Skip to main content

ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง

 

ต่อ ๆ มา ผมมาเมืองมุนอีกหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่ใช้เมืองมุนเป็นที่พักทางผ่าน ไม่ได้ใส่ใจมากนัก เพราะเห็นว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว และเห็นว่าคนที่นี่มีอิทธิพลของคนเวียดนามมาก จะสื่อสารกับคนที่นี่ด้วยภาษาไตสำเนียงที่ผมพูดเป็นก็ไม่ได้ คนที่นี่พูดต่างออกไป
แต่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ผมค่อยๆ ผูกพันกับเมืองมุน สิ่งหนึ่งคือการมีเพื่อนเป็นคนเมืองมุน เพื่อนคนนี้ชื่อ เกวี๊ยด (Quyết) ผมกับเกวี๊ยดรู้จักกันเกินกว่า 10 ปีแล้ว จากการแนะนำของเพื่อนญี่ปุ่นอีกคนที่เคยมาทำวิจัยที่นี่ ตอนนั้นเขาทำงานเป็นไกด์อยู่เมืองซาปา เมืองท่องเที่ยวทางเหนือของเวียดนาม เมื่อไหร่ก็ตามที่เขากลับบ้าน เขาจะต้องนั่งรถไฟค้างคืนลงมาที่ฮานอย แล้วรอเวลากว่ารถบัสจะออกจากฮานอยก็ต้องสาย ๆ เกวี๊ยดจึงหาที่พักผ่อนก่อนเดินทางต่อ เขาก็เลยมาขอพักด้วยที่ฟอพักผมในช่วงเช้า มาอาบน้ำล้างหน้า แล้วเดินทางต่อ
คบกันไปกันมาสักระยะ ผมก็ขอเดินทางมากับเขาด้วย อยากรู้ว่าถ้าเดินทางแบบเขาแล้วจะเป็นอย่างไร เราสองคนไปท่ารถบัสแต่เช้า นั่งรถบัสจากฮานอย แล้วต้องไปต่อรถบัสอีกคัน ที่มีคนแน่น ต้องยืนไปตลอดทาง รถแน่นคนไม่พอ ยังมีหมูหมากาไก่ติดรถมาด้วยเต็มไปหมด แถมพอรถวิ่งมาได้กลางทาง ก็เกิดหม้อน้ำระเบิดต่อหน้าต่อตาขณะยืนอยู่หลังคนขับ ก็ต้องหยุดรอกันเป็นชั่วโมง กว่าจะถึงก็เย็นค่ำเลย แต่ก็หายเหนื่อย เพราะเย็นนั้นที่บ้านเพื่อนจัดงาน "กินข้าวเหมอ" คือกินข้าวใหม่นั่นแหละ ก็ดื่มกินกันอย่างไม่รู้จะเรียกว่าคลายเหนื่อยหรือยิ่งเพิ่มความเหน็ดเหนื่อย
ที่ทำให้ผูกพันกับเมืองมุนมากขึ้นอีกก็คือการที่ได้มาวิจัยเรื่องโครงการสอนภาษาและอักษรไตที่นี่ ทำให้ได้รู้จักเจ้าหน้าที่รัฐที่นี่หลายคน ระหว่างการวิจัยต้องดื่มกินกับนายอำเภอและเจ้าหน้าที่หนักมาก ทั้งเมาทั้งต้องจดจำสิ่งต่างๆ ดื่มไปบันทึกไป คนที่นี่แนะนำให้ได้รู้จักกับเหล้าชั้นดี ชื่อ เหล้า "มายหะ" มายหะคืออีกชื่อหนึ่งของเมืองมุน เมื่อไปมาติดต่อกันบ่อยเข้า เจ้าหน้าที่หลายคนจำหน้าผมได้ บางครั้งระหว่างเดินทางผ่านแถวเมืองมุนแล้วแวะกินข้าว เจ้าหน้าที่เห็นผมกินข้าวอยู่ก็จ่ายมื้ออาหารให้โดยไม่บอกกล่าว
ผมมาเมืองมุนอีกหลายครั้ง แต่ที่ประทับใจมากอีกครั้งหนึ่งคือเมื่อพานักศึกษามาทัศนศึกษาที่นี่ 2 ครั้ง ครั้งแรก 70 คน อีกครั้ง 30 คน ในการมาครั้งแรก ผมค่อนข้างกังวลว่าจะเอาลูกคนอื่นเขามาตกบันไดเรือน มาท้องไส้เสีย มามีอันตรายอะไรหรือเปล่า แต่ชาวบ้านดูแลต้อนรับเป็นอย่างดี ขณะนั้น เมืองมุนเริ่มเปลี่ยนไปมาก หมู่บ้านท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น แต่บ้านเพื่อนผมก็ยังคงเป็นชายขอบของหมู่บ้านท่องเที่ยว
ขณะนั้นเกวี๊ยดมีลูกอายุสองขวบแล้ว เกวี๊ยดกังวลว่าลูกสาวป่วยไข้บ่อย ลุงเขาบอกให้หาคนมารับเป็นพ่อเลี้ยง ก็เลยมาขอให้ผมเป็นพ่อเลี้ยงให้ เขาก็จัดพิธีไหว้ผีเรือน (ผีบรรพบุรุษนั่นแหละ) บอกกล่าวให้ผีเรือนรับรู้ว่าจะให้ผมช่วยเป็นพ่อเลี้ยงให้ แล้วผมก็เอาด้ายคล้องคอให้ ลูกเกวี๊ยดชื่อ วี เป็นภาษาไตแปลว่าพัด จากนั้นมา ผมก็ได้ข่าวว่าวีแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ เมื่อผ่านเมืองมุนมาอีกครั้งหลายปีก่อน ผมหาสร้อบเงินมาให้ใส่แทนด้าย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เจอวีอีกเลย
จนวันนี้วีอายุ 7 ขวบ เรียนชั้นประถม 1 วีแข็งแรงร่างเริงมาก แถมวียังมีน้องสาวอีกคน ชื่อ ลิงญ์ หน้าตาเหมือนพี่สาวและเหมือนแม่ชนิดถอดพิมพ์มาเลย ลิงญ์แข็งแรง เลี้ยงง่ายกว่าวี
แต่เมืองมุนทุกวันนี้เปลี่ยนไปอีกขั้นหนึ่ง เกวี๊ยดกำลังก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองท้องถิ่น ส่วน เวิน เมียเขาก็ทำธุรกิจท่องเที่ยวเป็นล่ำเป็นสัน ร่วมมือกับพี่ชายเกวี๊ยดชื่อ กวน และเมียพี่ชายเกวี๊ยด ชื่อ ถูย ขยายกิจการโฮมสเตย์ ซื้อบ้านอีกหลัง ต่อเติมบ้านเดิม ตอนนี้ละแวกบ้านเกวี๊ยดที่เคยเป็นเกษตรกรเป็นหลัก ก็แปลงบ้านรับนักท่องเที่ยวกันหมด เมียเกวี๊ยดไปซื้อรถสนามกอล์ฟมาขับบริการนักท่องเที่ยว บ้านอื่นๆ ก็ทำตามบ้าง เมืองมุนแทบจะกลายเป็น "สวนแสดงชีวิตคนแปลก ๆ" เข้าไปทุกที ที่นาก็กลายเป็นเรือนรับรอง ร้านอาหาร รับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
อย่างไรเสียโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลง อย่างไรเสียชีวิตคนก็ต้องพัฒนาขึ้น ผมไม่อยากคิดอะไรมาก ได้แต่ดื่มกินสังสรรค์กับเพื่อน ดีใจที่ได้เจอกันอีก ดีใจที่ได้เห็นเพื่อนและครอบครัวมีความสุข มีความก้าวหน้าขึ้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม