Skip to main content

 

พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง

 

ประสบการณ์การหลงทางของผมหลายครั้งช่วยให้พบกับเสน่ห์ชวนประหลาดใจของเมืองได้จริงๆ แล้วก็ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า มีหลักปรัชญาสังคมบางอย่างที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการหลงทางอยู่บ้างเหมือนกัน 

 

ตอนไปญี่ปุ่น ผมหลงทางหลายครั้ง เหมือน sense of direction มันหายไปในเมืองที่มีวิธีจัดการพื้นที่แบบที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งๆ ที่ปกติผมไม่ค่อยหลงทางแบบนี้บ่อยนัก 

 

แต่การหลงหลายครั้งในเกียวโตทำให้ผมได้เจอสถานที่น่าประทับใจ และที่ทำให้มักจดจำสถานที่เฉพาะที่ไป แต่ไม่สามารถหาเส้นทางกลับไปเจอสถานที่นั้นได้อีก มีครั้งหนึ่งเดินไปดึกดื่นกับเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง เรากำลังจะไปหาที่นั่งดื่มกินกันแบบที่ไม่ใช่ร้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปเจอร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งโดยบังเอิญ ตั้งอยู่ข้างทางเดินเล็กๆ ริมลำธารเล็กๆ 

 

ร้านนี้มีสองตายายขายเหล้ากับของกินแกล้มเหล้า บรรยากาศเหมือนในหนังญี่ปุ่น ที่คนกินเหล้านั่งหน้าโต๊ะเล็กๆ แล้วเจ้าของร้านหันไปหันมาอยู่ข้างหน้า เจ้าของร้านโอภาปราศรัยดี ที่เด็ดมากคือ “ทาโกะยากิ” สูตรที่ผมไม่เคยเห็นไม่เคยกินมาก่อน (ที่จริงก็ไม่ใช่นักกินทาโกะยากิหรอก เพียงแต่แบบนี้ไม่เคยเห็นจริงๆ) 

 

เขาทำเหมือนเป็นไข่ตุ๋นทรงกลมนุ่มๆ ใจกลางใส่หมึกยักษ์ชิ้นพอประมาณ ราดด้วยมายองเนสบางๆ ไม่มีซ้อสเหนียวหนืด หวานๆ เค็มๆ มากลบรสไข่และกลิ่นหมึกยักษ์ เขาเสิร์ฟทาโกะยากิกลมดิกร้อนๆ แบบฟิวชั่นบนถาดเกลี้ยงๆ สีแดงแจ้ด สีไข่ตัดกับสีจานจัดจ้าน ไอควันโชยขึ้นมาเคล้ากลิ่นกรุ่นของทาโกะยากิ ลืมไม่ลงจริงๆ

 

ผมพยายามกลับไปควานหาร้านนี้หลายต่อหลายรอบในการกลับไปเกียวโตครั้งต่อๆ มา แต่หาทีไรก็หาไม่พบสักที

 

ก็เลยไปนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากฮานอย นึกถึงซอกตึกในฮานอย นึกถึงการ “หลงทาง” ทั้งอย่างจงใจและไม่จงใจ ซึ่งมักนำพาไปสู่สถานที่ที่น่าประหลาดใจ เช่นพบกับบ้านเรือนที่นึกไม่ถึงว่าจะมีในฮานอย มีครั้งหนึ่งเป็นช่วงปีใหม่เวียดนามนี่แหละ เดินหลงเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองฮานอย แล้วพบบ้านหลังหนึ่ง มีบริเวณแคบๆ หน้าบ้าน ซึ่งปลูกต้นท้อขนาดย่อม ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งอยู่หน้าบ้าน

 

พอหลงคิดมาทางนี้แล้ว ก็นึกถึงหนังสือสนุกที่ต้องอ่านหลายต่อหลายรอบ ของนักอะไรก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเขาได้คนหนึ่ง ชื่อมิเชล เดอร์ แซร์โท (Michel De Certeau) เล่มหนึ่ง ชื่อ “ปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน” (The Practice of Everyday Life, 1980 แปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1984) บทหนึ่งในนั้น ที่ผมใช้ในห้องเรียนเสมอ ชื่อ “Walking in the City” 

 

เดอร์ แซร์โทเปรียบเทียบการเดินในเมืองของคนทั่วไป ว่าเหมือนการพูดในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีคนไหนพูดตามระเบียบแบบแผน ตามกฎเกณฑ์ของภาษาอย่างเป๊ะๆ ชัดเจนตายตัว สำหรับชาวเมืองนั้นๆ  แม้จะเป็นเมืองที่ถูกจัดแบ่งเป็นบล็อคๆ มีชื่อถนนแต่ละเส้นเป็นตัวเลข ยากที่จะหลงทางแบบเมืองนิวยอร์ค คนเมืองก็ไม่ได้จำเป็นต้องเดินแบบเดียวกับที่นักผังเมืองวางไว้เสมอ

 

ผมมีโอกาสได้ไปนิวยอร์คครั้งเพียงเดียว แต่ก็คิดว่า หากต้องไปอีก แม้จะเอาแผนที่ไปก็คงจะต้องหลงทาง เพราะคนที่พาเดินในนิวยอร์คตอนนั้นเชี่ยวชาญ ช่ำชองชีวิตในนิวยอร์ค พามุดขึ้น-ลงรถไปใต้ดิน ต่อรถเมล์ เดินไปเดินมา กระทั่งผมเองที่เป็นนักเดินทางตามแผนที่ ก็ยังเปิดแผนที่ตามไม่ทัน

 

แผนที่ดูจะมีอำนาจไม่เพียงในระดับของการแบ่งเขตแดนจริงๆ เพราะในระดับชีวิตประจำวัน ผมก็ยังเคยอิงอำนาจของแผนที่ในการเดินทางบนรถแท็กซี่ในฮานอย ในปีแรกๆ ของการอยู่ฮานอย ไปไหนมาไหนยังไม่คล่อง ขึ้นแท็กซี่ประจำ ผมมักถือแผนที่ในมือ เวลาขึ้นแท็กซี่ก็ยกขึ้นมาขู่คนขับ แล้วออกเสียงชื่อถนนชัดๆ คอยไล่ดูเทียบกับแผนที่ตลอด ส่วนใหญ่วิธีนี้สามารถขู่แท็กซี่ฮานอยได้บ้าง อย่างน้อยก็ในอดีต จนต่อมา ผมดูแผนที่พวกนี้จนกระทั่งจำได้ขึ้นใจอยู่พักหนึ่งว่า ถนนสายหลักๆ สายไหนอยู่ตรงไหน ไปอย่างไร พอปีหลังๆ เพื่อนต่างชาติคนไหนผ่านไปผ่านมาที่ฮานอย มักเขียนมาถามผมว่าอะไรอยู่ตรงไหนเสมอๆ

 

สำหรับเดอร์ แซร์โท แผนที่ วิธีมองโลกแบบแผนที่ และวิธีจัดการพื้นที่แบบแผนที่ เป็นวิธีการของอำนาจแบบครอบงำอย่างแท้จริง เป็นการมองแบบครอบครอง มองกวาด มองแบบจ้องจัดการ เดอร์แซร์โทจึงขยายความคิดเรื่องการเดินในเมือง ให้ไปไกลสู่การต่อต้าน “แบบ” “แผน” ที่แม้ไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างเป็นระบบ แต่เชื่อเถอะว่า สังคมจะเปลี่ยนเข้าสักวัน

 

บางทีใครต่อใครที่หวังดี หรือตัวเราเอง อาจอยากให้เราต้องเดินตามทาง เดินตามแผนที่ ตาม road map อะไรก็แล้วแต่ที่ราวกับว่าจะกำหนดกะเกณฑ์ถึงปลายทางได้ชัดเจน แต่แน่ใจหรือว่า road map เหล่านั้นจะพาเราไปสู่ปลายทางที่เราคาดหวังได้จริงๆ หรือแน่ใจหรือว่า ปลายทางนั้นคือปลายทางที่เราคาดหวังจริงๆ

 

แน่นอนว่าการหลงทางมีราคาที่ต้องจ่าย มีความเสี่ยงรออยู่ ทางที่หลงไปมักน่ากลัวในเบื้องต้น จนบางคนคิดว่าตนเองไม่น่าจะหลงทางมาเลย แต่การหลงทางอาจพาเราไปสู่เส้นทางที่เราจับพลัดจับผลูเดินไปจนได้ดีขึ้นมา บางทีเราต้องกล้าหลงทาง หรือบางทีเราต้องยอมรับว่าเราหลงทาง แล้วหาความหมายให้กับทางที่หลงมาให้เจอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา