Skip to main content

ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ

  

ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งที่จริงก็น่าสนใจ คงเพราะโลกของการใช้ภาษาญี่ปุ่นใหญ่พอที่จะไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษให้ดีนักก็ก้าวหน้าทางการงานได้ เดาเอาน่ะนะครับ และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ผมเจอคนญี่ปุ่นหลายคนที่เขียนภาษาอังกฤษดีมาก แต่พูดไม่ได้เลย ฟังบางคนยังพอฟังได้ แต่บางคนฟังก็แทบจะไม่ได้เลย แต่เขียนได้ได้ดีมาก การเขียนภาษาอังกฤษได้ดีคงเพียงพอแล้วกระมัง

 

แต่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และในภาควิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตนี่แตกต่างจากที่อื่น ผู้บริหารที่ศูนย์เองคุยว่านักวิชาการที่ทำงานและที่เกี่ยวข้องศูนย์นี้น่ะ พูดกันได้หลายภาษามากกว่าหลายๆ ที่ในญี่ปุ่น ที่จริงบรรยากาศแบบนี้ก็มีในบางที่ในอเมริกาเหมือนกัน และที่อื่นๆ ในโลกเช่นกัน แต่ต้องเป็นที่ที่มีภาษาสอนหลายภาษา

 

แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนองานวิชาการ ภาษาสำหรับการสื่อสารก็เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่น แต่ภาษาในการแลกเปลี่ยนสนทนานอกเวลานำเสนอผลงาน อย่างในห้องทำงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามร้านเหล้าล่ะก็ อยากพูดภาษาอะไรก็พูดกันไปเถอะ แต่ผมว่าบรรยากาศร้านเหล้านี่แหละที่จะยิ่งทำให้คนพูดกันหลายภาษา เพราะคนอยากแลกเปลี่ยนกันแบบสบายๆ บางทีภาษาอังกฤษก็เป็นอุปสรรคสำหรับนักวิชาการญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นกัน

 

บางวันผมไปนั่งกินเหล้ากับกลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่น ที่กลุ่มคนพูดภาษาเวียดนาม อีกคนพูดภาษาไทย ทั้งสองคนไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษ กับอีกคนที่พูดสองภาษานี้ไม่ได้เลย หันข้างนึงก็พูดภาษาเวียด หันมาอีกข้างก็พูดภาษาไทย หันไปอีกข้างก็ต้องพูดภาษาอังกฤษ นี่ถ้าพูดญี่ปุ่นได้ด้วยคงยิ่งสนุกกว่านี้อีก หรือไม่ก็คือทุกคนพูดญี่ปุ่นหมดมีผมคนเดียวที่พูดภาษาต่างประเทศ

 

เมื่อวาน (27 พฤษภาคม 2559) ไปดูหนังเวียดนามเรื่องหนึ่งกับกลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเวียดนาม กลุ่มที่มาดูก็แน่นอนว่าเป็นพวกที่รู้ภาษาเวียดนาม ไม่รู้มากก็ต้องรู้บ้าง แต่หนังมีซับไทเทิลภาษาญี่ปุ่น ดูหนังจบมีการบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่รู้เรื่อง แต่ก็นั่งอยู่จนจบ เพราะหลังจากนั้นจะมีกิจกรรมทางวิชาการที่ผมถือว่าสำคัญ คือการที่พวกอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท-เอกก็ไปกินข้าวด้วยกัน  

 

ตามปกติของวัฒนธรรมทางวิชาการที่นี่ งานเสวนาวิชาการก็มักจะจัดเย็นๆ เสร็จแล้วจะให้สมบูรณ์ก็ต้องจบลงที่การไปดื่ม-กินด้วยกันอย่างนี้แหละ หากขยันไปเข้าร่วมสัมมนาซึ่งสัปดาห์หนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 2 งาน ไม่มากก็น้อยก็จะต้องติดสอยห้อยตามกันไปดื่ม-กินหลังงานเสวนาวิชาการ ซึ่งก็จะเหนื่อยไม่น้อย

 

คืนวานหลังดูหนัง ผมสนุกมากที่ได้พูดคุยภาษาเวียดนามเหมือนกับอยู่ที่เวียดนามเลย บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลของคนที่ศึกษาเวียดนามพื้นที่ต่างๆ และเรียนรู้จากนักวิชาการเวียดนามเอง เป็นไปอย่างครึกครื้น  

 

ที่สนุกอีกอย่างคือ นอกจากจะแลกเปลี่ยนกันเป็นภาษาเวียดนามเป็นส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษาชาวเวียดที่มาเรียนที่นี่ที่เจอกันเมื่อวานน่ะ เธอมาจากเวียดนามภาคกลาง เสียงภาษาเวียดเธอก็เลยมีสำเนียงภาคกลาง ฟังรื่นหูไปอีกแบบ ได้บรรยากาศแบบไม่ค่อยฮานอยนัก งานวิจัยของเธอก็น่าสนใจ เธอศึกษาเรื่องการคลอดลูกของชาวม้งที่จังหวัด Hà Giang (ห่าซาง) เธอก็ไปเรียนภาษาม้งด้วยเพราะคนม้งที่นั่นแทบไม่พูดภาษาเวียด แล้วพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ซึ่งผมเคยเดินทางไปเยือนมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็จึงแลกเปลี่ยนกันถามไถ่ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมกี่มากน้อย

 

ความบันเทิงอีกอย่างของเมื่อคืนวานคือ นักศึกษาคนนี้มีลูกสาวอายุ 6 ขวบ ตอนนี้มาอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น เด็กคนนี้อยู่มาแค่ปีเดียวก็พูดได้ทั้งภาษาเวียดและภาษาญี่ปุ่นอย่างคล่องแคล่ว แม่เธอบอกว่าลูกสาวพูดภาษาอังกฤษด้วย แต่ยังไม่ได้ลองคุยด้วยว่าพูดไ้ด้ดีแค่ไหน คือในบรรยากาศทางวิชาการแบบนี้ ลูกคนเหล่านี้ก็มักพูดกันหลายภาษาไปด้วย  

 

ไม่มีอะไรมากครับ แค่เล่าสู่กันฟังเพราะอยากให้มีบรรยากาศทางวิชาการแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง มหาวิทยาลัยไทยมีหลายแห่งที่จัดสอนภาษาต่างๆ แต่จะมีสักกี่มากน้อยที่สร้างบรรยากาศทางวิชาการที่แลกเปลี่ยนกันด้วยภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษแบบนี้ แล้วบรรยากาศวิชาการนอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนา ก็แทบจะไม่เกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ศิษย์อาจารย์ของไทยน่ะดูห่างเหินแข็งทื่อยิ่งกว่าระบบอาวุโสที่ดูเคร่งครัดแต่สนิทสนมกันแบบญี่ปุ่น

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์