Skip to main content


วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ

ก็เลยลองคิดต่อดูว่า พวกที่มีปัญหากับปฏิทินนกแอร์มีพวกไหนบ้าง พวกนี้คิดแบบไหน และวิธีคิดแบบนั้นมีปัญหาอย่างไร ผมว่าพวกนี้มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแยกกัน คือในตัวคนหรือองค์กรเดียวกัน อาจมีวิธีคิดทั้ง 4 แบบนี้เลยก็ได้
 
(1) พวกอยากแช่แข็งความเป็นไทย พวกนี้รับไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ความเป็นไทยจะถูกนำเสนอด้วยความสากล อยากให้ความเป็นไทยแปลกแยกไม่เหมือนใครในโลกนี้ เข้าใจว่ามีความเป็นไทยแท้อยู่จริง ไม่เห็นว่าความ้ป็นไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นมา 
 
แต่พวกนี้เองนั่นแหละ ที่จะเป็นพวกนิยมให้นักเรียนนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ พวกนี้เอาเข้าจริงจึงไม่ได้อยากให้ควบคุมความเป็นไทย แต่พวกนี้อยากควบคุมคนอื่น เพราะกับตนเอง พวกนี้จะบอกว่าฉันแต่งตัวตามกาละเทศะ ฉันเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรควรแต่งอะไรไม่ควรแต่งเมื่อไหร่ แต่พวกเธอไม่รู้เรื่อง จึงต้องให้ฉันจัดการดูแลควบคุม
 
(2) พวกชอบกำกับความเป็นหญิงไทย พวกนี้คือส่วนขยายของพวกแรก เป็นพวกชอบบอกว่า หญิงไทยที่ดีต้องเป็นอย่างไร พวกนี้กลัวภาพลักษณ์ผู้หญิงเสียหาย มากกว่าจะสนใจความเป็นจริงว่า ผู้หญิงมีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมชายหรือยัง แล้วยังมี "ผู้" อื่นๆ เพศอื่นๆ ที่ให้ต้องดูแลอีกมากมาย พวกนี้ก็จะไม่สนใจ เพราะคิดว่าโลกนี้มีแต่หญิงกับชาย 
 
พวกนี้ไม่สนใจภาพลักษณ์ผู้ชายเท่ากับภาพลักษณ์ผู้หญิง ผู้หญิงจึงถูกคาดหวัง ถูกควบคุมให้รักษาภาพความเป็นหญิงไทยมากกว่าผู้ชาย ดูอย่างชุดแต่งกายในการโฆษณาสายการบินที่เน้นความเป็นไทยสายหนึ่ง เห็นมีแต่ให้ผู้หญิงที่ใส่ "ชุดไทย" ไม่เห็นมีว่าผู้ชายหรือกัปตันต้องใส่ชุดไทย ฉะนั้นพวกนี้ไม่ได้ห่วงผู้หญิง เท่ากับห่วงว่าภาพลักษณ์ผู้หญิงบางส่วน จะทำให้ภาพลักษณ์ตนเองเสื่อมเสียไปด้วย
 
(3) พวก sexist พวกนี้จะมีทัศนะต่อปฏิทินนี้ว่า เป็นสื่อยั่วยุกามารมณ์ กระตุ้นกาม ทำให้ผู้โดยสารหื่นกามกับแอร์โฮสเตส
 
ถ้าผู้หญิงถูกลวนลาม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน พวกนี้จะถามว่า "หล่อนแต่งตัวยังไง" พวกนี้ไม่เคารพในสิทธิในร่างกายของผู้หญิง เท่ากับการควบคุมตัณหาผู้ชายด้วยการผลักภาระให้ผู้หญิงควบคุมตนเอง พวกนี้ไม่คิดว่า การสั่งสอนให้ผู้ชายไม่ข่มขืนผู้หญิง สำคัญกว่าการสั่งสอนให้ผู้หญิงไม่แต่งตัวยั่วยวน พวกนี้ไม่คิดว่า แม้ว่าใครจะจงใจเดินแก้ผ้ามาอยู่ต่อหน้า ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอจะยินยอมมีเซ็กส์ด้วย
 
ลองคิดกลับกัน ถ้าผู้ชายถูกข่มขืน ใช่ ผู้ชายก็มีโอกาสถูกข่มขืน เช่น ถูกคนเพศเดียวกันข่มขืน ถูกผู้หญิงที่มีอำนาจกว่าบังคับให้ร่วมเพศด้วย แม้ว่าจะไม่ได้แต่งตัวยั่วยวนอะไรเลย แล้วจะโทษได้ไหมว่าผู้ชายคนนั้นแต่งตัวยั่วยวนจนทำให้ถูกข่มขืน ปัญหาของการใช้ความรุนแรงทางเพศจึงไม่ได้อยู่ที่เหยื่อ แต่อยู่ที่ผู้ก่ออาชญากรรม
 
(4) พวกปกป้องสิทธิสตรีในกรอบสตรีนิยมแบบเก่า พวกนี้คิดว่าจะต้องปกป้องเรือนร่างของผู้หญิงที่อ่อนแอ พวกนี้อาจคิดว่าผู้หญิงทุกคนอ่อนแอ ต้องได้รับการปกป้องไปทั้งหมดด้วยซ้ำ พวกนี้บางคนยังเข้าใจผิดๆ อยู่ว่า ผู้หญิงทุกคนถูกกดขี่ทั่วโลก ช่างไม่รู้เลยว่า แม้แต่นักสตรีนิยมคนสำคัญๆ ของโลกนี้ ที่เคยเชื่อแบบนี้ เธอยังเลิกเชื่อแบบนี้ไปแล้วเลย (เช่น Sherry Ortner นักมานุษยวิทยาสตรีนิยมคนสำคัญ)
 
พวกนี้คิดว่า การคิดแทนเพื่อปกป้องผู้หญิงไม่ว่าจะในรูปแบบใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากเป็นผู้ชาย พวกนี้้เป็นพวกผู้ชายที่คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าผู้หญิง คิดว่าผู้หญิงถูกหลอกลวง เป็นทาสทุนนิยม เป็นทาสการทำให้ตนเองเป็นวัตถุทางเพศ ตนรู้ดี จึงต้องปลดปล่อยผู้หญิงเหล่านี้จากการครอบงำ พวกนี้เหมือนผู้หญิงโลกที่หนึ่งในอดีต ที่คิดว่าต้องปกป้องและปลดปล่อยผู้หญิงโลกที่สามจากการครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่า ผู้หญิงในโลกที่หนึ่งนั่นแหละ ที่ถูกกดขี่อาจจะมากกว่าผู้หญิงโลกที่สามหลายแห่ง
 
พวกนี้มักใช้สำนวน sexual objectification อย่างสับสนกับ sex appeal ขณะที่การทำให้เป็นวัตถุทางเพศเป็นการลดทอนความเป็นคนให้กลายเป็นวัตถุบำเรอกามกิจ แต่การแสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้หมายความว่าผู้แสดงออกจะต้องการเป็นเหยื่อกามารมณ์ เพราะหากผู้แสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์กันผู้ที่ถูกยั่วยวนแล้ว ก็ไม่ใช่เหตุที่จะมาโทษเขาหรือเธอว่าเป็นผู้ยั่วยวน 
 
ลองคิดกลับกัน การที่ผู้ชายแต่งตัวยั่วยวนผู้หญิง (ปลดกระดุมเสื้อ ใส่น้ำหอม แต่งตัวตามแฟชั่น ไว้เครา หรือสวมใส่ ไม่สวมใส่อย่างไรก็ตาม ที่คิดว่าจะยั่วยวนสาวๆ ได้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะยั่วพวกเธอได้จริงหรือเปล่า) แปลว่าผู้ชายกำลังทำตัวเองให้เป็นวัตถุทางเพศอย่างนั้นหรือ หรือกำลังเพียงหว่านเสน่ห์ยั่วยวน เพื่อเลือก ไม่ใช่เพื่อถูกขืนใจ แล้วถ้าพวกผู้ชายคิดอย่างนั้นได้ พวกผู้หญิงหรือผู้อื่นๆ ที่แต่งตัวยั่วยวน จะคิดอย่างนั้นบ้างไม่ได้หรือ
 
ถ้าคุณดูปฏิทินยั่วยวน หรือกระทั่งดูหนังโป๊ แล้วออกไปลวนลามคนอื่น ทำร้ายคนอื่น ความผิดจะอยู่ที่สื่อยั่วกามได้อย่างไร ถ้าสายการบินใด สินค้าใด จะใช้ความงามแบบยั่วยวนเป็นสื่อ แล้วคุณไม่ชอบ ก็ขึ้นสายการบินที่แต่งตัวเรียบร้อยแถมบางทีราคาถูกกว่าเสียสิ ซื้อสินค้าอื่นเสียสิ ถ้าอยากให้หญิงไทยงามแบบไทยๆ ก็บังคับลูกหลานคุณที่บ้านให้ได้เสียก่อนค่อยออกมาบังคับคนอื่น ถ้าใครไม่อยากให้ผู้หญิงแต่งตัวยั่วยวน ก็รณรงค์ให้ตัวเองเลิกหื่นเสียสิ จะทำได้จริงๆ หรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา