อต่อจากเขา สมัยนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว”
ยายปลีบอกกับฉันแบบนี้ ก่อนจะหยิบเอาผลิตภัณฑ์ที่แกทำด้วยตัวเองออกมาให้ดู

20080514 004
เครื่องทอด้ายของยายปลี ทำจากไม้ ซื้อต่อมาในราคา 100 บาท เมื่อหลายสิบปีก่อน

มันเป็นเส้นด้ายที่ถักทอมาจากใยของต้นนุ่น ยายเป็นคนปลูกต้นไม้เหล่านี้เอง มีอยู่เพียงไม่กี่ต้นหลังบ้าน จนไม่อยากเชื่อว่า มันจะมากพอให้ยายทอออกมาเป็นกำๆ วางกองรวมกัน ซึ่งเรียกว่า “ไจ” ภายในหนึ่งไจ นั้น มีรวมกัน 12 มัดเล็ก แต่ละมัดเล็ก ใช้เวลาทำอยู่เกือบชั่วโมง
“วันหนึ่ง ถ้าทำเต็มที่แต่เช้ายันเย็นนะ ก็ได้สัก 3 ไจ”
“ยายขายไจละเท่าไหร่จ้ะ”


ฉันถามด้วยอยากรู้เหลือคณา ด้วยสำหรับฉันแล้ว เส้นด้ายเหล่านี้วนเวียนอยู่ในชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าที่บ้านไม่เคยจะมีวันไหนที่ขาดเส้นด้าย พ่อของฉันใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะผูกข้อมือให้ตอนวันขึ้นปีใหม่ วันเกิด รับขวัญตอนกลับบ้าน ยามไม่สบาย ไม่ใช่เฉพาะแต่คนในครอบครัวเท่านั้น แต่พ่อผูกข้อมือให้กับคนอื่นๆ ที่แวะเวียนมาหาด้วย

20080514 005
จากต้นนุ่น กลายเป็นวัตถุดิบ

เส้นด้ายสีขาวเหล่านี้ บางครั้งถูกแปรไปเป็น “สายสิญจน์” ยามเมื่อใครสักคนในหมู่บ้านมีอาการป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุ เขาจะทำสะตวง หรือกระทงต้นกล้วยพร้อมอาหารไปไหว้ผี ในนั้นก็มีเส้นด้ายที่ผ่านการทำพิธีแล้วนำมาผูกให้กับเจ้าชะตา และในบางโอกาส เส้นด้ายก็กลายไปเป็นไส้เทียน นอนเรียงกันเพื่อให้กระดาษที่เต็มไปด้วยคาถาภาษาบาลีพันรอบตัว จากนั้นก็ไปอยู่ในแผ่นขี้ผึ้ง เมื่อพันให้ขึ้นรูปเป็นเทียน ตัดหัวท้ายแล้ว เราก็ได้ “เทียนบูชา” ที่เป็นสิริมงคลในวาระต่างๆ

ฉันเห็นภาพเหล่านี้จนชินตาในตอนเด็กๆ แต่กลับไม่เคยมีโอกาสได้เห็นการทำด้ายแบบสดๆ ร้อนๆ แบบเช่นวันนี้

ยายปลีหัวเราะเบาๆ ก่อนจะบอกว่า
“อันละ 25 บาทนะ แพงไปไหม แต่ขายแพงกว่านี้จะไม่มีคนซื้อ”
“แปลว่าวันหนึ่งยายขายได้ 3 อัน ก็ 75 บาทใช่ไหมจ้ะ”
ฉันคำนวณเล่น
“ฮื่อ แต่นั่นคือวันที่มากที่สุดนะ วันอื่นๆ ยายก็ทำอันเดียวก็มี หรือไม่ทำเลยก็มี”

ยายหัวเราะอีกครั้ง ฉันอมยิ้ม
“ทำไมคะยาย”
“ยายเจ็บเข่า แก่ตัวไปนั่งนานๆ แล้วพาลจะเดินไม่ได้”

20080514 006
จากวัตถุดิบ กลายเป็นเส้นด้าย

ฉันเห็นยายใช้มือนวดๆ บริเวณน่อง มาเข่าและไปยังขา แกอายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่หญิงชรายังมีสีหน้าและแววตาขี้เล่น เมื่อยกกล้องขึ้นถ่ายรูป ยังมีแก่ใจหยิบเส้นด้ายที่ทอแล้วกับที่ยังไม่ได้ทำมาวางเรียงกัน

 

20080514 007
ยายปลีช่วยจัดวางนุ่นกับด้ายไว้ด้วยกัน บนเศษกระดาษโฆษณา เก็บไว้ใช้ห่อเมื่อทำเสร็จ


“ต้องถ่ายคู่กันแบบนี้ คนดูจะได้รู้ไงว่า ทำแล้วหน้าตาเป็นยังไง”
ยายช่วยจัดให้ประกอบคู่กัน แถมยังชวนฉันไปถ่ายที่ต้นนุ่น ติดเสียว่าฝนยังตกอยู่ เราก็เลยไม่ได้ไปชมสวนของยายในวันนี้

“หนูนึกว่าสั่งซื้อจากในเมืองกันหมดแล้วค่ะ ไม่นึกว่ายังมีคนทำอยู่” ฉันรำพึงเบาๆ
“มีเหลือไม่กี่คนหรอก เดี๋ยวนี้ต้นนุ่นบางคนยังไม่เคยเห็นมาก่อนเลย อีกไม่นาน ยายก็ว่าจะเลิกทำแล้วเหมือนกัน”
“อ้าว ทำไมละคะ”

ฉันเผลออุทานออกไป แม้จะเข้าใจว่ายายอาจจะเบื่อหรือเหนื่อยแล้ว เป็นความรู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก ไล่สายตาไปยังเครื่องทอมือที่มีลักษณะวงกลมเหมือนกงล้อ ยายค่อยๆ จับมันอย่างทะนุถนอม

“นั่นสิ ยายจะเลิกไปทำไมนะ ก็ไม่มีอะไรจะทำกันพอดี แก่ขนาดนี้ออกไปทำนาไม่ไหวแล้ว”
ยายให้คำตอบกับฉันและตัวยายเอง ว่าแล้วแกก็ดึงเอาเส้นด้ายที่ทำเอาไว้นั้น แยกออกมา แล้วชวนฉันเดินไปบนห้องโถงของบ้าน

“มานี่ มาผูกข้อมือ”
ผลิตผลเล็กๆ ของยาย แปรสภาพไปอีกแล้ว ยายพันข้อมือเอาไว้สามรอบ พร้อมด้วยการกล่าวให้พร แบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่ให้เด็กๆ ในวันสงกรานต์ ฉันมาช้าไปหน่อย ยายก็ดูไม่ถือสา บอกว่า เวลาไหนก็ได้คือเวลามงคลของเราเสมอ

ผูกข้อมือเสร็จ ยายก็เป่าเพี้ยงลงไปอีกที ฉันพนมมือแล้วยกขึ้นไหว้ขอบคุณ มองดูเส้นด้ายเหล่านั้นที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มีกำลังใจ ราวกับมันจะช่วยคุ้มครองชีวิตของเราได้มากขึ้นไปอีก

20080514 008

“ไว้มาคราวหน้า ยายทำเผื่อด้วยนะจ้ะ จะซื้อไปให้พ่อ”
ยายพยักหน้า แถมยังโม้ว่า ตอนนี้มีต้นนุ่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้ทอ รับรองว่ามีพอใช้แน่นอน ฉันก้มลงกราบลายายช้าๆ ทั้งในฐานะของผู้ใหญ่ที่เคารพ

และในฐานะของผู้สร้างเส้นด้าย ด้ายที่ไม่ได้หนาหรือเหนียวอะไรมากนัก แต่เกี่ยวพันบางสิ่งบางอย่างให้แข็งแรงอยู่ในหมู่บ้าน ได้จนกระทั่งถึงวันนี้.

บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
“พี่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ใครจะฟ้องร้องเอาอะไร ก็ไม่มีให้เขา มันเสียไปหมดแล้ว” รถโดยสารของความอึดอัดกำลังเคลื่อนขบวน โดยมีเราอยู่ในนั้น ฉัน และเขา “ผู้เช่าบ้าน” และ “ผู้ให้เช่า” ตามภาษาในเอกสารสัญญาของเรา กำลังยืนอยู่ตรงหน้ากัน  ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็น และอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน..........จำได้ว่าเมื่อ 1 ปีก่อน ตอนที่ฉันพบเขาครั้งแรก เขาไขกุญแจรั้วบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีป้ายติดประกาศว่า “ให้เช่า” ด้วยท่าทีอ่อนโยน ดวงตาเป็นประกาย พาฉันเดินเยี่ยมชมอย่างต้อนรับขับสู้ ริมฝีปากนั้นไม่เคยขาดรอยยิ้ม เขาเล่าว่า ทาวเฮาส์หลังนี้ซื้อไว้เมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อให้แม่อาศัย…
วาดวลี
----------ภายใต้แสงจันทร์  ที่ริมฝั่งนั้นพี่ยังจำได้ จงกลับคืนมาหารักดังเก่า  ลืมเรื่องร้ายคลายเศร้า เจ้าอย่าทำเมินไฉน พะเยารอเธอ  รอรักด้วยความห่วงใย  จะนานแสนนานเท่าไหร่  ขอให้เธอนั้นกลับมา----------“เพลงแปลกหูดีนะ ร้องเพลงอะไรเหรอ” “เพลงของเมืองที่เรากำลังจะไปนี่ไงล่ะ”คนตอบหักพวงมาลัย ซ้ายที ซ้ายที ขณะรถของเรากำลังไต่อยู่บนเส้นทางคดโค้งโอบล้อมไปด้วยภูเขา ฉันพยายามเอียงตัวเพื่อจะถ่ายรูป ฟ้ายามบ่ายสดใสเหมือนไม่มีเค้าฝน ฟังเพลงนั้นอย่างตั้งใจ “อ๋อ เพลงพะเยารอเธอ ใช่ไหม” ฉันถามอีกครั้งให้แน่ใจ คนร้องพยักหน้าหงึกหงัก ความทรงจำเก่าๆ ของเพลงต้นฉบับล่องลอยมาแต่ไกล…
วาดวลี
ระหว่างทุ่งนาเขียวขจีของฤดูฝน หรือ ถนนดินแดงเต็มไปด้วยผงฝุ่นฤดูแล้ง ยามหนึ่งในอดีตกาล ในความนึกคิดวัยเยาว์จำความได้ว่า ถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ฉันและเพื่อนต่างจ้ำอ้าวออกจากประตูโรงเรียนแทบไม่คิดชีวิต เปล่าหรอก เราไม่ได้เกลียดโรงเรียนขนาดนั้น ไม่ได้เบื่อคุณครู เพียงแต่เราคิดถึงพื้นที่อิสระ ที่เราไม่ต้องใส่ชุดกระโปรงแล้วกลัวเปื้อน มีที่วิ่งเล่น ได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีขนมกิน  มีคนดูแล และมีหนังสืออ่าน และพื้นที่ที่ว่านั้น ก็คือบ้านของเราเองบ้านของฉันห่างจากโรงเรียนไม่ถึงกิโลเมตร แค่ออกจากบ้านมาสัก 10 ก้าว ก็เห็นเสาธงตั้งโด่เด่ติดกับวัดของหมู่บ้าน ดังนั้น…
วาดวลี
“อีกนานเลยสินะ กว่าจะได้เจอกัน”สุ้มเสียงคนพูดเจือปนความอาวรณ์ ขณะโยนถุงใบเล็กใหญ่ใส่หลังรถกระบะสีขาวเก่าๆ ของเพื่อนผู้มีน้ำใจ เจ้าของรถหยอกเอินในฐานะเพื่อนสนิทว่า“ตอนมามีเสื้อผ้าชุดเดียว ขากลับทำไมมีของเยอะนัก”เขากำลังจะกลับบ้านชายหนุ่มรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กๆ ที่รู้จักกันมาได้ปีกว่าแล้ว เขาเล่าว่า สมัยที่มาอยู่เชียงใหม่แรกๆ เพิ่งเรียนจบมัธยมสาม หางานทำในอำเภอไม่ได้ก็ลองเข้าเมืองมาเสี่ยงโชค เวลานั้น กราบลาพ่อแม่ แล้วนั่งรถโดยสารมาด้วยราคา 45 บาท กับระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตรมาอาทิตย์แรก ตระเวนขออาศัยยังหอพักเพื่อนที่พอรู้จัก จะอยู่บ้านใครนานก็เกรงใจคนอื่น ตะลอนหางานทำ ตั้งแต่พนักงานขนของ…