Skip to main content

 

ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 

<--break->สังคมไทยปัจจุบันมีประชาชนหลายกลุ่ม ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางรุ่นเก่า ที่เติบโตขึ้นมาจากดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยสงครามเย็นและสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใต้ร่มเงาของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 คนเหล่านี้ในที่สุดลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการทหาร โดยการนำของนักศึกษา ที่อาจารย์ธีรยุทธเองมีคุณูปการอยู่มาก ในทศวรรษ 2510 หากแต่หลังจากนั้น เมื่อคนเหล่านี้กลับเข้ามาสู่ระบบ พวกเขากลับกลายเป็นคนมีฐานะทางสังคม ได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนเติบโตมีอำนาจทางการเมืองขึ้นมา คนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ของมวลชนนกหวีด ที่ไม่ได้เพิ่งก่อตัว "เริ่มขึ้นเล็กๆ จากคปท." อย่างที่อาจารย์กล่าว แต่เป็นกลุ่มมวลชนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2548

หากแต่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดการกระจายรายได้ การกระจายอำนาจ และเกิดการปฏิรูปการเมืองให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น หลังทศวรรษ 2530 ก็เกิดประชาชนชั้นกลางรุ่นใหม่ขึ้นมา พวกเขาคือผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย คือผู้สนับสนุนทักษิณ หากการแสดงออกทางการเมืองบนท้องถนนของมวลชนนกหวีดในขณะนี้คือการปฏวิติประชาชนล่ะก็ แล้วการแสดงออกบนท้องถนนของมวลชนคนเสื้อแดงในปี 2552-2553 ล่ะ อาจารย์จะเรียกว่าอะไร พวกเขาไม่ใช่ประชาชนหรืออย่างไร

ที่สำคัญคือ ความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐแบบที่อาจารย์เคยต่อสู้ด้วยเมื่อ 40 ปีก่อน หากแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่มใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างหนุนหลัง ต่างฝ่ายต่างมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับชนชั้นนำสองกลุ่ม ทั้งประชาชนและชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเอาชนะกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะว่าเสียงข้างมากชนะเด็ดขาดก็ยัง เพราะไม่อย่างนั้นเสียงข้างมากจะถอยกราวรูดจนสุดซอยเมื่อเสนออะไรที่สังคมรับไม่ได้อย่างยิ่งออกมาหรือ จะว่าเสียงข้างน้อยชอบธรรมกว่าก็ไม่ถูก เพราะประชาชนที่สนับสนุนทักษิณเขาก็ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งตามกติกาที่ชนชั้นนำอีกฝ่ายหนึ่งสร้างขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เช่นกัน 

ที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายหนึ่งครองอำนาจรัฐ อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอมรับ เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งนั้นใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ผ่านระบอบประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นใช้อำนาจนอกระบบ ผ่านการรัฐประหารและการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มาคราวนี้ฝ่ายหนึ่งก็กำลังจะเล่นนอกกติกาประชาธิปไตยอีก ด้วยการใช้การยึดอำนาจโดยมวลชน รอการสนับสนุนจากกองกำลังทหาร เพื่อขึ้นสู่อำนาจทางลัดอีก

เมื่ออาจารย์ตั้งต้นการวิเคราะห์ผิด มีสมมุติฐานว่าใครคือประชาชนที่ผิดฝาผิดตัว ปัญหาของประเทศที่อาจารย์มองเห็นจึงผิดตามไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าอาจารย์จะให้น้ำหนักกับปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมืองว่าเป็นปัญหาหลักของประเทศ ทั้งๆ ที่ปัญหานี้เป็นเพียงปัญหาหนึ่งในอีกหลายๆ ปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นอาจารย์เสนอกลไกอะไรในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ผ่านมาอาจารย์เคยเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ แต่เราอยู่กับตุลาการภิวัฒน์มานาน 7 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นแก้อะไรได้ 

รัฐบาลที่อาจารย์ดูจะมีความหวังให้ คือรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลลานนท์ ซึ่งก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ยังไม่เห็นจะแก้ปัญหาอะไรได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลนั้นเองก็มีเรื่องราวการคอร์รัปชั่นเช่นกัน แถมสังคมไทยยังเริ่มสงสัยกับกลไกตุลาการภิวัฒน์มากยิ่งขึ้นทุกวัน แล้วคราวนี้อาจารย์ยังจะสนับสนุนให้มวลชนนกหวีดกับ กปปส. เข้ามาแก้ไข คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองมาก่อนหรอกหรือ พวกเขาไม่ใช่ตัวปัญหาในการวิเคราะห์ของอาจารย์อยู่ก่อนแล้วหรอกหรือ พวกเขาจะกลับตัวกลับใจได้ชั่วข้ามคืนหรอกหรือ

แทนที่จะทดลองเดินทางลัดที่เพิ่งพาสังคมไทยลงเหวมาแล้วอีก สู้เราลองหาทางสร้างกลไกอื่นๆ กันขึ้นมาใหม่ในระบอบที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วดีไหม เช่น แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการสร้างช่องทางให้อำนาจยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ปรับองค์กรอิสระให้ถูกตรวจสอบถ่วงดุลง่ายขึ้นและไม่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายองค์กรที่ได้อำนาจจากประชาชนโดยตรง ปรับวิธีการเลือกตั้ง เช่น ข้อเสนอว่าด้วยไพรแมรีโหวต (primary vote) สร้างกลไกควบคุมการทุจริตแบบใหม่ๆ เช่น การไม่อนุญาตให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง และเป็นนายกสภา ประธานกรรมการบริหารองค์กรราชการ และกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายๆ แห่ง เพื่อกันการสร้างอำนาจอุปถัมภ์ในหมู่ชนชั้นนำ และทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่พ้นไปจากการเมืองด้วยการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น

ท้ายที่สุด ผมหวังว่าจะเข้าใจอาจารย์ผิดไปหากจะสรุปว่า ข้อเสนอของอาจารย์แฝงนัยดูถูกประชาชนหลายประการด้วยกัน หนึ่ง ดูถูกโดยมองข้ามหัวประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนทักษิณและยิ่งลักษณ์อยู่ สอง ดูถูกว่าพวกเขาแค่เป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางการเมืองด้วยการหว่านเงินและนโยบายแจกเศษเงินของนักการเมือง สาม ดูถูกว่าการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีความหมาย

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม