Skip to main content

 

 
แน่นอนว่ามีคนจำนวนมากเข้ามาและออกไปจากเฟซบุคเป็นประจำ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า การออกไปจากเฟซบุคของผมเป็นเสมือนการฆ่าตัวตายไปจากโลกของเฟซบุค อย่างน้อยก็เป็นการฆ่าตัวตายในฐานะของบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ไม่ใช่เพจที่สร้างขึ้นมาปลอมๆ เล่นๆ เพื่อนๆ ถามกันพอสมควรว่า ทำไมผมจึงเลือกทำเช่นนั้น
 
เมื่อเร็วๆ นี้มีเพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิตไป คือลาจากโลกนี้ไปจริงๆ เพื่อนคนนี้มีเฟซบุคเพจอยู่ เขาไม่ได้ยกเลิกเพจของตนเองก่อนตาย ก็ใครจะรู้ว่าตนเองจะตาย และใครจะเตรียมตัวตายกันขนาดต้องยกเลิกเฟซบุคก่อนจะตาย แต่ที่ทำให้เพื่อนๆ ตกอกตกใจคือ เมื่อเพื่อนๆ ไปงานศพ เฟซบุคเพื่อนคนนี้กลับตอบมาว่า "ขอบคุณทุกๆ คนที่ไปงานศพเรา" แน่นอนว่าไม่มีทางที่ผีจะมาเขียนเฟซบุค เป็นลูกชายของเขาเองนั่นแหละที่เขียนคำขอบคุณแทนพ่อ เพียงแต่ลืมบอกลุงๆ ป้าๆ ไปว่าตนเองคือลูกชาย
 
แต่หากจะพูดถึงการตายในเฟซบุค คือตายจากไปจากเฟซบุคล่ะ จะเป็นอย่างไร
 
ผมเพิ่งเริ่มใช้เฟซบุคอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อสัก 6 เดือนมานี่เอง ส่วนหนึ่งเพราะอยากรู้จักโลกนี้ เนื่องจากมีนักศึกษากำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้กับผม และมีนักศึกษาอีกจำนวนมากสนใจศึกษาเรื่องเฟซบุค แน่นอนว่า ปรากฏการณ์เฟซบุคซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันได้ดึงดูดผมเข้าสู่โลกของมัน
 
เริ่มแรกผมไม่มีเพื่อนมากมาย มีเฉพาะคนรู้จักมักคุ้นกันในโลกออนไลน์ พอเริ่มแสดงความเห็นที่ถูกใจคนจำนวนมาก ก็เริ่มมีคนขอเป็นเพื่อนมากมาย แรกๆ ก็พยายามจัดกลุ่มเพื่อน แต่พอมากเข้ามากเข้า ก็เริ่มไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เริ่มจัดการไม่ได้ ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้วมีเพื่อนไม่มากมายนัก คือสัก 1,600 กว่าคน กับคนที่ subscribe (ซึ่งผมมาเปิดเอาเมื่อไม่เกิน 3 เดือน) อีกราว 600 กว่าคน ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่มาขอผมเป็นเพื่อน มีเพื่อนจำนวนน้อยมากที่ผมเป็นผู้ไปขอเป็นเพื่อนเขา แม้ว่าจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ส่วนหนึ่งเพราะเกรงใจเขา ไม่อยากรบกวนพื้นที่เฟซบุคของเขา
 
ตลอดระยะเวลาที่ใช้ ผมจำแนกกลุ่มเพื่อนๆ ออกดังนี้
 
1) Friends จำนวนมากของผมเป็นคนที่ทำงานทางด้านการศึกษา นอกจากนักศึกษาแล้ว จำนวนมากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ครู กระทั่งอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในวงวิชาการหลายๆ ท่านที่มาขอเป็นเพื่อนเองก็มี ที่น่าภูมิใจคือ มีนักเรียนระดับมัธยมปลายส่งข้อความขอเป็นเพื่อน ผมซักถามแล้วได้ความว่า แม่ของเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีเดียวกับผมเลย
 
2) Friends อีกจำนวนหนึ่งเป็นนักเขียน คนในแวดวงวรรณกรรม แวดวงหนังสือ แวดวงศิลปะ และวงการสื่อมวลชน ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง มีหลายคนที่ผมนิยมชมชอบงานเขาอยู่แล้ว และยิ่งดีใจที่เขามาขอเป็นเพื่อน ผมได้เรียนรู้การเขียนหนังสือ การเขียนรูป ความคิดในการสื่อสาร จากเพื่อนๆ กลุ่มนี้มากมาย
 
3) Friends อีกจำนวนหนึ่งเป็นคนที่มีความสนใจทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน คนเหล่านี้ติดตามกิจกรรมทางการเมืองของผม ติดตามกิจกรรมสาธารณะของผม เพื่อนกลุ่มนี้มักนำเสนอข่าวสารทางการเมือง นำเสนอทัศนะทางการเมือง ที่หลายครั้งทำให้ผมเข้าใจความคิดของสาธารณชนกลุ่มหนึ่งได้ชัดเจนขึ้น
 
4) เพื่อนนักเรียนตั้งแต่มัธยมและประถมของผม คนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยมาก อาจจะไม่ถึง 20 คนด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าน้อยที่สุดในจำนวนกลุ่มเพื่อนที่ผมสามารถจำแนกกลุ่มได้ ผมเข้าใจดี และตนเองก็แทบไม่เคยไปขอเพื่อนนักเรียนเป็นเพื่อน ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าทัศนะทางการเมือง ทัศนะต่อโลก ต่ออะไรต่างๆ ของผม จะรบกวนพื้นที่ของพวกเขา และเพราะผมรู้ดีว่า เพื่อนเก่าของผมส่วนใหญ่ ไม่น่าจะนิยมความคิดความเห็นแบบของผม
 
ข้อสังเกตเบื้องต้นจากประสบการณ์บนเฟซบุคของผมคือ
 
ประการแรก ข้อดีที่ผมได้จากการใช้เวลาบนเฟซบุคจึงได้แก่การอ่านข่าวสาร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากคนจำนวนมาก ทั้งที่รู้จักตัวตนจริง และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ที่น่าสังเกตจากการปะทะสังสันท์กันนั้นคือ ในแง่หนึ่ง เฟซบุคทำให้คนในสังคมนี้ต้องมีมารยาทต่อกัน แม้บางคนจะไม่มีมารยาทนัก แต่ผมเห็นว่าส่วนใหญ่คนมีมารยาทที่ดีต่อกัน ไม่ก้าวก่ายวิพากษ์ ล้อเลียน แซวเล่นไปเรื่อยเปื่อยกันง่ายๆ นัก ผมเองยังต้องยับยั้งชั่งใจบ่อยๆ ในการแสดงความเห็นต่อทัศนะของคนอื่น แม้ว่าจะสนิทกันดี
 
จึงน่าสนใจว่า แม้บนพื้นที่ที่คนอาจจะก้าวก่ายกันมากมาย คนในเฟซบุคก็มีมารยาทพอที่จะไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัว ที่สร้างขึ้นมาจากเนื้อหา เรื่องราว ประเด็นที่ถกเถียงกันในพื้นที่ที่ดูเหมือนจะ "สาธารณะ"
 
ประการที่สอง เฟซบุคอนุญาตให้คนแสดงความเห็นของตนเองหรือแบ่งปันความเห็นของคนอื่นได้อย่างอิสระในขอบเขตของกฎหมาย โดยแทบจะไม่ต้องสนใจว่าใครจะชอบหรือไม่ แน่นอนว่าหลายคนเลือกที่จะแสดงความเห็นหรือแบ่งปันความเห็นอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ของเขา ผมมักเขียนอะไรยาวๆ ลงบนเฟซบุค เมื่อเขียนแล้วพบว่ามีคนชอบอ่าน ก็ยิ่งชอบเขียน ที่ดีคือ การเขียนโดยมีคนอ่านหรือแสดงว่าอ่านหรือแสดงว่าอยากอ่านในแทบจะทันทีทันใดที่เขียนจบ เป็นเสน่ห์ของโลกของการแสดงออกที่ไม่มีในการเขียนในโลกของการตีพิมพ์
 
เฟซบุคจึงให้ประสบการณ์การแสดงออกของผมที่แปลกใหม่ และกระตุ้นให้ผมสร้างสรรค์งานเขียนและภาพในลักษณะต่างๆ ที่ไม่เคยแสดงออกมาก่อนมากมาย ทั้งการเขียน วิธีเขียน และการเขียนรูป ทั้งในรูปแบบและทักษะที่เคยและไม่เคยใช้มาก่อน
 
เนื่องจากเป็นพื้นที่ของ "เรา" เอง จึงไม่ต้องมากังวลกับเนื้อหา (หากทำในขอบเขตของกฎหมาย) ไม่ต้องกังวลกับเงินทองที่จะได้ค่าเรื่องหรือไม่ ไม่ต้องกังวลว่าจะเขียนทันเวลาส่งต้นฉบับหรือไม่ การเขียนแบบนี้จึงอิสระมากกว่าการเขียนให้แหล่งพิมพ์ทั่วๆ ไป
 
ประการที่สาม น่าสังเกตว่าการแสดงออกในเฟซบุคนำไปสู่การแสดงอารมณ์ได้ง่ายดาย คนจำนวนมากแสดงอารมณ์ผ่านเฟซบุค ราวกับว่าเฟซบุคเป็นพื้นที่ส่วนตัว เสมือนว่าเมื่ออยู่หน้าเฟซบุค คนยับยั้งความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าในที่สาธารณะอื่นๆ นี่อาจเป็นเพราะเราคิดว่า "เพื่อนๆ" ในเฟซบุคคือคนที่สนิทกับเรา เราจึง "คิดดังๆ" ในเฟซบุคบ่อยๆ บางครั้ง แม้แต่เพื่อนๆ ที่รู้จักกันนอกโลกเฟซบุคด้วยกันเองยังอีดอัดกับการแสดงตัวตนส่วนตัวของเพื่อนๆ ออกมาในเฟซบุค
 
การแสดงอารมณ์ความรู้สึก "ส่วนตัว" ในที่สาธารณะจึงมีส่วนทำให้ความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะพร่ามัวลง
 
ประการที่สี่ ความจริงมีข้อสังเกตจากเนื้อหาสาระที่น่าสนใจจากการนั่งอ่านหน้า feed ของตนเองมากมาย เอาไว้ค่อยมาบันทึกใหม่ แต่อยากบอกเวลานี้ว่า บางสาเหตุที่เลิกใช้เฟซบุคเพราะเฟซบุคไม่อนุญาตให้ผมสามารถจัดการกับความสัมพันธ์บนเฟซบุคได้ดีนัก แม้ว่าระยะหลังเฟซบุคจะออกแบบให้มีระบบการแยกแยะความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น แต่ความสัมพันธ์บนเฟซบุคก็แตกต่างจากความสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์
 
ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์บนเฟซบุคมันใกล้ชิดและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันมากกว่าความสัมพันธ์ในโลกออฟไลน์ นี่คือเรื่องตลกที่ว่า เฟซบุคออกแบบมาให้คนใกล้กันมากกว่าในความสัมพันธ์ที่คนมีกันนอกโลกออฟไลน์ด้วยซ้ำ
 
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเก่า ที่ว่าโลกออนไลน์ไม่จริง เป็นแค่โลกเสมือน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะบอกว่า โลกออนไลน์จริงไม่น้อยไปกว่าโลกออฟไลน์ แต่โลกออนไลน์แบบที่เฟซบุคออกแบบมาก็ทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมากเสียจนยากที่จะจำกัดการรับรู้ของคนที่เราติดต่อสื่อสารกัน เช่น โลกเฟซบุคปล่อยให้คนล่วงรู้ความเป็นไปของคนอื่นโดยที่คนอื่นไม่รู้ตัว หรือไม่สามารถปกป้องได้หมด หรือหากได้ คนจำนวนมากก็อาจไม่รู้วิธีการอันซับซ้อนที่จะปกป้องตนเอง โลกเฟซบุคทำให้คนที่ไม่ได้สัมพันธ์กันในฐานะ Friends เลย กลับสามารถล่วงรู้ความเป็นไปของคนอื่นได้ ผ่านการเป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นต้น
 
โลกเฟซบุคจึงสร้างความสนิทสนมกันจนเกินพอดี ในแง่หนึ่งอาจเพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อแก้ต่างให้กับข้อวิพากษ์ที่เคยมีต่อโลกออนไลน์ว่า โลกออนไลน์สร้างความห่างเหินระหว่างคน ทำให้คนเข้าสู่โลกเสมือนจริง ลดการติดต่อกันจริงๆ เฟซบุคก็เลยออกแบบมาให้เชื่อมต่อผู้คนกันเสียจนเกินพอดี เป็นความสัมพันธ์แบบสนิทกันจนล้นหลาม
 
ข้อสังเกตเหล่านั้น บางอันอาจดูขัดกันเอง ไม่ไปเป็นไปในทางเดียวกัน แต่ความซับซ้อนขัดแย้งกันเองไปมาก็เป็นลักษณะทั่วไปของโลกปัจจุบันไม่ใช่หรือ แต่ถึงผมจะชื่นชม ยอมรับ และพยายามเข้าใจเฟซบุคในหลายๆ มิติ ในที่สุดผมก็อัตวินิบาตกรรมจากโลกเฟซบุค เนื่องจากไม่สามารถอยู่กับความขัดแย้งยอกย้อนเหล่านั้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติของเฟซบุค แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือน่าจะมาจากธรรมชาติของผมเองที่เข้ากับเฟซบุคไม่ได้ อย่างน้อยก็ในขณะนี้
 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย