Skip to main content

ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 

แต่ของขวัญที่คนรับถูกใจ บางครั้งเป็นของขวัญที่คนให้ตั้งใจให้ หรือเลือกนำสิ่งที่ตนรักมาให้ เดี๋ยวนี้จึงมีวิธีจับฉลากของขวัญด้วยการให้แต่ละคนนำของที่รักมา แล้วบอกว่าของสิ่งนั้นมีค่าอย่างไร ในงานปาร์ตีปีใหม่ที่ผมได้ไปร่วมเมื่อวันก่อน เพื่อนกลุ่มหนึ่งก็นำเอาวิธีการนี้มาใช้เล่นจับฉลากกัน

การจับฉลากแบบนี้จะสนุกยิ่งขึ้นหากมีการยอมให้ผู้ที่ไม่พอใจของขวัญตนเอง ขอแลกของขวัญกับคนอื่น โดยที่คนถูกขอไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่การขอแลกก็ต้องมีที่สิ้นสุด เช่นในแต่ละรอบของการขอแลก อาจกำหนดให้สามารถเปลี่ยนมือได้เพียง 4 มือ แล้วก็ค่อยจับฉลากของขวัญชิ้นต่อไป วันก่อนเพื่อนบางคนก็เลยได้ของถูกใจกลับบ้าน ส่วนบางคนแม้ไม่ได้ของถูกใจ ก็มีส่วนทำให้การแลกเปลี่ยนในวันนั้นมีคุณค่าขึ้นมา

วิธีการเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับวิธีที่ชาวเกาะทรอเบียนส์ในหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ (เหนือประเทศออสเตรเลีย) เคยใช้ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ปรมจารย์ทางมานุษยวิทยาคนหนึ่งพบว่า ชาวเกาะสร้างวงแหวนของการแลกเปลี่ยน ที่เรียกกันว่า "กูลา" (kula) แลกของมีค่าคือสร้อยคอและกำไลแขน การแลกเปลี่ยนมีกฎเกณฑ์สำคัญได้แก่ สร้อยคอต้องแลกต่อๆ กันไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา ส่วนกำไลแขนต้องแลกต่อไปกันไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้ว่าสร้อยคอและกำไลแขนบางชิ้นจะมีชื่อเสียง มีค่า ผู้คนอยากเห็นอยากจับต้องอยากครอบครอง หากแต่ว่า แต่ละคนจะสามารถครอบครองสร้อยคอและกำไลแขนได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แบบสมบัติผลัดกันชม แล้วก็ต้องแลกต่อๆ กันไป เครือข่ายของการแลกเปลี่ยนนี้ใหญ่โตมาก กินอาณาบริเวณข้ามทะเลไปหลายเกาะ ข้ามกลุ่มคนที่พูดภาษาที่แตกต่างกันหลายสังคม

ในบรรดาการศึกษาเรื่องของขวัญ ดูจะไม่มีใครเกินมาร์เซล โมส (Marcel Mauss ในหนังสือชื่อ The Gift) เขาเสนอว่า ของขวัญมีวิญญาณของผู้ให้ฝังอยู่ ผู้รับจึงไม่ได้รับมาเพียงวัตถุ แต่รับความผูกพันทางใจของผู้ให้มาด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ของขวัญสร้างภาระผูกพันที่จะต้องตอบแทน หากไม่ใช่ด้วยสิ่งของ ก็ด้วยความภักดี การให้จึงนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนตอบแทนกลับคืนไม่ว่าจะรูปใดรูปหนึ่งเสมอ การแลกเปลี่ยนจึงสร้างพันธะทางสังคม

สิ่งของในนามของขวัญจึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ แต่ยังมีคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางสังคมแฝงอยู่ หากจะไม่รังเกียจวัตถุกันแบบนักจิตนิยมใจแคบหัวทื่อ วัตถุจึงนับเป็นสื่อสำคัญของการสร้างสายใยทางสังคม

โมสทำให้ของขวัญกลายเป็นมโนทัศน์ทางทฤษฎีที่ยิ่งกว่าเพียงตัวของขวัญเป็นชิ้นๆ แต่เขาได้ขยายความเข้าใจเรื่องของขวัญไปสู่การแสกเปลี่ยนแบบอื่นๆ ทั้งงานปาร์ตี งานเลี้ยงฉลอง คำอวยพร ตลอดจนการบนบานศาลกล่าว การบริจาค การทำทาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้วางอยู่บนความสมเหตุสมผลในทางวัตถุแบบแกนๆ 

หากแต่คนแลกเปลี่ยนในงานเฉลิมฉลองกันบนความสมเหตุสมผลทางสังคม และความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นอกจากจะวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศน์แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ

ลัทธิพิธีทางศาสนาแบบโบราณ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลในสายตาของนักการศาสนาแบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลาย หรือดูเหมือนสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (สายคร่ำครึ) ล้วนวางอยู่บนหลักการทางสังคมและจิตวิญญาณที่มีเหตุมีผลของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน เราจึงเห็นได้ว่าคนปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างไปจากคนโบราณ เนื่องจากเรายังแลกเปลี่ยนของขวัญกันอยู่ เรายังเฉลิมฉลองกันอยู่ เรายังอวยพรและขอพรกันอยู่ แม้ว่าความเข้าใจแบบเดิมจะถูกแทรกแซงจากความสมเหตุสมผลอย่างใหม่ๆ หรือถูกลดทอนคุณค่าลงไปบ้างก็ตาม

ฉะนั้น จงมาร่วมกันเฉลิมฉลอง ร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งของ ร่วมกันสืบทอดความเป็นมนุษย์ ด้วยการ "ฆ่าเวลา" กับการดื่มฉลองข้ามปี (ยังอาจจะดีเสียกว่าสวดมนต์ข้ามปีอย่างไม่ใยดีกับการสังหารหมู่ประชาชน) ด้วยการแลกเปลี่ยนคำอวยพร (แม้จะต้องทนฟังคำอวยพรจากคนที่คอยระแวงว่าเราจ้องจะล้มล้างเขากันบ้าง) ด้วยการปาร์ตีหลายๆ วงกับเพื่อนหลากกลุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่แหลกละเอียดด้วยอาณาบริเวณทางสังคมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาอย่างกระจัดกระจาย

อย่างไรเสีย (มีคำเตือนอย่างปอดๆ แบบคน "สมัยใหม่" ที่นิยมในเหตุผลอย่างแคบว่า) หากคุณไม่ได้เชื่อถือในปรัชญาของการสูญเสียอย่างที่สุดจนสามารถยอมรับความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขได้ ก็ขอให้ฉลองและแลกเปลี่ยนของกำนัลกันแต่พอประมาณ อย่าได้เตลิดเพลิดเพลินกันจนก่อความสูญเสียแก่ตนเองและสังคมมากนักเลย

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย