Skip to main content

ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมไม่ได้รู้จักอาจารย์พัฒนาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้ร่วมศึกษาสถาบันเดียวกับท่านเหมือนนักวิชาการไทยหลายๆ ท่าน ไม่เคยร่วมงานวิชาการกับท่านโดยตรง แต่ใครก็ตามที่ทำงานทางวิชาการในสายสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางมานุษยวิทยา และใครก็ตามที่อยู่แวดวงไทยศึกษา ย่อมรู้จักชื่อพัฒนา กิติอาษา
 
ด้วยวัย 45 ปี กล่าวได้ว่าอาจารย์พัฒนาเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้หนึ่ง ที่มุ่งมั่นที่จะมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการมานุษยวิทยาของภูมิภาคนี้และของโลก การศึกษาสังคมอีสานบ้านเกิดของอาจารย์พัฒนาภายใต้การฝึกฝนกับชาร์ลส์ คายส์ (Charles Keyes) นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้เข้าออกอีสานมากกว่านักวิชาการไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำให้ท่านเป็นเพียงนักมานุษยวิทยาพื้นถิ่นที่เพียงนำเสนอข้อมูลต่อวงวิชาการโลก หากแต่อาจารย์พัฒนายังนำเสนอภาพความเข้าใจอีสานด้วยทัศนะของท่านเอง และจากมุมมองของกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้เป็นที่สนใจในแวดวงไทยศึกษามากนัก
 
ที่สำคัญคือการศึกษาคนงานอีสานในสิงคโปร์ ซึ่งชี้ให้สภาพชีวิตและการต่อสู้ของลูกอีสานยุคโลกาภิวัตน์ และผลงานล่าสุดชิ้นหนึ่งที่ทำความเข้าใจการต่อสู้ทางการเมืองของชาวอีสาน ว่าแสดงความเป็นตัวของตัวเองของชาวอีสานเอง หาใช่ว่าชาวอีสานเป็นเพียงเบี้ยที่ถูกนักการเมืองหลอกใช้ ภาพชาวอีสานดังกล่าวเพิ่มพูนความเข้าใจสังคมไทยและการต่อสู้ดิ้นรนของสามัญชนให้โลกวิชาการสังคมศาสตร์ ผู้มีอำนาจ และสาธารณชนทั่วไปอย่างยิ่ง 
 
อาจารย์พัฒนาเป็นนักวิชาการไทยในจำนวนน้อยคนที่เลือกเส้นทางทางวิชาการที่ยากลำบาก ด้วยการก้าวออกไปสู่เวทีวิชาการนานาชาติ แม้จังหวะก้าวของท่านจะออกไปในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในโลกวิชาการตะวันตกเริ่มตกสะเก็ด หางานยาก แต่ท่านก็ยังได้ตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่ก้าวหน้าในทางวิชาการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย 
 
การก้าวไปสู่เวทีนานาชาติเรียกร้องความเข้มงวดทางวิชาการและความสามารถเป็นอย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ยังเรียกร้องความอุตสาหะในการดำเนินชีวิตในต่างแดน ที่ทั้งไร้ถิ่นฐานและไร้ญาติขาดมิตร อาจารย์พัฒนาเคยเล่าว่า ส่วนหนึ่งของการไปศึกษาชาวอีสานพลัดถิ่นในสิงคโปร์ ก็เพื่อชดเชยความคิดถึงบ้านด้วยเช่นกัน
 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ที่ผมทำงานอยู่ มีโอกาสได้ฟังคำบรรยายพิเศษของอาจารย์พัฒนาครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 อาจารย์พัฒนาเล่าชีวิตการเป็นนักมานุษยวิทยาในประเทศที่แทบไม่ต้องการวิชามานุษยวิทยา ผมบันทึกไว้ตอนหนึ่งดังนี้
 
"ดร.พัฒนาเล่าว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีนักมานุษยวิทยาในสิงค์โปร ตัวเขาเองก็เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว เพียงแต่จำนวนนักมานุษยวิทยาในสิงค์โปร น้อยมาก มีไม่เกิน 10 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวสิงคโปร์เองไม่ถึง 5 คน ไม่มีสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา คณะ ภาควิชาทางมานุษยวิทยา นักมานุษฯ เหล่านี้สังกัดอยู่ในสถาบันต่างๆ ที่ไม่ได้ระบุชื่อเกี่ยวกับมานุษยวิทยา เช่น ในภาควิชาภูมิศาสตร์ หรือภาควิชาด้านภูมิภาคศึกษา นักมานุษฯ ทั้งชาวสิงค์โปร และชาวต่างชาติมักไม่ได้เก็บข้อมูลในพื้นที่ประเทศสิงคโปร์...
 
"ดร.พัฒนาอธิบายว่า ที่เป็นดังนี้เพราะสิงค์โปร เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ วิชามานุษยวิทยาไม่ทำเงิน และช่างตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ วิพากษ์รัฐ เข้าข้างคนยากไร้มากเกินไป รัฐจึงไม่สนับสนุน...
 
"ดร.พัฒนาเล่าว่า แล้วตัวเขาเองเป็นนักมานุษฯ อยู่ในสิงค์โปร ได้อย่างไร เขาเขียนบทความ พิมพ์ผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องคนอีสาน และภายหลังได้รู้จักคุ้นเคย ผูกมิตรกับชาวอีสานที่ไปทำงานในสิงค์โปร จนได้ผลิตผลงานออกมาอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้น เขายังเป็นคนหลักในการพานักศึกษาทั้งสิงค์โปร และจากโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (NUS) กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา ยุโรป พานักศึกษาไปประเทศไทย และประเทศในอินโดจีน"
 
ค่ำวันนั้น ผมมีโอกาสได้ไปสังสรรค์กับท่าน ชวนท่านไปกินข้าวที่ร้านอาหารของสามัญชนที่ควรเคารพและน่าคบหาท่านหนึ่งย่านอรุณอัมรินทร์ ร่วมกับเพื่อนนักมานุษยวิทยาที่สนิทกันอีกสามคน อาจารย์พัฒนาตื่นเต้นกับทั้งอาหาร การได้คารวะเจ้าของสถานที่ และมื้ออาหารที่แสนสนุกเย็นนั้นมาก เรื่องที่เราคุยกันก็ล้วนเป็นเรื่องที่เจ้าของสถานที่เรียกว่า "กับแกล้มในวงเหล้า" 
 
ที่ผมประทับใจอาจารย์พัฒนาคือจริตสามัญที่แสดงออกจากความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเหนืออื่นใดคือ ยอมรับความตายที่กำลังเดินเข้ามาอย่างสงบเย็น คำพูดที่ผมคิดว่าแสดงความเป็นตัวตนของอาจารย์พัฒนาได้ดีคือคำพูดหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ในการเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร บันทึกไว้ว่า
 
"ช่วงสุดท้ายของการไปพูดที่คณะสังคมวิทยาฯ มธ. เมื่อปีก่อน หลังจากที่พูดเรื่องความตายของคนอื่นจบแล้ว อาจารย์ก็พูดถึงชีวิตของตัวเองอย่างหยิกแกมหยอกว่า "ถ้าเป็นพวก medical anthro (นักมานุษยวิทยาการแพทย์) ก็จะถามแต่ว่า "why meๆๆๆๆๆๆๆ?"... แต่ผมไม่ถามอย่างนั้น ผมถามว่า "why can't it be me?" (ทำไมจะถึงคราผมบ้างไม่ได้ล่ะ)"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก