Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


ราชบัณฑิตปรับระบบการสะกดทับศัพท์ภาษาอังกฤษให้ตรงกับเสียงพูดจริงมากขึ้น คำถามจากราษฎรอย่างผมคือ

(หนึ่ง) ราชบัณฑิตใช้สำเนียงภาษาอังกฤษเสียงไหน บริ้ทิ่ช อเม้ริคั่น อ่อสเตร้เลี่ยน หรือสำเนียงถิ่นต่างๆ อย่าง เซ้าท์เอเชี่ยน (ผมไม่อยากใช้คำว่าอินเดีย เพราะเหตุผลยืดยาว ยังไม่อยากอธิบายในที่นี้) จามายกั้น หรือ ซิงค์กริช ที่สำคัญคือ หากจะระบุสำเนียงมาตรฐานของภาษาอังกฤษกันจริงๆ ราชบัณฑิตไทยจะเอา ออธ้อริที้ อะไรมาประกาศว่าสำเนียงไหนเป็นภาษาอังกฤษมาตรฐาน ในเมื่อในโลกนี้ไม่มีใครสามารถกำหนดแบบนั้นได้ 

(ถ้าทำก็คงเหมือนการประกาศอะไรโดยไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำได้ ไม่ส่งผลอะไร ประเด็นนี้ต้องแนะนำให้ราชบัณฑิตไปอ่านทฤษฎี สปี่ช แอคส์ ของ จอน อ้อซทิน)

(สอง) เท่าที่ความสามารถทางภาษาอังกฤษของผมจะอำนวย ภาษาอังกฤษไม่ได้สนใจวรรณยุกต์เท่ากับน้ำหนักเสียง เช่น จะอย่างไรเสีย ภาษาไทยก็ไม่สามารถเขียนคำว่า guitar ได้ เพราะคำนี้ (อย่างน้อยแบบอเม้ริคั่นที่ผมเคยชิน) จะเน้นเสียงพยางค์หลัง ทำให้เสียงออกเป็น คีทาร์ ที่ต้องออกเสียงพยางค์แรกเบาๆ แต่ระบบการเขียนภาษาไทยไม่มี หรือคำว่า เซ็นติเมตร ที่ราชบัณฑิตนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ถ้าจะให้สื่อถึงการเน้นเสียง ก็ต้องเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ เสียงแรกสูงเพราะการเน้นหนัก ส่วนพยางค์หลังก็ควรใช้วรรณยุกต์ต่ำ เพราะต้องลดเสียงลง

ที่จริงระบบการเขียนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แสดงการเน้นพยางค์ ต้องใช้ความเคยชินในภาษาพูดเท่านั้นจึงจะรู้ ผมเองตอนไปอยู่ในโลกภาษาอังกฤษจึงมีปัญหามาก จะพูดอะไรคนก็ไม่เข้าใจ เพราะเน้นพยางค์เพี้ยนตลอด

(สาม) มีอักษรใดบ้าง (แม้แต่อักษรของนักภาษาศาสตร์) ที่จะสามารถถ่ายถอดเสียงได้อย่างแนบสนิท การสร้างอักษรแบบอักษรแทนเสียงขึ้นมาล้วนบิดเบือนการออกเสียงของคนทั้งสิ้น 

(ไม่ได้หมายความว่าอักษรมีเฉพาะแบบเขียนแทนเสียง เรารู้กันดีว่ายังมีอักษรแทนภาพอีก และไม่ได้หมายความว่าภาษาเขียนเป็นสิ่งเลวร้าย ไว้ใจไม่ได้ แต่เพราะธรรมชาติของการเขียนและภาษามันเป็นอย่างนั้น คือเมื่อมีภาษาแล้ว จะอย่างไรเสียมันก็บิดเบือนสิ่งที่มันอยากสื่อถึง แต่หากไม่มีภาษา ก็อาจจะไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เรื่องนี้ต้องเถียงกันยาว ขอยกไว้ก่อน) 

เช่นว่า

- มีเสียงมากมายที่มีในภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีในภาษาไทย อย่าง z หรือ r 
- เสียงบางเสียง ฝรั่งไม่ได้ออกเสียงด้วย ต แต่ไทยนิยมเขียนและออกเสียงด้วย ต ราชบัณฑิตก็ยังออกเสียงแบบไทยๆ ด้วย อย่างคำว่า เซ็นติเมตร แทนที่จะเป็น เซ้นเทอมีเถ่อะ

อย่าว่าแต่ภาษาอังกฤษเลย อักษรไทยก็ไม่สามารถเขียนภาษาเวียดนาม ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาใกล้ๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ภาษาไทดำในเวียดนามหรือที่พวกโซ่งพูดในเพชรบุรี สุพรรณบุรี ได้อยู่แล้ว 

อย่างเสียง ngã (ออกเสียงประมาณ หงะอ๊ะ) ในภาษาเวียดนาม ก็ไม่มีในภาษาไทยแล้ว แล้วจะเขียนได้อย่างไร แค่เสียงแทนคำว่า มี หมา กา ขา ในภาษาไทยดำในเวียดนาม ก็ไม่สามารถเขียนได้ในภาษาไทยแล้ว เพราะเป็นวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทย หรือเสียง ร ที่เป็นพยัญชนะสะกดในภาษาขแมร์ จะเขียนให้ออกเสียงในภาษาไทยอย่างไรก็ไม่ได้ 

ความหลงเชื่อที่ว่า อักษรไทยสามารถใช้เขียนแทนภาษาใดๆ ก็ได้นั้น เป็นความเชื่อที่คลั่งชาติอย่างยิ่ง ความเชื่อแบบนี้จึงควรจะเลิกกันได้แล้ว เลิกสอนเด็กอย่างนี้ได้แล้ว

(สี่) เอาเข้าจริง ราชบัณฑิตก็ยังใช้ความเคยชินแบบเดิมๆ ของการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษ ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเขียนให้ถูกต้องตรงกับการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังยึดมั่นกับการเขียนแบบเดิมอยู่เป็นหลักอย่างเหนียวแน่น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาแล้วว่า ราชบัณฑิตยังคงใช้อักษร ต แทนเสียง t ทั้งๆ ที่อักษร ท จะออกเสียงใกล้เคียงกว่า เป็นต้น

ถ้ารู้ทั้งรู้อย่างนั้นแล้วราชบัณฑิตจะทำไปทำไมกัน หรือราชบัณฑิตจะไม่รู้? ไม่น่าเชื่อ เป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าเราอาจอ่านข้อกำหนดล่าสุดของราชบัณฑิตออกได้เป็นสองนัยว่า 

ถ้ามองในแง่ดี ราชบัณฑิตคงต้องการอนุวัตรตามโลก ที่การใช้ภาษาอังกฤษมีความแพร่หลายมากขึ้น การออกเสียงและการเขียนให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษาจึงมีความจำเป็นมากขึ้น แต่กระนั้นก็ดี ราชบัณฑิตก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายถอดเสียงในภาษาต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว 

อันที่จริง ราชบัณฑิตเคยส่งเอกสารมาให้ผมแสดงความเห็นเรื่องการออกเสียงภาษาเวียดนาม ผมวิจารณ์ข้อเสนอของราชบัณฑิตไปมากมาย แต่ความเห็นผมก็คงเป็นเพียงลมปาก คงจะไม่ได้รับการยอมรับจากราชบัณฑิต เพราะประกาศการเขียนทับศัพท์ภาษาเวียดนามที่ออกมาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อข้อเสนอของผม (เอาไว้มีเวลาค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกทีครับ) ผมจึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ราชบัณฑิตอาจจะคิดว่า ผมจะรู้อะไรเกี่ยวกับภาษาเวียดนามดีไปกว่านักภาษาศาสตร์ที่ราชบัณฑิตไว้ใจมากกว่า หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องตีความว่า ราชบัณฑิตไม่ได้ถือเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรกับการถ่ายถอดภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย

ดังนั้น ในอีกทางหนึ่งคือมองในแง่ร้าย ด้วยข้ออ้างเรื่องการสร้างมาตรฐานการเขียนเพื่อการสื่ิอสารกันในคนหมู่มาก ราชบัณฑิตน่าจะเพียงต้องการสร้างระเบียบให้เฉพาะราชบัณฑิตเท่านั้นที่ดูดี รู้ภาษา สามารถถ่ายเสียงภาษาต่างประเทศได้ถูกต้อง ใกล้เคียงภาษานั้นๆ ที่สุด เป็นการสร้างการแบ่งแยก สร้างระยะห่างของการเข้าถึงการเขียน อักษร และภาษาต่างประเทศ สร้างราคาและอำนาจนำในการควบคุมระบบการเขียนภาษาต่างประเทศให้ราชบัณฑิตเองอยู่เหนือผู้อื่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของภาษา อักษร และการเขียน ล้วนเกี่ยวพันกับอำนาจในการกำหนดอุปนิสัยการใช้ภาษา ราชบัณฑิตเป็นองค์กรที่ยึดกุมอำนาจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างชาติสยามและไทยขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

การสร้างภาษาและอักษรมาตรฐานโดยราชบัณฑิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาณานิคมภายใน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่พูดเหน่อ ทองแดง ผิดเพี้ยน ไม่รู้หนังสือ ล้าหลังในการใช้ภาษา หรือกระทั่งไม่เป็นคนไทยไปเสียแทบทั้งหมด (ทั้งที่จริงๆ แล้ว พลเมืองไทยเพียงไม่น่าจะถึง 30% เท่านั้นที่พูดภาษาไทยถิ่นกรุงเทพฯ เป็นภาษาแม่)


 

ที่มาภาพ: Yukti Mukdawijitra

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก