Skip to main content

ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 

 

ผมเพิ่งได้รับเชิญไปเสนองานในการประชุมวิชาการในโอกาสครบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กแก่งกิจการและภาษาต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studie) ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ และก็ได้มีโอกาสเที่ยวในกรุงโซลและบริเวณใกล้เคียงอีกสองวัน 

 

เรื่องที่อยากจะเขียนหลายตอน เพราะมีหลายเรื่อง ที่จริงเรื่องที่มี passion มากที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน แต่เอาไว้ก่อนดีกว่า ขอเริ่มที่เรื่องที่เห็นได้ชัด และช่วยให้เข้าใจ "ความเป็นเกาหลี" แบบที่คนเกาหลีเลือกนำเสนอ  

 

เกาหลีที่ไปไม่ว่าจะครั้งแรกหรือครั้งที่สอง ก็มักจะมีเพื่อนชาวเกาหลีนำเสนอผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องย้อนกลับไปถึงราชวงศ์และประวัติศาสตร์เกาหลี ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อนเกาหลีจึงมักพาไปดูวังเวียงต่างๆ  

 

ไปคราวนี้ ผมได้นักศึกษาปริญญาเอกชาวเกาหลีที่มาเรียนมานุษยวิทยากับผมที่ธรรมศาสตร์พาเที่ยว ก็จึงได้ความรู้มากมาย ขอเรียกรวมๆ ว่า “เพื่อน” แทนแล้วกัน เพราะบางครั้งก็เป็นคำอธิบายจากชาวเกาหลีคนอื่นๆ ผมไปดูวังสองแห่ง แห่งแรกคือที่พำนักชั่วคราวของกษัตริย์ราชวงศ์โชซอน (Joseon) ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 - 20 เป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนหน้านี้เป็นราชวงศ์ซิลลา (Silla) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล 50 กว่าปีมาจนถึงศตวรรษที่ 10  

 

ที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้มีหลายอย่าง หนึ่งคือ อำนาจการปกครองในเกาหลี ทั้งเหนือและใต้ เป็นอิสระจากจีนมายาวนาน ดูได้ จากวัฒนธรรม โบราณวัตถุ ความเชื่อท้องถิ่น และอักษร ส่วนตัวผมสนใจอักษรเป็นพิเศษ อักษรเกาหลีที่ใช้ในปัจจุบันคิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้วมีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือด้วยอักษรนี้ควบคู่กับอักษรและภาษาจีนตั้งแต่อย่างน้อยศตวรรษที่ 15 เช่นกัน เรื่องอักษรนี้ดูจะเป็นเรื่องสำคัญมาก บริเวณลานหน้าพระราชวังกีอองบุ๊กคุงจึงมีหุ่นกษัตริย์ที่ประดิษฐ์อักษรเกาหลีตั้งอยู่ นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมการสร้างสถาปัตยกรรมหินครอบพระพุทธรูป (เรื่องนี้เล่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ) ธรรมเนียมการทำสุสานเป็นเนินดินขนาดใหญ่ของราชวงศ์ซิลลา 

 

อีกอย่างที่ได้รู้คือ เกาหลีไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อนี้ไม่แปลก แต่ได้รู้ก็ดี นอกจากมีอาณาจักรเล็กน้อยอย่างน้อย 3-4 อาณาจักรที่ผลัดกันเป็นใหญ่แล้ว แต่ละอาณาจักรก็มีอิทธิพลตั้งต้นจากถิ่นต่างๆ ทางใต้ของเกาหลีใต้บ้าง ทางเหนือบ้าง ภาคกลางบ้าง แต่ที่มีอิทธิพลมากและสืบทอดอำนาจยาวนานคือราชวงศ์ซิลลาและราชวงศ์โชซอน 

 

ราชวงศ์ซิลลามีพื้นฐานปรัชญาความคิดสำคัญคือพุทธศาสนา ส่วนราชวงศ์โชซอนอาศัยปรัชญาขงจื่อเป็นหลัก ที่น่าสนใจคือ เพื่อนเกาหลีอธิบายว่า การที่สถาปัตยกรรมเกาหลียุคโชซอนเรียบง่าย เพราะมีหลักคิดแบบขงจื่อ ผมไม่รู้ว่าขงจื่อในความคิดของเกาหลีเป็นอย่างไรบ้าง แต่เคยอ่านงานของผู้เชี่ยวชาญขงจื่อในเอเชีย เขียนเปรียบเทียบเกาหลี จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม แล้วพบว่า ขงจื่อในเกาหลีนั้นมีอิทธิพลมากยิ่งกว่าในจีนด้วยซ้ำ คงจะเพราะสืบเนื่องยาวนาน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากสถาปัตยกรรมคือ ความเรียบง่าย และไม่ค่อยมีรูปบูชาอะไร ส่วนใหญ่เป็นเส้นสายลวดลายประดับที่เป็นรูปทรงเลขาคณิตและนามธรรม ส่วนสีสันก็มีโทนสีที่ไม่ฉูดฉาด ไม่ค่อยมีทองประดับ 

 

อย่างไรก็ดี เพื่อนเกาหลีเล่าว่า โบราณสถานหลายแห่งถูกทำลายไปด้วยน้ำมือของทหารญี่ปุ่น โบราณวัตถุจำนวนมากก็ถูกขโมยไปญี่ปุ่น ผมถามซื่อๆ ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงต้องทำลายวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อนเล่าว่า เพราะเขาต้องการทำให้เกาหลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น กลายเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ในช่วงที่ญี่ปุ่นมาปกครองเกาหลีราว 30 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระราชวังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากก็ถูกทำลายไป แล้วจึงได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ 

 

ผมถามคนเกาหลีว่า ที่เห็นนักเรียนจำนวนมากสวมชุดประจำชาติเกาหลีนั้น เป็นเพราะเขารักวัฒนธรรมเดิมหรืออย่างไร เพื่อนเกาหลีหัวเราะแล้วบอกว่า ไม่น่าจะใช่ คนรุ่นใหม่เขาไม่สนใจหรอก เขาคงแต่งตัวมาเดินเพราะครูสั่งให้ทำการบ้าน ให้แต่งตัวมาเดินในย่านพระราชวังแล้วถ่ายรูป แต่ผมก็เห็นหลายคนเหมือนเขาชอบอยู่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม เพื่อนเกาหลียืนยันว่า คนเกาหลีไม่ได้สนใจราชวงศ์อะไรหรอก เพราะช่วงที่กษัตริย์เสียอำนาจนั้น คนเกาหลีไม่ได้มีส่วนรู้สึกถึงความเป็นประเทศ ไม่ทันได้มีการพัฒนาสำนึกว่ากษัตริย์เกาหลีกับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาเลย การเสียอำนาจที่สำคัญคือเสียให้ญี่ปุ่นนั้น ก็เหมือนเป็นการเสียอำนาจของกษัตริย์เองมากกว่า 

 

ผมจึงคิดว่า ความภูมิใจในโบราณสถานและวัฒนธรรมเกาหลี คือการสร้างสำนึกความเป็นเอกเทศของเกาหลี การเป็นเกาหลีที่ไม่อยู่ใต้การปกครองของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น มากกว่าจะถึงกับเป็นการหลงใหลในประเพณีดั้งเดิมหรือประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของเกาหลี

 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.782899915181728.1073741843.173987589406300&type=1&l=92b62ebfe9

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม