Skip to main content

เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 

ซึ่งนั่นก็น่ายินดี เพราะทำให้ผมได้ความรู้จากวิทยากรหลายๆ ท่าน ในส่วนของผม ขอสรุปประเด็นที่ผมนำเสนอ (อาจจะไม่ตรงกับคำพูดในเวลาเพียงประมาณ 20 นาที) ดังนี้

 

1) ด้านที่มาขององค์กร

 

การเกิดขึ้นของกสทช.สอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทย ที่การก้าวเข้าสู่ระบบโลกในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งท่ีจะต้องให้สิทธิเสรีภาพแก่ด้านการสื่อสารในทุกๆ ด้านแก่ประชาชน การมีองค์กรอิสระเพื่อดูแลจัดการด้านนี้โดยเฉพาะ ย่อมเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับทิศทางที่ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายเลือกกระทำ

 

ในกรณีของสังคมไทย กสทช.กำเนิดขึ้นมาในบริบทเดียวกับ “องค์กรอิสระ” ทั้งหลายแหล่ เพียงแต่กสทช.เป็นองค์กรอิสระล่าสุดที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น แต่ก็ดูจะมีบทบาทโดดเด่นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลของประเทศ ในบริบทนี้ กสทช.เกิดมาจากความไม่ไว้วางใจต่อนักการเมืองและบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ในการบริหารจัดการช่องทางการสื่อสาร 

 

อย่างไรก็ดี ดังที่เราได้เห็นกันมาแล้วว่า องค์กรอิสระหลายองค์กรกลับมิได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ยังมีอำนาจเร้นลับ อำนาจนอกระบบ หรืออคติเอนเอียงทางการเมือง ที่เข้ามาแทรกแซงองค์กรอิสระ ทำให้เกิดการบิดเบืนอหลักการสำคัญๆ ขององค์กรอิสระหลายองค์อย่างเห็นได้ชัด (ผมไม่ได้กล่าวไปในเวทีเสวนาว่า ยกตัวอย่างเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

 

ในแง่นี้ กสทช.ก็ไม่ได้พ้นเงื้อมมือของอำนาจนอกระบบ ดังจะเห็นได้ว่า ที่มาของกสทช. ก็มาจากการสรรค์หาของวุฒิสมาชิก ซึ่งกว่าครึ่งไม่ได้มีความยึดโยงกับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ยิ่งกว่านั้น การที่กสทช.ถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญที่เป็นดอกผลของคณะรัฐประหาร 2549 ทำให้เกิดรอบด่างพร้อยแก่คณะกรรมการกสทช.ชุดนี้ รอบด่างพร้อยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกสทช. ซึ่งมีประวัติเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2549-2550 มาก่อน จึงนับได้ว่าสร้างจุดด่างพร้อยแก่กสทช.ว่าเป็นผู้รับใช้ระบอบทหารนิยม ระบอบรัฐประหาร ระบอบอนุรักษ์นิยม

 

ด้วยที่มาดังนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า หากจะต้องเลือกเอาระหว่างความมั่นคงของชาติ ตามอุดมการณ์แบบทหารนิยม/รัฐประหารนิยม/อนุรักษ์นิยม กับสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว กสทช.ชุดนี้จะเลือกเอาอะไรกันแน่ กสทช. จะแสดงบทบาทปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้คลื่นวิทยุ โทรทัศน์ และคลื่นความถี่อย่างไร หากคลื่นเหล่านี้ถูกคุกคามโดยรัฐ

 

2) ด้านอุดมการณ์

 

ผมอ่านในระดับสัญลักษณ์แล้วเห็นว่า กสทช.ชุดนี้มีอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ อำนาจนิยม และราชการนิยม ลักษณะดังกล่าวนี้สามารถ “ถอดรหัส” ได้จากรายงานประจำปีของกสทช. และเว็บไซต์ของ กสทช. เอง 

 

เห็นได้ชัดว่า สัดส่วนของคณะกรรมการกสทช.มีผู้หญิงเพียงคนเดียว จากกสทช. 11 คน และในคณะกรรมการย่อย ยังมีผู้ชายเป็นหัวหน้า ผู้หญิงเพียงคนเดียวนี้ยังมีบทบาทรอง ข้อสังเกตนอกเหนือจากนั้นที่ผมตั้งไว้ในเวทีเสวนาคือ การที่ผู้หญิงกลายเป็นเพียงเสียงเจี้ยวจ้าวที่ระเบ็งเซ็งแซ่มาคอยวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของพวกผู้ชาย 

 

อันที่จริง ข้อที่ผมไม่ทันได้พูดไปในการเสวนาคือการที่สังคมกสทช.ไม่เพียงเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ยังเป็นสังคมที่มีประธานเป็นชาย “นั่ง” เป็นใหญ่อยู่ จากรูปถ่ายในรายงานประจำปี มีเพียงประธานคนเดียวที่นั่ง นอกจากนั้นยืนกันหมด ภาพลักษณ์ “ประธานนั่ง” ส่อถึงการเป็น “ผู้นำที่ไม่ต้องแบกรับภาระในเชิงปฏิบัติการอะไร” นอกจากคอยสั่งการ หรือไม่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์เชิงอำนาจซึ่งสืบทอดมาจากคณะรัฐประหารเท่านั้น

 

ลักษณะชายเป็นใหญ่สอดคล้องกับลักษณะอำนาจนิยม ดังที่เราเห็นได้ชัดว่า ในจำนวนกสทช. 11 คนนี้ เป็นทหารและตำรวจถึง 6 คน สัดส่วนนี้ไม่ได้สะท้อนภาพของสังคมไทย หากแต่สะท้อนการเกาะกลุ่มกันของผู้มีอำนาจในสังคมไทยในขณะนี้ นั่นคือการที่องค์กรอิสระถูกตั้งขึ้นมาจากผลพวงของการรัฐประหาร 2549 และจึงทำให้สัดส่วนของผู้นำแบบอำนาจนิยม/ทหารนิยม/อนุรักษ์นิยม ก้าวเข้ามาในสัดส่วนที่สูง 

 

ประเด็นที่ผมไม่ได้พูดไปคือ กรณีของกสทช.บางคนที่เราเห็นกันอยู่ว่าเขาจะเข้ามาช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ภาคประชาชน ก็ยังน่าสงสัยว่า หากเขาไม่ได้เป็นผู้หนึ่งที่ขัดขืน วิพากษ์ผู้มีอำนาจจนถูกผู้นำรัฐบาลนั้นข่มเหงอย่างรุนแรงแล้ว เขาจะได้รับคัดเลือกมาเป็นกสทช.หรือไม่

 

ดูจากรูปถ่ายของคณะกรรมการแล้ว แม้ว่ากสทช.จะพยายามแสดงภาพลักษณ์แบบ CEO ของบริษัทชั้นนำ แต่วัฒนธรรมองค์กรของกสทช.ยังยึดโยงอยู่กับภาพลักษณ์แบบราชการ สังเกตได้จากการเปิดหน้ารายงานประจำปีด้วย “พระบรมราชโองการ” และมีตราครุฑเหนือเอกสารหน้าเว้นหน้า รวมทั้งประกาศต่างๆ ที่แสดงในเว็บไซต์ก็มีตราครุฑแทบทั้งสิ้น การส่งสารเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงภาพลักษณ์ที่ปรากฏภายนอก แต่มันยังมีผลต่อพฤติกรรม ทั้งของพฤติกรรมขององค์กรเอง และพฤติกรรมของประชาชนที่มองและปฏิบัติต่อกสทช. 

 

การมีภาพลักษณ์ที่เป็นเจ้าคนนายคน หลุดลอยอยู่เหนือแต่ส่งอิทธิพลต่อชาวบ้าน จากเบื้องบน เป็นการผลิตซ้ำวัฒนธรรมราชการ ที่ทำให้กสทช.ไม่เข้าถึงประชาชน และยังมองตนเองว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือประชาชน ความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช.เป็นความจำเป็นอยู่แล้วที่กสทช.จะต้องแตกต่างจากประชาชนทั่วไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กสทช.จะต้องอยู่เหนือประชาชน ด้วยการอิงอำนาจตนเองกับ “พระบรมราชโองการ” ไม่ใช่หรือ

 

ดังนั้น แทนที่องค์กรอิสระนี้จะเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้ประชาชน คุ้มครองสิทธิเสรภาพของประชาชน กลับกลายเป็นว่าจะมาเป็นอำนาจรัฐนอกการกำกับของรัฐบาล และไม่มีความยึดโยงกับอำนาจของปวงชนเสียมากกว่า

 

3) การปฏิบัติหน้าที่

 

ผมตั้งคำถาม 2 ประการกับกสทช. คือเรื่องบทบาทต่อคนชั้นกลางระดับล่าง และบทบาทการเซ็นเซอร์เนื้อหา 

 

ต่อประเด็นแรก หากสังเกตจากเนื้อหาของการเสวนาในวันนั้น และเสียงวิจารณ์ของสังคม ที่โดยมากพุ่งไปยังบทบาทกสทช.ต่อกิจการหรือการคุ้มครองผู้บริโภคในเมือง และผู้บริโภคชนชั้นกลางระดับกลางถึงระดับบน ไม่ว่าจะเป็นการประมูล 3G การปรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ หรือการคุ้มครองผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งก็มีผู้บริโภคที่เป็นปัจเจกชน หากแต่มีการพูดถึงสื่อชุมชนน้อยมาก 

 

เหล่านี้ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า หากสังคมหรือกลุ่มผู้วิพากษ์กสทช.เองไม่ค่อยได้สนใจปกป้องผลประโยชน์ของคนชั้นกลางระดับล่าง หรือคนในชนบท ในต่างจังหวัดแล้ว ก็อาจจะเป็นเพราะว่ากสทช.เองนั่นแหละ ที่ก็ไม่ไดให้ความสำคัญต่อคนเหล่านี้เพียงพอ จึงทำให้ไม่มีเสียงสะท้อนต่อการทำงานด้านนี้ของกสทช.

 

ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ การที่สัญญาณส่งคลื่น “ฟรีทีวี” นั้น กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ในเขตผู้มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายให้กับสัญญาณดาวเทียมหรือสัญญาณเคเบิลทีวี แต่กลับกลายเป็นว่าผู้มีรายได้น้อยต้องจ่ายเงินซื้อจานดาวเทียม เนื่องจากสัญญาณฟรีทีวีในต่างจังหวัดแย่มาก ทำให้ฟรีทีวีฟรีเฉพาะกับคนที่มีรายได้มาก ฟรีกับคนที่ไม่ต้องการฟรีทีวีมากกว่า หรือกรณีโทรศัพท์ทางไกล ที่ราคาแพงมาก ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ใช้โทรศัพท์ราคาถูกกว่ามาเนิ่นนานแล้ว กสทช.มีนโยบายอย่างไรกับการปรับปรุงสิทธิการเข้าถึงตรงนี้หรือไม่ ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดนัก

 

นอกจากนั้น เรื่องวิทยุชุมชน มีเสียงสะท้อนจากข่าวว่าประกาศของกสทช.เรื่อง “หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555” ที่อาจมีผลกีดกันการเข้าถึงสื่อ เช่นมีข้อกำหนดที่ให้ผู้เข้ารับการอบรมประกอบกิจการวิทยุชุมชน จะต้องจบปริญญาตรีสาขาสื่อสารมวลชนด้านวิทยุ-โทรทัศน์ (ดูข่าว “วิทยุชุมชนฟ้อง กสทช. เลือกปฏิบัติ” ใน “คม-ชัด-ลึก” วันที่ 26 ธค. 2555) 

 

หากเป็นดังนั้นจริง ก็จะจำกัดการดำเนินกิจการวิทยุชุมชน ทั้งๆ ที่วิทยุชุมชนมีบทบาทสำคัญต่อความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองของไทยในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ในเมื่อผู้ประกอบกิจการอยู่ในขณะนี้จำนวนหนึ่งไม่ได้จบปริญญาตรี หรือไม่ได้จบสาขานี้โดยตรง เขาก็ยังประกอบกิจการด้านนี้มาได้ แสดงว่าการประกอบกิจการด้านนี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้วุฒิปริญญาตรีสาขาวิทยุ-โทรทัศน์แต่อย่างใด

 

ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนแทนที่กสทช.จะให้การสนับสนุนต่อคลื่นความถี่ลักษณะต่างๆ ที่คนหมู่มาก คนมีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้ แต่กลับจำกัดหรือสร้างเงื่อนไขที่ทำให้การเข้าถึงยากเย็น ในขณะช่องทางการสื่อสารหลัก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุหรือโทรทัศน์ ซึ่งอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ คือทหาร รัฐบาล และบริษัทเอกชน กลับได้รับการโอบอุ้มอะลุ่มอล่วยมากกว่า

 

อีกข่าวหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข่าวการปรากฏตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีในทีวีช่อง 11  ถูกหยิบยกมาเป็นข้อร้องเรียนต่อกสทช.ว่า ทำไมกสทช.ไม่ควบคุม แม้ว่ากสทช.จะตอบกลุ่มผู้ร้องเรียนว่า การปรากฏตัวของบุคคลดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย แต่กสทช.ยังแสดงท่าทีเสมือนเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาด้วยการกล่าวว่า “สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะช่อง 11 ในภาพกว้าง เวลาทำรายการใดๆ ต้องระมัดระวังว่ารายการนั้นจะไม่ก่อให้เกิดข้อคิด หรือข้อขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม” (ดูข่าว “กสทช.ไม่ฟันทักษิณโผล่ทีวี” ใน “บ้านเมือง” วันที่ 26 ธค. 2555) 

 

ความเห็นนี้จัดได้ว่าเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาในลักษณะหนึ่ง เนื่องจากกำกับว่าจะต้องมีทิศทางของเนื้อหาไปทางใดทางหนึ่ง นอกจากนั้น ความเห็นนี้ยังวางกรอบที่กำกวมว่า เนื้อหานั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งในสังคม ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่า เนื้อหาใดก่อให้เกิดความขัดแย้ง เนื้อหาใดไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง หากกสทช.เป็นผู้ตัดสิน ก็จะยิ่งตอกย้ำว่า กสทช.เป็น “คุณพ่อรู้ดี” เป็นผู้เผด็จการที่คอยกำหนดกะเกณฑ์ได้ว่า เนื้อหาใดควรนำเสนอออกสื่อ เนื้อหาใดไม่ควร 

 

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ นี่แสดงว่ากสทช.ไม่เข้าใจลักษณะของสังคมประชาธิปไตยและสังคมสมัยใหม่ว่า เป็นสังคมที่มีความขัดแย้งเป็นธรรมชาติ ตราบใดที่ความขัดแย้งนั้นยังดำเนินไปบนวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย และสามารถจัดการได้ด้วยด้วยกลไกในระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งใดๆ ก็เป็นที่ยอมรับได้ 

 

ปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากปัญหาของที่มาของกสทช.และอุดมการณ์เบื้องหลังกสทช.ดังกล่าว หากแต่ปัญหานี้สะท้อนว่า ที่มาและอุดมการณ์แบบอำนาจนิยม/ทหารนิยม/อนุรักษ์นิยมอาจมีส่วนทำให้ประเด็นเรื่องการกระจายโอกาสการเข้าถึงสื่อไปสู่คนรายได้น้อย และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อและเสรีภ่พการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น ไม่ได้เป็นจุดเน้นของกสทช.ชุดปัจจุบัน

 

ในท้ายที่สุด ผมตั้งคำถามว่า หากแก้รัฐธรรมนูญแล้ว กสทช.ชุดนี้จะแสดงสบิริตประชาธิปไตยด้วยการลาออกหรือไม่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน