Skip to main content


ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในบ้านเราขณะนี้หลายคนชอบพูดกันถึงเรื่องประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ราวกับว่านี่จะเป็นทางออกที่ดีกว่าประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) ในการต่อกรกับการร่วมมือกันระหว่างรัฐกับทุน

เมื่อวานรับชวนไปคุยเรื่องวิกฤติประชาธิปไตยในยุคทุนนิยมปัจจุบันอะไรเนี่ยแหละ ผมบอกผู้จัดว่าไม่มีปัญญาพูดเรื่องอะไรใหญ่ๆ กับเขาหรอก ยิ่งได้ยินว่าเป็นการพูดเพื่อเปิดการบรรยายของนักปราชญ์รุ่นใหม่อย่างสลาวอย ชิเชค (ชื่อเขายังไม่รู้จะสะกดถูกหรือเปล่าเลย) ผมยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ เพราะมีแต่คนคูลๆ เท่านั้นที่อ่านชิเชคกัน (จริงๆ นะครับ นี่ไม่ได้ประชดประชันอะไร) ผมเป็นคนไม่มีกระดูกสันหลัง ทุกวันนี้จะเดินยังต้องคอยเกาะกำแพงเรียกหาอ.อุบลช่วยเป็นระยะๆ อยู่เลย จะไปรู้เรื่องอะไร

แต่ก็เอาล่ะ ส่วนหนึ่งเพราะผมมีลิสต์งานเขียนที่คาใจต้องอ่านอยู่ คือการศึกษาสังคมทุนนิยมปัจจุบันโดยพวกนักมานุษยวิทยา และล่าสุดมีงานเขียนเกี่ยวกับ Occupy Movement และ Arab Spring ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว งานเขียนเรื่องนี้ในทางมานุษยวิทยาทยอยออกมาเรื่อยๆ ก็ถือซะว่า ยังไงก็ต้องอ่านอยู่ดี ช้ากว่านี้คงไม่มีใครคุยด้วย อีกอย่าง ผมถือว่าการถูกกระตุ้นโดยคนรุ่นใหม่เสมอๆ เป็นกิจกรรมทางปัญญาที่สำคัญไม่แพ้การวิจารณ์ครูบาอาจารย์หรือรุ่นพี่ๆ

ขอเล่าสั้นๆ เฉพาะประเด็นกระชับๆ ที่ผมพูดและส่วนใหญ่เรียนรู้จากเอกสารจำนวนเล็กน้อยที่อ่านแล้วกันครับ

ผมอ่านงานที่ศึกษา "ขบวนการยึดครอง" 3 ชิ้นด้วยกัน ทั้งหมดเป็นงานทางมานุษยวิทยา ใช้วิธีการศึกษาแบบ ethnography (ชาติพันธ์ุนิพนธ์ คืออะไร ขอให้ไปหาอ่านเอาเองครับ) พิมพ์ใน American Ethnologist ปี 2012 คือเพิ่งออกมาปีนี้เอง

ชิ้นแรกของ Maple Razsa และ Andrej Kurnik ศึกษาการยึดครองจัตุรัสหน้าตลาดหุ้นในเมืองลุเบียยา (Ljublijana มีคนช่วยถ่ายเสียงให้อย่างนั้น) บ้านเกิดของชิเชค ในประเทศสโลวาเนีย ชิ้นต่อมาของ Jeffrey Juris ศึกษาการยึดครองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ชิ้นที่สามของ Jane Collins เล่าเรื่องการยึดครองที่ทำการรัฐของรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สรุปคือ 

(1) ในแง่ของกลุ่มคน กลุ่มที่ยึดครองที่สโลวาเนียคือกลุ่มคนใช้แรงงาน โดยเฉพาะคนอพยพและกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมือง ส่วนที่บอสตัน เป็นคนขาวชนชั้นกลาง ผู้เขียนเขาไม่ได้เน้นอาชีพให้เห็นชัดเจน แน่นอนว่าบางคนอาจตกงานอยู่ ส่วนที่วิสคอนซิน คนที่ริเริ่มการยึดครองเป็นครูโรงเรียนมัธยมและประถม ต่อมาเจ้าหน้าที่รัฐและพวกคนใช้แรงงานมาร่วมด้วย

(2) ประเด็นเรียกร้อง คนใช้แรงงานที่สโลวาเนียต่อต้านการที่สโลวาเนียไม่ได้ผันทรัพยาการมาให้คนยากจน แต่กลับใช้เพื่อโอบอุ้มพวกนายทุนเป็นหลัก และต่อต้านการที่พรรคการเมืองฝ่ายขวา ที่ต่อต้านแรงงานอพยพกำลังเติบโต พวกที่บอสตันต่อต้านทุนนิยมและประชาธิปไตยแบบตัวแทน ส่วนที่วิสคอนซิน ต่อต้านการลดสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

(3) วิธีการรวมตัว ในสโลวาเนียอาศัยเครือข่ายที่ทำงานกันต่อเนื่องระหว่างคนใช้แรงงานกับนักกิจกรรม เรียกกิจกรรมพวกเขาว่าประชาธิปไตยทางตรง แต่ที่บอสตันเป็นการรวมตัวผ่านเครือข่ายออนไลน์ ที่วิสคอนซิน มีสหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาท


ข้อสังเกตและประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจคิดต่อคือ

- กรณีศึกษาทั้งสามชี้ว่า ขบวนการยึกครองในที่ต่างๆ ต่างมีกลุ่มคน เป้าหมาย และวิธีการก่อตัวที่แตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือการยึดครองสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการของรัฐหรือสัญลักษณ์ทางธุรกิจหรือระบบทุนนิยม และการต่อต้านการร่วมมือกันของรัฐและทุนเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจขบวนการยึดครองในแต่ละที่ ภายในบริบทของแต่ละท้องถิ่นเอง

- ที่สโลวาเนีย มีเกร็ดน่าสนใจคือ ราสซากับเคอร์นิคเล่าว่า เดิมทีชิเชคไม่ได้ใส่ใจกับขบวนการเหล่านี้เท่าใดนัก แต่ภายหลังชิเชคกลับสนับสนุนการยึดครองวอลล์สตรีท ส่วนในประเทศตนเอง ชิเชคดูจะไม่ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก การยึดครองของพวกคนใช้แรงงานในสโลวาเนียจึงเหมือนย้อนศรความคิดทางการเมืองของนักคิดใหญ่อย่างชิเชคไปด้วยในตัว

- กรณีที่บอสตัน จูริสเห็นว่าการยึดครองบอสตันเกิดจาก "การรวมตัว" คือ แค่มาอยู่รวมๆ กัน บนเครือข่ายออนไลน์ก่อน แม้ "social media" มีส่วนสำคัญก็จริง แต่จูริสเห็นว่า ที่จริง social media อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิด social network หรือ "เครือข่ายทางสังคม" อย่างแท้จริง เนื่องจากมันชั่วคราว เป็นการมาปรากฏตัวพร้อมๆ กันเท่านั้น 

ถ้าจะให้ผมเปรียบ ก็เหมือนการมากดไลค์กันมากๆ ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างกลุ่มอะไรขึ้นมา เป็นเพียงมีปัจเจกชนมากๆ มายืนรวมๆ กัน เท่านั้นเอง ดังนั้น ปัญหาคือ หากจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการรวมตัวทางการเมือง มันก็จะมีปัญหาในแง่ที่ว่า การรวมตัวนี้ยังไม่นำไปสู่อะไร และมันก็จะสาบสูญไร้ผลต่อเนื่องใดๆ หากไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นเครือข่ายได้

- หากจะเปรียบเทียบกับในประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมานับได้ว่ามี "การยึดครอง" พื้นที่สำคัญๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็จะเห็นได้ว่า วิธีการยึดครองเป็นเพียงรูปแบบทางการเมืองที่แม้ว่าจะเรียกได้ว่าเป็น "ประชาธิปไตยทางตรง" แต่คนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่า ประชาธิปไตยทางตรงจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าหรือเป็นทางเลือกที่ดีกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนเสมอไป

- หากจะนับขบวนการยึดครองในที่ต่างๆ ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง ถึงที่สุดแล้วขบวนการประชาธิปไตยแบบทางตรงก็ไม่สามารถสืบทอดคงทนต่อเนื่องไปได้ง่ายๆ หากไม่ได้มีการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่มั่นคงขึ้นมา และในแต่ละที่ แม้ว่าจะมีการต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีใครเสนอให้ใช้ระบอบเผด็จการไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร มาแทนที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ขอบคุณ The Reading Room, Bangkok และ Trin Aiyara ที่ชวนมาปวดขมอง และขอบคุณผู้ฟังและผู้ร่วมนำเสนอ ที่ให้ความรู้และประสบการณ์การพูดในที่กึ่งสาธรณะอีกแบบหนึ่ง

คำเตือน (สำหรับบางคนที่แยกแยะไม่ออก): นี่ไม่ใช่งานวิชาการ มันเป็นเสมือนข้อขีดเขียนบนกำแพงวัด ขอได้โปรดเข้าใจฐานะและพื้นที่ของมัน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก