Skip to main content


ปีนี้หลายคนคงระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยรูปนักศึกษาเรือนแสนถมเต็มถนนราชดำเนินรายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "พลังบริสุทธิ์" กันอีก แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับใครก็ตามที่ใฝ่ฝันให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง ย่อมยินดีกับภาพนี้

แต่ผมเอียนกับการที่จะต้องคอยติดป้ายให้นักศึกษาดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นตลอด เนื่องจาก

(1)

 ภาพความบริสุทธิ์ของนักศึกษาถูกสร้างให้ขัดแย้งตัดกันกับพลังของเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 2516 แต่เราต่างรู้กันดีว่าภาพสีขาวนี้กลับถูกลบล้างไปอย่างไร้ความปรานี เมื่อนักศึกษาถูกแปลงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคมในอีกสามปีถัดมา 

ความเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์เสมอไป ชนชั้นนำไทยพร้อมจะโอบอุ้มหรือเข่นฆ่านักศึกษา (และมวลชนใดๆ) ได้เสมอ สุดแท้แต่ว่านักศึกษาจะอยู่ข้างใคร สุดแท้แต่นักศึกษาจะไม่อยู่ข้าง "ใคร"

(2) การยกย่องให้นักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับทำให้พลังมวลชนอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปหมด และจึงแปดเปื้อนมีมลทินกันไปเสียหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่ประวัติศาสตร์แนวหนึ่งกลับเขียนให้มีแต่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นมวลชนซึ่งมีอุดมการณ์สูงส่ง หากคนกลุ่มอื่นเดินขบวน อย่างดีที่สุดเขาก็จะถูกมองว่าทำเพียงเพื่อผลของตนเอง อย่างเลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาถูกดูแคลนว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง

ภาพบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศึกษาในอดีต จึงเปล่งรัศมีกลบลบกลุ่มพลังอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาลดทอนคุณค่าของให้พลังอื่นดูหมองหม่นไปเสียทั้งหมด

(3) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 กลายเป็นทุนทางการเมือง โอบอุ้ม "คนเดือนตุลา" ให้ดูดีมีราศรีเกินจริงไปเสียทุกคน ราวกับว่าเราจะใช้มาตรฐานที่วัดตัดสินคนเดือนอื่น ไปตัดสินคนเดือนตุลาฯ ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาก็จะบริสุทธิ์ล้ำหน้าเกินพวกเราเสมอ

แม้ว่าหลายต่อหลายคนจะมีความสามารถ มีผลงานเพียงแค่ระดับ "งั้นๆ" แต่บุญบารมีทางการเมืองของการเป็น "คนเดือนตุลาฯ" ที่แปะติดหน้าผากพวกเขาไว้ ก็จะช่วยขับเน้นให้อะไรที่งั้นๆ ไต่ระดับกลายเป็นอัจฉริยะไปได้อย่างง่ายดาย 

(4) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษายังสร้างความคาดหวังอย่างผิดๆ ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆ มาตลอดว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ จึงต้องมีอุดมการณ์สูงส่ง จึงควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วพวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และเมื่อถึงยุคที่พวกเขาต่างสมประโยชน์แล้วดังเช่นในทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป 

ไม่เท่านั้น พวกเขายังกลับพร้อมจะเหยียบย่ำมวลชนกลุ่มอื่นที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา สังคมจึงไม่ควรคร่ำครวญเรียกร้องอะไรนักหนากับพลังนักศึกษา ซึ่งหมดพลังเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ไปแล้วอีกต่อไป

ในเมื่อขบวนการมวลชนใดๆ ก็ล้วนเป็นพลังไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา ม็อบมือถือ สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนฯ คนเสื้อแดง เราจะยังตัดสินคุณค่าของมวลชนแค่จากสถานภาพของพวกเขากันอยู่อีกทำไม

การตรวจสอบว่าพลังมวลชนกลุ่มใดทำเพื่อผลประโยชน์ใด ปิดกั้นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ มวลชนใดส่งเสริมระบอบหมอบกราบ ไม่เห็นหัวประชาชน ขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรจะใส่ใจกันมากกว่าหรือไม่

แล้วก็โปรดเลิกเรียกพลังนักศึกษาว่าพลังบริสุทธิ์กันเสียทีเถอะ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน