Skip to main content

 

บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่าเหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี

อันที่จริงความผูกพันระหว่างผมกับชาวบ้านไทดำที่ตัวจังหวัดเซอนลา ชาวไทขาวที่เมืองไล ลายเจิว ชาวไทขาวที่มายเจิว หว่าบิ่ญ ชาวไทขาวที่ฟองโถ่ ลายเจิว ชาวไทแดงที่แทญหัวและเหงะอาน และชาวไทดำที่เหงี๊ยะโหละ เอียนบ๋าย ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดจะคุยได้ว่าบ้านเมืองเหล่านั้นเป็นบ้านเก่าเมืองหลััง หากแต่ผู้คนบางถิ่นก็ถือรับนับเอาผมเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เป็นลูกหลานชั่วคราว ส่วนผมเองไม่กล้าอวดอ้างแบบนักวิชาการต่างชาติบางคนหรอกว่า ได้ถูกนับเป็นลูกเลี้ยงหรือเป็นคนในครอบครัวชาวบ้านคนไหน

แต่จะว่าไป เมื่อเกือบสองปีก่อน ผมถูกขอร้องให้ช่วยเป็นพ่อบุญธรรม หรือเรียกในอีกสำนวนว่าพ่อเลี้ยงให้กับเด็กหญิงไทขาวคนหนึ่งที่มายเจิว เธอชื่อวีตอนนั้นวีเกือบสองขวบ เจ็บไข้ประจำ ลุงของพ่อวีซึ่งเป็นหมอด้านจิตวิญญาณบอกว่า ต้องหาพ่อเลี้ยงให้เจ้าวี ผมจึงตกปากรับคำแบบไม่ยั้งคิด แล้วเข้าพิธีที่ไม่ได้วุ่นวายอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวบรรพบุรุษต่อหน้าหิ้งบูชาผีเรือน แล้วใช้ด้ายบางๆ ภาษาที่นั่นเรียกไหมคล้องคอวี

อันที่จริง ในขณะที่ตัดสินใจนั้น ใจหนึ่งก็นึกเอาเปรียบครอบครัววี ที่อยากให้ตัวเองเป็นตัวอย่างของการจัดพิธีเป็นพ่อเลี้ยง ทั้งด้วยเพราะว่าตนเองอยากสังเกตการณ์ และเพราะอยากให้ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันอีก 30 คนได้มีส่วนร่วม แต่อีกใจหนึ่งก็เห็นว่า ในเมื่อมันไม่ได้เสียหายอะไรและน่าจะทำให้ครอบครัวเพื่อนสบายใจ ก็จึงรับเข้าพิธี

หลังจากนั้นมาอีกหนึ่งปี ผมเจอวีอีกครั้ง เธอร่าเริงแข็งแรงมาก จากที่เคยร้องไห้บ่อยๆ เจ็บป่วยประจำ และกลัวทุกคนที่เข้าใกล้ วีเล่นกับทุกคน หน้าตาสดใส ผิดกันไปเป็นคนละคนกับเมื่อปีก่อน มาคราวนี้ได้ไปเจอวีและพ่อ-แม่ของเธออีกครั้ง วีพูดคุยสนุก วิ่งเล่นไปมา พ่อแม่วีบอกที่โรงเรียนอนุบาล วีเที่ยวคุยกับเพื่อนๆ ว่านี่เธอ เรามีพ่อเลี้ยงด้วยนะ

ผมรู้สึกเหมือนมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ไม่รู้แจ้งนักว่ามันคืออะไรรออยู่ข้างหน้า ลำพังตนเองไม่ได้มีลูกของตนเอง แต่เวลานี้กลับมีลูกเลี้ยงในต่างแดน กลับไปมายเจิวคราวนี้จึงไปหาซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากวี ผมซื้อสร้อยเงินเส้นเล็กๆ เหมาะกับคอเรียวๆ ของเด็กน้อยไปคล้องคอแทนด้ายเส้นบางที่ขาดไปแล้ว

เช่นเดียวกันกับป้าเจิว ภรรยาของครูที่ผมศึกษาด้วย เดิมทีระหว่างที่ผมเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์อยู่ ผมจะรู้สึกไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่า เธอคงเห็นผมมองเธอเป็นข้อมูล เป็นวัตถุแห่งการสังเกตการณ์อย่างอยากมีส่วนร่วม แต่นานวันเข้า เธอคงเข้าใจขึ้นบ้างว่า การทำงานวิจัยกับผู้คนไม่ได้ทำให้นักวิจัยปลอดจากอคติขนาดนั้นได้ง่ายดายนัก เราตื่นเต้นกับความแปลกแตกต่าง เราสงสัยและบันทึกอะไรมากมายโดยไม่ทันได้นึกคิดว่าคู่สนทนาจะรู้สึกเหมือนถูกเก็บข้อมูลตลอดเวลา แต่เราก็ทำทั้งเก็บข้อมูลและสร้างมิตรภาพไปพร้อมๆ กัน

มื้อแรกที่เซอนลาในการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมกับแฟนและ Masao เพื่อนนักวิจัยชาวญี่ปุ่น นัดเจอกับพี่แก้ว เพื่อนชาวไทดำที่เมื่อเรียกแกว่าเป็นคนไทดำแล้วผมก็จะรู้สึกเคอะเขิน และเข้าใจถึงความตื้นเขินของคำว่ากลุ่มชาติพันธ์ุได้ทันที เพราะพี่แก้วเป็นคนในหลายๆ โลก (cosmopolitan) แบบที่เราก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละ

พี่แก้วอายุสี่สิบปลายๆ ชอบใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้าผ้าใบ มีสไตล์การแต่งตัวแบบยับปี้ฮานอยอย่างนี้มาตั้งแต่สี่ห้าปีก่อน แกสร้างเรือนแบบมีชาวฮานอยที่มีรสนิยมวิไล ตกแต่งเรือนได้หมดจดมีลีลาดีกว่าคนกรุงเทพฯ พี่แก้วนั่งเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวัน อ่านข่าวสารที่คนเวียดนามมักไม่ได้รับรู้ แต่ก็สืบทอดสำนึกความเป็นไทดำจากการเป็นลูกเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองมั่วะเมืองสำคัญในการเมืองสมัยใหม่ของเวียดนาม (ที่อยู่นอกสำนึกขาดวิ่นของนักวิชาการสยามเกี่ยวกับสิบสองจุไท แต่ก็ช่างนักวิชาการสยามเถอะ ปล่อยให้รู้อะไรน้อยๆ บ้างก็ดี จะได้นึกว่าตนเองเก่งกันนักสืบไป)

เราไปกินอาหารไทดำชานเมืองเซอนลากัน พอพี่แก้วเริ่มพูดคำหรือประโยคอะไรที่เราไม่เคยได้ยิน อย่างเมื่อเราสั่งปลาก้อยมา พี่แก้วบอกว่าแส้บเหยือกินเหยือหมา แส้บปากินปาก้อย” (หิวเนื้อกินเนื้อหมา หิวปลากินปลาก้อย) สัญชาติญาณนักวิจัยของพวกเราก็ทำงานทันที พี่แก้วแค่พูดไปตามความเคยชินของคนที่นี่ที่เมื่อภูมิใจในวัฒนธรรมตนเองแล้วก็มักจะบอกเล่าให้คนต่างเมืองรับรู้ ส่วนพวกเราก็ทำตามความเคยชินคือ เมื่อได้ยินได้เห็นอะไรแปลกใหม่ก็เก็บบันทึกตลอดเวลา

กลับมาเวียดนามคราวนี้เหมือนมาบ้านเก่าเมืองหลัง แต่ก็เหมือนมาบ้านใหม่เมืองหน้า การเดินทางไปถิ่นที่เดิมๆ บ่อยๆ ย่อมได้ความเข้าใจที่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเว้นช่วงห่างจากกันไปนานๆ สามสี่ปีบ้าง ก็รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และก็เริ่มสงสัยกับสิ่งที่เคยรับรู้มาว่า อันที่จริงก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักสังคม-วัฒนธรรมเหล่านี้ ผู้คนเปลี่ยนมาก่อนหน้านี้กี่มากน้อยกี่หลายหนแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้