Skip to main content


วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ

ก็เลยลองคิดต่อดูว่า พวกที่มีปัญหากับปฏิทินนกแอร์มีพวกไหนบ้าง พวกนี้คิดแบบไหน และวิธีคิดแบบนั้นมีปัญหาอย่างไร ผมว่าพวกนี้มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแยกกัน คือในตัวคนหรือองค์กรเดียวกัน อาจมีวิธีคิดทั้ง 4 แบบนี้เลยก็ได้
 
(1) พวกอยากแช่แข็งความเป็นไทย พวกนี้รับไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ความเป็นไทยจะถูกนำเสนอด้วยความสากล อยากให้ความเป็นไทยแปลกแยกไม่เหมือนใครในโลกนี้ เข้าใจว่ามีความเป็นไทยแท้อยู่จริง ไม่เห็นว่าความ้ป็นไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นมา 
 
แต่พวกนี้เองนั่นแหละ ที่จะเป็นพวกนิยมให้นักเรียนนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ พวกนี้เอาเข้าจริงจึงไม่ได้อยากให้ควบคุมความเป็นไทย แต่พวกนี้อยากควบคุมคนอื่น เพราะกับตนเอง พวกนี้จะบอกว่าฉันแต่งตัวตามกาละเทศะ ฉันเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรควรแต่งอะไรไม่ควรแต่งเมื่อไหร่ แต่พวกเธอไม่รู้เรื่อง จึงต้องให้ฉันจัดการดูแลควบคุม
 
(2) พวกชอบกำกับความเป็นหญิงไทย พวกนี้คือส่วนขยายของพวกแรก เป็นพวกชอบบอกว่า หญิงไทยที่ดีต้องเป็นอย่างไร พวกนี้กลัวภาพลักษณ์ผู้หญิงเสียหาย มากกว่าจะสนใจความเป็นจริงว่า ผู้หญิงมีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมชายหรือยัง แล้วยังมี "ผู้" อื่นๆ เพศอื่นๆ ที่ให้ต้องดูแลอีกมากมาย พวกนี้ก็จะไม่สนใจ เพราะคิดว่าโลกนี้มีแต่หญิงกับชาย 
 
พวกนี้ไม่สนใจภาพลักษณ์ผู้ชายเท่ากับภาพลักษณ์ผู้หญิง ผู้หญิงจึงถูกคาดหวัง ถูกควบคุมให้รักษาภาพความเป็นหญิงไทยมากกว่าผู้ชาย ดูอย่างชุดแต่งกายในการโฆษณาสายการบินที่เน้นความเป็นไทยสายหนึ่ง เห็นมีแต่ให้ผู้หญิงที่ใส่ "ชุดไทย" ไม่เห็นมีว่าผู้ชายหรือกัปตันต้องใส่ชุดไทย ฉะนั้นพวกนี้ไม่ได้ห่วงผู้หญิง เท่ากับห่วงว่าภาพลักษณ์ผู้หญิงบางส่วน จะทำให้ภาพลักษณ์ตนเองเสื่อมเสียไปด้วย
 
(3) พวก sexist พวกนี้จะมีทัศนะต่อปฏิทินนี้ว่า เป็นสื่อยั่วยุกามารมณ์ กระตุ้นกาม ทำให้ผู้โดยสารหื่นกามกับแอร์โฮสเตส
 
ถ้าผู้หญิงถูกลวนลาม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน พวกนี้จะถามว่า "หล่อนแต่งตัวยังไง" พวกนี้ไม่เคารพในสิทธิในร่างกายของผู้หญิง เท่ากับการควบคุมตัณหาผู้ชายด้วยการผลักภาระให้ผู้หญิงควบคุมตนเอง พวกนี้ไม่คิดว่า การสั่งสอนให้ผู้ชายไม่ข่มขืนผู้หญิง สำคัญกว่าการสั่งสอนให้ผู้หญิงไม่แต่งตัวยั่วยวน พวกนี้ไม่คิดว่า แม้ว่าใครจะจงใจเดินแก้ผ้ามาอยู่ต่อหน้า ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอจะยินยอมมีเซ็กส์ด้วย
 
ลองคิดกลับกัน ถ้าผู้ชายถูกข่มขืน ใช่ ผู้ชายก็มีโอกาสถูกข่มขืน เช่น ถูกคนเพศเดียวกันข่มขืน ถูกผู้หญิงที่มีอำนาจกว่าบังคับให้ร่วมเพศด้วย แม้ว่าจะไม่ได้แต่งตัวยั่วยวนอะไรเลย แล้วจะโทษได้ไหมว่าผู้ชายคนนั้นแต่งตัวยั่วยวนจนทำให้ถูกข่มขืน ปัญหาของการใช้ความรุนแรงทางเพศจึงไม่ได้อยู่ที่เหยื่อ แต่อยู่ที่ผู้ก่ออาชญากรรม
 
(4) พวกปกป้องสิทธิสตรีในกรอบสตรีนิยมแบบเก่า พวกนี้คิดว่าจะต้องปกป้องเรือนร่างของผู้หญิงที่อ่อนแอ พวกนี้อาจคิดว่าผู้หญิงทุกคนอ่อนแอ ต้องได้รับการปกป้องไปทั้งหมดด้วยซ้ำ พวกนี้บางคนยังเข้าใจผิดๆ อยู่ว่า ผู้หญิงทุกคนถูกกดขี่ทั่วโลก ช่างไม่รู้เลยว่า แม้แต่นักสตรีนิยมคนสำคัญๆ ของโลกนี้ ที่เคยเชื่อแบบนี้ เธอยังเลิกเชื่อแบบนี้ไปแล้วเลย (เช่น Sherry Ortner นักมานุษยวิทยาสตรีนิยมคนสำคัญ)
 
พวกนี้คิดว่า การคิดแทนเพื่อปกป้องผู้หญิงไม่ว่าจะในรูปแบบใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากเป็นผู้ชาย พวกนี้้เป็นพวกผู้ชายที่คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าผู้หญิง คิดว่าผู้หญิงถูกหลอกลวง เป็นทาสทุนนิยม เป็นทาสการทำให้ตนเองเป็นวัตถุทางเพศ ตนรู้ดี จึงต้องปลดปล่อยผู้หญิงเหล่านี้จากการครอบงำ พวกนี้เหมือนผู้หญิงโลกที่หนึ่งในอดีต ที่คิดว่าต้องปกป้องและปลดปล่อยผู้หญิงโลกที่สามจากการครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่า ผู้หญิงในโลกที่หนึ่งนั่นแหละ ที่ถูกกดขี่อาจจะมากกว่าผู้หญิงโลกที่สามหลายแห่ง
 
พวกนี้มักใช้สำนวน sexual objectification อย่างสับสนกับ sex appeal ขณะที่การทำให้เป็นวัตถุทางเพศเป็นการลดทอนความเป็นคนให้กลายเป็นวัตถุบำเรอกามกิจ แต่การแสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้หมายความว่าผู้แสดงออกจะต้องการเป็นเหยื่อกามารมณ์ เพราะหากผู้แสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์กันผู้ที่ถูกยั่วยวนแล้ว ก็ไม่ใช่เหตุที่จะมาโทษเขาหรือเธอว่าเป็นผู้ยั่วยวน 
 
ลองคิดกลับกัน การที่ผู้ชายแต่งตัวยั่วยวนผู้หญิง (ปลดกระดุมเสื้อ ใส่น้ำหอม แต่งตัวตามแฟชั่น ไว้เครา หรือสวมใส่ ไม่สวมใส่อย่างไรก็ตาม ที่คิดว่าจะยั่วยวนสาวๆ ได้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะยั่วพวกเธอได้จริงหรือเปล่า) แปลว่าผู้ชายกำลังทำตัวเองให้เป็นวัตถุทางเพศอย่างนั้นหรือ หรือกำลังเพียงหว่านเสน่ห์ยั่วยวน เพื่อเลือก ไม่ใช่เพื่อถูกขืนใจ แล้วถ้าพวกผู้ชายคิดอย่างนั้นได้ พวกผู้หญิงหรือผู้อื่นๆ ที่แต่งตัวยั่วยวน จะคิดอย่างนั้นบ้างไม่ได้หรือ
 
ถ้าคุณดูปฏิทินยั่วยวน หรือกระทั่งดูหนังโป๊ แล้วออกไปลวนลามคนอื่น ทำร้ายคนอื่น ความผิดจะอยู่ที่สื่อยั่วกามได้อย่างไร ถ้าสายการบินใด สินค้าใด จะใช้ความงามแบบยั่วยวนเป็นสื่อ แล้วคุณไม่ชอบ ก็ขึ้นสายการบินที่แต่งตัวเรียบร้อยแถมบางทีราคาถูกกว่าเสียสิ ซื้อสินค้าอื่นเสียสิ ถ้าอยากให้หญิงไทยงามแบบไทยๆ ก็บังคับลูกหลานคุณที่บ้านให้ได้เสียก่อนค่อยออกมาบังคับคนอื่น ถ้าใครไม่อยากให้ผู้หญิงแต่งตัวยั่วยวน ก็รณรงค์ให้ตัวเองเลิกหื่นเสียสิ จะทำได้จริงๆ หรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย