Skip to main content

ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง

น่าอายเหมือนกันที่ผมนึกอยู่นานว่าอ่านอะไรใหม่ๆ หรืออ่านอะไรเก่าๆ แล้วได้คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง ที่จริงก็มีนั่นแหละ เพียงแต่เหมือนไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าใดนัก อย่างงานเขียนเชิงทฤษฎีและปรัชญาที่ต้องกลับมาอ่านซ้ำๆ ในวิชาทฤษฎีมานุษยวิทยา แต่ละครั้งที่ต้องอ่านใหม่เพื่อเตรียมสอน ก็มักจะได้คิดอะไรใหม่ๆ เนื่องจากได้เอาประสบการณ์ใหม่ๆ เข้าไปตีความในระหว่างการอ่านงานทฤษฎีเหล่านั้นเสมอ 
 
แต่ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในสามปีที่ผมสอนทฤษฎีมานุษยวิทยาระดับปริญญาเอก ทำให้ต้องค่อยๆ เพิ่มหนังสือใหม่ๆ นักคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยอ่านไม่เคยเรียนมาก่อน มาร่วมอ่านร่วมเรียนกับนักศึกษาปริญญาเอก ปีละอย่างน้อยก็นับ 4-5 เล่ม
 
เท่าที่ระลึกได้และค่อนข้างประทับใจ ได้แก่งานของ Bruno Latour (บรูโน ลาตูร์ ไม่ทราบถ่ายเสียงถูกหรือเปล่า) ซึ่งสำหรับหลายๆ คนแล้วก็ไม่ได้ใหม่อะไร แต่ใหม่สำหรับผม เพราะผมไม่ทันได้รู้จักลาตูร์ในระหว่างเรียนปริญญาเอก ในหนังสือที่ผมอ่าน (Reassembling the Social แปลจากภาษาฝรั่งเศสปี 2005) ลาตูร์เสนอภาพสังคมที่ไม่เป็นโครงสร้างตายตัว แต่มีการพยายามประกอบสร้างสังคม แล้วก็เกิดการแยกสลาย หรือก่อร่างสังคมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ภาวะทางสังคมแบบนี้ไม่ได้เป็นโครงสร้างตายตัว และก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นวัฏจักรเกิด-ดับ แต่เป็นการดึงดันกันของพลังของผู้ปฏิบัติการทางสังคม และพลังของกลุ่มทางสังคม
 
นักคิดที่ผมเพิ่งรู้จักอีกคนหนึ่งคือ Judith Butler (จูดิท บัทเลอร์) ที่ช่วยให้ผมเข้าใจภาวะของการที่มนุษย์มีตัวตนของตนเองขึ้นมาได้ จากการกลายเป็นสมาชิกในโครงข่ายทางอำนาจ หากแต่เมื่อเข้ามาในสังคมแล้ว เขาไม่ได้จำเป็นต้องถูกควบคุมครอบงำอย่างเชื่องๆ ในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ได้หลุดลอยเป็นอิสระชนอย่างเสรีได้ เนื่องจากสังคมสร้างเงื่อนไขเฉพาะในการปฏิบัติการของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่ทำให้เขาได้กำเนิดขึ้นมา เพียงแต่สังคมนั่นก็ไม่สามารถควบคุมเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จ
 
นอกจากทฤษฎีแล้ว นักเรียนมานุษยวิทยายังต้องอ่านงานที่เรียกกันว่า "ชาติพันธุ์วรรณนา" (ethnography) งานประเภทนี้ให้ภาพรายละเอียดของสังคม ไปพร้อมๆ กับการวิเคราะห์สังคมในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ด้วยการนำทฤษฎีมาช่วยทำความเข้าใจ เมื่อมีทฤษฎีใหม่ๆ เราก็ได้แง่มุมใหม่ๆ ของสังคม เข้าใจมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ในขณะเดียวกัน การได้อ่านงานที่ศึกษาสังคมจากที่ต่างๆ ทั่วโลก ช่วยให้เห็นภาพความแตกต่างในการจัดการกับชีวิตตนเองของมนุษย์ ในแต่ละปีผมพยายามหางานลักษณะนี้มาอ่านกับนักศึกษาไม่น้อยกว่า 10 เล่ม (ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสมัยที่เรียน)
 
ในจำนวนนั้น เท่าที่จำได้และอยากเล่าถึง ผมชอบงานของ Yoko Hayami (โยโกะ ฮายามิ หนังสือชื่อ Between Hills and Plains ปี 2004) ที่ศึกษาชาวกะเหรี่ยงในเชียงใหม่เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว แต่ทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์ยังสดใหม่ ว่าด้วยการรับศาสนาใหม่ของชาวกะเหรี่ยง ที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่รับศาสนาพุทธหรือกลุ่มที่รับศาสนาคริสต์ ต่างก็ปรับเอาแนวคิดใหม่ๆ เหล่านั้นมาให้เข้ากับศาสนาความเชื่อเดิมของชาวกะเหรี่ยง หากแต่ด้วยเงื่อนไขของสังคมที่สังคมภายนอกมีอิทธิพลมากขึ้น ทำให้พวกเขาต้องรับศาสนาใหม่มาเป็นพลังเสริมสร้างและต่อรองกับอำนาจจากสังคมใหม่ๆ 
 
งานที่ชอบยังมีอีกหลายชิ้น เช่นงานศึกษาเปรียบเทียบการใช้ที่ดินของชาวอาข่าในไทยกับจีน (ของ Janet Sturgeon หนังสือชื่อ Border Landscapes ปี 2005) คนเขียนพบว่า ไม่ใช่คนในพื้นที่หรอกที่ทำลายป่า แต่เป็นรัฐ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่มีส่วนทำลายป่าอย่างใหญ่หลวง และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว นโยบายป่าไม้ของรัฐไทยทำลายป่ามากกว่านโยบายของจีน 
 
อีกชิ้นที่อยากเอ่ยถึงศึกษาประวัติความเป็นมาของวรรณกรรมภาษาอินโดนีเซีย (โดย James Siegel ชื่อ Fetish, Recognition, Revolution ปี 1997) หนังสือเสนอภาพความสำนึกต่อตัวตนของความเป็นคนอินโดนีเซีย ผ่านการเขียนวรรณกรรมภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งพัฒนาขึ้นมาในระหว่างที่ชาวดัชปกครองอินโดนีเซียอยู่ ภาษาอินโดนีเซียจึงมีบทบาทในการสร้างสำนึกร่วมของความเป็นชาติ แม้ว่าจะภาษานี้จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่และเพิ่งจะเป็นภาษาที่มีคนใช้มากมายเมื่อสักร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง
 
ความจริงงานที่อ่านยังมีอีกมาก ที่ประทับใจก็อีกหลายเล่ม แต่เล่มที่ไม่ได้อ่านในชั้น แต่ต้องอ่านเพื่อวิเคราะห์เสนอในงานเสวนาหนึ่ง คือหนังสือ 2 เล่ม ชื่อ "รักเอย" (2555) และ "สมุดแม่" (2550) เล่มแรกเขียนโดยรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยา "อากง" ที่เสียชีวิตในระหว่างสู้คดี 112 (หนังสือนี้เรียบเรียงโดยเพียงคำ ประดับความ และไอดา อรุณวงศ์) อีกเล่มเขียนโดยปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล หรือดร.ปริตตา อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาฯ และอดีตอาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์
 
หากจะสรุปย่อบางประเด็นจากที่ผมเสนอในงานเสวนา "รักเอย" และ "สมุดแม่" นั้น บอกเล่าชีวิตคนสามัญ ที่คนทั่วไปสามารถอ่านแล้วสัมผัสถึงชีวิตผู่้คนได้อย่างดี ยิ่งด้วยความที่เป็นเรื่องเล่าจากข้อเท็จจริงของชีวิต ก็ทำให้ผู้อ่านเชื่อมโยงตัวบุคคลในเรื่องเข้ากับชีวิตจริง ชีวิตตนเอง ได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยวิธีการเล่าที่ไม่ค่อยเป็นวิชาการ คนอ่านก็แทบไม่จำเป็นต้องเข้าใจผ่านแนวคิดนามธรรมยุ่งยากมากมาย ที่สำคัญคือ การเล่าผ่านความทรงจำของผู้เล่า ทำให้ประสบการณ์เชิงผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นรส กลิ่น เสียง สัมผัส และรูป ถูกบอกเล่าผ่านความรู้สึก ทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คน เป็นความรู้ที่ผู้อ่านสัมผัสและรู้สึกได้ ต่างจากความรู้ที่เป็นนามธรรม 
 
ในที่สุด งานลักษณะนี้จึงส่องให้เห็นชีวิตผู้คน ที่โลดแล่นอยู่ในสังคม จะว่าคนเป็นอิสระชนก็ไม่ใช่ แต่ครั้นจะว่าคนถูกครอบงำจากสังคมอย่างแทบกระดุกกระดิกไม่ได้ก็ไม่ถูกนัก ทำให้ผลอย่างหนึ่งของการอ่านงานประเภทนี้คือการชี้ช่องให้เห็นว่า ปัจเจกชนไม่ได้จำนนอยู่ในกรอบอำนาจใดๆ อย่างเชื่องเชื่อ หากแต่ยังมีช่องโหว่รอยรั่วที่ปัจเจกสามารถเล็ดรอดออกมาได้บ้าง สามารถปรับแต่งอะไรได้บ้าง เพียงแต่ความหวังในการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะยังดูริบหรี่ในชั่วชีวิตของคนคนหนึ่ง
 
ที่จริงนอกจากหนึ่งปีที่ผ่านมาอ่านอะไรใหม่ๆ บ้างแล้ว ผมนั่งร่างภาพความคิดที่จะทบทวนว่า 
 
- มีงานสัมมนาทางวิชาการอะไรบ้างที่เข้าร่วมแล้วตนเองได้อะไรใหม่ๆ (สัมมนาเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไต้หวัน สัมมนาเรื่อง cosmopolitanism ที่มาเลเซีย และสัมมนาและเสวนาวิชาการอีกกว่าสิบๆ งานที่เมืองไทย เช่นที่ Reading Room ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลายๆ ครั้ง ที่ธรรมศาสตร์รังสิต)
- ทำกิจกรรมทางสังคมอะไรบ้างทำที่ให้ตนเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (ร่วมคณะรณรงค์แก้ม. 112 ร่วมงานกับศปช.) 
- เดินทางไปที่ใดบ้างที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (กลับไปเยี่ยม "หมู่บ้านของฉัน" ในเวียดนาม ไปกัมพูชา ไปกัวลาลัมเปอร์ ไปไทเป และเข้าไปท่องในโลกเฟซบุคและเขียนเว็บบล็อก) 
- ได้รู้จักใครบ้างที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปหรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (พบนักศึกษาหน้าใหม่ๆ พบผู้คนคุ้นเคยที่เพ่ิงเผยด้านที่ไม่เคยรู้จัก พบผู้คนใหม่ๆ ในกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เข้าร่วม พบผู้คนในโลกอินเทอร์เน็ต และมีแมวใหม่มาอยู่ด้วยตัวหนึ่ง) 
 
วันหยุดปีใหม่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว งานการที่หวังพึ่งช่วงเวลาวันหยุดยาวเพื่อสะสาง ก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปสักเท่าใดนัก แต่ที่ดูเหมือนผ่านไปอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าคือเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเดินหน้าเข้าสู้ปีใหม่ด้วยการกลับไปทำงานประจำและสะสางงานเก่า ผมก็ยังหวังว่าปีหน้าจะได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ และเดินทาง และทำกิจกรรมทางสังคม และเข้าร่วมงานวิชาการ และพบปะใครต่อใครอีกมากมายที่ยังไม่เคยได้ทำมาก่อนไม่ให้น้อยหน้าหนึ่งปีที่ผ่านมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย