Skip to main content

การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ

ประการแรก สังคมนี้มีระบบศีลธรรมแบบเลือกปฏิบัติ การให้ความสนใจกว้างขวางต่อกรณีนี้แสดงความเป็นศีลธรรมสองมาตรฐาน หรือที่จริงคือเป็นศีลธรรมไร้มาตรฐานของคนไทยจำนวนมาก เพราะคนไทยส่วนมากไม่ได้ฟูมฟายกับการข่มขืนไปทุกกรณี อย่างการรุมข่มขืนผู้หญิงที่เกิดขึ้นในอินเดียเมื่อหลายเดือนก่อนแล้วเป็นข่าวไปทั่วโลก ก็ไม่เห็นเป็นกระแสสังคมมากเท่ากรณีนี้ที่เกิดขึ้นในไทยเอง นี่ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เพราะสังคมไทยเปราะบางกับอาชญากรรมบางลักษณะ แต่กลับเฉยชากับอาชญากรรมหลายๆ ลักษณะ 

อาการศีลธรรมเลือกปฏิบัติไม่ได้เกิดกับเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น แต่ยังเกิดกับเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ผู้บริหารประเทศบางคนจะถูกตรวจสอบเข้มงวดมากกว่าผู้บริหารประเทศอีกบางคน การคอร์รัปชั่นโดยคนบางกลุ่มจะกลายเป็น "ทำผิดโดยบริสุทธิ์ใจ" ได้ เพราะความดีงามของสังคมนี้ไม่ได้วางอยู่บนมาตรฐานสากลเดียวกัน 

ประการที่สอง สังคมนี้เหยียดเพศหญิง ที่อันตรายไม่น้อยไปกว่ากันคือ พร้อมๆ กับการรุมโทรมฆาตกร หลายคนยังหันลับมารุมโทรมผู้เคราะห์ร้ายเข้าไปอีก บางคนว่าทำไมเด็กหญิงไม่ร้อง บางคนว่าเด็กหญิงแต่งตัวล่อแหลมไปหรือเปล่า บางคนว่าทำไมพ่อแม่ไม่ดูแล แทนที่จะหาสาเหตุของการทำร้ายหรือว่ากล่าวประณามคนร้าย คนเหล่านี้กลับค่อนขอดผู้ถูกทำร้าย กลายเป็นว่า ผู้หญิงที่ไม่ระวังตัวคือตัวปัญหาของสังคม  

ไม่ว่าใครจะแต่งตัวอย่างไร คนอื่นก็ไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดร่างกายเขา ถ้าใครเดินมาชกหน้าคุณแล้วบอกว่า เพราะหน้าคุณยั่วโมโหเขา คุณจะยอมรับแล้วไปศัลยกรรมหน้าตาใหม่ เพื่อไม่ให้หน้าตาคุณตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างนั้นหรือ 

ประการที่สาม สังคมไทยนิยมความรุนแรง การก่ออาชญากรรมรุนแรงจึงเป็นความผิดขั้นเลวร้ายเฉพาะของคนบางกลุ่มเท่านั้น การกระทำแบบเดียวกันอาจได้รับการยอมรับส่งเสริมได้หากกระทำต่อเหยื่อที่สังคมตัดสินเอาเองแล้วว่าสมควรแก่การรับเคราะห์กรรม เช่น บางคนที่ประณามการข่มขืนครั้งนี้ ก็ยังกลับทำภาพล้อเลียนอดีตนายกฯ พร้อมคำบรรยายว่า อดีตนายยกฯ สมควรถูกข่มขืนมากกว่าเด็กหญิงคนนี้ หรือกรณีข่าวล้อเลียนเหยียดเพศและให้จับผู้มีทัศนะทางการเมืองต่างขั้วกับตนบางคนไปให้นักโทษข่มขืน  

สังคมนี้ข่มขืนกระทำชำเรากันทั้งทางกาย วาจา และใจมาตลอด สังคมนี้ก่ออาชญากรรมต่อกันมาตลอด แต่สังคมนี้เลือกที่จะลงโทษการข่มขืนกระทำชำเราใครบางคนเท่านั้น 

ประการที่สี่ สังคมนี้แก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง ที่คิดกันว่าการเพิ่มโทษจะทำให้ผู้ที่จะกระทำผิดยับยั้งชั่งใจมากขึ้น ก็เพราะสังคมนี้เป็นสังคมที่ยกย่องการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา จึงเป็นสังคมมือถือสากปากถือสันติวิธี และดังนั้น สังคมนี้จึงยินดีกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารคนกลางถนนด้วยเพราะตัดสินไปแล้วว่าเขาคือคนเลว เป็นพวกคนเลว 

สังคมที่นิยมความรุนแรงจึงยอมรับพร้อมส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงแบบเดียวกับที่ตนเลือกประณาม กับคนที่ตนรังเกียจ กับคนที่อยู่คนละข้างกับตน กับคนที่ต่ำต้อยกว่าตน ไม่ใช่เพื่อลดความรุนแรง แต่เพื่อยกตนเองและเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามตนเองเท่านั้น 

ประการสุดท้าย สังคมนี้ไม่ค่อยเห็นเหตุเชิงโครงสร้าง คนในสังคมนี้จำนวนมากเห็นปัญหาเฉพาะระดับบุคคล อาชญากรรมเกิดจากบุคคลกระทำก็จริง แต่เงื่อนไขเชิงระบบ เงื่อนไขโครงสร้างต่างๆ ก็มีส่วนให้เกิดอาชญากรรมได้ คนจำนวนมากรวมทั้งผู้รับผิดชอบโดยตรงจึงกลับปัดความผิด มุ่งประณาม ให้ร้ายกับปัจเจกคนร้ายเพียงด้านเดียว ไม่มองว่าการกระทำวิปริตใด ๆ นั้นเกิดขึ้นได้ก็เพราะอยู่ในเงื่อนไขของความวิปริตของสังคมและระบบที่บกพร่อง 

ระบบความปลอดภัยของการเดินทางสาธารณะ ระบบการควบคุมพนักงาน ระบบการออกแบบห้องโดยสาร ตลอดจนระบบการใช้ความเร็ว ความล้าหลังของการรถไฟ และการบริหารงานของหย่วยงาน เหล่านี้มีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมครั้งนี้ด้วย 

เมื่อมองปัญหาเฉพาะในระดับบุคคล ก็จึงคิดว่าจะต้องจัดการควบคุมบุคคลที่ชั่วร้าย ต้องกำจัดบุคคลที่ชั่วร้าย แต่ไม่คิดรื้อระบบเพื่อสร้างโครงสร้างใหม่ที่ดีกว่าสำหรับทุกคนขึ้นมา 

สังคมไทยไม่ได้ดีขึ้นมาได้ด้วยการเพิ่มโทษประหารชีวิตหรอก การร่วมกันวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหากันถ้วนหน้าอย่างทุกวันนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา หากจะแก้ปัญหาจริงก็ต้องสร้างระบบการเดินทางที่ดีและปลอดภัย พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานศีลธรรมสากล เลิกคิดเหยียดผู้หญิง และเลิกนิยมความรุนแรง แต่สังคมไทยแบบนั้นน่ะ แม้ในนิยายยังไม่มีเลย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์