Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในบ้านเราขณะนี้หลายคนชอบพูดกันถึงเรื่องประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ราวกับว่านี่จะเป็นทางออกที่ดีกว่าประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) ในการต่อกรกับการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับทุน

เมื่อวานรับชวนไปคุยเรื่องวิกฤติประชาธิปไตยในยุคทุนนิยมปัจจุบันอะไรเนี่ยแหละ ผมบอกผู้จัดว่าไม่มีปัญญาพูดเรื่องอะไรใหญ่ๆ กับเขาหรอก ยิ่งได้ยินว่าเป็นการพูดเพื่อเปิดการบรรยายของนักปราชญ์รุ่นใหม่อย่างสลาวอย ชิเชค (ชื่อเขายังไม่รู้จะสะกดถูกหรือเปล่าเลย) ผมยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ เพราะมีแต่คนคูลๆ เท่านั้นที่อ่านชิเชคกัน (จริงๆ นะครับ นี่ไม่ได้ประชดประชันอะไร) ผมเป็นคนไม่มีกระดูกสันหลัง ทุกวันนี้จะเดินยังต้องคอยเกาะกำแพงเรียกหาอ.อุบลช่วยเป็นระยะๆ อยู่เลย จะไปรู้เรื่องอะไร

แต่ก็เอาล่ะ ส่วนหนึ่งเพราะผมมีลิสต์งานเขียนที่คาใจต้องอ่านอยู่ คือการศึกษาสังคมทุนนิยมปัจจุบันโดยพวกนักมานุษยวิทยา และล่าสุดมีงานเขียนเกี่ยวกับ Occupy Movement และ Arab Spring ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว งานเขียนเรื่องนี้ในทางมานุษยวิทยาทยอยออกมาเรื่อยๆ ก็ถือซะว่า ยังไงก็ต้องอ่านอยู่ดี ช้ากว่านี้คงไม่มีใครคุยด้วย อีกอย่าง ผมถือว่าการถูกกระตุ้นโดยคนรุ่นใหม่เสมอๆ เป็นกิจกรรมทางปัญญาที่สำคัญไม่แพ้การวิจารณ์ครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่ๆ

ขอเล่าสั้นๆ เฉพาะประเด็นกระชับๆ ที่ผมพูดและส่วนใหญ่เรียนรู้จากเอกสารจำนวนเล็กน้อยที่อ่านแล้วกันครับ

ผมอ่านงานที่ศึกษา "ขบวนการยึดครอง" 3 ชิ้นด้วยกัน ทั้งหมดเป็นงานทางมานุษยวิทยา ใช้วิธีการศึกษาแบบ ethnography (ชาติพันธ์ุนิพนธ์ คืออะไร ขอให้ไปหาอ่านเอาเองครับ) พิมพ์ใน American Ethnologist ปี 2012 คือเพิ่งออกมาปีนี้เอง

ชิ้นแรกของ Maple Razsa และ Andrej Kurnik ศึกษาการยึดครองจัตุรัสหน้าตลาดหุ้นในเมืองลุเบียยา (Ljublijana มีคนช่วยถ่ายเสียงให้อย่างนั้น) บ้านเกิดของชิเชค ในประเทศสโลวาเนีย ชิ้นต่อมาของ Jeffrey Juris ศึกษาการยึดครองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ชิ้นที่สามของ Jane Collins เล่าเรื่องการยึดครองที่ทำการรัฐของรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สรุปคือ 

(1) ในแง่ของกลุ่มคน กลุ่มที่ยึดครองที่สโลวาเนียคือกลุ่มคนใช้แรงงาน โดยเฉพาะคนอพยพและกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง ส่วนที่บอสตัน เป็นคนขาวชนชั้นกลาง ผู้เขียนเขาไม่ได้เน้นอาชีพให้เห็นชัดเจน แน่นอนว่าบางคนอาจตกงานอยู่ ส่วนที่วิสคอนซิน คนที่ริเริ่มการยึดครองเป็นครูโรงเรียนมัธยมและประถม ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐและพวกคนใช้แรงงานมาร่วมด้วย

(2) ประเด็นเรียกร้อง คนใช้แรงงานที่สโลวาเนียต่อต้านการที่สโลวาเนียไม่ได้ผันทรัพยาการมาให้คนยากจน แต่กลับใช้เพื่อโอบอุ้มพวกนายทุนเป็นหลัก และต่อต้านการที่พรรคการเมืองฝ่ายขวา ที่ต่อต้านแรงงานอพยพกำลังเติบโต พวกที่บอสตันต่อต้านทุนนิยมและประชาธิปไตยแบบตัวแทน ส่วนที่วิสคอนซิน ต่อต้านการลดสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

(3) วิธีการรวมตัว ในสโลวาเนียอาศัยเครือข่ายที่ทำงานกันต่อเนื่องระหว่างคนใช้แรงงานกับนักกิจกรรม เรียกกิจกรรมพวกเขาว่าประชาธิปไตยทางตรง แต่ที่บอสตันเป็นการรวมตัวผ่านเครือข่ายออนไลน์ ที่วิสคอนซิน มีสหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาท


ข้อสังเกตและประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจคิดต่อคือ

- กรณีศึกษาทั้งสามชี้ว่า ขบวนการยึกครองในที่ต่างๆ ต่างมีกลุ่มคน เป้าหมาย และวิธีการก่อตัวที่แตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือการยึดครองสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการของรัฐหรือสัญลักษณ์ทางธุรกิจหรือระบบทุนนิยม และการต่อต้านการร่วมมือกันของรัฐและทุนเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจขบวนการยึดครองในแต่ละที่ ภายในบริบทของแต่ละท้องถิ่นเอง

- ที่สโลวาเนีย มีเกร็ดน่าสนใจคือ ราสซากับเคอร์นิคเล่าว่า เดิมทีชิเชคไม่ได้ใส่ใจกับขบวนการเหล่านี้เท่าใดนัก แต่ภายหลังชิเชคกลับสนับสนุนการยึดครองวอลล์สตรีท ส่วนในประเทศตนเอง ชิเชคดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก การยึดครองของพวกคนใช้แรงงานในสโลวาเนียจึงเหมือนย้อนศรความคิดทางการเมืองของนักคิดใหญ่อย่างชิเชคไปด้วยในตัว

- กรณีที่บอสตัน จูริสเห็นว่าการยึดครองบอสตันเกิดจาก "การรวมตัว" คือ แค่มาอยู่รวมๆ กัน บนเครือข่ายออนไลน์ก่อน แม้ "social media" มีส่วนสำคัญก็จริง แต่จูริสเห็นว่า ที่จริง social media อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิด social network หรือ "เครือข่ายทางสังคม" อย่างแท้จริง เนื่องจากมันชั่วคราว เป็นการมาปรากฏตัวพร้อมๆ กันเท่านั้น 

ถ้าจะให้ผมเปรียบ ก็เหมือนการมากดไลค์กันมากๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างกลุ่มอะไรขึ้นมา เป็นเพียงมีปัจเจกชนมากๆ มายืนรวมๆ กัน เท่านั้นเอง ดังนั้น ปัญหาคือ หากจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการรวมตัวทางการเมือง มันก็จะมีปัญหาในแง่ที่ว่า การรวมตัวนี้ยังไม่นำไปสู่อะไร และมันก็จะสาบสูญไร้ผลต่อเนื่องใดๆ หากไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นเครือข่ายได้

- หากจะเปรียบเทียบกับในประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมานับได้ว่ามี "การยึดครอง" พื้นที่สำคัญๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็จะเห็นได้ว่า วิธีการยึดครองเป็นเพียงรูปแบบทางการเมืองที่แม้ว่าจะเรียกได้ว่าเป็น "ประชาธิปไตยทางตรง" แต่คนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่า ประชาธิปไตยทางตรงจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าหรือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนเสมอไป

- หากจะนับขบวนการยึดครองในที่ต่างๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง ถึงที่สุดแล้วขบวนการประชาธิปไตยแบบทางตรงก็ไม่สามารถสืบทอดคงทนต่อเนื่องไปได้ง่ายๆ หากไม่ได้มีการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่มั่นคงขึ้นมา และในแต่ละที่ แม้ว่าจะมีการต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีใครเสนอให้ใช้ระบอบเผด็จการไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร มาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ขอบคุณ The Reading Room, Bangkok และ Trin Aiyara ที่ชวนมาปวดขมอง และขอบคุณผู้ฟังและผู้ร่วมนำเสนอ ที่ให้ความรู้และประสบการณ์การพูดในที่กึ่งสาธรณะอีกแบบหนึ่ง

คำเตือน (สำหรับบางคนที่แยกแยะไม่ออก): นี่ไม่ใช่งานวิชาการ มันเป็นเสมือนข้อขีดเขียนบนกำแพงวัด ขอได้โปรดเข้าใจฐานะและพื้นที่ของมัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน