Skip to main content

ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 

แต่ของขวัญที่คนรับถูกใจ บางครั้งเป็นของขวัญที่คนให้ตั้งใจให้ หรือเลือกนำสิ่งที่ตนรักมาให้ เดี๋ยวนี้จึงมีวิธีจับฉลากของขวัญด้วยการให้แต่ละคนนำของที่รักมา แล้วบอกว่าของสิ่งนั้นมีค่าอย่างไร ในงานปาร์ตีปีใหม่ที่ผมได้ไปร่วมเมื่อวันก่อน เพื่อนกลุ่มหนึ่งก็นำเอาวิธีการนี้มาใช้เล่นจับฉลากกัน

การจับฉลากแบบนี้จะสนุกยิ่งขึ้นหากมีการยอมให้ผู้ที่ไม่พอใจของขวัญตนเอง ขอแลกของขวัญกับคนอื่น โดยที่คนถูกขอไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่การขอแลกก็ต้องมีที่สิ้นสุด เช่นในแต่ละรอบของการขอแลก อาจกำหนดให้สามารถเปลี่ยนมือได้เพียง 4 มือ แล้วก็ค่อยจับฉลากของขวัญชิ้นต่อไป วันก่อนเพื่อนบางคนก็เลยได้ของถูกใจกลับบ้าน ส่วนบางคนแม้ไม่ได้ของถูกใจ ก็มีส่วนทำให้การแลกเปลี่ยนในวันนั้นมีคุณค่าขึ้นมา

วิธีการเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับวิธีที่ชาวเกาะทรอเบียนส์ในหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ (เหนือประเทศออสเตรเลีย) เคยใช้ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ปรมจารย์ทางมานุษยวิทยาคนหนึ่งพบว่า ชาวเกาะสร้างวงแหวนของการแลกเปลี่ยน ที่เรียกกันว่า "กูลา" (kula) แลกของมีค่าคือสร้อยคอและกำไลแขน การแลกเปลี่ยนมีกฎเกณฑ์สำคัญได้แก่ สร้อยคอต้องแลกต่อๆ กันไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา ส่วนกำไลแขนต้องแลกต่อไปกันไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้ว่าสร้อยคอและกำไลแขนบางชิ้นจะมีชื่อเสียง มีค่า ผู้คนอยากเห็นอยากจับต้องอยากครอบครอง หากแต่ว่า แต่ละคนจะสามารถครอบครองสร้อยคอและกำไลแขนได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แบบสมบัติผลัดกันชม แล้วก็ต้องแลกต่อๆ กันไป เครือข่ายของการแลกเปลี่ยนนี้ใหญ่โตมาก กินอาณาบริเวณข้ามทะเลไปหลายเกาะ ข้ามกลุ่มคนที่พูดภาษาที่แตกต่างกันหลายสังคม

ในบรรดาการศึกษาเรื่องของขวัญ ดูจะไม่มีใครเกินมาร์เซล โมส (Marcel Mauss ในหนังสือชื่อ The Gift) เขาเสนอว่า ของขวัญมีวิญญาณของผู้ให้ฝังอยู่ ผู้รับจึงไม่ได้รับมาเพียงวัตถุ แต่รับความผูกพันทางใจของผู้ให้มาด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ของขวัญสร้างภาระผูกพันที่จะต้องตอบแทน หากไม่ใช่ด้วยสิ่งของ ก็ด้วยความภักดี การให้จึงนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนตอบแทนกลับคืนไม่ว่าจะรูปใดรูปหนึ่งเสมอ การแลกเปลี่ยนจึงสร้างพันธะทางสังคม

สิ่งของในนามของขวัญจึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ แต่ยังมีคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางสังคมแฝงอยู่ หากจะไม่รังเกียจวัตถุกันแบบนักจิตนิยมใจแคบหัวทื่อ วัตถุจึงนับเป็นสื่อสำคัญของการสร้างสายใยทางสังคม

โมสทำให้ของขวัญกลายเป็นมโนทัศน์ทางทฤษฎีที่ยิ่งกว่าเพียงตัวของขวัญเป็นชิ้นๆ แต่เขาได้ขยายความเข้าใจเรื่องของขวัญไปสู่การแสกเปลี่ยนแบบอื่นๆ ทั้งงานปาร์ตี งานเลี้ยงฉลอง คำอวยพร ตลอดจนการบนบานศาลกล่าว การบริจาค การทำทาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้วางอยู่บนความสมเหตุสมผลในทางวัตถุแบบแกนๆ 

หากแต่คนแลกเปลี่ยนในงานเฉลิมฉลองกันบนความสมเหตุสมผลทางสังคม และความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นอกจากจะวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศน์แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ

ลัทธิพิธีทางศาสนาแบบโบราณ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลในสายตาของนักการศาสนาแบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลาย หรือดูเหมือนสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (สายคร่ำครึ) ล้วนวางอยู่บนหลักการทางสังคมและจิตวิญญาณที่มีเหตุมีผลของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน เราจึงเห็นได้ว่าคนปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างไปจากคนโบราณ เนื่องจากเรายังแลกเปลี่ยนของขวัญกันอยู่ เรายังเฉลิมฉลองกันอยู่ เรายังอวยพรและขอพรกันอยู่ แม้ว่าความเข้าใจแบบเดิมจะถูกแทรกแซงจากความสมเหตุสมผลอย่างใหม่ๆ หรือถูกลดทอนคุณค่าลงไปบ้างก็ตาม

ฉะนั้น จงมาร่วมกันเฉลิมฉลอง ร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งของ ร่วมกันสืบทอดความเป็นมนุษย์ ด้วยการ "ฆ่าเวลา" กับการดื่มฉลองข้ามปี (ยังอาจจะดีเสียกว่าสวดมนต์ข้ามปีอย่างไม่ใยดีกับการสังหารหมู่ประชาชน) ด้วยการแลกเปลี่ยนคำอวยพร (แม้จะต้องทนฟังคำอวยพรจากคนที่คอยระแวงว่าเราจ้องจะล้มล้างเขากันบ้าง) ด้วยการปาร์ตีหลายๆ วงกับเพื่อนหลากกลุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่แหลกละเอียดด้วยอาณาบริเวณทางสังคมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาอย่างกระจัดกระจาย

อย่างไรเสีย (มีคำเตือนอย่างปอดๆ แบบคน "สมัยใหม่" ที่นิยมในเหตุผลอย่างแคบว่า) หากคุณไม่ได้เชื่อถือในปรัชญาของการสูญเสียอย่างที่สุดจนสามารถยอมรับความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขได้ ก็ขอให้ฉลองและแลกเปลี่ยนของกำนัลกันแต่พอประมาณ อย่าได้เตลิดเพลิดเพลินกันจนก่อความสูญเสียแก่ตนเองและสังคมมากนักเลย

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"