Skip to main content

 

พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง

 

ประสบการณ์การหลงทางของผมหลายครั้งช่วยให้พบกับเสน่ห์ชวนประหลาดใจของเมืองได้จริงๆ แล้วก็ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า มีหลักปรัชญาสังคมบางอย่างที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการหลงทางอยู่บ้างเหมือนกัน 

 

ตอนไปญี่ปุ่น ผมหลงทางหลายครั้ง เหมือน sense of direction มันหายไปในเมืองที่มีวิธีจัดการพื้นที่แบบที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งๆ ที่ปกติผมไม่ค่อยหลงทางแบบนี้บ่อยนัก 

 

แต่การหลงหลายครั้งในเกียวโตทำให้ผมได้เจอสถานที่น่าประทับใจ และที่ทำให้มักจดจำสถานที่เฉพาะที่ไป แต่ไม่สามารถหาเส้นทางกลับไปเจอสถานที่นั้นได้อีก มีครั้งหนึ่งเดินไปดึกดื่นกับเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง เรากำลังจะไปหาที่นั่งดื่มกินกันแบบที่ไม่ใช่ร้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปเจอร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งโดยบังเอิญ ตั้งอยู่ข้างทางเดินเล็กๆ ริมลำธารเล็กๆ 

 

ร้านนี้มีสองตายายขายเหล้ากับของกินแกล้มเหล้า บรรยากาศเหมือนในหนังญี่ปุ่น ที่คนกินเหล้านั่งหน้าโต๊ะเล็กๆ แล้วเจ้าของร้านหันไปหันมาอยู่ข้างหน้า เจ้าของร้านโอภาปราศรัยดี ที่เด็ดมากคือ “ทาโกะยากิ” สูตรที่ผมไม่เคยเห็นไม่เคยกินมาก่อน (ที่จริงก็ไม่ใช่นักกินทาโกะยากิหรอก เพียงแต่แบบนี้ไม่เคยเห็นจริงๆ) 

 

เขาทำเหมือนเป็นไข่ตุ๋นทรงกลมนุ่มๆ ใจกลางใส่หมึกยักษ์ชิ้นพอประมาณ ราดด้วยมายองเนสบางๆ ไม่มีซ้อสเหนียวหนืด หวานๆ เค็มๆ มากลบรสไข่และกลิ่นหมึกยักษ์ เขาเสิร์ฟทาโกะยากิกลมดิกร้อนๆ แบบฟิวชั่นบนถาดเกลี้ยงๆ สีแดงแจ้ด สีไข่ตัดกับสีจานจัดจ้าน ไอควันโชยขึ้นมาเคล้ากลิ่นกรุ่นของทาโกะยากิ ลืมไม่ลงจริงๆ

 

ผมพยายามกลับไปควานหาร้านนี้หลายต่อหลายรอบในการกลับไปเกียวโตครั้งต่อๆ มา แต่หาทีไรก็หาไม่พบสักที

 

ก็เลยไปนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากฮานอย นึกถึงซอกตึกในฮานอย นึกถึงการ “หลงทาง” ทั้งอย่างจงใจและไม่จงใจ ซึ่งมักนำพาไปสู่สถานที่ที่น่าประหลาดใจ เช่นพบกับบ้านเรือนที่นึกไม่ถึงว่าจะมีในฮานอย มีครั้งหนึ่งเป็นช่วงปีใหม่เวียดนามนี่แหละ เดินหลงเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองฮานอย แล้วพบบ้านหลังหนึ่ง มีบริเวณแคบๆ หน้าบ้าน ซึ่งปลูกต้นท้อขนาดย่อม ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งอยู่หน้าบ้าน

 

พอหลงคิดมาทางนี้แล้ว ก็นึกถึงหนังสือสนุกที่ต้องอ่านหลายต่อหลายรอบ ของนักอะไรก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเขาได้คนหนึ่ง ชื่อมิเชล เดอร์ แซร์โท (Michel De Certeau) เล่มหนึ่ง ชื่อ “ปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน” (The Practice of Everyday Life, 1980 แปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1984) บทหนึ่งในนั้น ที่ผมใช้ในห้องเรียนเสมอ ชื่อ “Walking in the City” 

 

เดอร์ แซร์โทเปรียบเทียบการเดินในเมืองของคนทั่วไป ว่าเหมือนการพูดในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีคนไหนพูดตามระเบียบแบบแผน ตามกฎเกณฑ์ของภาษาอย่างเป๊ะๆ ชัดเจนตายตัว สำหรับชาวเมืองนั้นๆ  แม้จะเป็นเมืองที่ถูกจัดแบ่งเป็นบล็อคๆ มีชื่อถนนแต่ละเส้นเป็นตัวเลข ยากที่จะหลงทางแบบเมืองนิวยอร์ค คนเมืองก็ไม่ได้จำเป็นต้องเดินแบบเดียวกับที่นักผังเมืองวางไว้เสมอ

 

ผมมีโอกาสได้ไปนิวยอร์คครั้งเพียงเดียว แต่ก็คิดว่า หากต้องไปอีก แม้จะเอาแผนที่ไปก็คงจะต้องหลงทาง เพราะคนที่พาเดินในนิวยอร์คตอนนั้นเชี่ยวชาญ ช่ำชองชีวิตในนิวยอร์ค พามุดขึ้น-ลงรถไปใต้ดิน ต่อรถเมล์ เดินไปเดินมา กระทั่งผมเองที่เป็นนักเดินทางตามแผนที่ ก็ยังเปิดแผนที่ตามไม่ทัน

 

แผนที่ดูจะมีอำนาจไม่เพียงในระดับของการแบ่งเขตแดนจริงๆ เพราะในระดับชีวิตประจำวัน ผมก็ยังเคยอิงอำนาจของแผนที่ในการเดินทางบนรถแท็กซี่ในฮานอย ในปีแรกๆ ของการอยู่ฮานอย ไปไหนมาไหนยังไม่คล่อง ขึ้นแท็กซี่ประจำ ผมมักถือแผนที่ในมือ เวลาขึ้นแท็กซี่ก็ยกขึ้นมาขู่คนขับ แล้วออกเสียงชื่อถนนชัดๆ คอยไล่ดูเทียบกับแผนที่ตลอด ส่วนใหญ่วิธีนี้สามารถขู่แท็กซี่ฮานอยได้บ้าง อย่างน้อยก็ในอดีต จนต่อมา ผมดูแผนที่พวกนี้จนกระทั่งจำได้ขึ้นใจอยู่พักหนึ่งว่า ถนนสายหลักๆ สายไหนอยู่ตรงไหน ไปอย่างไร พอปีหลังๆ เพื่อนต่างชาติคนไหนผ่านไปผ่านมาที่ฮานอย มักเขียนมาถามผมว่าอะไรอยู่ตรงไหนเสมอๆ

 

สำหรับเดอร์ แซร์โท แผนที่ วิธีมองโลกแบบแผนที่ และวิธีจัดการพื้นที่แบบแผนที่ เป็นวิธีการของอำนาจแบบครอบงำอย่างแท้จริง เป็นการมองแบบครอบครอง มองกวาด มองแบบจ้องจัดการ เดอร์แซร์โทจึงขยายความคิดเรื่องการเดินในเมือง ให้ไปไกลสู่การต่อต้าน “แบบ” “แผน” ที่แม้ไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างเป็นระบบ แต่เชื่อเถอะว่า สังคมจะเปลี่ยนเข้าสักวัน

 

บางทีใครต่อใครที่หวังดี หรือตัวเราเอง อาจอยากให้เราต้องเดินตามทาง เดินตามแผนที่ ตาม road map อะไรก็แล้วแต่ที่ราวกับว่าจะกำหนดกะเกณฑ์ถึงปลายทางได้ชัดเจน แต่แน่ใจหรือว่า road map เหล่านั้นจะพาเราไปสู่ปลายทางที่เราคาดหวังได้จริงๆ หรือแน่ใจหรือว่า ปลายทางนั้นคือปลายทางที่เราคาดหวังจริงๆ

 

แน่นอนว่าการหลงทางมีราคาที่ต้องจ่าย มีความเสี่ยงรออยู่ ทางที่หลงไปมักน่ากลัวในเบื้องต้น จนบางคนคิดว่าตนเองไม่น่าจะหลงทางมาเลย แต่การหลงทางอาจพาเราไปสู่เส้นทางที่เราจับพลัดจับผลูเดินไปจนได้ดีขึ้นมา บางทีเราต้องกล้าหลงทาง หรือบางทีเราต้องยอมรับว่าเราหลงทาง แล้วหาความหมายให้กับทางที่หลงมาให้เจอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้