Skip to main content

 

ปัญหาในประเทศไทยมีมากมาย เหมือนมันหมักหมมมานานและกำลังเน่าเฟะส่งกลิ่นเหม็น จนผู้คนทนเอามือปิดจมูกไว้ไม่ไหว ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูป แต่ไม่รู้จะปฏิรูปอะไร และอย่างไร เพราะสับสนในปัญหาที่ทั้งหลากหลายและทับซ้อนผูกโยงกันอีรุงตุงนัง เช่น จะแก้เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างไร ถ้าคนไทยยังงมงาย ประชาชนยังคงบูชาเงินทองเหมือนเป็นตัวแทนของความดีโดยไม่รู้ตัว (จิตใต้สำนึก) ดูได้จากต้นไม้ที่หนีบแบงค์ร้อยแบงค์พันเวลาทอดผ้าป่าทอดกฐิน แบงค์ใหญ่อยู่ข้างบน แบงค์เล็กอยู่ข้างล่าง ใครหนีบแบงค์ใหญ่ก็ทำกิริยาหนีบอย่างเปิดเผยให้เห็นกันทั่ว ใครหนีบแบงค์เล็กก็แอบๆ หนีบ รีบๆ ทำให้เสร็จๆ เดี๋ยวคนจะเห็นกัน คนที่หนีบแบงค์ใหญ่มักเป็นคนมีหน้ามีตา เป็นที่นับถือหรือมีอิทธิพลในกลุ่ม กิริยาการหนีบแบงค์ใหญ่คือสัญลักษณ์การสร้างการยอมรับในสังคมผ่าน “เงิน” นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว และนี่คือความเป็นจริงในสังคม ที่แผ่ซ่านไปทั่ว และหยั่งรากลึกเพราะสามารถแนบสนิทได้กับศาสนาที่แก่นแท้คือการปฏิเสธเงิน และเป็นความอัปลักษณ์ของศาสนาพุทธ เพราะไม่มีศาสนาไหนนำเงินมาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมทางศาสนาอย่างโจ่งครึ่มเหมือนศาสนาพุทธแห่งประเทศไทย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าศาสนาพุทธในไทยจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ

กลับเข้ามาสู่ประเด็นของเรื่อง แค่เรื่องคอรัปชั่นก็แก้ยากแล้ว เพราะคนไทยโกงด้วยจิตใต้สำนึก โกงในทุกระดับทุกอณูของสังคม แก้ปัญหาคอรัปชั่นเรื่องเงินแต่ไม่แก้ปัญหาคอรัปชั่นเรื่องที่ไม่ใช่เงิน (ระบบฝาก เส้นสาย ลัดคิว ใช้ช่องโหว่ของกฎระเบียบเพื่อตนและพวก ใช้อิทธิพลในตำแหน่งในเรื่องที่ไม่ใช่งานในหน้าที่ ฯลฯ) มันจะแก้ได้จริงหรือ ? เพราะถึงเอาระบบอะไรมาปิดล้อมก็มีช่องทางให้ทำได้อยู่ดี เพราะจิตใต้สำนึกมันพาไป เป้าหมายการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การกำจัดคอร์รัปชั่นให้หมดไป เพราะมันไม่มีวันหมดไป ในประเทศที่มีธรรมาภิบาลสูงก็ยังมีการฟ้องร้องเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นกับข้าราชการระดับสูงจนถึงผู้นำประเทศอยู่ไม่ขาดสาย ประเด็นนี้ควรพูดเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนไทยมีนิสัยแอ๊บ เช่น ห้ามมีหวยบนดินหรือคาสิโนถูกกฎหมายเพราะเท่ากับยอมรับว่าสังคมไทยมีการพนัน ห้ามบริษัทเหล้าเข้าตลาดหุ้นเพราะเท่ากับยอมรับว่าคนไทยชอบกินเหล้าจนเหล้าขายดิบขายดี ห้ามพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ในพื้นที่สาธารณะเพราะเท่ากับยอมรับว่าคนไทยมีตัณหาทางกามารมณ์ทั้งๆ ที่เด็กไทยท้องในวัยเรียนและทำแท้งมากที่สุดในโลกและประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมเซ็กซ์ของโลก และสุดท้าย ห้ามพูดถึงเรื่องบางเรื่องเพราะเรื่องนั้นดีที่สุดแต่คนยังสงสัยว่าดีจริงหรือเปล่า

การไม่ยอมรับความจริงและแก้ปัญหาตามความเป็นจริง (non-pragmatism) เป็นวัฒนธรรมทางความคิดของคนไทยที่ตรงข้ามกับประเทศตะวันตกและรุนแรงกว่าชาติตะวันออกอื่นๆ และกำลังใกล้จะระเบิดขึ้นทุกวัน เพราะเรากำลังสร้างสังคมที่หลอกตัวเอง หรือหลอกตัวเองว่าเป็น “คนดี” ทั้งๆ ที่ในโลกความเป็นจริงแล้วเลวเหมือนคนอื่นๆ ไม่มีผิด

เป้าหมายจึงไม่ใช่กำจัดคอร์รัปชั่นให้หมดไปแต่เป็นการ ทำคอร์รัปชั่นให้ถูกกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของสังคม และการแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตยจะบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ข้อเสนอนี้อาจฟังดูบ้าบิ่นและสวนทางกับข้อเสนอเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นกระแสหลักทั่วไป ก่อนขยายความ หากใครคิดว่าเป็นข้อเสนอที่ผิดเพี้ยน ก็ขอให้รู้ว่าคุณก็กำลังปฏิเสธ pragmatism และอยู่ในวังวนของการหลอกตัวเองอยู่ต่อไป

“ทำคอร์รัปชั่นให้ถูกกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของสังคม” แบ่งเป็น 2 ระดับ คือระดับนโยบาย กับระดับผู้ปฏิบัติ ระดับนโยบายหมายถึงการล็อบบี้จากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ต่อผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงจนถึงผู้นำประเทศ เช่น แทนที่รัฐบาลจะเสนอนโยบาย subsidy ผลผลิตทางการเกษตร แต่กลุ่มผลประโยชน์ชาวนาและเกษตรกรต้องมาล็อบบี้รัฐบาลให้ออกนโยบาย subsidy ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยการนำเสนออย่างเป็นประจักษ์ว่ากลุ่มตนอยู่ในโครงสร้างที่เสียเปรียบอย่างไร นั่นคือต้องมีสหภาพเกษตรกรที่แข็งแกร่ง กลุ่มกรรมกรต้องล็อบบี้ให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงให้ทันอัตราเงินเฟ้อ นั่นคือต้องมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันให้ลงตัวก่อนกำหนดเป็นนโยบาย การอ้างว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายก็จะลดลง เพราะนโยบายมีที่มาที่ไป และ “เป็นที่ยอมรับ” เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้นำเสนอความต้องการและหักล้างกันพอสมควร ต่อจากนี้ไป การเมืองภาคประชาสังคมจึงต้องแข็งแกร่งและล็อบบี้ให้เรื่องบางเรื่องออกมาเป็นนโยบายให้ได้

นโยบายต่อๆ ไปคือนำความชั่วร้ายต่างๆ ให้ขึ้นมาอยู่บนดินให้หมด เช่น หวยใต้ดิน บ่อนพนัน อุตสาหกรรมเซ็กซ์ โดยการเก็บภาษีให้หนัก ไม่ให้เหลือไปจ่ายข้าราชการที่เก็บส่วย หรือถ้าจับได้ว่ามีข้าราชการเก็บส่วยก็ต้องโดนหนัก เพราะเราแบ่งภาษีมาให้คุณในระบบมากแล้ว นั่นคือทำให้เห็นไปเลยว่ารัฐคอร์รัปชั่นเก็บส่วยเอง เป็นเจ้าพ่อที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับในสังคม หากเรายังคิดแบบ pragmatism อยู่

ในระดับผู้ปฏิบัติ ควรมีการออกกฎหมายการกระทำที่ทุจริตของข้าราชการควบคู่กับการออกกฎหมายการกระทำที่ทุจริตของภาคเอกชน ให้เห็นว่าระบบมีการทุจริตคอร์รัปชันจริง จึงมีกฎหมายที่เตรียมลงโทษ และมีศาลที่คอยไต่ส่วนอย่างจริงจังและรวดเร็ว พร้อมๆ กับการปฏิรูประบบ ด้วยการลดจำนวนข้าราชการ ลดหรือตัดขั้นตอนทางราชการที่ไม่จำเป็น เพื่อนำงบประมาณส่วนนี้มาเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการแก่ข้าราชการให้สูงกว่าเอกชน (นั่นคือจ้างให้สูงให้แพงเข้าไว้ แต่คุณมีผลงานนะ ไม่ใช่ผลงานแบบพิธีกรรมนะ แล้วถ้าจับได้ว่าทุจริต คุณโดนหนักแน่ เพราะเราใช้ภาษีกับคุณมากแล้ว) การคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่คือการโกงภาษีนั่นเอง แต่ระบบใหม่เอาภาษีจำนวนมากมาใช้อย่างตรงไปตรงมาแบบมีเงื่อนไข หากเรายังคิดแบบ pragmatism อยู่ ก็ต้องยอมรับว่าของฟรีและของถูกที่มีคุณภาพไม่มีในโลก ดังนั้น ระบบข้าราชการที่จ้างมาแบบถูกๆ แล้วมีประสิทธิภาพไม่ทุจริตก็ไม่มีในโลกเช่นกัน

ส่วนที่ว่าการแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตยจะบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น หากเรายังคิดแบบ pragmatism อยู่ ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนระดับรากหญ้าตื่นตัวทางการเมืองสูง และรู้ว่าการเมืองกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของตน ประจวบกับปัญหาต่างๆ ที่ประเทศไทยอยากแก้นั้นก็เป็นปัญหาหนักๆ และกระทบกับประชาชนโดยรวม ดังนั้นการกระทำที่เป็นการแก้ปัญหาควรต้องเป็นที่ยอมรับ และอะไรที่น่ายอมรับมากกว่ากัน ระหว่างการกระทำที่มาจากประชาธิปไตยกับการกระทำที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย คำตอบอยู่ที่ว่าคุณเชื่อในประชาธิปไตยและคิดแบบ pragmatism หรือเปล่า

 

pragmatism pragmatism pragmatism ท่องไว้ ๆ เปลี่ยนสังคมไทยด้วย pragmatism แล้วเราจะไม่หลงทาง