Skip to main content


การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่

ที่ว่า "รัฐไทย" โดยรวมเพราะองค์กรที่ข่มเหงให้คนรักประมุขของประเทศนี้ไม่ได้มีเพียงหน่วยงานของรัฐเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นองคาพยพด้านต่างๆ ของรัฐ อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คุมนักโทษ ตลอดจนนักการเมืองที่อาศัย ม.112 เพื่อกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง ไม่เลือกว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายใด

นักวิเคราะห์สังคมที่ยังก้าวทันโลกวิชาการปัจจุบันเย่อมเห็นพ้องกันว่า อำนาจในการปกครองของสังคมที่ก้าวหน้าไม่ใช่อำนาจกีดกัน บังคับ กดทับ (exclusion) หากแต่เป็นอำนาจที่เปิดกว้างให้เกิดการยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนทางการเมือง (inclusion) ในสังคมที่ก้าวหน้าแล้ว ย่อมไม่ปกครองด้วยอำนาจจากการทำให้ผู้คนเกรงกลัว และที่ยิ่งจะต้องไม่ทำใหญ่คือ การข่มขืนใจให้ประชาชนรักศูนย์รวมจิตใจของประเทศ ด้วยอำนาจที่เหี้ยมโหด ป่าเถื่อน ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลปกติ
 
นักสังคมศาสตร์ทั่วไปรู้กันดีว่า ข้อเขียนจากคุกของอันโทนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci 1891-1937) เสนอว่า การปกครองนั้นอาศัยเครื่องมือสองด้าน คือการข่มเหงประชาชนด้วยกำลังด้านหนึ่ง กับการยินยอมพร้อมใจของประชาชนด้วยตนเองอีกด้านหนึ่ง สำหรับสังคมในศตวรรษที่ 20 กรัมชี่เห็นว่าอำนาจลักษณะหลังต่างหากที่ทำงานอยู่ ส่วนอำนาจลักษณะแรกแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว 
 
ส่วนนักประวัติศาสตร์แนววิพากษ์สังคมอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault 1926-1984) เห็นว่า การปกครองที่แยบยลที่สุดก็คือการปกครองที่ผู้คนยินยอมพร้อมใจจนกระทั่งไม่รู้สึกถึงการถูกปกครองอยู่ อำนาจที่แยบยลคืออำนาจที่คนไม่รู้สึกถึงการใช้อำนาจ ต่างจากอำนาจในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่ยังป่าเถื่อน ต้องมีการประหัตประหารอย่างโหดเหี้ยม ต้องแสดงความรุนแรงของบทลงโทษ ต้องประจานความผิด ต้องบังคับข่มเหง
 
หากแต่ผู้มีอำนาจในรัฐไทยกลับไม่เข้าใจ ใจแคบ ใช้อำนาจแบบดิบเถื่อน โหดเหี้ยม จึงทำให้สังคมไทยตลอดจนประชาคมโลกมองว่า ขณะนี้รัฐไทยมุ่งปกป้องเกียรติยศของประมุข เหนือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
 
"คดีหมิ่นฯ" ที่ผ่านมา ไม่ได้มีความใกล้เคียงแต่ประการใดกับการที่ผู้ต้องหาสามารถที่จะประทุษร้ายพระประมุขได้ หากแต่เป็นเพียงคดีที่สงสัยในความผิดอันเนื่องมาจาก "คำพูด" "ข้อความ" หรือ "ท่าทาง" ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาตรร้ายพระประมุขเท่านั้น ทว่าผู้ต้องหาล้วนเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีและได้รับการตัดสินลงโทษอย่างโหดเหี้ยม ผิดจากมาตรฐานของนานาอารยะประเทศในปัจจุบัน รัฐไทยจึงดูล้าหลัง ป่าเถื่อนกว่านานาอารยะประเทศ
 
ในรัฐประชาธิปไตย จะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่น้อยไปกว่าความมั่นคงของรัฐ สิทธิในการได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้บริสุทธิ์จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ด้วยหลักฐานได้ว่าผิด จะต้องได้รับการคุ้มครอง แต่ดูเหมือนในการดำเนินคดีตามมาตรา 112 รัฐไทยเลือกที่จะละเลยการเคารพสิทธิเหล่านั้่น จนถึงกับอาจจะละเมิดสิทธินั้น เพียงเพื่อปกป้องไม่ให้ใครใช้ "คำพูด" หมิ่นประมุขของรัฐ
 
ยิ่งกว่านั้น ในบางกรณีชวนให้สงสัยว่า รัฐไทยไม่ได้ใช้หลักเหตุผลปกติ แต่กลับบิดเบือนหลักเหตุผลเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ให้ได้ ดังเช่นที่บางครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ถ้อยคำสบประมาทประชาชนที่ถูกดำเนินคดี แสดงทัศนะราวกับตัดสินผู้ต้องหาล่วงหน้าก่อนแล้ว ชวนให้ประชาชนสงสัยว่า หรือแม้กระทั่งว่าหากใช้เหตุผลแบบปกติแล้ว หลักฐาน พยานต่างๆ ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้ "คำพูด" นั้นๆ เองหรือไม่ ดังเช่นการทำให้ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องลงมือเขียนข้อความด้วยตนเองหรือไม่ กลับกลายเป็นผู้กระทำผิดไป เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่า คนผิดย่อมปิดบังความผิดของตนเอง หรือหากรู้ทั้งรู้ว่าผู้นั้นไม่ใช่ผู้กระทำผิดเองโดยตรง เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังหาทางสร้างเงื่อนไขให้ความผิดครอบคลุมไปถึงผู้ต้องหา เพื่อทำให้เขากลายเป็นผู้กระทำผิดไปได้ ดังเช่นการทำให้พนักงานคนหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่อาจไม่รู้เห็นกับการตีพิมพ์ข้อความหมิ่นฯ ด้วยตนเองด้วยซ้ำ ต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดไป
 
อันที่จริงหากผู้มีอำนาจสำเหนียกต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้จริง เฝ้าสังเกตประชาชนอย่างใกล้ชิดอย่างแท้จริง ก็ย่อมทราบดีว่า ในปัจจุบัน แม้ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะแผ่อิทธิพลกว้างขวางและเริ่มฝังลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมไทย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จงเกลียดจงชังองค์พระประมุขของประเทศแต่อย่างใด หากแต่การเติบโตของ "คดีหมิ่น" เกิดขึ้นจากงื่อนไขเฉพาะทางการเมืองในปัจจุบัน
 
ไม่ต้องกล่าวย้ำกันอีกมากมายก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "คดีหมิ่น" ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพียงในระยะที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง และยิ่งเพ่ิมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดเหตุรุนแรง มีการสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตเกือบร้อยคน มีคนบาดเจ็บร่วมสองพันคน และมีคนถูกจับกุมคุมขังกลายเป็นนักโทษการเมืองอีกนับพันคน เมื่อปี 2553 ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในขนาด ความกว้างขวาง และครอบคลุมแทบทุกอนูขงสังคมไทยมากเท่านี้มาก่อน 
 
พูดง่ายๆ คือ คดีม.112 เติบโตขึ้นในภาวะทางสังคมที่ไม่ปกติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 
 
นัยหนึ่ง เป็นผลมาจากการใช้กฎหมายนี้เพื่ือกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง ข้อนี้เห็นได้ไม่ยากจากการที่ ศอฉ. กุเรื่อง "ผังล้มเจ้า" ขึ้นมา จนในท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้กลับออกมายอมรับเองว่า ผังล้มเจ้าเป็นเรื่องที่กุกันขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับใดๆ ทั้งสิ้น
 
แต่อีกนัยหนึ่ง เกิดจากความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนที่มีต่อความไม่ยุติธรรมของระบบการเมืองไทย เป็นปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร ต่อการใช้กำลังทหารยึดอำนาจด้วยการสนับสนุนทางการเมืองของมวลชนคนกลุ่มน้อยซึ่งแพ้เลือกตั้ง คนทั่วไปอึดอัดกับการที่พวกกบฎสามารถกลายเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้อย่างลอยนวล คนทั่วไปอึกอัดกับการที่ไม่มีใครสามารถทัดทานพวกกบฏได้ และจึงมีประชาชนจำนวนมากต้องการส่งเสียงสะท้อนให้พระประมุขเข้าใจถึงความอึดอัดคับข้องใจของตน
 
อีกนัยหนึ่ง ในภาวะของความรุนแรงทางการเมือง ภาวะทรราช คนทั่วไปคาดหวังต่อบทบาทของพระประมุข ว่าจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้คนจากรัฐบาลที่กลายเป็นทรราชไล่ฆ่าประชาชนกลางถนนได้ ดังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา และในความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้ ประชาชนก็คาดหวังเช่นนั้น ปฏิกิริยาที่ประชาชนมีต่อพระประมุข จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนเพื่อให้พระประมุขได้ยิน
 
เราๆ ท่านๆ ย่อมรู้กันดีอยู่่แก่ใจว่า ความเสื่อมหรือเจริญขึ้นของประมุขของรัฐใด ไม่ได้อยู่ที่ "คำพูด" หรือ "ข้อความ" หรือ "ท่าทางบอกใบ้" ใดๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ประมุขของรัฐทั่วโลกคงดิ้นพล่านไปมา นอนไม่หลับ กินไม่ได้ กระสับกระส่าย อยู่ทุกๆ วินาที เพราะประมุขของรัฐใดก็ตามย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกนินทาว่าร้าย อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะปรากฏในที่สาธารณะหรือเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มากแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากประมุขของรัฐเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสารทุกข์สุขดิบของประชาชนทั่วไป 
 
วิญญูชนย่อมทราบดีว่า ลำพังประชาชนเพียงหยิบมือไม่มีทางที่จะทำลายเกียรติยศของประมุขประเทศใดได้ และลำพังคำพูด ท่าทางบอกใบ้ ข้อความ ไม่สามารถทำลายเกียรติยศของประมุขรัฐใดในโลกนี้ได้ หากแต่ผู้มีอำนาจควรพยายามทำความเข้าใจว่า ปฏิกิริยาเหล่านั้นสะท้อนอะไรในประชาคมการเมืองนั้นๆ กันแน่ 
 
แต่หากพวกท่านไม่เข้าใจ คนทั่วโลกเขาก็ตั้งข้อสงสัยได้เช่นกันว่า แล้วการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจะสามารถทำให้ผู้คนรักประมุขอย่างสนิทใจได้อย่างไร หากประชาคมทางการเมืองใดจะมีประชาชนไม่รักประมุขของรัฐหนึ่งสักเพียงหยิบมือหนึ่ง เราจะต้องข่มเหงพวกเขาเพียงหยิบมือหนึ่งนั้นอย่างเหี้ยมโหด เพื่อขืนให้เขาฝืนใจหันหน้ามารักประมุขให้ได้ อย่างนั้นหรือ
 
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้