Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


ราชบัณฑิตปรับระบบการสะกดทับศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงกับเสียงพูดจริงมากขึ้น คำถามจากราษฎรอย่างผมคือ

(หนึ่ง) ราชบัณฑิตใช้สำเนียงภาษาอังกฤษเสียงไหน บริ้ทิ่ช อเม้ริคั่น อ่อสเตร้เลี่ยน หรือสำเนียงถิ่นต่างๆ อย่าง เซ้าท์เอเชี่ยน (ผมไม่อยากใช้คำว่าอินเดีย เพราะเหตุผลยืดยาว ยังไม่อยากอธิบายในที่นี้) จามายกั้น หรือ ซิงค์กริช ที่สำคัญคือ หากจะระบุสำเนียงมาตรฐานของภาษาอังกฤษกันจริงๆ ราชบัณฑิตไทยจะเอา ออธ้อริที้ อะไรมาประกาศว่าสำเนียงไหนเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในเมื่อในโลกนี้ไม่มีใครสามารถกำหนดแบบนั้นได้ 

(ถ้าทำก็คงเหมือนการประกาศอะไรโดยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ส่งผลอะไร ประเด็นนี้ต้องแนะนำให้ราชบัณฑิตไปอ่านทฤษฎี สปี่ช แอคส์ ของ จอน อ้อซทิน)

(สอง) เท่าที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผมจะอำนวย ภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจวรรณยุกต์เท่ากับน้ำหนักเสียง เช่น จะอย่างไรเสีย ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนคำว่า guitar ได้ เพราะคำนี้ (อย่างน้อยแบบอเม้ริคั่นที่ผมเคยชิน) จะเน้นเสียงพยางค์หลัง ทำให้เสียงออกเป็น คีทาร์ ที่ต้องออกเสียงพยางค์แรกเบาๆ แต่ระบบการเขียนภาษาไทยไม่มี หรือคำว่า เซ็นติเมตร ที่ราชบัณฑิตนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้สื่อถึงการเน้นเสียง ก็ต้องเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ เสียงแรกสูงเพราะการเน้นหนัก ส่วนพยางค์หลังก็ควรใช้วรรณยุกต์ต่ำ เพราะต้องลดเสียงลง

ที่จริงระบบการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แสดงการเน้นพยางค์ ต้องใช้ความเคยชินในภาษาพูดเท่านั้นจึงจะรู้ ผมเองตอนไปอยู่ในโลกภาษาอังกฤษจึงมีปัญหามาก จะพูดอะไรคนก็ไม่เข้าใจ เพราะเน้นพยางค์เพี้ยนตลอด

(สาม) มีอักษรใดบ้าง (แม้แต่อักษรของนักภาษาศาสตร์) ที่จะสามารถถ่ายถอดเสียงได้อย่างแนบสนิท การสร้างอักษรแบบอักษรแทนเสียงขึ้นมาล้วนบิดเบือนการออกเสียงของคนทั้งสิ้น 

(ไม่ได้หมายความว่าอักษรมีเฉพาะแบบเขียนแทนเสียง เรารู้กันดีว่ายังมีอักษรแทนภาพอีก และไม่ได้หมายความว่าภาษาเขียนเป็นสิ่งเลวร้าย ไว้ใจไม่ได้ แต่เพราะธรรมชาติของการเขียนและภาษามันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อมีภาษาแล้ว จะอย่างไรเสียมันก็บิดเบือนสิ่งที่มันอยากสื่อถึง แต่หากไม่มีภาษา ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เรื่องนี้ต้องเถียงกันยาว ขอยกไว้ก่อน) 

เช่นว่า

- มีเสียงมากมายที่มีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทย อย่าง z หรือ r 
- เสียงบางเสียง ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงด้วย ต แต่ไทยนิยมเขียนและออกเสียงด้วย ต ราชบัณฑิตก็ยังออกเสียงแบบไทยๆ ด้วย อย่างคำว่า เซ็นติเมตร แทนที่จะเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ

อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย อักษรไทยก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภาษาไทดำในเวียดนามหรือที่พวกโซ่งพูดในเพชรบุรี สุพรรณบุรี ได้อยู่แล้ว 

อย่างเสียง ngã (ออกเสียงประมาณ หงะอ๊ะ) ในภาษาเวียดนาม ก็ไม่มีในภาษาไทยแล้ว แล้วจะเขียนได้อย่างไร แค่เสียงแทนคำว่า มี หมา กา ขา ในภาษาไทยดำในเวียดนาม ก็ไม่สามารถเขียนได้ในภาษาไทยแล้ว เพราะเป็นวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดในภาษาขแมร์ จะเขียนให้ออกเสียงในภาษาไทยอย่างไรก็ไม่ได้ 

ความหลงเชื่อที่ว่า อักษรไทยสามารถใช้เขียนแทนภาษาใดๆ ก็ได้นั้น เป็นความเชื่อที่คลั่งชาติอย่างยิ่ง ความเชื่อแบบนี้จึงควรจะเลิกกันได้แล้ว เลิกสอนเด็กอย่างนี้ได้แล้ว

(สี่) เอาเข้าจริง ราชบัณฑิตก็ยังใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ ของการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเขียนให้ถูกต้องตรงกับการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังยึดมั่นกับการเขียนแบบเดิมอยู่เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาแล้วว่า ราชบัณฑิตยังคงใช้อักษร ต แทนเสียง t ทั้งๆ ที่อักษร ท จะออกเสียงใกล้เคียงกว่า เป็นต้น

ถ้ารู้ทั้งรู้อย่างนั้นแล้วราชบัณฑิตจะทำไปทำไมกัน หรือราชบัณฑิตจะไม่รู้? ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราอาจอ่านข้อกำหนดล่าสุดของราชบัณฑิตออกได้เป็นสองนัยว่า 

ถ้ามองในแง่ดี ราชบัณฑิตคงต้องการอนุวัตรตามโลก ที่การใช้ภาษาอังกฤษมีความแพร่หลายมากขึ้น การออกเสียงและการเขียนให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษาจึงมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ราชบัณฑิตก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายถอดเสียงในภาษาต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว 

อันที่จริง ราชบัณฑิตเคยส่งเอกสารมาให้ผมแสดงความเห็นเรื่องการออกเสียงภาษาเวียดนาม ผมวิจารณ์ข้อเสนอของราชบัณฑิตไปมากมาย แต่ความเห็นผมก็คงเป็นเพียงลมปาก คงจะไม่ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิต เพราะประกาศการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนามที่ออกมาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอของผม (เอาไว้มีเวลาค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีครับ) ผมจึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ราชบัณฑิตอาจจะคิดว่า ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาเวียดนามดีไปกว่านักภาษาศาสตร์ที่ราชบัณฑิตไว้ใจมากกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตีความว่า ราชบัณฑิตไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับการถ่ายถอดภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างเรื่องการสร้างมาตรฐานการเขียนเพื่อการสื่ิอสารกันในคนหมู่มาก ราชบัณฑิตน่าจะเพียงต้องการสร้างระเบียบให้เฉพาะราชบัณฑิตเท่านั้นที่ดูดี รู้ภาษา สามารถถ่ายเสียงภาษาต่างประเทศได้ถูกต้อง ใกล้เคียงภาษานั้นๆ ที่สุด เป็นการสร้างการแบ่งแยก สร้างระยะห่างของการเข้าถึงการเขียน อักษร และภาษาต่างประเทศ สร้างราคาและอำนาจนำในการควบคุมระบบการเขียนภาษาต่างประเทศให้ราชบัณฑิตเองอยู่เหนือผู้อื่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อักษร และการเขียน ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำหนดอุปนิสัยการใช้ภาษา ราชบัณฑิตเป็นองค์กรที่ยึดกุมอำนาจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างชาติสยามและไทยขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)


 

ที่มาภาพ: Yukti Mukdawijitra

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน