Skip to main content
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 

 
หากเป็นข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งก็ว่าไปอย่าง แต่กับปัจเจกชนมากมาย ทั้งผู้บริการธุรกิจและผู้บริหารองค์การมหาชนหลายคนที่มีประวัติการศึกษาที่โดดเด่น มีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่มายาวนาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างสูง ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขาใช้หลักการอะไรในการตัดสินใจร่วมงานกับคณะรัฐประหาร
 
บุคคลเหล่านี้อาจกล่าวอ้างว่าตนเองหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนั่นก็อาจจะจริง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะหนีพ้นจากคำถามทางการเมืองที่สาธารณชนจะมีต่อพวกเขาได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่อยากตอบ แต่ในใจผู้รักความเป็นธรรม ในใจผู้รักประชาธิปไตย ก็อดไม่ได้ที่จะมีคำถามถึงพวกเขาดังต่อไปนี้
 
ประการแรก พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเลยหรือว่าระบอบที่พวกเขาเข้าไปทำงานด้วยนี้ กำลังละเมิดชีวิตความเป็นอยู่อันปกติสุขของใครต่อใครเต็มไปหมด ส่วนใหญ่ในคนที่ถูกคุกคามเหล่านั้นยังเป็นคนที่ด้อยอำนาจ เป็นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่มีหน้าตาในสังคม จึงถูกกระทำฝ่ายเดียวด้วยอย่างไม่ยุติธรรม ส่วนใหญ่ในคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร ไม่เหมือนพวกเขา 
 
มากไปกว่านั้น พวกเขาคงไม่ใส่ใจว่า อำนาจที่รับรองการทำงานของพวกเขานี้ มีส่วนสำคัญในการละเมิดชีวิตผู้คนมาก่อนหน้านี้ขนาดไหน พวกเขาไม่รับรู้เลยหรือว่ากำลังร่วมมืออยู่กับกลุ่มผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ทำให้มีพลเรือนเสียขีวิตกว่าร้อยคน บาดเจ็บอีกนับพัน และยังมีผู้ต้องขังโดยไม่มีความผิดอีกจำนวนมาก
 
ถ้าพวกเขาไม่จะสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องมนุษยธรรมเลยใช่หรือไม่ พวกเขารู้ใช่ไหมว่า พวกเขากำลังออกแบบความใฝ่ฝันของชาติในสภาพการณ์ที่ไร้รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาเชื่อมโยงไม่ได้หรือว่า ความใฝ่ฝันอันงดงามของพวกเขาไม่สามารถเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่ไม่มีหลักประกันในสิทธิมนุษยชนอย่างในปัจจุบันนี้ 
 
ประการที่สอง พวกเขาไม่เชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลของอำนาจใช่หรือไม่ พวกเขาจึงเข้ามาทำงานในตำแหน่งใหญ่โตในขณะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปกป้องคุ้มครองพวกเขาอยู่ข้างหลัง พวกเขาคงเห็นว่า การออกแบบทิศทางของประเทศภายใต้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลแบบปกตินั้น ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิด ได้ฝัน ได้ทำได้ดั่งใจ 
 
ขณะที่ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ความใฝ่ฝันอันดีงามของพวกเขาจะต้องเผชิญกับการวิจารณ์ การตรวจสอบ การไต่สวนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางหนักหน่วง จะต้องถูกตรวจสอบจากผู้แทนราษฎร จากสื่อมวลชน จากประชาชนมากมาย 
 
หากแต่ในระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ พวกเขาไม่ต้องตอบคำถามใคร ไม่ต้องเผชิญกับการซักไซ้ไล่เรียงจากใคร ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือหลักธรรมาภิบาลของการบริหารงานที่พวกเขายึดมั่น ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนในเครื่องแบบเท่านั้นหรือ สังคมจะเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่เชื่อถือเฉพาะเครื่องแบบกับอำนาจเบ็ดเสร็จเท่านั้นได้หรือ
 
ประการที่สาม พวกเขามองเห็นหรือไม่ว่า ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมาจากไหน ความขัดแย้งขณะนี้มาจากการไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของอำนาจ หาใช่ว่าจะมาจากความเลวร้ายของนักการเมืองเพียงเท่านั้น หาใช่ว่าจะมาจากความวุ่นวายชั่วหกเดือนที่สร้างขึ้นโดยนักการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหารเท่านั้น
 
งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีชนชั้นกลางหน้าใหม่มากขึ้น คนเหล่านี้ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเองมากขึ้น ระบบการเมืองเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้น ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม โดยเฉพาะชนขั้นนำเก่าและชนขั้นกลางเก่า ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงพยายามร่วมมือกันขัดขวางโค่นล้มกลุ่มอำนาจใหม่มาตลอดเกือบสิบปีนี้
 
ความขัดแย้งในปัจจุบันจึงกว้างขวาง ลึกซึ้ง และมีพวกเขาเองร่วมอยู่ในความขัดแย้ง มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้งนี้ด้วย หากพวกเขายอมรับแต่อำนาจของคนฝ่ายเดียว คือฝ่ายพวกเขา แต่ไม่ยอมรับอำนาจของคนส่วนใหญ่ คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาคิดไม่ได้หรือว่าการเข้ามารับตำแหน่งของพวกเขาจะยิ่งมีส่วนตอกย้ำความแตกร้าวในสังคมนี้มากยิ่งขึ้น หาใช่ว่าจะช่วยเยียวยาได้ดังที่พวกเขาใฝ่ฝัน
 
ประการที่สี่ พวกเขาไม่เห็นว่าคนเท่ากัน พวกเขาเห็นว่าพวกเขาคือคนพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอภิชน ที่มีความสามารถเหนือบุคคลทั่วไป และจึงไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าพวกเขาในการบริหารประเทศ พวกเขาไม่เห็นหัวชาวบ้าน อย่างนั้นหรือ พวกเขาไม่ต้องการให้โอกาสคนทั่วไปได้มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของตนเองอย่างนั้นหรือ 
 
ที่สำคัญคือ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากเหนือคนทั่วไปเป็นอภิมุนษย์อย่างไร หากไม่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปรับรู้ ตรวจสอบ มีส่วนร่วม พวกเขาจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าพวกเขาเข้าใจความต้องการของประชาชนทั้งประเทศได้ดีทั้งหมด พวกเขาไม่คิดหรือว่าพวกเขาอาจตัดสินใจและวางแผนนโยบายประเทศบนฐานของอคติส่วนตน บนฐานของความต้องการส่วนตน ในกรอบของประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ปรารถนาเช่นนั้นก็ตาม แต่เพราะเขาไม่มีทางล่วงรู้ใจคนได้ทั่วประเทศ พวกเขาก็จะทำได้เฉพาะในกรอบความเข้าใจแคบๆ ของตนหรือไม่
 
สังคมไทยได้เปลี่ยนมาสู่ยุคที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกำหนดชีวิตตนเองได้มากขึ้น ทั้งจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับประเทศ จากการได้รับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผู้ที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารต้องการย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนหน้าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ประเทศนี้ยังมีเพียงคนหยิบมือเดียวอย่างพวกเขาเท่านั้นที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของคนในชาติได้อย่างนั้นหรือ
 
สุดท้าย ทั้งหมดนั้นชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า พวกเขาเลื่อมใสในระบอบอำนาจนิยม พวกเขาไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเป็นนักบริหารที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอำนาจพิเศษมาอำนวยอวยทางให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถโดยไม่แยแสต่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หลักมนุษยธรรมใดๆ หรือไม่
 
แต่หากพวกเขาไม่ได้คิดอย่างว่า อย่างแย่ที่สุดก็แสดงว่าพวกเขาเห็นแก่ตัว คิดถึงพวกพ้องตนเอง คิดถึงความมั่นคงของอาชีพการงานธุรกิจของตนเองเป็นหลัก หรืออย่างเลวน้อยกว่านั้น พวกเขาก็ฝักใฝ่ในอำนาจ กระสันที่จะเข้าสู่เวทีอำนาจเพื่อที่จะได้นำความเห็นตนเองไปปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อปัญหาขัดแย้งร้าวลึกของสังคม 
 
แต่หากพวกเขายอมรับมาตามตรงซื่อ ๆ ว่า ที่เข้าร่วมก็ด้วยเพราะยำเกรงต่อกำลังคุกคามสวัสดิภาพส่วนตนแล้วล่ะก็ สังคมก็ยังอาจเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้เลือกทางเดินนี้เอง และยังอาจให้อภัยตามสมควรแก่หลักมนุษยธรรมได้บ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์