Skip to main content

 

ข่าวการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้านขนาดมหึมาอย่างตื่นตระหนก ชวนให้นึกถึงคำอธิบายโลกปัจจุบันของใครต่อใครได้มากมาย ชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่กำลังประสบอยู่ และยังทำให้หวังอย่างยิ่งว่า ชาวไทยผู้กำลังดื่มด่ำอยู่กับความสุขจนล้นเหลือจะตระหนักขึ้นบ้างว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียว” ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ

ผมอาจจะผิดหากกล่าวว่า คนที่เรียนมานุษยวิทยารุ่นผมไม่มีใครที่ไม่ถูกบังคับให้อ่านงานของอรชุน อัพพาดูราย ชื่อ “ยุคสมัยใหม่ขนาดมหึมา" (Arjun Appadurai. Modernity at Large, 1996) แต่คำสอนสำคัญที่ทุกคนจะไม่พลาดจากนักมานุษยวิทยาอินเดียผู้นี้คือ สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงติดต่อกันอย่างแทบจะแยกจากกันได้ยากแล้ว

คำสอนนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมอ่องอะไรในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไป แต่คำสอนนี้ “ค่อนข้าง” แปลกใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา ที่ว่า "ค่อนข้าง” ก็เพราะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจโลกทั้งใบนอกเหนือหมู่บ้านของฉัน ก่อนหน้านี้ก็มีคนคิดทำนองนี้ แต่ก็เพราะว่าวิธีคิดแบบอัพพาดูรายนั้น แตกต่างออกมาจากนักมานุษยวิทยารุ่นก่อนตรงที่ มีมิติทางวัฒนธรรมมากกว่า และอธิบายโลกปัจจุบันได้ดีกว่า

อัพพาดูรายเสนอความเปลี่ยนแปลง 5 ภูมิทัศน์คือ ผู้คน เงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี และระบบคุณค่า สังคมสมัยใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่ 5 มิตินี้เชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อนี้ได้สร้างจินตนาการและปฏิบัติการอย่างใหม่ขึ้นมา คือจินตนาการและปฏิบัติการที่ว่า ไม่มีสังคมแคบๆ หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ตัดขาดจากโลก แบบที่คนเคยคิดกันมาในอดีตอีกต่อไป แม้ว่าเราจะไม่คิด แต่ก็ปฏิเสธการเชื่อมต่อนี้ไม่ได้ แม้ว่าใครบางคนจะไม่ยอม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็ฝืนมันไม่ได้

ลองมาดูความพยายามฝืนการเคลื่อนย้ายของบางมิติดูว่า ได้เกิดผลอย่างไรต่อที่ต่างๆ ในโลกบ้าง

ในด้านของการเคลื่อนย้ายผู้คน ผู้มีอำนาจในสังคมมักไม่เห็นความสำคัญ แม้ว่าตนเอง สังคมตนเอง ครอบครัวตนเองก็อยู่ในกระแสของการเคลื่อนย้าย แต่ก็มักจะมองข้ามความสำคัญของการเคลื่อนย้ายของคนชั้นล่างๆ ลงไป กรณีนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา แรงงานอพยพจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลั่งไหลเข้ามามากมาย จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติเหล่านี้ มีการเสนอกฎหมายให้เพิ่มโทษผู้ช่วยเหลือคนงานเหล่านี้และเพิ่มโทษคนงานผิดกฎหมายเหล่านี้

ผลก็คือ เกิดการต่อต้านของแรงงานและผู้คนที่สนับสนุนแรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศ เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่า “A Day Without Immigrants” (ตามภาพยนตร์ชื่อ A Day Without A Mexican ปี 2004) ของคนงานอพยพ ซึ่งจำนวนมากคือคนแม็กซิกันและคนละตินอเมริกันอพยพทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา การเดินขบวนของแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกาครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือในวันแรงงานปี 2006 หากรวมๆ คนที่เดินขบวนวันนั้นทั่วประเทศ ก็จะนับได้หลายล้านคนทีเดียว หลังจากการเดินขบวนครั้งนั้นกฎหมายก็ตกไป ทั้งด้วยแรงกดดันของสังคมและด้วยกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง

ในแง่ของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในขณะนี้ทั่วโลกทราบกันดีว่ามีความตึงเครียดที่ชายแดนทางทะเลระหว่างเวียดนามกับจีน กล่าวเฉพาะในประเทศเวียดนาม คนเวียดนามขณะนี้กังวลใจกับการถูกจีนคุกคามเขตแดนทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเกิดการประท้วงประเทศจีนไปทั่วประเทศ ลามปามไปถึงมีการเผาโรงงานที่เชื่อกันว่าเป็นของนักลงทุนชาวจีนหรือไม่ก็ของรัฐบาลจีน แต่ที่ส่งผลกระทบยิ่งกว่านั้นคือ ความบาดหมางที่ลุกลามไปถึงประชาชนนี้ ได้ทำให้ประเทศจีนระงับโครงการลงทุนหลายโครงการ แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการลงทุนโดยรัฐบาลจีนหรือไม่ก็บริษัทร่วมทุนที่สีรัฐบาลจีนเป็นแหล่งทุนรายใหญ่

ล่าสุดชาวเวียดนามเริ่มลือกันว่าโครงการรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงฮานอยจะเป็นหมัน มีหวังได้เห็นสโตนเฮ้นจ์กลางเมืองฮานอย หรือที่ถูกควรเรียกว่า “เสาโฮปเวล” กลางเมืองฮานอยแบบเดียวกับที่ชาว กทม. เคยได้ชื่นชมมาก่อนไปอีกหลายปี

ในโลกปัจจุบัน รับรู้กันดีว่าการติดต่อสื่อสารทั่วโลกสำคัญอย่างไร สึนามิในญี่ปุ่นและทะเลอันดามันในปี 2011 ส่งผลต่อระบบสื่อสารจนการติดต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวนกันไปอย่างน้อยครึ่งโลก ซึ่งนั่นมีผลต่อการติดต่อทางการเงิน การลงทุน และปากท้องของประชาชนทั่วไปด้วย

ในแง่ของความเชื่อมโยงของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ไม่ว่าจะพยายามปิดช่องทางการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร ก็จะยังคงมีช่องทางในทางเทคโนโลยีราคาถูกหรือแจกฟรีกันในอิมเทอร์เน็ต ที่จะช่วยให้คนเล็ดลอดการควบคุมได้อยู่นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญในโลกอินเทอร์เน็ตบางคนถึงกับสรุปว่า ต้นทุนในการควบคุมข่าวสารในโลกปัจจุบันนั้น สูงยิ่งกว่าต้นทุนในการเล็ดลอดจากการควบคุมมากมายนัก

เมื่อผู้คน เงินตรา การสื่อสาร และเทคโนโลยีไหลเวียน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จินตนาการต่อสังคมจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างกว่าเรา เราก็ไม่อาจหนีพ้นจินตนาการต่อสังคมที่ชาวโลกเขามีกัน เราก็ไม่อาจฝืนระบบคุณค่าที่อาจดูแปลกใหม่จากที่เราคุ้นเคย จินตนาการนี้ไม่ได้เป็นเพียงความคิดคำนึงต่อสังคม แต่มันยังเป็นความพยายามที่จะทำให้ความฝันเป็นความจริงขึ้นมาด้วย ก็เหมือนๆ กับที่เราเคยจินตนาการกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุข แม้ว่ามันจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข เราก็พยายามจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ปัจจุบัน ผู้คนก็ยังอยากเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข แต่เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ถ้วนหน้ากัน เคารพกันและกัน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดแตกต่างกันอย่างไร เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ผู้คนต้องการอยู่อย่างเสมอหน้าทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง การแสดงออก และการเรียนรู้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของคน เราทุกคนต่างมีความคิดความต้องการอย่างนี้

มีคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “สิทธิมนุษยชน” บ้าง “ประชาธิปไตย” บ้าง คำเหล่านี้เป็นคำใหม่ในภาษาไทย ดูเสมือนเป็นความคิดที่ถูกนำเข้ามา แต่มันไม่ได้แปลว่าความคิดและปฏิบัติการของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เคยมีมาก่อนหรือไม่ได้เคยเป้นความหวังความฝันของคนในดินแดนนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “สี” แต่เราก็แยกแยะ ขาว ดำ แดง เหลือง ได้ก่อนแล้ว ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “อวัยวะ” แต่เราก็มี มือ หัว ขา ไส้ ตับ ไต เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยดั้งเดิมไม่เคยมีคำว่า “ชาติ” “ประเทศ” และภาษาไทยปัจจุบันก็เข้าใจสองคำนี้แตกต่างไปจากในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยแยกแยะให้ชัดเจนเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

โลกที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้แตกต่างไปจากโลกที่เราเคยจินตนาการไปมากแล้ว หากเราฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็จะได้รับผลกระทบแบบที่เห็นๆ และหากยังไม่หยุดฝืนโลก เราจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอุดรูอย่างไร กะลาเราก็จะรั่วเสมอ

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์