วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ช่วงท้ายของการบรรยาย ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการที่เข้าร่วม ได้ส่งเสียงสะท้อนถึงความคิดต่อประชาธิปไตยของประชาชนเองหลายประการ ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้บอกเล่าเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนสามจังหวัดภาคใต้ที่ผมบันทึกมา ให้ได้ยินกันทั่วประเทศดังนี้
"ประชาธิปไตยไปด้วยกันได้กับหลักศาสนาอิสลาม พระเจ้าได้สร้างมนุษย์บนต้นทุนเดียวกัน แม้ว่าคุณจะเป็น มรว. หรือใคร ก็ถูกสร้างขึ้นมาจากต้นทุนที่เท่ากัน"
"ในระบบที่เห็นคุณค่าคนเท่าๆ กัน คนมลายูจะไม่แตกต่างกับคนไทย จะเท่าเทียมกับความเป็นคนไทย แต่ในระบบเผด็จการ คนมลายูอาจจะไม่มีตัวตน"
"ประชาธิปไตยคือกระบวนการของสันติภาพ อย่าเริ่มนับศูนย์ใหม่เลย หากเริ่มใหม่ กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินไปจะสะดุดหมด จะทำลายความหวังประชาชนหมด"
"ฉันเป็นตำรวจชาวพุทธในปัตตานี ถูกชาวพุทธด่าว่าตำรวจชั่ว ไม่รักชาติ อ้าว.. แล้วที่ฉันมาอยู่สามจังหวัดนี่ไม่รักชาติยังไง เสี่ยงตายขนาดนี้"
"การเลือกตั้งทำให้ประชาชนเลือกผู้ปกครองได้ เลือกนโยบายได้ เลือกว่าชอบหรือไม่ชอบพรรคการเมืองไหนได้ ถ้าไม่มีประชาธิปไตย เราจะสั่งสอนนักการเมืองได้อย่างไร"
"คนที่นี่มีความรู้มาก พูด อ่าน เขียนได้หลายภาษามากกว่าคนกรุงเทพ"
"คนเท่ากันเมื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนอาจมีคุณธรรมไม่เท่ากัน มีความรู้ไม่เท่่ากัน แต่มีสิทธิเท่ากัน"
"คน 3 จังหวัดมีความเป็นประชาธิปไตยและเข้าใจการเลือกตั้งมากกว่าอีก 7 จังหวัดในภาคใต้ด้วยกัน"
"วันที่ 2 กุมภาฯ จะตัดสินว่า เราจะปฏิรูปทุกอย่างไหม หรือจะปฏิรูปแค่ไม่ให้ทักษิณกลับบ้าน"
เสียงเหล่านี้สะท้อนว่า ประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันวิถีชีวิตชาวปัตตานี ชาวยะลา และชาวนราธิวาส เสียงจากประชาชนเหล่านี้คือเสียงปกป้องประชาธิปไตย คือเสียงเดินหน้าเลือกตั้ง คือเสียงต่อต้านรัฐประหาร
ประชาธิปไตยจึงไม่ไช่หลักการนามธรรมจากตะวันตก ไม่ว่าชนชั้นนำหรือนักวิชาการเจ้าหลักการที่ไหนก็ไม่สามารถนำประชาธิปไตยมายัดเยียดให้ประชาชนได้ แต่ประชาธิปไตยคืออำนาจทางการเมืองของประชาชน ประชาชนชาว 3 จังหวัดภาคใต้ได้พิสูจน์ด้วยตนเองแล้วว่า ประชาธิปไตยคือวิถีชีวิตของประชาชน