Skip to main content


วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ

ก็เลยลองคิดต่อดูว่า พวกที่มีปัญหากับปฏิทินนกแอร์มีพวกไหนบ้าง พวกนี้คิดแบบไหน และวิธีคิดแบบนั้นมีปัญหาอย่างไร ผมว่าพวกนี้มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแยกกัน คือในตัวคนหรือองค์กรเดียวกัน อาจมีวิธีคิดทั้ง 4 แบบนี้เลยก็ได้
 
(1) พวกอยากแช่แข็งความเป็นไทย พวกนี้รับไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ความเป็นไทยจะถูกนำเสนอด้วยความสากล อยากให้ความเป็นไทยแปลกแยกไม่เหมือนใครในโลกนี้ เข้าใจว่ามีความเป็นไทยแท้อยู่จริง ไม่เห็นว่าความ้ป็นไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นมา 
 
แต่พวกนี้เองนั่นแหละ ที่จะเป็นพวกนิยมให้นักเรียนนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ พวกนี้เอาเข้าจริงจึงไม่ได้อยากให้ควบคุมความเป็นไทย แต่พวกนี้อยากควบคุมคนอื่น เพราะกับตนเอง พวกนี้จะบอกว่าฉันแต่งตัวตามกาละเทศะ ฉันเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรควรแต่งอะไรไม่ควรแต่งเมื่อไหร่ แต่พวกเธอไม่รู้เรื่อง จึงต้องให้ฉันจัดการดูแลควบคุม
 
(2) พวกชอบกำกับความเป็นหญิงไทย พวกนี้คือส่วนขยายของพวกแรก เป็นพวกชอบบอกว่า หญิงไทยที่ดีต้องเป็นอย่างไร พวกนี้กลัวภาพลักษณ์ผู้หญิงเสียหาย มากกว่าจะสนใจความเป็นจริงว่า ผู้หญิงมีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมชายหรือยัง แล้วยังมี "ผู้" อื่นๆ เพศอื่นๆ ที่ให้ต้องดูแลอีกมากมาย พวกนี้ก็จะไม่สนใจ เพราะคิดว่าโลกนี้มีแต่หญิงกับชาย 
 
พวกนี้ไม่สนใจภาพลักษณ์ผู้ชายเท่ากับภาพลักษณ์ผู้หญิง ผู้หญิงจึงถูกคาดหวัง ถูกควบคุมให้รักษาภาพความเป็นหญิงไทยมากกว่าผู้ชาย ดูอย่างชุดแต่งกายในการโฆษณาสายการบินที่เน้นความเป็นไทยสายหนึ่ง เห็นมีแต่ให้ผู้หญิงที่ใส่ "ชุดไทย" ไม่เห็นมีว่าผู้ชายหรือกัปตันต้องใส่ชุดไทย ฉะนั้นพวกนี้ไม่ได้ห่วงผู้หญิง เท่ากับห่วงว่าภาพลักษณ์ผู้หญิงบางส่วน จะทำให้ภาพลักษณ์ตนเองเสื่อมเสียไปด้วย
 
(3) พวก sexist พวกนี้จะมีทัศนะต่อปฏิทินนี้ว่า เป็นสื่อยั่วยุกามารมณ์ กระตุ้นกาม ทำให้ผู้โดยสารหื่นกามกับแอร์โฮสเตส
 
ถ้าผู้หญิงถูกลวนลาม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน พวกนี้จะถามว่า "หล่อนแต่งตัวยังไง" พวกนี้ไม่เคารพในสิทธิในร่างกายของผู้หญิง เท่ากับการควบคุมตัณหาผู้ชายด้วยการผลักภาระให้ผู้หญิงควบคุมตนเอง พวกนี้ไม่คิดว่า การสั่งสอนให้ผู้ชายไม่ข่มขืนผู้หญิง สำคัญกว่าการสั่งสอนให้ผู้หญิงไม่แต่งตัวยั่วยวน พวกนี้ไม่คิดว่า แม้ว่าใครจะจงใจเดินแก้ผ้ามาอยู่ต่อหน้า ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอจะยินยอมมีเซ็กส์ด้วย
 
ลองคิดกลับกัน ถ้าผู้ชายถูกข่มขืน ใช่ ผู้ชายก็มีโอกาสถูกข่มขืน เช่น ถูกคนเพศเดียวกันข่มขืน ถูกผู้หญิงที่มีอำนาจกว่าบังคับให้ร่วมเพศด้วย แม้ว่าจะไม่ได้แต่งตัวยั่วยวนอะไรเลย แล้วจะโทษได้ไหมว่าผู้ชายคนนั้นแต่งตัวยั่วยวนจนทำให้ถูกข่มขืน ปัญหาของการใช้ความรุนแรงทางเพศจึงไม่ได้อยู่ที่เหยื่อ แต่อยู่ที่ผู้ก่ออาชญากรรม
 
(4) พวกปกป้องสิทธิสตรีในกรอบสตรีนิยมแบบเก่า พวกนี้คิดว่าจะต้องปกป้องเรือนร่างของผู้หญิงที่อ่อนแอ พวกนี้อาจคิดว่าผู้หญิงทุกคนอ่อนแอ ต้องได้รับการปกป้องไปทั้งหมดด้วยซ้ำ พวกนี้บางคนยังเข้าใจผิดๆ อยู่ว่า ผู้หญิงทุกคนถูกกดขี่ทั่วโลก ช่างไม่รู้เลยว่า แม้แต่นักสตรีนิยมคนสำคัญๆ ของโลกนี้ ที่เคยเชื่อแบบนี้ เธอยังเลิกเชื่อแบบนี้ไปแล้วเลย (เช่น Sherry Ortner นักมานุษยวิทยาสตรีนิยมคนสำคัญ)
 
พวกนี้คิดว่า การคิดแทนเพื่อปกป้องผู้หญิงไม่ว่าจะในรูปแบบใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากเป็นผู้ชาย พวกนี้้เป็นพวกผู้ชายที่คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าผู้หญิง คิดว่าผู้หญิงถูกหลอกลวง เป็นทาสทุนนิยม เป็นทาสการทำให้ตนเองเป็นวัตถุทางเพศ ตนรู้ดี จึงต้องปลดปล่อยผู้หญิงเหล่านี้จากการครอบงำ พวกนี้เหมือนผู้หญิงโลกที่หนึ่งในอดีต ที่คิดว่าต้องปกป้องและปลดปล่อยผู้หญิงโลกที่สามจากการครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่า ผู้หญิงในโลกที่หนึ่งนั่นแหละ ที่ถูกกดขี่อาจจะมากกว่าผู้หญิงโลกที่สามหลายแห่ง
 
พวกนี้มักใช้สำนวน sexual objectification อย่างสับสนกับ sex appeal ขณะที่การทำให้เป็นวัตถุทางเพศเป็นการลดทอนความเป็นคนให้กลายเป็นวัตถุบำเรอกามกิจ แต่การแสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้หมายความว่าผู้แสดงออกจะต้องการเป็นเหยื่อกามารมณ์ เพราะหากผู้แสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์กันผู้ที่ถูกยั่วยวนแล้ว ก็ไม่ใช่เหตุที่จะมาโทษเขาหรือเธอว่าเป็นผู้ยั่วยวน 
 
ลองคิดกลับกัน การที่ผู้ชายแต่งตัวยั่วยวนผู้หญิง (ปลดกระดุมเสื้อ ใส่น้ำหอม แต่งตัวตามแฟชั่น ไว้เครา หรือสวมใส่ ไม่สวมใส่อย่างไรก็ตาม ที่คิดว่าจะยั่วยวนสาวๆ ได้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะยั่วพวกเธอได้จริงหรือเปล่า) แปลว่าผู้ชายกำลังทำตัวเองให้เป็นวัตถุทางเพศอย่างนั้นหรือ หรือกำลังเพียงหว่านเสน่ห์ยั่วยวน เพื่อเลือก ไม่ใช่เพื่อถูกขืนใจ แล้วถ้าพวกผู้ชายคิดอย่างนั้นได้ พวกผู้หญิงหรือผู้อื่นๆ ที่แต่งตัวยั่วยวน จะคิดอย่างนั้นบ้างไม่ได้หรือ
 
ถ้าคุณดูปฏิทินยั่วยวน หรือกระทั่งดูหนังโป๊ แล้วออกไปลวนลามคนอื่น ทำร้ายคนอื่น ความผิดจะอยู่ที่สื่อยั่วกามได้อย่างไร ถ้าสายการบินใด สินค้าใด จะใช้ความงามแบบยั่วยวนเป็นสื่อ แล้วคุณไม่ชอบ ก็ขึ้นสายการบินที่แต่งตัวเรียบร้อยแถมบางทีราคาถูกกว่าเสียสิ ซื้อสินค้าอื่นเสียสิ ถ้าอยากให้หญิงไทยงามแบบไทยๆ ก็บังคับลูกหลานคุณที่บ้านให้ได้เสียก่อนค่อยออกมาบังคับคนอื่น ถ้าใครไม่อยากให้ผู้หญิงแต่งตัวยั่วยวน ก็รณรงค์ให้ตัวเองเลิกหื่นเสียสิ จะทำได้จริงๆ หรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน