Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร



เย็นวาน (26 กันยายน 2555) โชคดีและนึกขอบคุณนักศึกษาที่คะยั้นคะยอจนผมต้องยอมไปเสวนากับพวกเขาเรื่อง "จาก Gangnam Style กลายมาเป็นกำนันสไตล์" เพราะทำให้ได้คิดกับเรื่อง pop culture หรือวัฒนธรรมมวลชน วัฒนธรรมป็อบในอีกมุมหนึ่ง คือเรื่องการเมืองของสิ่งไร้รสนิยมพร้อมๆ กับความเป็นศิลปะของสิ่งขี้เหร่

ผมสารภาพกับนักศึกษาว่าใช้เวลาร่างบันทึกเพื่อมาพพูดในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก่อนพูด เพราะคิดมาเป็นสัปดาห์แล้วและดูวิดีโอคังนัมสไตล์มาเป็นสิบๆ เวอร์ชั่น เท่าไหร่ก็นึกไม่ออกสักทีว่าจะพูดอะไรที่ไม่ซ้ำกันนักกับที่เขาพูดๆ กันมา

หลายคนพูดถึงการล้อเลียน การประชดประชันของ MV เนื้อร้อง รวมทั้งนาย Psy (ไซ) นักร้องและผู้แสดง MV นี้ แต่ประเด็นที่ผมชวนคุยกับนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ได้ใหม่นัก แต่ผมชอบวิธีที่ผมปะติดปะต่อเรื่องราว มีดังนี้

ผมเริ่มจากข้อสรุปว่า เพลงนี้เป็นตัวอย่างของการนำเอาความขี้เหร่ ความไร้รสนิยม รวมทั้งคามบ้านๆ เปิ่นๆ เชยๆ ดาดๆ ที่อาจเรียกรวมความอยู่ในคำว่า kitsch มาเป็นงานศิลปะ พร้อมๆ กับการที่มันเป็นศิลปะของการล้อเลียนชนชั้นสูง ล้อเลียนความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำ

จากนั้นผมลองตีความฉากต่างๆ ของ MV เพลงนี้ (บทวิจารณ์หลายชิ้นก็ทำอย่างนี้) เช่น ฉากแรก แทนที่จะเป็นนายไซนอนอาบแดดที่ชายหาด นายไซกลับกางเตียงผ้าใบนอนบนทรายสนามเด็กเล่น ฉากเดินควงสาวสองคนเดินฝ่าฝุ่นและบรรดาขยะที่ลอยมา ฉากซาวน่าในห้องซาวน่าคับแคบที่มีพวกยากูซ่า ฉากเต้นบนรถทัวร์พวกป้าๆ ฉากลานจอดรถ แต่นายไซใน MV ไม่มีรถขับ ฯลฯ เรียกว่า ทุกฉากของ MV นี้แสดงความไร้รสนิยม ความไม่ใช่ชาวคังนัมของไซ

Chaeyoung Jung นักศึกษาที่ร่วมเสวนาให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า เสื้อผ้าที่ไซใส่เป็นเสื้อผ้านักร้องลูกทุ่งเกาหลี แถมท่าเต้นของไซ ยังออกแนว "ไร้รสนิยม" สำหรับชาวเกาหลี ทั้งประวัติและหน้าตาของไซ ก็ล้วนไม่เป๊ะกับความหรูหรา ความเป็นย่านธุรกิจดนตรีและแฟชั่นชั้นนำของคังนัม

ความไร้รสนิยมเหล่านี้จึงขัดแย้ง ตัดกันกับการโอ้อวดของไซ (ใน MV) ว่า "แบบฉันนี่แหละ คนมีรสนิยมแบบคังนัม" แต่เป็นการตัดกัน ขัดแย้งแบบเสียดเย้ยรสนิยมคนรวย คนชั้นนำ ดังนั้นจึงไม่ผิดเลยที่นักวิจารณ์หลายคนกล่าวขนาดว่า MV นี้ทำขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ความฟุ้งเฟ้อของเกาหลีปัจจุบัน

ผมเดินหน้าต่อไปด้วยการเปรียบเทียบกับเพลงไทยสองเพลง คือเพลง "ดาวมหาลัย" ของสาวมาดฯ ซึ่งอยู่ในข่ายของการเสียดสีความฟุ้งเฟ้อลืมตนของสาวบ้านนอก กับอีกเพลงคือ "คิดฮอด" ของบอดี้ สแลม ที่ผมมองว่าเป็นการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ มากกว่าจะเอาความบ้านๆ พื้นๆ มาวิพากษ์อะไร

ผมโยงไปไกลถึงศิลปะที่เสียดเย้ยด้วยความไร้รสนิยม แบบงาน "นำ้พุ" (Fountain) ของดูชองป์ (Marcel Duchamp) ที่ทำขึ้นเมื่อค.ศ. 1917 (พ.ศ. ๒๔๖๐) ด้วยการเอาโถฉี่ผู้ชายมาหงายขึ้น แล้วเซ็นชื่อ R. Mutt ส่งไปแสดงเป็นงานศิลปะ

ต้องอธิบายยืดยาวว่าดูชองป์ต้องการสื่ออะไรและงานเขาบุกเบิกและมีอิทธิพลมาจนกระทั่งศตวรรษปัจจุบันอย่างไร แต่โดยสรุปคือ ดูชองป์ท้าทายความงามด้วยความไร้รสนิยม ด้วยความบ้านๆ ด้วยความดาดดื่น ด้วย kitsch เขาเสนอให้งานศิลปะเป็นงานทางความคิดมากกว่าทักษะฝีมือ

ประเด็นที่ผมเอาดูชองป์มาเกี่ยวกับ MV Gangnam Style คือ มันคือการนำเอาสิ่งไร้รสนิยมมาเป็นงานศิลปะ เพื่อท้าทายวัฒนธรรมสูงส่ง

ผมยังวิจารณ์ผลงานของศิลปินไทยอีกบางคนที่หากินกับ asethetics of Thai kitsch ซึ่งผมเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการหากินกับความแปลกของเพลงหมอลำ แบบที่บอดี้ สแลมทำ

แถมผมยังโยงไปถึงเรื่องที่ไม่น่าจะโยงไปถึงจนได้ แต่ไม่อยากกล่าวในที่นี้ (ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะเกรงคนจะหาว่าผมกลัวใคร จนต้องหาทางพูดถึง "เรื่องนั้น" จนได้)

ที่น่าสนใจคือ คังนัมสไตล์เวอร์ชั่นไทยอย่างน้อย 2 เวอร์ชั่นนั้น เดินตามวิถีทางศิลปะของ Gangnam Style อย่างแนบสนิท คือฉบับที่เรียกว่า "กำนันสไตล์" และฉบับ "กำนันสิตาย" คือเอาความไร้รสนิยมมาล้อเลียนวัฒนธรรมสูงส่ง พร้อมๆ กับล้อเลียนตนเอง คล้ายๆ กับ "ดาวมหาลัย"

จากนั้นผมลองเปรียบเทียบคังนัมสไตล์หลายๆ เวอร์ชั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเวอร์ชั่นที่ล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ MV เหล่านี้ล้อเลียนสังคมตนเองผ่านชื่อ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของสังคมที่ผลิต MV ขึ้นมา (ที่โดดเด่นและมีหลากหลายมากคือของมาเลเซีย ที่เล่นเรื่องเพศ จะอีกยาวเกินไปหากจะให้เขียนวิเคราะห์)

ท้ายสุด ผมพบว่าเพลงคังนัมสไตล์เป็น "วิถีเอเชี่ยน" แบบหนึ่ง ในการวิพากษ์ชนชั้นนำ ด้วยการล้อเลียนตนเอง ถ้ามองในแง่หนึ่ง นี่อาจจะเป็นการดูถูกตนเอง ในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจจะเป็นการเอาความพื้นๆ ดาดๆ มาเสพดุจงานศิลปะ 

แต่ผมอยากเลือกที่จะมองว่า วิถีคังนัมสไตล์เป็นวิถีของการวิพากษ์วัฒนธรรมสูงส่ง เป็นการนำเอาวัฒนธรรมที่ขัดกันสองแบบ มาวางไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม และพร้อมกันนั้นก็เยาะเย้ยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจไปในตัว

การเมืองของความไร้รสนิยมอาจไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวัฒนธรรมและสังคมอันยาวนาน ที่สามารถบ่อนเซาะอำนาจครอบงำทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน

นักศึกษาช่วยกันรวบรวม MV จำนวนมากไว้ใน http://www.facebook.com/events/359615054117336/








 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก