Skip to main content

 

ระยะนี้พูดกันมากว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดตะวันตก คนที่พูดอย่างนี้หากเป็นคนที่ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอะไรก็ไม่ควรเอามาตรวัดความรู้อะไรไปตัดสินเขา เพราะเขาพูดจากความเชื่อล้วนๆ เหมือนความเชื่อที่ว่า สมัยก่อนคนเหาะได้ นรก-สวรรค์มีจริง อะไรพรรค์นั้น

แต่กับคนที่เรียกตัวเองหรือกินอยู่ในหน้าที่ทางสังคมว่า "นักวิชาการ" แล้วล่ะก็ ต้องต่อว่ากันว่า นี่แสดงว่าพวกคุณไม่ได้สนใจข้อถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กันบ้างเลยหรืออย่างไร นี่แสดงว่าความรู้ของคุณมันจำกัดทั้งสายาวิชาและช่วงเวลาของการศึกษา นี่แสดงว่าคุณเลิกทำวิจัยมานานแล้ว หรือไม่ก็ทำวิจัยเฉพาะในกะลาวิชาการแบบไทยๆ จึงไม่เคยให้ใครในโลกนี้เขาตรวจสอบความรู้คุณเลย

ในระหว่างที่ทำวิจัยเรื่อง "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" พร้อมๆ กับทำวิจัยในพื้นที่ของตนเองเรื่อง “พลังชุมชนของชนบทใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์" ผมพบงานศึกษากลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือการศึกษาประชาธิปไตยในแนวทางมานุษยวิทยา (anthropology of democracy) ประเด็นสำคัญคือ การศึกษาประชาธิปไตยในทางมานุษยวิทยาไม่ได้จะดูว่าสังคมต่างๆ ที่ศึกษาเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เป็นประชาธิปไตยหรือยัง หรือมีกลไกอะไรที่ขัดขวางหรือส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย

บางคนอาจเข้าใจว่า นักมานุษยวิทยาสนใจวัฒนธรรมที่หลากหลายจึงอาจศึกษาดูว่าประชาธิไตยในถิ่นต่างๆ มีลักษณะเฉพาะอย่างไร นั่นอาจจะเป็นแนวทางที่นักมานุษยวิทยาบางคนใช้ เช่นที่บางคนพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก แต่นั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมที่นำเอาแนวคิดประชาธิปไตยไปบิดเบือนเพื่อคงความเหลื่อมล้ำไว้อย่างเช่นในสังคมไทย

นักมานุษยวิทยาในโลกสากลไม่ได้สนใจประชาธิปไตยในลักษณะนั้น หากแต่เขาจะพิจารณาดูว่า “ประชาธิปไตย” ถูกใช้โดยใคร อย่างไร ในสังคมต่างๆ ทั่วโลก ประชาธิปไตยถูกเข้าใจอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาวิธีที่ชนกลุ่มน้อยในบางประเทศอาศัยประชาธิปไตยเป็นเครื่องต่อรองเพื่อสร้างตัวตนในทางการเมืองของตนเองในตุรกี การศึกษาวิธีที่คนวรรณะต่ำๆ ใช้ประชาธิปไตยเพื่อแสดงสิทธิเสียงของตนเองในอินเดีย

วิธีการศึกษาแบบนี้ต่างการการศึกษาประชาธิปไตยในทางรัฐศาสตร์ ที่มักเน้นการวัดความเป็นประชาธิปไตย ราวกับว่ามีมาตรวัดประชาธิปไตยอยู่ที่ไหนสักแห่ง แล้วดูว่าประเทศนั้นๆ สังคมนั้น ๆ เป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง เป็นแค่ไหน มีอะไรเป็นตัวถ่วงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แล้วจะแก้ไขอย่างไร

แต่ปัจจุบัน มีนักมานุษยวิทยาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่หันมาสนใจแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยจากพื้นถิ่น” (vernacular democracy) นำโดยนักมานุษยวิทยาแนวหน้าอย่างเดวิด แกรเบอร์ (David Graeber) และมิเชล-โรลห์ ทรุยโยต์ (Michel-Rolph Trouillot) นักมานุษยวิทยาชาวเฮติผู้เพิ่งล่วงลับ รวมทั้งนักคิดอินเดียแนวหลังอาณานิคมชั้นนำอย่างพาธา ชัตเตอร์จี (Partha Chatterjee)

แนวคิด “ประชาธิปไตยจากพื้นถิ่น” เสนอว่า แท้จริงแล้วความคิดประชาธิปไตยไม่ได้มาจากตะวันตก หากแต่มาจากวิถีชีวิตของชนพื้นถิ่นที่พบเห็นได้ทั่วไปนอกประเทศตะวันตก แกรเบอร์เก็บข้อมูลทั้งจากในอดีตและต่างถิ่นในปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือ แกรเบอร์พบว่า วิถีชีวิตแบบชาวอินเดียนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาที่ชาวตะวันตกบันทึกไว้ก่อนการเกิดประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีลักษณะเดียวกันกับวิถีชีวิตแบบสังคมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แกรเบอร์ตั้งข้อสังเกตว่า นั่นอาจจะเป็นแนวทางให้ชาวตะวันตกที่ตั้งใจจะปลดแอกตนเองจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษตระหนักในวิถีชีวิตที่แตกต่างจากในอังกฤษ และเป็นที่มาของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

ส่วนทรุยโยต์ ซึ่งส่งแรงบันดาลใจแก่ชัตเตอร์จีในภายหลัง ได้ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของชาวเฮติเพื่อปลดแอกตนเองจากฝรั่งเศสนั้น มีมาก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อมๆ กันกับระยะที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือ ทรุยโยต์ชี้ว่า ขณะที่การปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยของชาวฝรั่งเศสนั้นยังไม่ได้สนใจใยดีต่อเสรีภาพและความเสมอภาคของชนชาติอื่นๆ ที่ถูกฝรั่งเศสปกครองอยู่ เสรีภาพและความเสมอภาคของชาวเฮตินั้นเกิดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการที่เสรีภาพและความเสมอภาคจะต้องคำนึงถึงไม่เว้นชนชาติ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยของเฮตินั้น “เป็นสากล” และก้าวหน้าเสียยิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสในยุคแรกเริ่มด้วยซ้ำ

หากยังเห็นว่างานศึกษาเหล่านี้ก็เป็นงานตะวันตก เป็นแนวคิดตะวันตก เพียงเพราะงานเขียนเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษล่ะก็ โปรดอยู่ในโลกที่เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตกเท่านั้น ดุจเดียวกับที่พวกคุณคงยังเชื่อในนรก-สวรรค์กันอยู่ต่อไปก็แล้วกัน

แต่หากลองเปิดหูเปิดตาดูบ้างว่าโลกประชาธิปไตยมีที่มาที่ไม่ใช่ในตะวันตกเพียงเท่านั้นแล้ว ก็คงจะเข้าใจได้บ้างว่า ทำไมคนพื้นถิ่นต่างๆ เขาจึงถวิลหาประชาธิปไตยกันนัก ทำไมชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา คนยากคนจน จะเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าชาวกรุงชาวเมืองบ้างไม่ได้ ทำไมประชาธิปไตยจึงแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนธรรมดาสามัญ และทำไมชาวบ้านร้านตลาดเขาถึงหวงแหนประชาธิปไตยกันนัก นั่นก็เพราะประชาธิปไตยเป็นของเขา ประชาธิปไตยกลายเป็นของสามัญชนชาวไทยไปแล้ว ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากตะวันตกห่างไกลที่ไหน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์