Skip to main content

อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม" 

แต่ไม่เป็นไรครับ มาคราวนี้ อาจารย์ออกมาแสดงความเห็น ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับสังคมไทยในสภาวะสุ่มเสี่ยงขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง กระนั้นก็ตาม ผมมีข้อสงสัยอยู่ว่า ที่อาจารย์สรุปในข้อแรกของจดหมายถึงนายสุเทพว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นสันติวิธี จนทำให้คนเอาไปใช้อ้างสนับสนุนนายสุเทพกันไปทั่วนั้น จะเป็น "อสันติวิธี-วิหิงสา-อนารยะขัดขืน" ตั้งแต่ต้นเสียมากกว่าหรือเปล่า 

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ได้ติติงนายสุเทพไว้ในข้อท้ายๆ ของจดหมายอยู่พอสมควร แต่ก็ยังสงสัยว่า การเคลื่อนไหวของนายสุเทพเป็นสันติวิธีแต่แรกแล้วอาจจะกลับกลายเป็นอสันติวิธี หรือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดหลักการสันติวิธีตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วกันแน่ อาจารย์ครับ อาจารย์เป็นครูที่ผมเคารพ และเป็นปรมจารย์ของสันติวิธีในประเทศไทย ผมจึงขอความรู้จากอาจารย์ดังนี้ 

ข้อแรก ผู้ใช้สันติวิธีจะต้องเป็นผู้รักสันติด้วยหรือไม่ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มีประวัตินิยมความรุนแรง สั่งการให้มีการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553 แล้วขณะนี้กลับมานำมวลชน ต่อสู้เพื่อล้มระบอบทักษิณ ด้วยวิธีการที่คล้ายกับสันติวิธี จะถือว่าใช้สันติวิธีได้หรือไม่ หรือใครก็เป็นนักสันติวิธีได้ตราบใดที่เขาใช้หันมาใช้วิธีการต่อสู้อย่างสันติ แม้ว่าเขาจะเคยใช้ความรุนแรงอย่างร้ายกาจต่อประชาชนมือเปล่าผู้บริสุทธิ์มากมายจนประจักษ์แก่ตาชาวโลกไปทั่วแล้วก็ตาม อาจารย์เชื่อจริงๆ หรือครับว่านายสุเทพเป็นคนรักสันติ 

ข้อต่อมา เท่าที่ผมเข้าใจ สันติวิธีใช้ต่อสู้เพื่อชนผู้ไร้อำนาจต่อรอง สันติวิธีใช้เพื่อต่อกรกับผู้ใช้อำนาจครอบงำ สันติวิธีเป็นอำนาจของชนชั้นผู้ยากไร้ ด้อยอำนาจ ไร้พลังต่อต้านด้วยวิธีอื่น แต่ผมแน่ใจได้ว่า การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกไม่ได้เป็นไปเพื่อคนยากไร้ คนด้อยอำนาจตั้งแต่แรกก่อตั้งขบวนการอย่างแน่นอน การต่อสู้ของนายสุเทพและพรรคพวกได้รับการสนับสนุนจากคนมีอำนาจ อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมและการเมือง เช่น นักวิชาการที่สนับสนุนการรัฐประหาร ชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่มีรายได้สูงจำนวนมาก และยังชนชั้นสูงจากระบอบเก่าอีกกลุ่มหนึ่ง คนเหล่านี้ต่อสู้เพื่อคงอำนาจจนถึงราชศักดิ์ของตนไว้มากกว่าต่อสู้เพื่อคนด้อยอำนาจไม่ใช่หรือ ซ้ำร้าย คนเหล่านี้ยังดูถูกชนชั้นล่างๆ ลงมาในสังคม ว่าไร้การศึกษา โง่เป็นควาย ตั้งแต่แรกเร่ิมการต่อสู้ อย่างนี้แล้วการต่อสู้ของนายสุเทพและขบวนการนกหวีดจะเป็นสันติวิธีได้ด้วยหรือ 

ข้อสาม ขณะนี้ประเทศเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องใช้สันติวิธีล้มล้างอำนาจรัฐกันแล้วหรือหรือ สันติวิธีจะใช้เมื่อไม่มีวิธีอื่นใดที่สันติกว่าหลงเหลืออยู่ในการต่อสู้อีกต่อไปแล้วใช่หรือไม่ แต่ขณะนี้เรามีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ มีองค์กรทางการเมืองอีกมากมาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ ศาลยุติธรรม ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ง่อยเปลี้ย ไม่มีอำนาจ ถูกครอบงำจากพลังชั่ว ไม่สามารถคงความยุติธรรมได้แล้วจริงหรือ หากเราไม่เชื่อถือในสถาบันทางการเมืองใดๆ เลย แล้วใช้วิธีการที่ใกล้เคียงกับสันติวิธีไปเรื่อยๆ เพื่อล้มล้างทำลายสถาบันทางการเมืองไปจนถึงขีดสุด สันติวิธีจะยังเป็นวิธีการที่ถูกนำมาสร้างสันติสุขอยู่อีกหรือ เราต้องถามด้วยหรือไม่ว่า เมื่อใดกันที่สันติวิธีมีความชอบธรรม หรือเมื่อใดก็ได้ ใครก็ได้ จะใช้เพื่ออะไรหรือเพื่อใครก็ตาม หากใช้วิธีการคล้ายๆ สันติวิธีแล้ว ก็ล้วนเป็นสันติวิธีหมดหรือ 

ข้อสี่ วิธีการคล้ายสันติวิธีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณและมวลชนนกหวีด เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยสันติ หรือเป็นการทำลายสันติสุขเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงกันแน่ ข้อนี้เราไม่อาจกล่าวหากันได้อย่างตรงไปตรงมาง่ายๆ แต่น่าสงสัยว่า หากไม่เกิดความรุนแรงขึ้นมาแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยในขณะนี้ตามข้อเรียกร้องของนายสุเทพและพวกได้อย่างไร หากสันติวิธีที่กระทำไปเพื่อหวังผลทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการกดดันยั่วยุจนทำให้ฝ่ายรัฐจำต้องใช้ความรุนแรงแล้ว จะยังเรียกว่าสันติวิธีได้หรือไม่ ซ้ำร้าย อาจารย์ก็น่าจะทราบดีว่า นายสุเทพและพรรคพวกพยายามเรียกร้องให้ทหารออกมาใช้กำลังรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แล้วเรายังจะเรียกการต่อสู้นี้ว่าสันติวิธีได้อีกหรือ

สรุปแล้ว อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ เมื่ออ่านข้อเขียนอาจารย์จนจบ ผมเข้าใจได้ไม่ยากว่าสันติวิธีไม่ได้เป็นเพียงวิธีการ แต่จะสันติวิธีจะต้องเป็นทั้งวิธีการ เป้าหมาย และหลักการทางการเมืองของขบวนการอย่างสันติเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากไปพร้อมกันตั้งแต่เร่ิมแรก แต่การใช้วิธีการคล้ายสันติวิธี โดยผู้นิยมความรุนแรง เพื่ออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย นอกระบอบประชาธิปไตย จนเป็นการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการรัฐประหารโดยการใช้กำลังรุนแรง จะถือว่าเป็นสันติวิธีตั้งแต่แรกจนถึงขณะนี้ด้วยหรือครับ 

ด้วยความนับถือ 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์