ยุกติ มุกดาวิจิตร: สิทธิเลือกตั้งของปวงชนชาวไทย

เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.

ผมไม่เคยตั้งใจ เตรียมใจไปเลือกตั้งมากเท่าครั้งนี้มาก่อนเลย บางครั้งผมไม่ได้ไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คราวที่ผ่านมา ผมก็ไม่ได้ไปเพราะเดินทางไปต่งจังหวัด ไม่ได้เตรียมตัวก่อน การเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อปี 2554 คราวนั้นผมไปอย่างตั้งใจ ก่อนหน้านั้นปี 2550 และครั้งก่อนๆ ผมไม่ได้ไปเพราะอยู่ต่างประเทศหลายปีและย้ายไปมาหลายประเทศ ก็เลยไม่ได้ใส่ใจเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง

หลังจากมาทำวิจัยซึ่งมีประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง จึงได้เข้าใจว่าทำไมตนเองจึงไม่สนใจการเลือกตั้ง และทำไมคนในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในเขตชนบท เขาถึงสนใจการเลือกตั้ง ที่ว่านี่ไม่ได้แบ่งว่าเป็นคนในจังหวัดภาคไหนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคนใต้ คนเหนือ คนอีสาน คนภาคกลาง ส่วนใหญ่เขาให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งกันทั้งสิ้น มีแต่คนกรุงเทพฯ นี่แหละ ที่น้อยครั้งมากที่การเลือกตั้งจะมีความหมาย

สำหรับคนกรุงเทพฯ การเลือกตั้งที่มีความหมายที่สุดน่าจะเป็นการเลือกผู้ว่ากทม. แต่การเลือกตั้งทั่วไป มักจะขึ้นกับกระแสการเมือง ครั้งไหนมีพรรคที่คนกทม.ชอบหรือไม่ ครั้งไหนมี "พรรคทางเลือก" ที่คนกทม.อยากลองหรือไม่ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ผมอธิบายว่า เป็นเพราะคนกทม.ได้รับการเอาอกเอาใจจากนโยบายรัฐเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน สัดส่วนงบประมาณส่วนใหญ่ก็จะลงมาที่กรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเรียกร้องอะไร งบประมาณก็มาอยู่ดี ไม่ต้องชอบรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องเอาใจอยู่ดี

ในที่อื่นๆ การเลือกตั้งกำหนดชะตาชีวิตคนมากกว่าในกรุงเทพฯ ทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งระดับชาติ ในภาคใต้ ผู้คนกระตือลือล้นกับการเลือกตั้งมาตลอด ครั้งนี้ที่เขาต่อต้านการเลือกตั้ง (ความจริงมีเพียง 7 จังหวัด) ก็เพราะเขาคิดว่านั่นคือการปกป้องสิทธิการเลือกตั้งของเขาในอีกแบบหนึ่งนั่นแหละ เอาล่ะ ไม่ว่าเขาจะตีความมันว่าอย่างไร คนใต้ก็หวงแหนสิทธิการเลือกตั้ง เขาจึงมีพรรคในดวงใจของเขามาตลอด ยิ่งในปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ผู้คนใช้สิทธิเลือกตั้งกันอย่างขนานใหญ่ ครั้งที่แล้ว ผู้นำท้องถิ่นบอกเล่าว่ามีคนไปใช้สิทธิ์ถึง 72% และเขาก็ใช้การเลือกตั้งสอนบทเรียนให้พรรคการเมืองใหญ่มาแล้ว

ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางนอกกรุงเทพฯ การเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติเป็นความหวังของผู้คน อย่าคิดว่าคนแค่ไปเพราะรับเงินซื้อเสียง เพราะแม้แต่ในพื้นที่ซึ่งมีการซื้อเสียงมากๆ ผมเจอผู้สมัครมากมายทุ่มเงินแล้วก็กลับแพ้เลือกตั้ง ยิ่งการเลือกตั้งปี 54 ยิ่งเห็นได้ชัด

ผมอธิบายว่า ที่การเลือกตั้งเริ่มมีความหมายขึ้นมา ก็เพราะระบบการเมืองเปลี่ยนไป ทำให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายได้มากขึ้น และก็เริ่มมีพรรคที่ใช้นโยบายหาเสียงและกลับมาทำอย่างที่ตนเองหาเสียงไว้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ ในทศวรรษที่อำนาจการบริหารประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย (ยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส) หรือเป็นแค่ครึ่งใบ (ยุคเปรม) การเลือกตั้งไม่มีความหมาย เพราะอำนาจการบริหารไม่ได้อยู่ในมือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจอยู่ในมือนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่บรรดาที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจ บรรดานายทหารที่มีอำนาจ และบรรดาเครือข่ายชนชั้นสูงต่างๆ 

ข้อนี้สอดรับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีบทบาทขึ้น ที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณจากท้องถิ่นเองและจากส่วนกลางบริหารท้องถิ่นได้จริง เมื่อผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง การบริหารท้องถิ่นก็ต้องตอบสนองผู้ลงคะแนนเสียง ยิ่งในบางท้องถิ่น โดยเฉพาะเขตเทศบาลต่างๆ ซึ่งเก็บรายได้จากภาษีท้องถิ่นได้ปีละหลายร้อยล้านบาท งบประมาณจำนวนมากยิ่งถูกควบคุมตรวจสอบจากผู้ลงคะแนนเสียงมากขึ้น ระบบแบบนี้คนกรุงเทพฯ แทบไม่รู้จัก เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพฯ ก็แทบจะไม่มีผลอะไร เพราะอย่างที่ว่าคือ อย่างไรเสีย งบประมาณแผ่นดินก็ลงกทม.มาก มากกระทั่งไม่ต้องมีผู้ว่ากทม. ชาวกทม.ก็มีความสุขได้

เหล่านี้คือการกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นจริง คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่เริ่มลงรากหยั่งลึก ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดดขึ้นไปอีก การเลือกตั้งบนกรอบของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน บนกรอบของกฎหมายปัจจุบัน ยังไม่สามารถเป็นหลักประกันชีวิตที่ดีขึ้นได้ เรายังต้องแก้กฎหมาย สร้างกฎหมายใหม่ๆ กันอีกมาก ยังต้องพัฒนากลไกควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณอีกมาก ยังต้องการแนวคิดใหม่ๆ อีกมาก แต่ต้องทำในกรอบที่อำนาจเป็นของ "ปวงชนชาวไทย"

เพียงแต่วันนี้ หากเรายอมถอยให้กับการริบสิทธิ์เลือกตั้งของเราไปแม้เพียงชั่วคราว "เรา" ในฐานะ "ปวงชนชาวไทย" อาจจะไม่ได้มีอำนาจแม้แต่จะฝันถึงชีวิตที่ดีได้อีกต่อไป การเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ จะเป็นหลักประกันอำนาจของปวงชนชาวไทย หากไม่เกิดการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาฯ เราก็เสี่ยงที่จะสูญเสียหลักประกันอำนาจการกำหนดชะตาชีวิตของเราไป

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด