Skip to main content

 

ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร

บูราวอยเป็นศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาชื่อดังจาก UC-Berkeley สหรัฐอเมริกา วันนี้เขามาเสนอเรื่อง public sociology ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บูราวอยเป็นนักวิชาการที่เสนอว่า งานวิชาการต้องตอบโจทย์ของสังคมด้วย บูราวอยพูดเก่งมาก ฟังสนุก มีพลังมาก แม้อายุน่าจะใกล้หรืออาจจะเลยเลข 7 แล้ว 
 
ข้อเสนอเขา ซึ่งเขาเองยอมรับว่าลดทอนความซับซ้อนของโลกเพื่อให้ง่ายเข้า ที่สำคัญๆ ที่เขาพูดวันนี้ก็เช่นว่า
 

- ที่จริงการทำวิชาการให้เข้าถึงสาธารณชนเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วโลก โดยเฉพาะในซีกโลกทางใต้ ในอเมริกาเองเสียอีกที่มีน้อย
 
- งานวิชาการทางสังคมศาสตร์มีสี่กลุ่ม แบบเน้นวิชาการล้วนๆ (professional) แบบเน้นนโยบาย (policy) แบบวิชาการแนววิพากษ์ (critical) กับแบบเน้นเพื่อสาธารณชน (public) สี่กลุ่มนี้เป็นการแบ่งงานกันทำ (division of labor)
 
- ประเด็นซับซ้อนขึ้นอีกนิดคือ ขณะที่พวกเน้นวิชาการและนโยบายเป็นพวกใช้ความรู้เพียงแค่เป็นเครื่องมือ เป็นกลไก (instrumental knowledge) แต่พวกวิพากษ์และพวกเน้นสาธารณะ เป็นพวกใช้ความรู้แบบครุ่นคิดทบทวนมากกว่า (reflexive knowledge) พูดง่ายๆ คือพวกแรกไม่ค่อยตรวจสอบทบทวนตนเอง ใช้ความรู้แบบทื่อๆ พวกหลังดูก้าวหน้ากว่าเพราะมักวิพากษ์ทั้งคนอื่นและตนเอง
 
- เขายกตัวอย่างประเทศต่างๆ ว่าแต่ละประเทศต่างก็มีพื้นที่ให้กับสี่ส่วนนี้แตกต่างกันออกไป แต่เขาไม่ได้อธิบายว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
 
- บูราวอยเสนอให้ต้องเน้นแบบสุดท้ายให้มากขึ้น เพื่อกอบกู้ภาคประชาสังคมจากภัยคุกคามของรัฐกับทุน (เริ่มคุ้นๆ แล้วไหมครับ) ตรงนี้บูราวอยพยายามโชว์ว่าเขาทำการบ้านว่าเขารู้จักนักวิชาการไทยที่เป็นนักวิชาการสาธารณะเป็นอย่างดี ด้วยการอ้างทฤษฎี "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" (ของใครไปหากันเอาเองครับ)
 
เมื่องานสัมมนาเปิดให้แสดงความเห็น ผมกึ่งยิงกึ่งผ่าน กึ่งถามกึ่งวิจารณ์ว่า
 
"ข้อเสนออาจารย์บูราวอยค่อนข้างเสนอภาพการแบ่งงานกันทำแบบ Durkhiemian (คือต่างคนต่างทำงานสอดประสานกัน) มากกว่าจะเป็นแบบ Marxist (คือแสดงภาพความไม่ลงรอยกัน ขัดแย้งกัน อันเนื่องมาจากสังกัดทางการเมืองและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกัน) ไม่มีการเมืองระหว่าง 4 กลุ่มงานวิชาการนั้นเลย..

"อาจารย์ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางวิชาการที่มีในระบบโลก นักวิชาการในเอเชีย หรืออย่างในไทย ในเวียดนาม ไม่สามารถทำงานแบบวิชาการล้วนได้ ส่วนหนึ่งด้วยเงื่อนไขบังคับภายในประเทศเอง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ด้วยเงื่อนไขที่วงวิชาการตะวันตกครอบงำและยึดอำนาจการนำเสนองานวิชาการมาตลอด กีดกันการเข้าถึงโลกวิชาการของคนจากซีกโลกใต้มาตลอด (ด้วยเงื่อนไขทางความรู้ ภาษา และต้นทุนการเรียนรู้)..

"สุดท้าย ไม่ว่านักวิชาการจากซีกโลกใต้จะอยากทำงานเน้นวิชาการหรือไม่ อย่างดีก็เป็นได้แค่นักวิชาการพื้นถิ่น (แบบ native anthropoloists) นักวิชาการชั้นสองหรือสาม ที่เพียงนำเสนอข้อมูลให้นักวิชาการระดับโลกเก็บไปสร้างทฤษฎี (ลืมเหน็บไปว่า อาจารย์เองก็คงกำลังทำอย่างนั้นกับพวกเราที่นี่อยู่)..
 
บูราวอยตอบผมว่า "แน่นอนว่ามีการเมือง แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดในตอนบรรยาย และแน่นอนว่าวิชาการเพื่อสาธารณะที่เขาหมายถึง คือเพื่อคนที่ถูกลดทอนคุณค่า คนที่ไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ (the subaltern, the dominated)"
 
ตอนบ่าย มีการอภิปรายโดยนักวิชาการไทยและมาเลเซีย ว่าหากนำแนวคิดของบูราวอยมาวิเคราะห์ในประเทศตน ตามประสบการณ์แต่ละคนแล้วจะเป็นอย่างไร  ผมขอไม่สรุป (ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่จะยาวไป) บูราวอยก็นั่งฟังอยู่ด้วย เมื่อเปิดให้ตั้งคำถาม ผมออกตัวว่า "I'm sorry if I will be nasty." แล้วถามต่อจากที่เก็บไว้ไม่ได้ถามเมื่อเช้าว่า

"เราพูดกันในที่นี้ราวกับว่า หากเราเพียงวิจารณ์นักวิชาการที่ทำงานแบบเน้นวิชาการล้วน กับวิขาการณ์พวกเน้นวิชาการเพื่อผลิตนโยบาย แล้วหันมาทำแบบเน้นสาธารณะขึ้น เราก็จะมาถูกทางและดูดีมีศีลธรรมกว่าพวกนักวิชาการเหล่านั้นแล้ว..

"แต่เราถามด้วยหรือเปล่าว่า เราจะตอบสนองสาธารณชนแบบไหน เราจะเลือกเน้นสาธารณชนไปในทางไหน..

"เช่น การที่เมื่อเช้าบูราวอยอ้าง "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา" นั่นก็เป็นวิชาการที่เน้นสาธารณะแบบหนึ่ง การที่งานนี้มีศาสตราจารย์อมรามาเปิดงานแล้วท่านเล่าถึงประสบการณ์การทำงานวิชาการแบบเน้นสาธารณะ นั่นก็เป็น public แบบหนึ่ง..

"แต่ยังมีนักวิชาการสาธารณะแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เน้นแนวทางเดียวกับที่กล่าวมานั้น ความเป็นสาธารณะจึงไม่ได้มีแนวทางเดียว ลำพังการทำงานสาธารณะจึงไม่ได้ทำให้นักวิชาการเป็นนักวิชาการสาธารณะโดยอัตโนมัติ แต่เราต้องเข้าใจการเมืองของการเป็นนักวิชาการสาธารณะด้วยไม่ใช่หรือ.."

เวลาหมด และบูราวอยเองก็คงนอยผมแล้วเหมือนกัน เลยไม่ได้ตอบอะไร แต่ที่จริงมีอีกสองประเด็นไม่ทันได้พูด เพราะรู้สึกว่าตนเองถามและวิจารณ์มากอยู่คนเดียวเกินไปแล้ว เลยขอทิ้งไว้ตรงนี้ว่า

"แต่ละประเทศมีเพดานของการพูดเรื่องสาธารณะไม่เหมือนกัน เช่น เวียดนามมีเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์และเรื่องสิทธิมนุษยชน ไทยมีเรื่องสถาบันกษัตริย์ เคยได้ยินนักวิชาการญี่ปุ่นบ่นว่า วิจารณ์เรื่องโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไม่ได้..

"ในเมื่อมีเรื่องสาธารณะบางเรื่องที่พูดถึงไม่ได้มากมายในแต่ละประเทศ บูราวอยจะว่านักวิชาการในบางประเทศไม่ยอมทำงานสาธารณะเต็มปากเต็มคำไม่ได้เช่นกัน เพราะเงื่อนไขทางการเมืองของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน.."
 
อีกประเด็นคือ ในระดับของระบบโลก..
 
"การทำงานเพื่อสาธารณะในประเทศหนึ่ง อาจเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายของประเทศอื่น เช่น ที่ผ่านมาประเด็นเรื่องกระบวนการพัฒนาเป็นประชาธิปไตย เป็นการดำเนินตามนโยบายเสรีนิยมของประเทศในโลกตะวันตก แล้วนำมาเผนแพร่ให้เป็นประเด็นสาธารณะในประเทศโลกที่สาม หรือการเน้นประชาสังคม ก็เป็นความคิดเชิงนโยบายในอีกซีกโลกหนึ่งมากก่อนไม่ใช่หรือ..

"ดังนั้น ความเป็นสาธารณะ เป็นนโยบาย เป็นวิชาการล้วน หรือแม้แต่การเป็นวิชาการแนววิพากษ์ในแต่ละบริบทการเมืองในโลกนี้ มิต่่างกันหรอกหรือ น่าเสียดายที่บูราวอยเป็นนักมานุษยวิทยามาก่อน แต่มองข้ามความเป็นท้องถิ่นของความรู้แบบต่างๆ"
 
ความจริงผมก็ควรจะเขียนวิจารณ์บูราวอยให้เป็นเรื่องเป็นราวแบบ "วิชาการ" นั่นแหละ แต่ขอยกเอาไว้ก่อนแล้วกันครับ
 
พรุ่งนี้เขาก็ยังมีนะครับ หากใครสนใจยังไปฟังได้ ดูรายละเอียดที่  "Confronting Unequal Worlds of Development: 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก