Skip to main content
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด

แต่ที่ดีกว่านั้นคือ วีซ่าสามารถเข้าออกญี่ปุ่นได้ไม่จำกัด ยิ่งกว่านั้นคือ นอกจากค่าเดินทางไปกลับไทย-เกียวโต และค่ากินอยู่ที่นั่นแล้ว ยังมีทุนอีกต่างหากสำหรับซื้อข้าวของหรือจะใช้เดินทางเพื่อการวิจัยก็ได้ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้ค่าใช้จ่ายนี้ ต้องใช้จ่ายจึงได้ทุนอีกส่วน
แล้วผมจะนั่งอยู่ที่นั่นตลอดทำไมล่ะครับ ทุนเสริมนี้มีไม่มาก แค่ซื้อพอตั๋วเครื่องบินจากโอซากามาฮานอยไป-กลับก็แทบจะหมดแล้ว ผมก็เลยถือโอกาสกลับมาเวียดนามแล้วอยู่ยาวๆ สัก 15 วัน ก็คือมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม มาเดินทางไป "multi-หมู่บ้านของฉัน" มาไล่ตามความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่ไม่ได้ไปมา 3-5 ปีแล้ว บางที่ไม่ได้กลับไปมาเกือบ 10 ปีแล้ว บางที่ที่เคยไปไม่มีอยู่แล้ว เพราะจมน้ำอยู่ใต้เขื่อนไปหมดแล้ว
แถมการมาครั้งนี้ ผมยังได้เพื่อนร่วมทางที่อาสามาเดินทางด้วย อย่างเมื่อวานวันแรก เพื่อนร่วมเดินทางกิตติมศักดิ์ของผมแต่ละคนน่ารักมากครับ ผมพาไป 3 พิพิธภัณฑ์ กับ 2-3 landmarks สำคัญของฮานอย เหล่าเพื่อนร่วมทางก็ยังสนองความบ้าฮานอยของผมได้ แถมแต่ละคนยังมีคำถามที่ผมยังไม่เคยคิดมาก่อน โดยเฉพาะจากนักประวัติศาสตร์ไทยช่างคิดและปากกล้าคนหนึ่ง แกตั้งคำถามที่เป็นการบ้านผมได้อีกมาก เช่นว่า
ระหว่างเดินดูพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม ผมบอกว่า "การเอาเครื่องมือหินพวกนี้มามัดกับไม้นี่ อาจารย์โบราณคดีท่านหนึ่งเคยวิจารณ์ว่า รู้ได้ยังไงว่ามัดแบบนี้หรือเขาใช้อย่างไร เขาใช้หรือเปล่ายังไม่มีทางรู้เลย" แต่เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "แต่การทำแบบนี้ก็ช่วยให้จินตนาการได้ว่า การใช้งานเครื่องมือหินยุคหินเก่ามันน่าจะส่งต่อมาให้ยุคหินใหม่ที่ทำการเกษตรได้อย่างไร”
พอดูห้องโบราณคดีเสร็จ เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "พิพิธภัณฑ์ชาติของไทยมันไม่เห็นค่อยให้ความสำคัญกับโบราณคดีเลย" ผมแลกเปลี่ยนว่า "เพราะโบราณคดีคือการปกป้องความเป็นเวียดนาม ปกป้องการมีอยู่ของเวียดนามก่อนการเข้ามาของจีน แล้วการดีเฟนเวียดนามก็คือการดีเฟนการมีอยู่ของอะไรที่มีก่อน มีร่วมกันของคน Southeast Asia" เพื่อนร่วมทางผมพยักหน้า
พอถึงห้องสมัยประวัติศาสตร์ เพื่อนร่วมทางผมสะดุดใจกับไม้แกะสลักท่ารำแขนอ่อนสองรูปข้างบนนั่น เป็นงานในศตวรรษที่ 17-18 แกถามว่า "คนเวียดมีท่ารำแขนอ่อนแบบนี้ด้วยเหรอ มันดูเขมรมาก" ผมบอกว่า “ไม่รู้เลย เพราะวัฒนธรรมเวียดแบบราชสำนักสูญหายไปมาก แต่ก็ไม่เคยสังเกตไม้แกะสองชิ้นนี้มาก่อนว่าทำไมมันแขนอ่อนราวกับพวกฮินดูอย่างไทย เขมร แบบนี้”
อีกคำถามคือ "คนเวียดเรียกตัวเองว่าคน Kinh ตั้งแต่เมื่อไหร่" ข้อนี้ก็ไม่เคยคิดมาก่อน รู้แต่ว่า Kinh แปลว่าคนเมือง เมืองฮานอยเรียกอีกอย่างว่า Đông Kinh แปลว่าคนเมืองทางตะวันออก หมายความอีกอย่างว่า ไอ้พวกคนภูเขาทางตะวันตก รวมทั้งคนพูดภาษาไทน่ะ พวกคนป่าคนดอย
เมื่อเดินมาถึงยุคที่บันทึกเริ่มมีมากขึ้น เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันถามอีกว่า "เวียดนามมียุคจารึกแบบสมัยยุคจารึกของเขมรกับไทยไหม" ผมตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าจารึกแบบเวียดคือเขียนภาษาจีน แต่อักษรเวียดนามที่ยืมอักษรจีนมาเขียนออกเสียงแบบเวียดยุคที่เฟื่องฟูก็ช่วงต้นราชวงศ์เหงวียน คือต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง ก่อนนั้นคนรู้อักษรคือคนเขียนภาษาจีนได้
พอมาที่พิพิธภัณฑ์ผู้หญิง เพื่อนร่วมทางทุกคนตื่นเต้นมาก ยิ่งวันนี้เป็นวันสตรีสากล เพื่อนร่วมทางที่เป็นนักเขียนวิพากษ์สังคมบอกว่า ทีแรกว่าจะเขียนเรื่องเดียนเบียนฟู แต่ตอนนี้อยากเขียนเรื่องผู้หญิงแล้ว ผมเลยล้อแกว่า “เขียนว่า ผู้หญิงมีไว้ทำไม? สิครับ"
พอมาถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา มีคำถามมากมายจากทุกคน แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ "ก่อนจารึกพ่อขุนราม หรือไม่ก็จารึกสมัยสุโขทัย มันต้องมีภาษาเขียนภาษาไทยอยู่แล้วแน่นอน" ผมบอกเห็นด้วยครับ ต้องมีแน่นอน มันไม่มีการประดิษฐ์อะไรมาแบบนั้นได้ง่ายๆ หรอก แต่เพื่อนร่วมทางคนนี้ถามอีกว่า “คุณว่ามันเป็นไปได้ไหมที่จะมาจากอักษรไทในเวียดนามนี่แหละ"
ถามแบบนี้จากคนไม่คลั่งชาติ ไม่คลั่งไท-ไทยนี่ ทำเอาผมคิดหลายตลบเลย ผมบอกว่า "ผมไม่เคยคิดมาก่อน แต่คิดว่าเป็นไปได้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง อักษรไทในเวียดนามมีหลากหลายมาก script per capita สูงมาก ที่ว่าหลากหลายคือ ความรู้อ่านออกเขียนได้เกี่ยวกับอักษรของเมืองที่ผมอ่านได้นี่ ใช้ไม่ได้เลยกับอักษรไทในหลายๆ เมือง ทีนี้ถ้าคิดแบบนักภาษาศาสตร์ว่า ที่ไหนมีภาษาถิ่นเยอะ ที่นั่นเป็นต้นกำเนิดของภาษาตระกูลนั้น ถ้างั้น ที่ไหนที่มีอักษรหลากหลาย แปลว่าน่าจะเป็นที่ที่อักษรกำเนิดขึ้นมาได้ไหม
"สอง อักษรน่าจะมากับความเชื่อ ถ้าอักษรไทในเวียดนามมาจากลาว จากโยนก จากสยาม ทำไมศาสนาพุทธไม่มาด้วย ข้อนี้ถ้าคิดกลับกัน เป็นไปได้ไหมว่าอักษรไปจากที่เวียดนาม" สองข้อนี่เป็นข้อสันนิษฐานประหลาดที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน"
อย่างน้อย เพื่อนร่วมทางทุกคนยังไม่บ่นว่าผมยัดเยียดเขากันเกินไป ชวนกินแต่ของที่ผมอยากกินเองมากไป ในวันสตรีสากล เดินในฮานอยกันมาทั้งวัน เห็นผู้หญิงได้รับช่อดอกไม้ แต่งตัวสวยๆ กับแฟนเดินเที่ยวกินของแพงๆ กัน ดูชื่นมื่นเพราะคนเวียดนามถือว่าวันนี้ (และวันสตรีเวียดนามอีกวัน) เป็นวันที่ต้องแสดงการยกย่องผู้หญิง ผู้หญิงหยุดทำงานบ้าน (แต่มองได้อีกแบบว่า นอกจากสองที่เหลือเป็นวันผู้ชายหมดล่ะสิ)
แต่ที่น่าภูมิใจแทนคนเวียดที่สุดคือ เพื่อนร่วมทางนักดื่มบอกว่า "ผมว่าเบียร์สดฮานอยนี่เป็นเบียร์ของ Southeast Asia ที่ดีที่สุดใน Southeast Asia”
การเดินทางกับเพื่อนร่วมทางที่ไม่เคยไปไหนด้วยมาก่อนและเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเส้นทางที่ผมคุ้นเคยจึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะจะช่วยให้ผมได้คำถามใหม่ๆ ได้มุมมองแปลกๆ ที่คิดไม่ถึงมาก่อน ระยะนี้ก็คงมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเวียดนามที่ช่วยให้ผมคิดอะไรใหม่ๆ มาปันกันครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม