Skip to main content

 

วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 

 
ขอเอาร่างความคิดที่เตรียมเพืื่อไปพูดในรายการ มาเรียบเรียงแบบไม่ตกแต่งมาก แต่ก็อยากให้ได้เนื้อหนัง แถมมีอ้างอิง ไม่ได้เพื่อให้ดูหรู แต่เพื่อให้ผู้ใฝ่รู้ นำไปค้นคว้าสอบทานต่อ
 
(1) รักเอยจริงหรือที่ว่าหวาน
 
ความรักคือการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะผู้อื่นมีหลายแบบ ความรักจึงมีหลายแบบ และเพราะความรักมีหลายแบบ ตัวตนของเราที่รักใครแต่ละคนจึงมีหลายแบบ แต่มีความรักบางแบบเท่านั้นที่ถูกยกย่องเชิดชู

มีคนแบ่งความรักออกเป็น 4 แบบ หนึ่ง affection รักแบบเอ็นดู เมตตา เช่น ความรักในครอบครัว รักสัตว์ สอง friendship รักแบบเพื่อน สาม eros รักแบบมีราคะ มีตัณหา มีความใคร่ สี่ charity รักแบบอุทิศตน เสียสละเพื่อผู้อื่น (ดูบทนำของ Ryang 2006)
 
แต่ละแบบของความรัก มักอ้างความสำคัญสูงสุดความศักดิ์สิทธิ์ของความรักแบบตน เช่น พ่อแม่บอกไม่มีความรักใดบริสุทธิ์เท่ารักของพ่อแม่ เพื่อนบอกตายแทนกันได้ หนุ่มสาวบอกรักจนจะกลืนกินกันได้ นักบุญบอกรักเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังอะไรคือรักที่ยิ่งใหญ่
 
(2) รักซ้อนซ่อนรัก
 
นอกจากรักแต่ละแบบยังแข่งกันแล้ว บางทีความรักชนิดหนึ่ง ถูกซ่อนไว้ใต้รูปแบบความรักชนิดอื่น  
 
เช่นว่า รัฐสมัยใหม่ใช้ความรักในการปกครอง ความรักเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจของรัฐ รัฐทำให้เรารักรัฐ แต่อาจไม่ได้ใช้ความรักในรูปแบบของรักชาติ รักประชาชนโดยตรง แต่เป็นความรักที่แฝงในรูปแบบความรักแบบอื่นๆ 
 
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะให้รักชาติ รักเพื่อนร่วมชาติ แต่ให้รักประมุขของชาติแทน แล้วทำให้ประมุขของชาติและคนในชาติจินตนาการว่าอยู่ในครอบครัว สร้างความรักของชาติในนามความรักครอบครัว ทำให้ทุกคนอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน วิธีนี้ช่วยให้ความสัมพันธ์ในสังคมขนาดใหญ่ ถูกลดทอนลงเหลือเพียงความสัมพันธ์ในครอบครัว นำวาทกรรมครอบครัวบดบังความรับผิดชอบทางการเมืองได้เหมือนกัน
 
ในญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก หนุ่มสาวญี่ปุ่นเคยถูกเรียกร้องให้รักกันเพื่อผลิตลูกให้พ่อของพวกเขา คือองค์จักรพรรดิ ความรักในลักษณะนี้ถูกส่งผ่านมาในสมัยต่อมา มีการโปรโมทเรื่องความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างหนุ่มสาว เน้นพรหมจรรย์ของเด็กสาวที่ได้รับการศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจว่า หนุ่มสาวรักกันด้วยตนเอง แต่ถึงที่สุดแล้วคือเพื่อประเทศชาติ จนกระทั่งหนุ่งสาวแต่งงานมีลูกกัน ผลิตประชากรญี่ปุ่นได้ถึงเป้า 100 ล้านคนในปลายทศวรรษ 60 (เรื่องญี่ปุ่น ดู Ryang 2006)
 
(3) รักโรแมนติกครองโลก (เนื้อหาส่วนใหญ่ของตอนนี้มาจาก Jankowiak and Fischer 1992)
 
เราอาจนิยามรักโรแมนติกได้ว่าเป็น ความดึงดูดใจอย่างเข้มข้นอันเนื่องมาจากจินตนาการต่อคนอื่น ในบริบทที่มีอารมณ์วาบหวามอีโรติกเข้ามาเกี่ยวข้อง และรักโรแมนติกมักนำมาซึ่งความเจ็บปวดเมื่อจากพราก 

รักโรแมนติกคือรักแบบที่กล่าวถึงกันมากในวันวาเลนไทน์ แต่แนวคิดที่มักกล่าวถึงกันเพื่อวิพากษ์รักโรแมนติกคือแนวคิดที่ว่า รักโรแมนติกเป็นความรักแบบสมัยใหม่ เป็นรักแบบปัจเจกชนนิยม สังคมนอกตะวันตก นอกยุโรปและอเมริการเหนือ ส่วนที่อื่นๆ ในโลก หากจะมีรักโรแมนติก ก็จะมาจากยุโรป จากซีกโลกตะวันตกนี่เอง
 
แต่มีผู้ถกเถียงว่า รักโรแมนติกไม่ได้มีเฉพาะในยุโรป ทัศนะแบบนั้นมัน "ยูโรเซนทริก" คือเหมาเอายุโรปเป็นศูนย์กลางไปเสียหมดมากเกินไป แนวคิดแบบนี้มักมองว่า นอกยุโรปหรือยุโรปก่อนสมัยใหม่ มีความรักในกรอบของความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น ไม่มองความรับเพื่อความใคร่ของปัจเจก
 
แต่จากการใช้สถิติศึกษาโรแมนติกเลิฟ เก็บตัวอย่างจาก 166 สังคมทั่วโลก (ในรายการ ผมพูดผิดเป็น 600 ตัวอย่าง) เข้าใจว่าไม่มียุโรปตะวันตก คงเนื่องจากสองทวีปนั้นเห็นได้ชัดว่ามีวัฒนธรรมรักโรแมนติกอยู่แล้ว ส่วนอเมริกาเหนือ เข้าใจว่าจะเก็บข้อมูลจากชนพื้นเมือง มากกว่าชาวอเมริกันสมัยใหม่ ซึ่งเรารู้กันชัดเจนอยู่แล้วว่ามีวัฒนธรรมรักโรแมนติก 
 
วิธีเก็บข้อมูลข้างต้น เขาดูจากข้อมูลเกี่ยวกับสังคมเหล่านั้นว่า สังคมนั้นมีการแสดงความรู้สึกเจ็บปวดส่วนตัว มีเพลงรักหรือนิทานรักๆ ใคร่ๆ ที่มีอารมณ์แบบโรแมนติกเลิฟ มีเรื่องการหนีกันไปอยู่กินโดยพ่อแม่ สังคมไม่รับรู้ มีข้อมูลยืนยัยการมีอยู่ของความรักแบบรักใคร่หนุ่มสาว ตามที่เจ้าของวัฒนธรรมยืนยันเอง หรือตามที่นักมานุษยวิทยายืนยันว่ามีโรแมนติกเลิฟ 
 
ข้อค้นพบทางสถิติง่ายๆ ชี้ว่า ทุกเขตวัฒนธรรมในโลก ทุกทวีป มีรักโรแมนติกในร้อยละที่สูงถึงเกือบ 80% ขึ้นไป ที่สูงสุดคือ ที่มีมากคือเอเชียกลาง หมู่เกาะแฟซิฟิค เมดิเตอร์เรเนียน คือเกิน 93% ที่น้อยสุกคือในแอฟริกา แต่มีบางสังคมเช่นกันที่ ไม่พบเนื้อหาส่วนใดที่มีการบันทึกเกี่ยวกัรักโรแมนติกเลย แต่มีเพียง 11.5% แต่บางที อาจเป็นเพราะสังคมเหล่านี้ปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างมิดชิด จึงไม่มีข้อมูล หรือบางที นักมานุษยวิทยาเองไม่สนใจ จึงไม่ได้เก็บข้อมูลเหล่านี้มา
 
บทความชิ้นเดียวกันนี้ยังยกตัวอย่างงานเขียนที่ให้รายละเอียด เช่น หนังสือชื่อ นิสา (Nisa) ที่ศึกษาชาวคุง หรือที่เราเรียกบุชแมน มีเรื่องรักใคร่ในความเข้าใจแบบของเขาเองเต็มไปหมด หรือเรื่องสมันราชวงศ์ Sung (928-1233) ความรักในนิทานเรื่อง เทพธิดาหยก (Jade Goddess) ที่หนุ่มคนหนึ่งผิดหวังความรักจากหญิงสาวที่หมั้นหมายแล้ว ท้ิงอาชีพการงานทั้งหมดไปกับความเศร้า ภายหลังพบว่า คู่รักขอบเธอก็เป็นแบบเดียวกัน 
 

อย่างไรก็ดี การแสดงออกซึ่งความรักแบบนี้ในแต่ละสังคมต่างกัน เช่นนิทานกลอน "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทดำในเวียดนาม ที่ถูกอ่านถูกตีความแบบหนึ่งในสมัยก่อน แต่ในสมัยคอมมิวนิสต์ ก็นำวรรณกรรมนี้มาตีความอีกแบบว่าสะท้อนสำนึกความขัดแย้งทางชนชั้น ส่วนของไทย ลิลิตพระลอ วรรณกรรมเก่าแก่ก็มีรักโรแมนติกเป็นแกนกลาง เพียงแต่ก็ถูกตีความอีกแบบ ว่ารักโรแมนติกเป็นความลุ่มหลง เป็นสิ่งที่ไม่ดี

 
(4) เซ็กส์เพื่อชีวิตกับเซ็กส์เพื่อเซ็กส์
 
พูดกันมากว่า สังคมยุโรปตะวันตกสมัยวิคทอเรียนในศตวรรษที่ 19 กดทับเซ็กส์ แต่ฟูโกต์เถียงว่า ยุคนั้นไม่ได้กดทับเซ็กส์ แต่มันเปิดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่เซ็กส์ถูกเปิดเผยในแบบที่แตกต่างจากสมัยก่อน คือในภาษาแบบการแพทย์ แบบวิทยาศาสตร์ แบบจิตวิทยา แบบประชากรศาสตร์มากขึ้น เพื่อจัดการทิศทางของการพูดและปฏิบัติการเรื่องนี้ 
 
แต่เมื่อพูดถึงมากเข้า มันก็ควบคุมไม่ได้ เกิดการหลุดลอด เล็ดลอดไปของเรื่องราว และกลายป็นการเปิดให้เรื่องเซ็กส์บบต่างๆ รวมทั้งเรื่องคนรักเพศเดียวกัน เพศสัมพันธ์แบบใช้ความรุนแรง ใช้อุปกรณ์กระตุ้นต่างๆ งานเขียนเกี่ยวกับเซ็กส์แบบนี้ เกิดขึ้นมากมายในสมัยวิคทอเรียนเช่นกัน กลายเป็นว่าเซ็กส์ถูกพูดถึงมากขึ้น
 
ประวัติศาสตร์ของความใคร่หลังมียาคุม และไวอากร้า เพศสัมพันธ์จริงเปลี่ยนไปเป็น sex for sex's sake มากขึ้น คนคิดถึงเซ็กส์ที่อยู่นอกบริบทครอบครัวมากขึ้น (ดูวีดีโอ Sex: An Unnatural history 2011)
 
การที่รัฐไทยควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ ทั้งๆ ที่การคุมกำเนิดมีมานานแล้ว จึงดูเหมือนเป็นความล้าหลังของการคุมกำเนิด หากแต่ก็มองได้อีกมุมหนึ่งว่า การควบคุมนี้คือส่วนหนึ่งของการควบคุมแรงงาน ควบคุมวัยรุ่นให้ได้รับการฝึกฝนแรงงานอย่างเชื่องเชื่อ กันไม่ให้วัยรุ่นเตลิดไปกับความสุขส่วนตัวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน นี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้้าง "ทุนมนุษย์เชื่องๆ" เข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
เอกสารและวีดีโอแนะนำสำหรับการค้นคว้าต่อ
 
- Jankowiak, William R. and Fischer, Edward F. (1992.) "A Cross-Cultural Perspective on Romantic Love" Ethnology. 31(2): 149-155.
- Ryang, Sonia. (2006.) Love in Modern Japan: Its estrangement from self, sex, and society. London: Routledge.
- Foucault, Michel. (1978 [1976].) The History of Sexuality, volume I: An introduction. New York: Pantheon. 
- Sex: An unnatural history E01 (2011) (http://www.youtube.com/watch?v=KCFN8fHLjss&feature=youtube_gdata_player). Accessed on February 13, 2013.
- คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2554) วารสารสังคมศาสตร์ (ฉบับความรัก). 23(1-2).

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย