ยุกติ มุกดาวิจิตร: การเมืองสีเสื้อในวงวิชาการ

 

ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน

<--break->เมื่อไม่นานมานี้ มีนักการทูตจากประเทศหนึ่งถามผมว่า "ในภาวะการณ์ทางการเมืองที่มีการแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างรุนแรงนี้ ส่งผลต่อเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ของนักวิชาการบ้างหรือเปล่า" ผมตอบว่า ที่ผมประสบมาและที่ทราบมามีหลายกรณีด้วยกัน

หนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้ารับตำแหน่งบริหารขององค์กรหนึ่ง เมื่อก่อนองค์กรนี้มีบทบาททางวิชาการอย่างสำคัญ แต่ระยะหลังซบเซาไป มีเพื่อนนักวิชาการไม่กี่คนที่รู้การทาบทามนี้ ทุกคนสงสัยแต่แรกว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ ผมเองก็สงสัยแต่แรก แต่อีกใจก็อยากรู้ว่าจะเดาผิดหรือเปล่า ผลก็คือ ผู้ใหญ่ ๆ ในองค์กรนั้นบอกผู้ใหญ่ที่มาทาบทามผมว่า "คนนี้ใส่เสื้อมีสี ให้มาทำงานที่นี่ไม่ได้เด็ดขาด" เล่นเอาผู้ใหญ่ที่มาทาบทามผมงงงวยไปเลย

สอง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับการทาบทามให้ไปเป็นองค์ปาฐกให้กับการประชุมทางวิชาการใหญ่รายการหนึ่งจากเพื่อนนักวิชาการ แต่แล้วเมื่อรายการจัดออกมา ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อผม ผมก็ไม่ได้ติดใจถามไถ่อะไร เนื่องจากคิดว่าตนเองคงยังไม่มีคุณวุฒิเพียงพอ แต่เพิ่งมารู้ภายหลังว่า แหล่งทุนที่ให้เงินสนับสนุนระบุมาว่า "อย่าให้มีพวกใส่เสื้อสี...มากนัก" ชื่อผมก็เลยหลุดไป

สาม ในตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ผมหมดวาระแล้ว และผมไม่ได้รับตำแหน่งต่อ เพราะอยากทำงานเขียนให้มากขึ้นและเห็นว่าเพื่อนร่วมงานก็น่าจะได้ลองทำงานบริหารกันบ้าง แต่ในระหว่างอยู่ในตำแหน่ง เมื่อใดที่ขอห้องประชุมจัดงาน ฝ่ายบริหารซึ่งดูแลสถานที่จะต้องแขวะกลับมาทุกทีว่า "เป็นงานเสื้อ...อีกแล้วใช่ไหม" หากไม่มีการเมืองสีเสื้อ งานเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมบริการวิชาการที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนเป็นอย่างดี

สี่ ในการขอทุนทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคนหนึ่งที่ผมเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ แหล่งทุนปฏิเสธการสนับสนุนวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม หน่วยงานดังกล่าวซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศนี้ ให้เหตุผลว่าแหล่งทุนไม่มีนโยบายสนับสนุนให้ทำวิทยานิพนธ์ประเด็นดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย และเรายังขาดความรู้อีกมาก

ห้า ในการทำงานวิจัยที่ผ่านมา ผมและเพื่อนร่วมวิจัยทุกคนประสบกับอุปสรรคใหญ่ในการเขียนรายงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ การวิจัยศึกษาความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจากมุมมองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ส่วนหนึ่งของข้อมูลคือความเห็นของประชาชนต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน แหล่งทุนบังคับว่าจะต้องตัดความเห็นเหล่านั้นออกจากงานวิจัย มิฉะนั้นจะไม่ยอมรับผลการวิจัย

หก นี่เป็นเรื่องไกลตัว ผมไม่ได้ประสบเอง แต่รับรู้มาว่า การสลับสับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัย สถาบันวิชาการสำคัญ ๆ หลายสถาบันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เขี่ยนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่นับถือทั้งในแวดวงวิชาการและแวดวงบริการสังคมออกไปเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยนักวิชาการตายซาก ด้วยบรรดาคนเฒ่าคนชราที่เลิกอ่านหนังสือไปหลายสิบปีแล้ว ผมสงสัยว่าจะเกี่ยวอะไรกันกับการติดสติ๊กเกอร์ "เสื้อตัวนี้สี..." อีกหรือเปล่า

นี่คือเหตุผลที่ทำไมนักวิชาการส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่ค้ำจุนการคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมไทย และทำไมนักวิชาการอีกจำนวนมากจึงนิ่งดูดายกับความไม่ยุติธรรมในสังคมนี้ และดังนั้น ในภาพรวมของแวดวงการศึกษา ผมไม่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นภายในระยะ 10 ปีนี้เป็นอย่างน้อย

 

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด