Skip to main content

 

พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง

 

ประสบการณ์การหลงทางของผมหลายครั้งช่วยให้พบกับเสน่ห์ชวนประหลาดใจของเมืองได้จริงๆ แล้วก็ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า มีหลักปรัชญาสังคมบางอย่างที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการหลงทางอยู่บ้างเหมือนกัน 

 

ตอนไปญี่ปุ่น ผมหลงทางหลายครั้ง เหมือน sense of direction มันหายไปในเมืองที่มีวิธีจัดการพื้นที่แบบที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งๆ ที่ปกติผมไม่ค่อยหลงทางแบบนี้บ่อยนัก 

 

แต่การหลงหลายครั้งในเกียวโตทำให้ผมได้เจอสถานที่น่าประทับใจ และที่ทำให้มักจดจำสถานที่เฉพาะที่ไป แต่ไม่สามารถหาเส้นทางกลับไปเจอสถานที่นั้นได้อีก มีครั้งหนึ่งเดินไปดึกดื่นกับเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง เรากำลังจะไปหาที่นั่งดื่มกินกันแบบที่ไม่ใช่ร้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปเจอร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งโดยบังเอิญ ตั้งอยู่ข้างทางเดินเล็กๆ ริมลำธารเล็กๆ 

 

ร้านนี้มีสองตายายขายเหล้ากับของกินแกล้มเหล้า บรรยากาศเหมือนในหนังญี่ปุ่น ที่คนกินเหล้านั่งหน้าโต๊ะเล็กๆ แล้วเจ้าของร้านหันไปหันมาอยู่ข้างหน้า เจ้าของร้านโอภาปราศรัยดี ที่เด็ดมากคือ “ทาโกะยากิ” สูตรที่ผมไม่เคยเห็นไม่เคยกินมาก่อน (ที่จริงก็ไม่ใช่นักกินทาโกะยากิหรอก เพียงแต่แบบนี้ไม่เคยเห็นจริงๆ) 

 

เขาทำเหมือนเป็นไข่ตุ๋นทรงกลมนุ่มๆ ใจกลางใส่หมึกยักษ์ชิ้นพอประมาณ ราดด้วยมายองเนสบางๆ ไม่มีซ้อสเหนียวหนืด หวานๆ เค็มๆ มากลบรสไข่และกลิ่นหมึกยักษ์ เขาเสิร์ฟทาโกะยากิกลมดิกร้อนๆ แบบฟิวชั่นบนถาดเกลี้ยงๆ สีแดงแจ้ด สีไข่ตัดกับสีจานจัดจ้าน ไอควันโชยขึ้นมาเคล้ากลิ่นกรุ่นของทาโกะยากิ ลืมไม่ลงจริงๆ

 

ผมพยายามกลับไปควานหาร้านนี้หลายต่อหลายรอบในการกลับไปเกียวโตครั้งต่อๆ มา แต่หาทีไรก็หาไม่พบสักที

 

ก็เลยไปนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากฮานอย นึกถึงซอกตึกในฮานอย นึกถึงการ “หลงทาง” ทั้งอย่างจงใจและไม่จงใจ ซึ่งมักนำพาไปสู่สถานที่ที่น่าประหลาดใจ เช่นพบกับบ้านเรือนที่นึกไม่ถึงว่าจะมีในฮานอย มีครั้งหนึ่งเป็นช่วงปีใหม่เวียดนามนี่แหละ เดินหลงเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองฮานอย แล้วพบบ้านหลังหนึ่ง มีบริเวณแคบๆ หน้าบ้าน ซึ่งปลูกต้นท้อขนาดย่อม ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งอยู่หน้าบ้าน

 

พอหลงคิดมาทางนี้แล้ว ก็นึกถึงหนังสือสนุกที่ต้องอ่านหลายต่อหลายรอบ ของนักอะไรก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเขาได้คนหนึ่ง ชื่อมิเชล เดอร์ แซร์โท (Michel De Certeau) เล่มหนึ่ง ชื่อ “ปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน” (The Practice of Everyday Life, 1980 แปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1984) บทหนึ่งในนั้น ที่ผมใช้ในห้องเรียนเสมอ ชื่อ “Walking in the City” 

 

เดอร์ แซร์โทเปรียบเทียบการเดินในเมืองของคนทั่วไป ว่าเหมือนการพูดในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีคนไหนพูดตามระเบียบแบบแผน ตามกฎเกณฑ์ของภาษาอย่างเป๊ะๆ ชัดเจนตายตัว สำหรับชาวเมืองนั้นๆ  แม้จะเป็นเมืองที่ถูกจัดแบ่งเป็นบล็อคๆ มีชื่อถนนแต่ละเส้นเป็นตัวเลข ยากที่จะหลงทางแบบเมืองนิวยอร์ค คนเมืองก็ไม่ได้จำเป็นต้องเดินแบบเดียวกับที่นักผังเมืองวางไว้เสมอ

 

ผมมีโอกาสได้ไปนิวยอร์คครั้งเพียงเดียว แต่ก็คิดว่า หากต้องไปอีก แม้จะเอาแผนที่ไปก็คงจะต้องหลงทาง เพราะคนที่พาเดินในนิวยอร์คตอนนั้นเชี่ยวชาญ ช่ำชองชีวิตในนิวยอร์ค พามุดขึ้น-ลงรถไปใต้ดิน ต่อรถเมล์ เดินไปเดินมา กระทั่งผมเองที่เป็นนักเดินทางตามแผนที่ ก็ยังเปิดแผนที่ตามไม่ทัน

 

แผนที่ดูจะมีอำนาจไม่เพียงในระดับของการแบ่งเขตแดนจริงๆ เพราะในระดับชีวิตประจำวัน ผมก็ยังเคยอิงอำนาจของแผนที่ในการเดินทางบนรถแท็กซี่ในฮานอย ในปีแรกๆ ของการอยู่ฮานอย ไปไหนมาไหนยังไม่คล่อง ขึ้นแท็กซี่ประจำ ผมมักถือแผนที่ในมือ เวลาขึ้นแท็กซี่ก็ยกขึ้นมาขู่คนขับ แล้วออกเสียงชื่อถนนชัดๆ คอยไล่ดูเทียบกับแผนที่ตลอด ส่วนใหญ่วิธีนี้สามารถขู่แท็กซี่ฮานอยได้บ้าง อย่างน้อยก็ในอดีต จนต่อมา ผมดูแผนที่พวกนี้จนกระทั่งจำได้ขึ้นใจอยู่พักหนึ่งว่า ถนนสายหลักๆ สายไหนอยู่ตรงไหน ไปอย่างไร พอปีหลังๆ เพื่อนต่างชาติคนไหนผ่านไปผ่านมาที่ฮานอย มักเขียนมาถามผมว่าอะไรอยู่ตรงไหนเสมอๆ

 

สำหรับเดอร์ แซร์โท แผนที่ วิธีมองโลกแบบแผนที่ และวิธีจัดการพื้นที่แบบแผนที่ เป็นวิธีการของอำนาจแบบครอบงำอย่างแท้จริง เป็นการมองแบบครอบครอง มองกวาด มองแบบจ้องจัดการ เดอร์แซร์โทจึงขยายความคิดเรื่องการเดินในเมือง ให้ไปไกลสู่การต่อต้าน “แบบ” “แผน” ที่แม้ไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างเป็นระบบ แต่เชื่อเถอะว่า สังคมจะเปลี่ยนเข้าสักวัน

 

บางทีใครต่อใครที่หวังดี หรือตัวเราเอง อาจอยากให้เราต้องเดินตามทาง เดินตามแผนที่ ตาม road map อะไรก็แล้วแต่ที่ราวกับว่าจะกำหนดกะเกณฑ์ถึงปลายทางได้ชัดเจน แต่แน่ใจหรือว่า road map เหล่านั้นจะพาเราไปสู่ปลายทางที่เราคาดหวังได้จริงๆ หรือแน่ใจหรือว่า ปลายทางนั้นคือปลายทางที่เราคาดหวังจริงๆ

 

แน่นอนว่าการหลงทางมีราคาที่ต้องจ่าย มีความเสี่ยงรออยู่ ทางที่หลงไปมักน่ากลัวในเบื้องต้น จนบางคนคิดว่าตนเองไม่น่าจะหลงทางมาเลย แต่การหลงทางอาจพาเราไปสู่เส้นทางที่เราจับพลัดจับผลูเดินไปจนได้ดีขึ้นมา บางทีเราต้องกล้าหลงทาง หรือบางทีเราต้องยอมรับว่าเราหลงทาง แล้วหาความหมายให้กับทางที่หลงมาให้เจอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน