Skip to main content

 

บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่าเหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี

อันที่จริงความผูกพันระหว่างผมกับชาวบ้านไทดำที่ตัวจังหวัดเซอนลา ชาวไทขาวที่เมืองไล ลายเจิว ชาวไทขาวที่มายเจิว หว่าบิ่ญ ชาวไทขาวที่ฟองโถ่ ลายเจิว ชาวไทแดงที่แทญหัวและเหงะอาน และชาวไทดำที่เหงี๊ยะโหละ เอียนบ๋าย ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดจะคุยได้ว่าบ้านเมืองเหล่านั้นเป็นบ้านเก่าเมืองหลััง หากแต่ผู้คนบางถิ่นก็ถือรับนับเอาผมเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เป็นลูกหลานชั่วคราว ส่วนผมเองไม่กล้าอวดอ้างแบบนักวิชาการต่างชาติบางคนหรอกว่า ได้ถูกนับเป็นลูกเลี้ยงหรือเป็นคนในครอบครัวชาวบ้านคนไหน

แต่จะว่าไป เมื่อเกือบสองปีก่อน ผมถูกขอร้องให้ช่วยเป็นพ่อบุญธรรม หรือเรียกในอีกสำนวนว่าพ่อเลี้ยงให้กับเด็กหญิงไทขาวคนหนึ่งที่มายเจิว เธอชื่อวีตอนนั้นวีเกือบสองขวบ เจ็บไข้ประจำ ลุงของพ่อวีซึ่งเป็นหมอด้านจิตวิญญาณบอกว่า ต้องหาพ่อเลี้ยงให้เจ้าวี ผมจึงตกปากรับคำแบบไม่ยั้งคิด แล้วเข้าพิธีที่ไม่ได้วุ่นวายอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวบรรพบุรุษต่อหน้าหิ้งบูชาผีเรือน แล้วใช้ด้ายบางๆ ภาษาที่นั่นเรียกไหมคล้องคอวี

อันที่จริง ในขณะที่ตัดสินใจนั้น ใจหนึ่งก็นึกเอาเปรียบครอบครัววี ที่อยากให้ตัวเองเป็นตัวอย่างของการจัดพิธีเป็นพ่อเลี้ยง ทั้งด้วยเพราะว่าตนเองอยากสังเกตการณ์ และเพราะอยากให้ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันอีก 30 คนได้มีส่วนร่วม แต่อีกใจหนึ่งก็เห็นว่า ในเมื่อมันไม่ได้เสียหายอะไรและน่าจะทำให้ครอบครัวเพื่อนสบายใจ ก็จึงรับเข้าพิธี

หลังจากนั้นมาอีกหนึ่งปี ผมเจอวีอีกครั้ง เธอร่าเริงแข็งแรงมาก จากที่เคยร้องไห้บ่อยๆ เจ็บป่วยประจำ และกลัวทุกคนที่เข้าใกล้ วีเล่นกับทุกคน หน้าตาสดใส ผิดกันไปเป็นคนละคนกับเมื่อปีก่อน มาคราวนี้ได้ไปเจอวีและพ่อ-แม่ของเธออีกครั้ง วีพูดคุยสนุก วิ่งเล่นไปมา พ่อแม่วีบอกที่โรงเรียนอนุบาล วีเที่ยวคุยกับเพื่อนๆ ว่านี่เธอ เรามีพ่อเลี้ยงด้วยนะ

ผมรู้สึกเหมือนมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ไม่รู้แจ้งนักว่ามันคืออะไรรออยู่ข้างหน้า ลำพังตนเองไม่ได้มีลูกของตนเอง แต่เวลานี้กลับมีลูกเลี้ยงในต่างแดน กลับไปมายเจิวคราวนี้จึงไปหาซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากวี ผมซื้อสร้อยเงินเส้นเล็กๆ เหมาะกับคอเรียวๆ ของเด็กน้อยไปคล้องคอแทนด้ายเส้นบางที่ขาดไปแล้ว

เช่นเดียวกันกับป้าเจิว ภรรยาของครูที่ผมศึกษาด้วย เดิมทีระหว่างที่ผมเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์อยู่ ผมจะรู้สึกไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่า เธอคงเห็นผมมองเธอเป็นข้อมูล เป็นวัตถุแห่งการสังเกตการณ์อย่างอยากมีส่วนร่วม แต่นานวันเข้า เธอคงเข้าใจขึ้นบ้างว่า การทำงานวิจัยกับผู้คนไม่ได้ทำให้นักวิจัยปลอดจากอคติขนาดนั้นได้ง่ายดายนัก เราตื่นเต้นกับความแปลกแตกต่าง เราสงสัยและบันทึกอะไรมากมายโดยไม่ทันได้นึกคิดว่าคู่สนทนาจะรู้สึกเหมือนถูกเก็บข้อมูลตลอดเวลา แต่เราก็ทำทั้งเก็บข้อมูลและสร้างมิตรภาพไปพร้อมๆ กัน

มื้อแรกที่เซอนลาในการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมกับแฟนและ Masao เพื่อนนักวิจัยชาวญี่ปุ่น นัดเจอกับพี่แก้ว เพื่อนชาวไทดำที่เมื่อเรียกแกว่าเป็นคนไทดำแล้วผมก็จะรู้สึกเคอะเขิน และเข้าใจถึงความตื้นเขินของคำว่ากลุ่มชาติพันธ์ุได้ทันที เพราะพี่แก้วเป็นคนในหลายๆ โลก (cosmopolitan) แบบที่เราก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละ

พี่แก้วอายุสี่สิบปลายๆ ชอบใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้าผ้าใบ มีสไตล์การแต่งตัวแบบยับปี้ฮานอยอย่างนี้มาตั้งแต่สี่ห้าปีก่อน แกสร้างเรือนแบบมีชาวฮานอยที่มีรสนิยมวิไล ตกแต่งเรือนได้หมดจดมีลีลาดีกว่าคนกรุงเทพฯ พี่แก้วนั่งเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวัน อ่านข่าวสารที่คนเวียดนามมักไม่ได้รับรู้ แต่ก็สืบทอดสำนึกความเป็นไทดำจากการเป็นลูกเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองมั่วะเมืองสำคัญในการเมืองสมัยใหม่ของเวียดนาม (ที่อยู่นอกสำนึกขาดวิ่นของนักวิชาการสยามเกี่ยวกับสิบสองจุไท แต่ก็ช่างนักวิชาการสยามเถอะ ปล่อยให้รู้อะไรน้อยๆ บ้างก็ดี จะได้นึกว่าตนเองเก่งกันนักสืบไป)

เราไปกินอาหารไทดำชานเมืองเซอนลากัน พอพี่แก้วเริ่มพูดคำหรือประโยคอะไรที่เราไม่เคยได้ยิน อย่างเมื่อเราสั่งปลาก้อยมา พี่แก้วบอกว่าแส้บเหยือกินเหยือหมา แส้บปากินปาก้อย” (หิวเนื้อกินเนื้อหมา หิวปลากินปลาก้อย) สัญชาติญาณนักวิจัยของพวกเราก็ทำงานทันที พี่แก้วแค่พูดไปตามความเคยชินของคนที่นี่ที่เมื่อภูมิใจในวัฒนธรรมตนเองแล้วก็มักจะบอกเล่าให้คนต่างเมืองรับรู้ ส่วนพวกเราก็ทำตามความเคยชินคือ เมื่อได้ยินได้เห็นอะไรแปลกใหม่ก็เก็บบันทึกตลอดเวลา

กลับมาเวียดนามคราวนี้เหมือนมาบ้านเก่าเมืองหลัง แต่ก็เหมือนมาบ้านใหม่เมืองหน้า การเดินทางไปถิ่นที่เดิมๆ บ่อยๆ ย่อมได้ความเข้าใจที่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเว้นช่วงห่างจากกันไปนานๆ สามสี่ปีบ้าง ก็รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และก็เริ่มสงสัยกับสิ่งที่เคยรับรู้มาว่า อันที่จริงก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักสังคม-วัฒนธรรมเหล่านี้ ผู้คนเปลี่ยนมาก่อนหน้านี้กี่มากน้อยกี่หลายหนแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก